ปองพลไม่ติดใจถูกปลดบอร์ดกก.มรดกโลก

"ปองพล"ไม่ติดใจถูกโละ ติงโครงสร้างบอร์ดกก.มรดกโลกใหม่ไม่มีความรู้ด้านประวัติศาสตร์ ห่วงเสนอขึ้นทะเบียนภูพระบาท-พนมรุ้งไม่ทันพ.ค. "สุวิทย์"อ้างเปลี่ยนเพื่อทำงานสะดวก

เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ นายปองพล อดิเรกสาร อดีตประธานคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก ให้สัมภาษณ์ภายหลังถูกถอดออกจากตำแหน่งประธานคณะกรรมการมรดกโลก ว่า ตนไม่ได้ติดใจอะไร เมื่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นว่าต้องรื้อโครงสร้างกรรมการใหม่ แต่ตนมองว่าการที่ ครม.อนุมัติแต่งตั้งคณะกรรมการแห่งชาติฯ ชุดใหม่ จำนวน 26 คน โดยมีนายอดุล วิเชียรเจริญ อดีตประธานคณะกรรมการมรดกโลก เป็นกรรมการและที่ปรึกษา มีรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และรัฐมนตรีเป็นรองประธานนั้น หากพิจารณาในโครงสร้างแล้วเห็นว่าแนวทางการทำงานจะปฏิบัติได้ยาก เพราะประธานมาจากฝ่ายการเมือง ซึ่งไม่มีความแน่นอน มีการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา และไม่มีความรู้ด้านมรดกโลกและประวัติศาสตร์

"การนำรัฐมนตรีจากกระทรวงต่างๆ และฝ่ายทหารเข้าร่วมนั้น ผมคิดว่ารัฐบาลมองแค่ปัญหาเรื่องปราสาทพระวิหารเพียงอย่างเดียว แต่ไม่ได้มองภาพรวมหน้าที่ของคณะกรรมการในส่วนอื่นๆ" นายปองพลกล่าว

นายปองพลกล่าวว่า สิ่งที่ตนเป็นห่วงขณะนี้คือ การจัดทำเอกสารและรายละเอียดของอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท ต.เมืองพาน อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี

และอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้งเมืองต่ำ-อุทยานแห่งชาติพิมาย จ.บุรีรัมย์ เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการมรดกโลกที่จะประชุมในเดือนกรกฎาคม 2552 นี้ ที่ประเทศสเปน เพราะขณะนี้อุทยานฯทั้ง 2 แห่ง อยู่ในบัญชีรายชื่อรอการพิจารณาของคณะกรรมการมรดกโลกแล้ว ดังนั้น คณะกรรมการแห่งชาติฯชุดใหม่ ต้องเร่งจัดทำเอกสารให้เสร็จภายในเดือนพฤษภาคม เพื่อให้ทันกับการพิจารณาของคณะกรรมการมรดกโลกในเดือนกรกฎาคม หากไม่เร่งผลักดัน เกรงว่าจะกระทบต่อการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทั้ง 2 แห่ง และต้องเลื่อนการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกออกไปอีก 1 ปี เพราะการเสนอเป็นมรดกโลกนั้น รายชื่อจะต้องเข้าสู่บัญชีรอการพิจารณาของคณะกรรมการมรดกโลกอย่างน้อย 1 ปี


ด้านนายธราพงศ์ ศรีสุชาติ ผู้อำนวยการสำนักโบราณคดี กรมศิลปากร กล่าวว่า รายชื่อโบราณสถานของไทยที่รอการพิจารณาของคณะกรรมการมรดกโลก มี 2 แห่ง

1.อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท และ 2. อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง เมืองต่ำ-อุทยานแห่งชาติพิมาย ซึ่งกรมศิลปากรกำลังจัดทำเอกสารที่เรียกว่า Nomination document เพื่อส่งรายงานไปยังศูนย์มรดกโลก (WHC) ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส หากผ่านความเห็นชอบจากอิโคโมสสากล ก็จะนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลกในเดือนกรกฎาคม ซึ่งการเปลี่ยนกรรมการชุดใหม่จะไม่มีผลกระทบกับการทำเอกสารดังกล่าว คาดว่าเอกสารทั้งหมดจะเรียบร้อยทันเวลาที่คณะกรรมการมรดกโลกกำหนด แต่ถ้าไม่ทันปีนี้ก็จะต้องเสนอในปี 2553


นายสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวถึงการเสนอแต่งตั้งคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลกชุดใหม่

โดยปลดชุดที่มีนายปองพล อดิสาร เป็นประธาน ว่ายืนยันว่าไม่ได้ขัดแย้งกับคณะกรรมการชุดเก่า หรือนายปองพล เป็นเพียงการปรับโครงสร้างใหม่เพื่อความสะดวกในการทำงาน เช่น ถ้าเป็นคณะกรรมการชุดเก่า ซึ่งไม่มีหน่วยงานเข้าไปดูแลเขตพื้นที่ชายแดน ก็จะเข้าไปดูแลส่วนนี้ไม่ได้ แต่ถ้าเป็นคณะกรรมการชุดใหม่จะมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงกลาโหม ร่วมเป็นกรรมการ สามารถเข้ามาดูแลส่วนนี้ได้ทันที โดยไม่ต้องผ่านขั้นตอนต่างๆ จนเป็นเหตุให้การทำงานล่าช้า ส่วนการแต่งตั้งนายอดุล วิเชียรเจริญ อดีตประธานมรดกโลก มาเป็นกรรมการและที่ปรึกษานั้น เพราะเห็นว่านายอดุลทำด้านนี้มานานแล้ว มีความรู้มากที่สุดคนหนึ่ง


นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ด้านความมั่นคง เปิดเผยว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

ได้รายงานผลการเดินทางไปเยือนประเทศกัมพูชาเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาให้ทราบแล้ว โดยยืนยันว่าไม่ได้หารือเกี่ยวกับการถอนกำลังทหารตามแนวชายแดน แต่ทางกัมพูชาเสนอให้ถอนทหารจริงในระหว่างการหารือร่วมกัน แต่ยังไม่ได้ข้อยุติ ทั้งนี้ ไทยต้องผูกไมตรีกับประเทศเพื่อนบ้านทุกประเทศ และทหารก็ฉลาดที่ใช้วิธีนี้ เพราะเป็นวิธีดูแลประเทศให้มั่นคงที่สุด คือไม่ไปทะเลาะ หรือไปรบกับใคร แต่ต้องไปสร้างไมตรี


นายสุเทพยังกล่าวถึงการดูแลพื้นที่ที่เป็นข้อพิพาทระหว่างไทย-กัมพูชา ว่า มีคณะกรรมการชายแดนและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องคอยดูแลอยู่แล้ว ต้องปล่อยให้ฝ่ายปฏิบัติทำงานก่อน จะไม่ไปพูดอะไรให้คณะกรรมการทำงานยากขึ้น ถ้าคณะกรรมการมีอะไรติดขัด ก็คงจะมาหารือกับรัฐบาลเอง

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์