ฮุน เซนให้บทเรียนล้ำแดนกัมพูชา


คมชัดลึก : การช่วยเหลือคนไทย 7 คน ที่ถูกทางการกัมพูชาจับกุมในระหว่าง “พลัดหลง” เข้าไปในพื้นที่กัมพูชายังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อ

 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ต้องหารือลับระหว่างนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และ นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ เพื่อทางออกในเรื่องนี้กันอย่างเคร่งเครียด


 เพราะการเพิ่มข้อหาครั้งนี้ จะทำให้การช่วยเหลือทั้งสองทำได้ยากมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องการขอประกันตัวที่ก่อนหน้านี้ “รัฐบาล-กองทัพ” จะพยายามส่งสัญญาณไปถึงสมเด็จฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชาก็ตาม แต่ท่าทีของสมเด็จฮุน เซน ที่มีต่อรัฐบาลไทย คือการแสดงอาการเมินเฉยไม่รับรู้ หรือให้การช่วยเหลือแต่อย่างใด พร้อมกับประกาศกร้าวให้เป็นเรื่องของ “ศาลกัมพูชา” ที่จะเป็นผู้ชี้ถูก-ชี้ผิดเท่านั้น


 ส่วนอีก 5 คนไทย ที่มีแค่ข้อหาเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย และเข้าเขตทหารโดยไม่ได้รับอนุญาตนั้น ศาลกัมพูชายังไม่ได้มีคำสั่งว่าจะดำเนินการในเรื่องนี้ รัฐบาลไทยจึงต้องรอดูความชัดเจนจาก “ศาลกัมพูชา” ก่อนอีกครั้งว่า จะนัดพิจารณาคดีเลย หรืออนุญาตให้ประกันตัวหลังจากที่ครบกำหนดตามระเบียบคือในวันที่ 15 มกราคมนี้ แต่การที่อัยการกัมพูชาแจ้งหาข้อเพิ่มเติมกับนายวีระ สมความคิด กับ น.ส.ราตรี พิพัฒนาไพบูรณ์ จึงถูกมองว่าเป็นเกมการเมือง “ทับซ้อน” ที่ยังทางออกไม่เจอ


 โดยเฉพาะตัวของ สมเด็จฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ที่ถือเป็นตัวแปรสำคัญเกี่ยวกับทางออกของ 7 คนไทยในครั้งนี้มากที่สุด แต่กลับเมินเฉย จึงถูกมองว่าสมเด็จฮุน เซน ต้องการอะไรในหมากเกมนี้


แต่หากมองรวมไปถึงการ “ลองของ” ของนายวีระ สมความคิด ก็เป็นอีกกรณีหนึ่งที่ทางการกัมพูชา โดยเฉพาะตัวของสมเด็จฮุน เซน ที่ได้มีการขึ้นบัญชีดำมาก่อนหน้านี้ เพราะตัวของนายวีระ สมความคิด ได้ดอดเข้ากัมพูชาถึง 3-4 ครั้งแล้ว


 หากมองในแง่ของกัมพูชา ก็เท่ากับว่าถูกหยามมาหลายหนแล้ว


นี่อาจเป็นสาเหตุที่กัมพูชาไม่ปล่อยตัวนายวีระ สมความคิด มาง่ายๆ ถึงแม้ว่าการ "พลัดหลง" นั้นจะล่วงไปเพียงแค่ 55 เมตรเท่านั้น


 แต่สิ่งนี้ก็ยังไม่สามารถพิสูจน์ให้เกิดความแน่ชัดได้ เพราะจุดที่ 7 คนไทยเข้าไปอาจจะไม่ใช่พื้นที่ของกัมพูชาเสียด้วยซ้ำไป เพราะยังเป็นพื้นที่ที่ยังคงเกิดปัญหาตั้งแต่ยุคสงครามที่มีการสู้รบกัน และเมื่อสงครามจบลงก็ยังไม่รู้ว่า ที่ตรงนั้นอยู่ในเขตแดนใคร


 นายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กล่าวยอมรับว่า ข้อตกลงระหว่างผู้นำรัฐบาลไทยกับรัฐบาลกัมพูชาเมื่อไม่นานมานี้มีอยู่ว่า หากเกิดกรณีมีคนไทย “พลัดหลง” ไปในพื้นที่ที่ยังไม่สามารถตกลงกันได้ว่าเป็นของใคร และเข้าไปโดยที่ไม่ได้มีการเจตนาอะไร ก็ไม่ควรจะเข้าสู่กระบวนการศาล หรือกระบวนการยุติธรรมของแต่ละประเทศ ซึ่งการตกลงในเรื่องนี้ค่อนข้างมีความชัดเจนกันแล้วของทั้งสองประเทศ


 “กรณีที่เกิดขึ้นไม่รู้ว่าทางการกัมพูชาคิดอย่างไร คิดว่าคนไทยทั้ง 7 คนได้มีการ “พลัดหลง” เข้าไปในพื้นที่ดังกล่าวจริงหรือไม่ ซึ่งอาจจะมีความเป็นไปได้กรณีของนายวีระ สมความคิด ที่อาจจะไม่ได้มีการ “พลัดหลง” เพราะก่อนหน้านี้ นายวีระ สมความคิด เข้าไปในพื้นที่ 2 ครั้งมาแล้ว ซึ่งครั้งนี้ถือว่าเป็นครั้งที่ 3 จึงอาจจะทำให้ทางการกัมพูชาจับกุมตัวไว้


 นายถวิล กล่าวอีกว่า ตนไม่รู้ว่าการเข้าไปของคนไทยทั้ง 7 คนมีเจตนาอย่างไร ดังนั้นจะต้องดูเจตนาให้ดี โดยเฉพาะนายพนิช วิกิตเศรษฐ์ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ คงไม่มีเจตนาที่จะเข้าไป แต่คนอื่นไม่รู้ แต่ถ้าดูจากผลการสอบสวนเมื่อทางการกัมพูชานำบุคคลทั้ง 7 คนขึ้นศาล ก็แสดงว่าทางกัมพูชาซีเรียส-ไม่พอใจกับเรื่องที่เกิดขึ้น แต่ถ้ามาตอนนี้มีการเปลี่ยนใจว่าจะต้องนำขึ้นสู่กระบวนการยุติธรรมคงไม่ได้แล้ว


 “เดิมทีมีการมองว่าหากบุคคลทั้ง 7 คนเข้าไปในพื้นที่กัมพูชา ไม่มีเจตนาที่จะเข้าไปก็ควรจะเป็นไปตามข้อตกลงของทั้งสองประเทศที่ได้มีการตกลงกันไว้ก่อนหน้านี้ แต่ไม่รู้ทำไมเรื่องมันถึงได้เกิดขึ้นเร็วมาก ด้วยการนำคนไทยทั้ง 7 คนเข้าไปในกรุงพนมเปญ ในวันที่ 28 ธันวาคม 2553 ทันที ที่ผ่านมารัฐบาลและกองทัพพยายามประสานงานในเรื่องนี้ตลอด โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ได้มีการดำเนินการหลายทาง ทั้งนายกรัฐมนตรี รมว.กลาโหม รมว.ต่างประเทศ ที่มีการพูดคุยกันทุกระดับเพื่อหาทางออก”


 เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ กล่าวย้ำว่า พื้นที่ดังกล่าวไม่มีใครได้ใครเสีย ถึงแม้ว่าคดีจะออกมาเป็นอย่างไรก็ตาม เวลานี้เราจะต้องเอาคนไทยทั้ง 7 คนกลับมาประเทศไทยให้ได้ แต่เมื่อสมเด็จฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ประกาศชัดแล้วว่า เรื่องนี้ต้องขึ้นอยู่กับกระบวนการยุติธรรม เราก็ทำได้แค่เพียงต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และหาช่องทางในการให้ความช่วยเหลือต่อไป โดยเฉพาะการเดินหน้าของคณะกรรมการของทั้งสองประเทศ


 นั่นคือความเห็นของเลขาฯ สมช. ที่มีข้อจำกัดที่จะไม่ก้าวล่วงไปถึงท่าที และแนวคิดของฝ่ายกัมพูชา


 แต่หากมองเท่าที่เห็นและสัมผัสได้ นี่อาจมองได้ว่า เป็นบทเรียนที่ ฮุน เซน มอบให้แก่ไทย ที่ปล่อยให้ผู้ที่เขาไม่พึงปรารถนามาหยามเขาซ้ำแล้วซ้ำเล่า


 เพราะชัดเจนว่า ระดับคีย์แมนของกัมพูชา ก็ยังออกตัวแรงว่า "ไม่รู้ ไม่ทราบ เรื่องนี้แล้วแต่ฮุน เซน ว่าจะเอาอย่างไร"


 แต่นั่นย่อมไม่ใช่บทสรุปและข้อเรียกร้องของคนไทยที่พยายามเร่งเร้าให้นำทั้ง 7 คนกลับมา




เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์