เอกชนค้านขึ้นค่าจ้าง 300 บาท

ภาคเอกชนยื่น 5 ข้อเสนอ ดับเครื่องชนนโยบายรัฐบาลใหม่ ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ห่วงธุรกิจ 1 ล้านรายเจ๊ง “ยิ่งลักษณ์”ย้ำ ค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทเริ่มใช้ปี 55
 

เมื่อวันที่ 12 ก.ค.ที่พรรคเพื่อไทย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ว่าที่นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ตอนหนึ่งถึงนโยบายที่หาเสียงไว้กับประชาชน เรื่องการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน ว่าเรามีความตั้งใจที่จะผลักดันให้เกิดขึ้นจริง แต่คงต้องให้เวลาแต่ละช่วงในการปรับตัว เราต้องฟังจากหลายภาคส่วน โดยเฉพาะบริษัทที่อยู่ในองค์กรขนาดเล็ก หรือตามต่างจังหวัดที่อาจจะมีผลกระทบ ดังนั้นต้องขอฟังรายละเอียด และดูว่าภาครัฐจะให้การสนับสนุนอย่างไร เมื่อถามว่าแสดงว่าการขึ้นค่าแรงจะทำเฉพาะในกรุงเทพฯ ก่อนใช่หรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวปฏิเสธว่าไม่ใช่ แต่จะขอฟังรายละเอียดทั้งหมดก่อน เพราะจุดนี้ต้องทำงานร่วมกับกระทรวงแรงงาน ฟังความเห็นจากภาคเอกชน และหลายภาคส่วน นอกจากนี้คงต้องหารือกับฝ่ายที่ดูแลด้านงบประมาณทั้งหมดด้วย
   

เมื่อถามว่าดูเหมือนธุรกิจเอสเอ็มอี ยืนยันว่าแบกรับค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทไม่ได้
 
หากไม่มีการช่วยเหลือในด้านอื่นจะทำอย่างไร น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่าก็จะหาวิธีการช่วยเหลือ เพราะเราอยากเห็นการกระตุ้น และส่งเสริมภาคการผลิตควบคู่กันไป ทั้งนี้นโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทจะยังไม่ทำภายในปี 2554 ตามแผนที่วางไว้ คือจะเริ่มดำเนินการในเดือน ม.ค.2555 เพราะเราอยากทำควบคู่กับภาคอุตสาหกรรม และภาคธุรกิจด้วย เมื่อถามว่าหลายนโยบายต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก ได้หารือกับกระทรวงการคลังหรือยังว่าจะนำเงินมาจากส่วนไหน น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ขอหารือกับกระทรวงการคลังก่อน ซึ่งส่วนหนึ่งก็เป็นหน้าที่ของผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่ง รมว.คลัง ด้วย

นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ เลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่ประชุมคณะกรรมการค่าจ้างกลางมีข้อเสนอให้ปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมถึงภูเก็ตแล้วว่า

พรรคเพื่อไทยยินดีรับฟังข้อมูลจากทุกฝ่ายทั้งจากคณะกรรมการค่าจ้างกลาง นายจ้าง ลูกจ้างและนักวิชาการ และจะนำข้อมูลเหล่านี้มาประกอบการพิจารณาในการดำเนินนโยบายปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน ทั้งนี้นโยบายนี้จะมีความชัดเจนหลังจากมีการแต่งตั้งรัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ เรียบร้อยแล้ว อย่างไรก็ตามกรณีที่ภาคธุรกิจห่วงว่าธุรกิจเอสเอ็มอีจะเสียหายจากนโยบายนี้ ทางพรรคได้เตรียมมาตรการรองรับไว้แล้วด้านนายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.) กล่าวว่า อยากให้มีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาทต่อวันเท่ากันทั่วประเทศ ไม่ควรเลือกปรับเพียงบางจังหวัดเพราะแรงงานทั้งประเทศก็ต้องใช้จ่ายเหมือนกัน ก่อนหน้านี้พรรคเพื่อไทยประกาศนโยบายว่าหากได้เป็นรัฐบาลจะขึ้นค่าจ้างเป็น 300 บาทต่อวัน รวมทั้งปรับเงินเดือนผู้จบปริญญาตรีรุ่นใหม่เป็น 1.5 หมื่นบาทต่อเดือน ทำให้พี่น้องแรงงานเทคะแนนให้ตามที่ได้หาเสียง ถ้าไม่ทำตามที่สัญญาไว้ก็เหมือนเป็นการหลอกพี่น้องแรงงานทั่วประเทศ


ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.)

ได้เชิญคณะกรรมการบริหารของ ส.อ.ท.มาหารือเป็นกรณีพิเศษเกี่ยวกับผลกระทบจากนโยบายการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาท เนื่องจากผู้ประกอบการทั่วประเทศได้ร้องเรียนต่อ ส.อ.ท.ให้เจรจากับรัฐบาลในการหาทางออกเกี่ยวกับนโยบาย เพราะหากขึ้นทันทีเชื่อว่าผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไม่ต่ำกว่า 1 ล้านรายไม่สามารถดำเนินกิจการได้ นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธาน ส.อ.ท.กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารส.อ.ท. มีมติ 5 ข้อที่จะเสนอต่อการดำเนินนโยบายการปรับค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาททั่วประเทศของรัฐบาลชุดใหม่ ประกอบด้วย 1.ไม่เห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าวเพราะจะกระทบต่อเศรษฐกิจภาพรวม 2.การปรับขึ้นค่าจ้างต้องให้เป็นไปตามกลไกตลาดที่สอดคล้องกับค่าครองชีพ

นายพยุงศักดิ์กล่าวต่อว่า 3.ให้คณะกรรมการไตรภาคีเป็นผู้พิจารณาค่าจ้างอย่างอิสระโดยไม่มีนักการเมืองเข้ามากดดัน 4.หากรัฐบาลยืนยันจะปรับค่าแรง 300 บาทให้ได้ ควรนำงบประมาณมาชดเชยส่วนต่างแก่ผู้ประกอบการ เหมือนกับนโยบายรับจำนำข้าวตันละ 15,000 บาทที่รัฐบาลช่วยเหลือเกษตรกร และ 5.ให้ภาคเอกชนหารือกับรัฐบาลชุดใหม่ในการพิจารณาขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเพื่อไม่ให้กระทบต่อระบบเศรษฐกิจ “การช่วยชดเชยส่วนต่างนั้นคงทำแค่ 3-4 ปีเพื่อให้ผู้ประกอบการปรับตัวได้ก่อน แต่ในรายละเอียดนั้นต้องรอดูให้ชัดเจนก่อนเพราะยังไม่รู้ว่ารัฐบาลจะใช้หลักอะไรในการพิจารณา เพราะมีทั้งแรงงานที่ขึ้นทะเบียนอยู่แล้ว หรือว่าจะเป็นเฉพาะแรงงานใหม่ โดยในสัปดาห์หน้าจะมีการนำเข้าไปหารือในที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เป็นวาระพิเศษเพื่อหาแนวทางในการรับมือกับนโยบายรัฐบาลชุดใหม่เช่นกัน”

ด้านนายสมมาต ขุนเศษฐ เลขาธิการส.อ.ท.กล่าวว่าส.อ.ท.ได้สำรวจความคิดเห็นผู้ประกอบการ 513 ราย ครอบคลุมกลุ่มอุตสาหกรรม 40 กลุ่ม
 
พบว่าผู้ประกอบการขนาดย่อมมีสัดส่วนต้นทุนเกี่ยวกับรายจ่ายด้านแรงงานเมื่อเทียบกับต้นทุนการผลิตภาพรวมอยู่ที่ร้อยละ 0- 10  ส่วนขนาดกลาง และขนาดใหญ่มีสัดส่วนต้นทุนแรงงานเท่ากันร้อยละ 11-20 เมื่อสอบถามเกี่ยวกับผลกระทบค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาท พบว่ามีผู้ประกอบการขนาดย่อมที่ได้รับผลกระทบมากร้อยละ 73.79 ผู้ประกอบการขนาดกลางที่ได้รับผลกระทบมากร้อยละ 67.03 และผู้ประกอบการขนาดใหญ่ที่ได้รับผลกระทบมากร้อยละ  67.70 และเมื่อสอบถามเกี่ยวกับการจ้างงานหลังการปรับค่าจ้างตามนโยบายพรรคการเมืองพบว่าผู้ประกอบการขาดย่อมที่มีแนวโน้มการลดการจ้างงานร้อยละ 19.76 ขนาดกลางที่มีแนวโน้มลดการจ้างงานร้อยละ 20.57 และขนาดใหญ่ที่มีแนวโน้มลดการจ้างงานร้อยละ 27.33

นายสมมาต กล่าวต่อว่านอกจากนี้ เมื่อถามเกี่ยวกับการยอมรับอัตราค่าจ้างต่อวันพบว่าผู้ประกอบการขนาดย่อมยอมรับที่วันละ 200 บาท
 
ขนาดกลางยอมรับที่ 211 บาท และขนาดใหญ่ยอมรับที่ 205 บาท แต่เมื่อพิจารณาอัตราการเปลี่ยนแปลงค่าจ้างขั้นต่ำรายจังหวัดที่ผู้ประกอบการยอมรับได้มากที่สุดพบว่า จ.ชัยนาท เป็นจังหวัดที่ยอมให้ปรับค่าจ้างขั้นต่ำขึ้นได้ร้อยละ 49.7 เพิ่มจาก 167 บาท เป็น 250 บาท รองลงมาเป็น จ.พังงา ยอมปรับค่าจ้างขึ้นได้ร้อยละ 26.34 เพิ่มจาก 186 บาท เป็น 235 บาท และจ.เชียงราย ยอมปรับค่าจ้างขึ้นร้อยละ 25 จากวันละ 161 บาท เป็น 201 บาท ส่วน จ.นครสวรรค์ เป็นจังหวัดที่ยอมให้ปรับค่าจ้างน้อยที่สุด  โดยเสนอให้ปรับค่าจ้างลดลงร้อยละ 19 จากวันละ 166 บาท เป็น 147 บาท“ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ระบุชัดเจนว่าการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาทต่อวันนั้นจะทำให้ต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งบางจังหวัดจะทำให้ต้นทุนเพิ่มถึงเท่าตัว ทำให้กิจการเอสเอ็มอีจำนวนมากไปไม่รอด ดังนั้นรัฐบาลควรจะต้องทบทวน และปล่อยให้การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นไปตามกลไกตลาด รวมทั้งหามาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ เช่น การฝึกอบรมฝีมือแรงงาน เป็นต้น”.

 


เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์