สถานการณ์ ก่อน ปรับครม. เพื่อไทยขยับ-คู่ต่อสู้จ้องขย้ำ

กระแสข่าวปรับคณะรัฐมนตรีดังกระหึ่มต่อเนื่องกันตลอดสัปดาห์

นับตั้งแต่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ขอให้รัฐมนตรีส่งผลงานช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาให้ เพื่อนำไปตรึกตรอง

ความเคลื่อนไหวภายในพรรคเพื่อไทยเป็นไปอย่างคึกคัก

ขณะที่กระแสการเมืองภายนอกก็ไม่ได้ผ่อนคลายลง

แม้รัฐบาลผสมพรรคเพื่อไทย จะเพิ่งพ้นผ่านเรื่องน่าหวาดเสียวมา 2 เรื่อง คือ มหาอุทกภัย และการอภิปรายไม่ไว้วางใจ

แต่ดูเหมือนว่า ยังมีเรื่องอีกมากมายที่รัฐบาลชุดนี้ต้องเผชิญหน้า

อย่างน้อยกรณีการหยิบยกเอาข้อผิดพลาดในเฟซบุ๊กส่วนตัวของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ หรือกรณีการสั่งร่นระยะเวลาแสดงแสงสีเสียงที่ท้องสนามหลวง มาขยายผลก็ตอกย้ำให้เห็นสภาพที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ และรัฐบาลผสมพรรคเพื่อไทยเผชิญหน้าอยู่

และเมื่อรวมถึงระเบิดประหลาดที่คนร้ายลอบไปวางไว้กลางถนนราชดำเนินหน้าสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ก็เป็นอีกเรื่องที่พอมองเห็นความเปราะบางทางการเมือง

เป็นความเปราะบางที่เกิดขึ้นหลังจากมี "สถานการณ์" เกิดขึ้น

เป็นความพยายามจุดชนวนความเกลียดชังจาก "สถานการณ์"ที่เกิดขึ้น


ลักษณะการจุดชนวนเยี่ยงนี้เป็นมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่รัฐบาลผสมพรรคเพื่อไทยและ น.ส.ยิ่งลักษณ์เข้าสู่ตำแหน่งบริหารราชการแผ่นดิน

เป็นการหยิบยกเอา "สถานการณ์" ที่ "ไม่เจตนา" มาตีความว่า "เจตนา" อยู่เนืองๆ

เป็นการหยิบยกเอา "สถานการณ์" ที่ไม่สมบูรณ์มาขยายผลให้กลายเป็นชนวนความเกลียดชัง


สถานการณ์ ก่อน ปรับครม. เพื่อไทยขยับ-คู่ต่อสู้จ้องขย้ำ

ไม่ว่าจะเป็นการวิจารณ์เครื่องแต่งกายและเครื่องประดับของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ซึ่งมีราคาสูง การบุกถ่ายคลิปกล่าวหาการทำงานของศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย หรือ ศปภ.และอื่นๆ

"สถานการณ์" ดังกล่าวขยายผลออกกระทั่งพรรคประชาธิปัตย์นำมาเป็นข้อมูลการอภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะผู้อำนวยการ ศปภ. ไปแล้ว

หากติดตามการอภิปรายไม่ไว้วางใจ จะพบว่าคลิปที่นำเสนอในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ล้วนแต่เป็นคลิปที่ปรากฏเป็นกระแสในสังคมออนไลน์มาแล้ว

"สถานการณ์" เดียวกันนั้น พรรคประชาธิปัตย์ได้หยิบยกมายื่นขอถอดถอน พล.ต.อ.ประชา และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคเพื่อไทย

แม้ "สถานการณ์" ที่เกิดขึ้น มิอาจจุดกระแสทางการเมืองขึ้นได้ แต่ "สถานการณ์" ที่เกิดขึ้น ชี้ให้เห็นว่า รัฐบาลพรรคเพื่อไทยและ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ต้องเผชิญหน้ากับการเมืองในระดับรุนแรง

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ หากรัฐบาลผสมพรรคเพื่อไทย และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ประเมินว่าการเมืองสงบแล้ว ทั้งรัฐบาลและ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ต้องนำเอาผลประเมินนั้นกลับไปทบทวนใหม่

เพราะรูปการณ์ที่ปรากฏสะท้อนว่าความขัดแย้งทางการเมืองยังมีความรุนแรง

อย่าลืมว่า พรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่เจนจัดการเมืองมากกว่าใคร ประเมินประเทศไทยหลังน้ำลดว่าอาจเกิดจลาจล

เป็นเครื่องยืนยันว่า สถานการณ์ทางการเมืองไม่ปกติ

ดังนั้น ข่าวคราวความขัดแย้งภายในรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งในกระทรวงคมนาคม ระหว่าง พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กับรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม 2 คน

หรือความขัดแย้งภายในพรรคเพื่อไทย ซึ่งนำเอาคลิป นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยไปฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ถึงฮ่องกง

หรือความไม่พอใจการแบ่งงานภายในกระทรวงศึกษาธิการ ที่มีนายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการอยู่

ข่าวคราวที่เกิดขึ้น ไม่ได้ส่งผลดีต่อรัฐบาล

ไม่เป็นผลดีเพราะความขัดแย้งถูกมองว่าเป็นความขัดแย้งเพื่อตัวเอง

เป็นความขัดแย้งเกี่ยวกับหน่วยงานที่ตัวเองต้องดูแล เป็นความขัดแย้งเกี่ยวกับบุคคลที่ตัวเองสนับสนุน

สร้างความสงสัยว่าเหตุที่ขัดแย้งนั้นเพื่อส่วนตัวหรือเพื่อส่วนรวม

อย่าลืมว่า แม้ที่ผ่านมา น.ส.ยิ่งลักษณ์ และรัฐบาลผสมพรรคเพื่อไทยจะถูกโจมตีอย่างหนัก แต่สิ่งที่ทำให้รัฐบาลและ น.ส.ยิ่งลักษณ์ผ่านพ้นมาได้คือ การก้มหน้าทำงานอย่างเต็มที่

อย่าลืมว่า แม้รัฐบาลผสมพรรคเพื่อไทยจะมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนมาก และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก็เลือก น.ส. ยิ่งลักษณ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น

แต่กรณีที่เป็น "ส่วนตัว" เฉกเช่นข่าวกระพือเรื่องพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษว่าอาจส่งผลดีต่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ก็สร้างผลกระทบจนรัฐบาลต้องออกมายืนยันว่าไม่ใช่

ดังนั้น หนทางฟันฝ่าวิกฤตทางการเมืองของรัฐบาลจึงมีเพียงสายเดียว คือ ฟังเสียงประชาชน และทำงานเพื่อส่วนรวม

หนทางคงศรัทธาของประชาชนคือทำตามที่รัฐบาลเคยลั่นวาจาเอาไว้ !

กระแสการปรับคณะรัฐมนตรีที่เกิดขึ้นก็เช่นกัน

ไม่ว่าการปรับคณะรัฐมนตรีจะเกิดขึ้นเมื่อใด หากการปรับคณะรัฐมนตรีเป็นไปเพื่อกลุ่มพวกพ้อง ไม่คำนึงถึงเสียงประชาชน ผลลัพธ์ที่ออกมาย่อมเป็นลบ และอาจถูกนำเอา "สถานการณ์" ไปขยายผลทางการเมือง

แต่ถ้าการปรับคณะรัฐมนตรีเป็นการปรับเปลี่ยนตัวบุคคลเพื่อ ผลของงาน เพื่อคนไทยส่วนรวม ผลลัพธ์ที่ออกมาย่อมเป็นบวก

แม้จะมีข้อบกพร่อง หรือผิดพลาด แต่ในที่สุด "สถานการณ์" ก็จะไม่ปะทุร้ายแรง

นี่คือทางเลือกของนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หากคิด จะปรับคณะรัฐมนตรี

หน้า 3 หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับวันที่11ธ.ค.2554


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์