โอบามาประกาศถอนทหารจากอิรัก หน่วยรบส.ค.ปีหน้า เสร็จสมบูรณ์ 2554 ชี้เป็นบทเรียนสุดเจ็บปวดมะกันชน


โอบามา ประกาศถอนทหารจากอิรัก หน่วยรบภายในสิงหาคมปีหน้า เสร็จสมบูรณ์ปี 2554 ชี้เป็นบทเรียนที่เจ็บปวดอย่างยิ่งของทหารและอเมริกันชนทั่วประเทศ ยืนยันไม่ทิ้งทอดทิ้งจะทดแทนด้วยวิธีการทางการทูตและช่วยเหลือด้านมนุษยชน

 เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ สำนักข่าวเอพีรายงานว่า ประธานาธิบดีบารัค โอบามาแห่งสหรัฐอเมริกา ประกาศกำหนดการถอนทหารที่แน่ชัดออกจากประเทศอิรักแล้ว โดยกำหนดใช้เวลาถอนทหารที่เป็นหน่วยรบทั้งหมดออกมาภายใน 18 เดือน ล่าช้ากว่าที่เคยประกาศไว้ 2 เดือน หลังจากนั้นก็จะยังคงทหารส่วนหนึ่งเอาไว้รวมทั้งหมดไม่เกิน 50,000 คนเพื่อช่วยเหลือกองทัพอิรักรักษาเสถียรภาพและความมั่นคง ก่อนที่จะถอนกำลังออกมาโดยสิ้นเชิงภายในสิ้นปี 2554 นี้ โดยอ้างว่าด้วยการถอนกำลังทหารดังกล่าว จะถือเป็นการเปิดการดำเนินการทางการทูตยุคใหม่ของสหรัฐอเมริกาในตะวันออกกลาง

 รายงานข่าวระบุว่า นายโอบามาประกาศกำหนดถอนทหารดังกล่าวที่ค่ายนาวิกโยธิน เลอเชิน ในรัฐนอร์ธ แคโรไลนา ระหว่างประกอบพิธีปล่อยแถวทหารนาวิกโยธินหลายพันนายจากค่ายดังกล่าวไปปฏิบัติภารกิจในอัฟกานิสถาน การประกาศครั้งนี้มีนายโรเบิร์ต เกตส์ รัฐมนตรีกลาโหม และพลเรือแอก ไมค์ มุลเลน ยืนขนาบข้างเป็นสัญลักษณ์แสดงความเห็นพ้องกับแนวทางดังกล่าวนี้ หลังจากที่เคยมีเจ้าหน้าที่ระดับสูงในแวดวงทหารเคยแสดงความคิดเห็นคัดค้านกับยุทธศาสตร์นี้ของโอบามาก่อนหน้าที่ประธานาธิบดีรายนี้จะสาบานตนรับตำแหน่ง

 "ข้าพเจ้าขอกล่าวเรื่องนี้อย่างตรงไปตรงมาให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ภายในวันที่ 31 สิงหาคม 2553 นี้ ภารกิจสู้รบของเราในอิรักจะยุติลง" นายโอบามาประกาศ เหมือนกับที่ อดีตประธานาธิบดี ดไวท์ ดี. ไอเซนฮาวร์ และ ริชาร์ด เอ็ม. นิกสัน 2 ผู้นำที่เคยสืบทอดมรดกสงครามจากประธานาธิบดีคนก่อนหน้าเคยประกาศ เอพีระบุว่า ไอเซนฮาวร์ ประสบความสำเร็จตามที่ประกาศแต่ประธานาธิบดีนิกสันกลับล้มเหลวในการยุติสงครามเวียดนามในยุคสมัยของตน นายโอบามากล่าวว่าสหรัฐอเมริกาจะปล่อยให้ชาวอิรักรับผิดชอบต่ออนาคตของประเทศตนเองด้วยตัวเอง แต่ในขณะเดียวกันสหรัฐอเมริกาก็จะไม่มีวันลืมประชาชนอิรัก เพราะชาติทั้งสองได้ผ่านห้วงเวลาที่ยากลำบากมาด้วยกัน ความผูกพันของชาติทั้งสองได้มาจากการหลั่งเลือดร่วมกันและมิตรภาพที่หาค่ามิได้ระหว่างประชาชนของทั้งสองประเทศ การถอนกำลังออกมาจะถูกแทนที่ด้วยการดำเนินความพยายามด้านการทูตและความช่วยเหลือทางมนุษยชนมากขึ้นต่อไป"

 ผู้นำสหรัฐอเมริกายอมรับว่า เมื่อสหรัฐอเมริกาถอนกำลังออกมานั้นความรุนแรงอาจจะยังคงเป็น "ส่วนหนึ่งของชีวิต" ในอิรัก ปัญหายุ่งยากต่างๆรวมทั้งความไร้เสถียรภาพทางการเมือง การพลัดถิ่นภายในประเทศของคนอิรักเองและความตึงเครียดจากการที่รายได้จากการส่งออกน้ำมันลดลง  แต่สหรัฐอเมริกาจำเป็นต้องยุติสงครามในอิรัก ทั้งเพื่ออนาคตของอิรักเองและเพื่อเปิดทางให้สหรัฐอเมริกาหันมามุ่งเน้นความสนใจไปยังอัฟกานิสถานได้ใหม่และหนักแน่นกว่าที่เป็นอยู่

 นายโอบามาไม่ได้ยึดถือเอาว่าการสิ้นสุดสงครามครั้งนี้คือความสำเร็จ ตรงกันข้ามกลับระบุว่า สหรัฐอเมริกาบรรลุเป้าหมายของภารกิจในอิรักได้ดีที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้ แม้จะไม่สมบูรณ์แบบก็ตาม เพราะไม่สามารถจะขจัดคนที่ไม่ลงรอยกับสหรัฐ หรือคนที่เอนเอียงเข้าข้างฝ่ายตรงกันข้ามให้หมดไปจากอิรักได้ ไม่สามารถทำตัวเป็นตำรวจในอิรักอยู่ได้จนกระทั้งปลอดภัยอย่างสมบูรณ์ และไม่สามารถคงอยู่จนกระทั่งอิรักรวมตัวกันเป็นสหพันธรัฐอย่างสมบูรณ์แบบได้ กระนั้นทหารอเมริกันทั้งชายและหญิงก็ต่อสู้อย่างหนักในทุกๆอาคาร จังหวัดแล้วจังหวัดเล่า และปีแล้วปีเล่า เพื่ออำนวยให้เกิดโอกาสสำหรับชาวอิรักในอันที่จะเลือกอนาคตที่ดีกว่าเดิมได้ ตอนนี้ถึงเวลาแล้วที่สหรัฐจะต้องร้องขอให้ชาวอิรักฉกฉวยโอกาสที่ว่านี้ไว้

 "เราผละจากอิรักมา ด้วยการมอบโอกาสที่จะมีชีวิตที่ดีกว่า ซึ่งได้มาอย่างยากเย็นยิ่งเอาไว้ นั่นคือความสำเร็จของพวกท่าน นั่นคือโอกาสที่พวกท่านได้รังสรรค์ขึ้นไว้" โอบาม่าย้ำกับทหารและคนอเมริกันทั้งประเทศว่า สงครามอิรักคือบทเรียนมหึมาที่เจ็บปวดอย่างยิ่ง นับแต่นี้ไป สหรัฐอเมริจะต้องไม่เข้าสู่สงครามโดยไม่มีเป้าหมายที่เด่นชัด ไม่มีความชัดเจนเรื่องต้นทุนของสงคราม และจะต้องมีการใช้ศักยภาพทั้งทางการทหารและการทูตควบคู่กันไป ไม่ทำตัวแบบข้ามาคนเดียวอีกต่อไป

 รายงานข่าวระบุว่าก่อนหน้าการประกาศครั้งนี้นายโอบามาได้บรรยายสรุปให้บรรดาผู้นำในสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภารับฟังเป็นการลับตั้งแต่วันที่ 26 กุมภาพันธ์ และแจ้งต่อนายกรัฐมนตรี นูรี อัล-มาลีกี แห่งอิรักกับอดีตประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุชในวันถัดมา เจ้าหน้าที่ระดับสูงในฝ่ายบริหารของโอบามาระบุว่า ประธานาธิบดีโอบามาไม่ได้ดำเนินการเรื่องนี้ด้วยกรอบความคิดทางการเมือง หากแต่ใช้เวลาหารือประสานงานกับฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งหมด และขอให้สำนักประสานงานระหว่างหน่วยงานของรัฐเป็นผู้รวบรวมทางเลือกให้เพื่อการตัดสินใจ ในท้ายที่สุดผู้นำสหรัฐเลี่ยงที่จะลงลึกในรายละเอียดใดๆ เช่นจะถอนทหารกี่นายต่อเดือน เพราะต้องการให้ผู้ปฏิบัติงานภาคสนามในอิรักใช้เป็นความยืดหยุ่นสำหรับการถอนกำลังเอง

 เอพีระบุว่าปฏิกิริยาต่อเรื่องนี้ในอิรักนั้นมีทั้งที่แสดงความยินดีและสนับสนุนแนวความคิดดังกล่าวนี้แต่ก็ยังมีบางส่วนที่กังวลว่า อิรักอาจไม่สามารถก้าวรุดหน้าต่อไปได้ด้วยตัวเองเพียงลำพัง ในขณะที่ภายในรัฐสภาเองนั้น แผนดังกล่าวได้รับการสนับสนุนอย่างมากจากพรรครีพับลิกันที่หวังจะอาศัยกรณีนี้เพื่อชี้ให้เห็นว่าเป็นความสำเร็จของนโยบายการเพิ่มกำลังทหารในช่วงปลายรัฐบาลบุช ในขณะที่ แกนนำเดโมแครตหลายคนกลับไม่พอใจที่ยังคงมีการคงกำลังทหารอยู่มากกว่าที่คิดกันไว้ก่อนหน้านี้

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์