สถาบันพระปกเกล้าจัดประชุม ทางรอดของประเทศไทย ระดมความเห็นเสนอทางออกให้รบ.


ประชุมวิชาการ"ทางรอดของประเทศไทย" เผย 3 ปัญหาหลักที่ถูกรุมเร้า พร้อมแนะทางออกเสนอต่อรัฐบาล-สังคม

ประเทศไทยตกอยู่ในภาวะความขัดแย้งทางการเมืองมายาวนานตั้งแต่ปลายปี 2548 จนถึงปัจจุบัน ความขัดแย้งดังกล่าวได้ก่อให้เกิดความรุนแรงและความเสียหายขึ้นหลายครั้งหลายครา และความขัดแย้งดังกล่าวก็ไม่มีทีท่าว่าจะหยุดลง ความรุนแรงที่เกิดขึ้นทำให้เกิดเครือข่ายต่างๆ ขึ้นมาในสังคมเพื่อรณรงค์ป้องกันความรุนแรงและหาทางออกต่อความขัดแย้งที่เกิดขึ้น เครือข่ายหนึ่งคือเครือข่ายหยุดทำร้ายประเทศไทย ซึ่งเครือข่ายนี้ไม่ได้ส่งสัญญาณว่าจะคิดต่างกันไม่ได้ หากต้องการบอกกับสังคมว่าความแตกต่างทางความคิดนั้นถือเป็นเรื่องปกติธรรมดาของสังคมประชาธิปไตย  แต่ต้องไม่ใช้ความรุนแรงที่จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิต เสรีภาพและร่างกายของคนที่เกี่ยวข้อง


สำหรับความขัดแย้งที่เกิดขึ้นมาในระยะเวลาห้าปีที่ผ่านมานั้น นักวิชาการต่างวิเคราะห์ตรงกันว่าปัจจุบันประเทศไทยถูกรุมเร้าด้วยปัญหาสามประการ คือ


ปัญหาที่ 1 คือ ปัญหาความชอบธรรมของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลในอดีตหรือปัจจุบันก็ตาม ปัญหาความชอบธรรมที่ถูกผู้ไม่เห็นด้วยท้าทาย และยังเป็นปัญหาต่อเนื่องไปถึงความชอบธรรมขององค์กรต่างๆตามรัฐธรรมนูญด้วย เช่น ของ ป.ป.ช. หรือของศาล ที่ต้องเข้าไปตัดสินคดีเกี่ยวกับการเมือง


ปัญหาที่ 2 คือ ปัญหาประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการบริหารประเทศ ซึ่งเกิดขึ้นกับรัฐบาลทุกชุดที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล ที่มาจากวิธีใดก็ตาม ว่ารัฐบาลสามารถบริหารประเทศได้หรือไม่ สามารถรักษาความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายได้หรือไม่ และผลแห่งการบริหารนั้นเป็นอย่างไร


ปัญหาที่ 3 ที่สำคัญยิ่ง คือ ปัญหาเกี่ยวกับความเป็นธรรมในหลายระดับ ทั้งกติกา กระบวนการวินิจฉัยชี้ขาด จนถึงการบริหารประเทศ อีกนัยหนึ่ง คือ ปัญหาความเป็นธรรมในการจัดสรรทรัพยากรในสังคมให้ประชาชนทั้งหมดอย่างเท่าเทียมและยุติธรรม


ด้วยสาเหตุดังที่กล่าวมาข้างต้น จึงได้มีการจัดการประชุมวิชาการ ทางรอดของประเทศไทย ระหว่างวันที่ 11-12 กันยายน เป็นครั้งที่ 1 เพื่อระดมความคิดเห็นจากนักวิชาการ ผู้นำทางสังคม เศรษฐกิจ และสื่อมวลชนอาวุโสมาร่วมกันแสวงหาทางออกให้ประเทศ เพื่อหาทางทำข้อเสนอให้รัฐบาลและสังคมรับไปพิจารณาดำเนินการต่อไป 


ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากการประชุมวิชาการ "ทางรอดของประเทศไทย" เพื่อเสนอต่อรัฐบาลและสังคม มีโดยสรุปดังต่อไปนี้


1.สังคมไทยในขณะนี้ถูกวิกฤติรุมเร้าเป็นอย่างยิ่ง เป็นวิกฤติซึ่งมาจากความขัดแย้งเชิงโครงสร้างมายาวนาน หากสังคมไทยสามารถตื่นรู้และมองเห็นโอกาสเอง ใช้อำนาจให้น้อยลง ใช้ปัญญาให้มากขึ้น สังคมไทยก็จะสามารถปฏิรูปตนเองให้พ้นจากวิกฤติได้ แต่หากยังมองไม่เห็นทางออก ยังนิ่งเฉย สังคมไทยก็จะเข้าสู่ภาวะมิคคสัญญี เกิดการบาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก หลังจากนั้น จึงจะเกิดแรงกระตุ้นให้ปฏิรูปสังคม ซึ่งปัญญาที่เกิดหลังความสูญเสียนั้น เป็นสิ่งที่ไม่พึงปรารถนา


2.การจะปฏิรูปสังคมไทยให้พ้นจากวิกฤตินั้น จำต้องอาศัยทั้งบุคคลแต่ละคน (Individual) กลุ่มแต่กลุ่ม (Node) ในสังคม และสุดท้าย ทั้งหมดต้องร่วมกันเป็นเครือข่าย (Network) ที่เข้มแข็งในทุกด้าน แทนที่จะมุ่งเอาชนะคะคานกันด้วยอคติและความเกลียดชัง


3.ช่วงปี 2548 ถึงปัจจุบัน ประเทศไทยผ่านจุดวิกฤติที่อาจเปลี่ยนการชุมนุมของประชาชนไปสู่การนองเลือดมาแล้วหลายครั้ง แต่ก็ผ่านพ้นมาได้ แสดงว่าปัจจุบัน ประเทศไทยมีพลังบางอย่างเหนี่ยวรั้งตัวเองไม่ยอมรับการนองเลือดอย่างที่ผ่านมา


4.ขณะนี้ สังคมไทยจำเป็นต้องมีกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมในที่สาธารณะ ที่มีการกำหนดมาตรการและลำดับขั้นตอนการปฏิบัติของทั้งผู้ชุมนุมและผู้ดูแลการชุมนุมที่ชัดเจนเพียงพอ และเผยแพร่แก่ประชาชนทั่วไปให้ได้รับรู้ด้วย อย่างไรก็ตาม กฎหมายดังกล่าวจะต้องไม่ขัดกับเสรีภาพอันรัฐธรรมนูญได้ให้ไว้ กล่าวคือไม่ขัดขวางการชุมนุมโดยสงบ และปราศจากอาวุธของคนเล็กคนน้อยที่มีความเดือดร้อนและจำต้องแสดงความคิดเห็นของตนให้รัฐบาลและสังคมรับรู้ตามครรลองในระบอบประชาธิปไตย


5.ณ เวลานี้ สิ่งที่ทำได้เลยคือการเปิดพื้นที่หรือจัดเวทีให้ผู้เกี่ยวข้องต่างๆในการชุมนุมไม่ว่าจะเป็นผู้กำหนดนโยบาย เจ้าหน้าที่รัฐระดับปฏิบัติ และผู้นำภาคประชาสังคม มาร่วมกันกำหนดกติกาในการชุมนุมและแนวทางปฏิบัติที่ทุกฝ่ายยอมรับ อันจะเป็นการป้องกันความรุนแรงเฉพาะหน้าได้ นอกเหนือจากการจัดทำร่างกฏหมายการชุมนุมที่ต้องใช้เวลา


6.รัฐต้องมีระบบสวัสดิการพื้นฐานที่เป็นไปได้เพื่อแก้ไขความขัดแย้งทางการเมืองในสังคมไทยปัจจุบัน เนื่องจากประเทศไทยกำลังเผชิญปัญหาความไม่เป็นธรรมในการจัดสรรทรัพยากรและความมั่นคั่งในสังคมที่ไม่สามารถแก้ไขได้โดยการหว่านนโยบายประชานิยม ซึ่งไม่ได้ดูความยั่งยืนทางการคลังโดยมาพร้อมกับระบบอุปถัมภ์ และไม่มีกลไกหรือสถาบันในการจัดการ ในขณะที่ระบบสวัสดิการพื้นฐานจะต้องมีวินัยทางการคลัง ปรับเปลี่ยนจากแนวคิดอุปถัมภ์ไปสู่สิทธิของประชาชน ไม่ใช่เงินของนักการเมืองที่หว่านไปเอาบุญคุณกับประชาชน และมีกฏและสถาบันรองรับในการจัดการ      


7.การสร้างสวัสดิการพื้นฐานจะหางบประมาณได้จาก 2 แหล่งสำคัญคือ การเพิ่มเม็ดเงินภาษีและการทำนโยบายที่จะลดประโยชน์ที่ไม่ควรได้ (Rent เลว) ซึ่งจะต้องมีการแก้กฎหมายผลประโยชน์ทับซ้อน กฎหมายแข่งขันการค้า กฎหมายเกี่ยวกับตลาดหลักทรัพย์ และการจัดซื้อจัดจ้างที่โปร่งใส 


8.เพื่อให้กลไกและแนวคิดสามารถเกิดขึ้นได้เป็นรูปธรรมและยั่งยืน ควรให้มีการระบุในรัฐธรรมนูญว่าให้จัดตั้งองค์กรปฏิรูปการจัดสรรทรัพยากรและความมั่งคั่งที่เป็นธรรมในสังคม และให้รัฐบาลนำข้อเสนอแนะไปพิจารณาเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ ดังเช่นที่มีการจัดตั้งคณะกรรมการกระจายอำนาจขึ้นมาแล้ว 


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์