เล่ห์รพ.ดูดเงินคนไข้ตรวจถี่ยิบเกินอาการ

"เผยวิธีหารายได้แบ่งเปอร์เซ็นต์"


แฉกลยุทธ์โรงพยาบาลเอกชนสูบเงินคนไข้ ทั้งตรวจเกินจริง เลี้ยงไข้ ยันรักษาลูกโซ่ ระดมแพทย์วันละ 7 คน ตรวจจริงไม่เกิน 1 นาที อดีตแพทย์พิเศษเผยวิธีหารายได้แบ่งเปอร์เซ็นต์ กดดันหมอทำได้ไม่ตามเป้าให้ลาออก ทนายลำพูนจ่อฟ้องโรงพยาบาลดัง แนะแม่ป่วยเบาหวานผ่าเส้นเลือดหัวใจ จนติดเชื้อตายคามีดหมอ

ความขัดแย้งระหว่างแพทย์กับผู้รับการรักษามีมากขึ้นในปัจจุบัน ไม่เฉพาะแต่โรงพยาบาลรัฐเท่านั้น แม้แต่โรงพยาบาลเอกชนเองก็เช่นเดียวกัน ล่าสุด "คม ชัด ลึก" ได้รับการร้องเรียนจากผู้ป่วยและญาติ ที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเอกชนจำนวนหนึ่งว่า ต้องหมดเงินไปกับค่ารักษาทั้งที่ไม่ได้เป็นโรคร้ายแรงอะไร ทั้งนี้ จากการสอบถามข้อมูลจากผู้เสียหายทางการแพทย์ ที่ประสบปัญหากับโรงพยาบาลเอกชนหลายกรณี ซึ่งส่วนใหญ่ร้องเรียนไปยังแพทยสภาสามารถสรุปได้ว่ามี 3 กลยุทธ์ ที่แพทย์โรงพยาบาลเอกชนบางแห่งใช้หาผลประโยชน์เพิ่มจากคนไข้คือ


"ตรวจเกินจำเป็น เลี้ยงไข้"


1.เทคนิคการตรวจรักษาเกินความจำเป็น (Over Treatment) หรือการแนะนำให้คนไข้ใช้เครื่องมือคอมพิวเตอร์ที่มีราคาแพง เช่น เครื่องตรวจด้วยคลื่นสะท้อนในสนามแม่เหล็ก (MRI Scan) เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ เครื่องอัลตราซาวนด์ 4 มิติ ฯลฯ ซึ่งค่าตรวจแต่ละครั้งมีราคาตั้งแต่ 5,000-10,000 บาท หากคนไข้ต้องผ่าตัดก็จะแนะนำให้ใช้แพทย์หลายสาขาเข้าไปในห้องผ่าตัดพร้อมกัน

2.เทคนิคการรักษาแบบเลี้ยงไข้ (UNDER TREATMENT) หรือการรักษาแบบไม่วินิจฉัยโรคให้แน่ชัดแต่แรก แต่จะใช้วิธีเกลี้ยกล่อมให้คนไข้แอดมิท (ค้างคืน) ที่โรงพยาบาล เพื่อดูอาการโดยละเอียด หรือแนะนำคนไข้พบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญหลายสาขา ทั้งที่คนไข้เป็นโรคขั้นพื้นฐาน เช่น ไทฟอยด์ กระเพาะอาหาร ลำไส้อักเสบ ฯลฯ


"เทคนิครักษาแบบลูกโซ่"


3.เทคนิคการรักษาแบบลูกโซ่ (Over Admitting) หรือการเกลี้ยกล่อมให้ผู้ป่วยไปตรวจรักษาโรคอื่นเพิ่มเติมจากโรคที่ตั้งใจมารักษา เช่น แนะผู้ป่วยเบาหวานรักษาโรคหัวใจ หรือกรณีผู้มารักษาอาการปวดประจำเดือน แต่แพทย์แนะนำให้ผ่าตัดไส้ติ่ง ฯลฯ

น.ส.เพชรา หนึ่งในญาติผู้ป่วยที่ได้รับความเสียหายจากการตรวจรักษาเกินความจำเป็น ให้ข้อมูลว่า เมื่อเดือนพฤษภาคม 2549 ได้พาพ่อวัย 69 ปี ที่มีอาการเจ็บหลังเนื่องจากหกล้ม ไปรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนชื่อดังแห่งหนึ่งแพทย์แนะนำให้ผ่าตัดและจองห้องพักให้ทันที ซึ่งการผ่าตัดใช้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญและแพทย์ผู้ช่วยถึง 4 รายด้วยกัน คือ แพทย์ผ่าตัดกระดูกสันหลัง, แพทย์ผู้ช่วยซึ่งเป็นอดีตกรรมการโรงพยาบาลที่เกษียณแล้ว, แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสมอง และวิสัญญีแพทย์ ยิ่งไปกว่านั้นหลังผ่าตัดก็มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ผลัดเปลี่ยนมาเยี่ยมไข้ถึงวันละ 7 ราย


"เพื่อความปลอดภัยของคนไข้"


"หมดค่าใช้จ่ายไป 3 แสนกว่าบาท ก็พยายามถามเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลว่า จำเป็นหรือไม่ที่การผ่าตัดต้องใช้แพทย์ผู้ช่วยที่เกษียณแล้ว รวมถึงแพทย์เชี่ยวชาญด้านสมอง และทำไมต้องมีแพทย์ผลัดเปลี่ยนมาเยี่ยมถึงวันละ 7 ราย เพราะแต่ละครั้งที่มาต้องเสีย 500 บาท เท่าที่จับเวลาดูเข้ามาครั้งละไม่เคยเกิน 1 นาที พอเราบ่น พยาบาลก็บอกว่าเข้าใจดี แต่ไม่กล้าและไม่รู้จะบอกหมอว่าอย่างไร เพราะคนไข้แอดมิททุกรายก็บ่นคล้ายกัน ส่วนเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลก็อ้างว่า เพื่อความปลอดภัยของคนไข้ที่อายุมากแล้ว แต่จากการสอบถามหมอที่รู้จักก็บอกว่า หากคนป่วยไม่เคยมีอาการผิดปกติที่เกี่ยวกับสมองก็ไม่จำเป็น" น.ส.เพชรา กล่าว

เช่นเดียวกับ นางวารุณี แม่บ้านวัย 40 ปี ซึ่งมีประสบการณ์ถูกโรงพยาบาลเอกชนรักษาแบบเลี้ยงไข้ ให้ข้อมูลว่า เมื่อกลางเดือนมิถุนายน 2549 มีอาการท้องร่วงและมีไข้สูง จึงเข้าตรวจรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง แพทย์แนะนำให้แอดมิท ไม่เช่นนั้นอาการอาจเหมือนพระเอกดัง ที่เชื้อโรคขึ้นสมองได้ ด้วยความกลัวจึงตัดสินใจนอนโรงพยาบาลทันที


"อ้างหาเชื้อโรคไม่เจอ"


นางวารุณี บอกว่า ระหว่างอยู่โรงพยาบาล มีแพทย์หลายคนมาตรวจ แล้วเจาะเลือดไปเพาะเชื้อหาสาเหตุ ผ่านไป 3 วัน อาการไข้ก็ยังไม่ดีขึ้น แพทย์อ้างว่าหาเชื้อโรคไม่เจอ พร้อมกับแนะนำให้พบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องตับ และผู้เชี่ยวชาญเรื่องไต แต่ก็หาสาเหตุไม่เจอ เมื่อล่วงเข้าวันที่สี่ จึงบอกว่าไม่เป็นอะไรมาก อาจเป็นแค่โรคไทฟอยด์ แต่ให้นอนพักรักษาต่อไปอีก 7 วัน ให้พยาบาลฉีดยา เนื่องจากไม่มียาชนิดรับประทาน คนไข้จึงไม่สามารถกลับบ้านได้ ต้องเสียค่าใช้จ่ายอีกวันละ 5,000 กว่าบาท

ด้าน นายสมศักดิ์ (นามสมมติ) ทนายความจาก จ.ลำพูน เป็นผู้เสียหายอีกรายที่เกิดจากการรักษาแบบลูกโซ่ เปิดเผยว่า เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2548 ได้พาแม่วัย 67 ปี ไปรักษาโรคเบาหวานและทางเดินปัสสาวะติดเชื้อที่โรงพยาบาลเอกชนชื่อดัง ระหว่างที่นอนโรงพยาบาล แพทย์ตรวจร่างกายและบอกแม่ว่า มีอาการของโรคหัวใจ ซึ่งเป็นโรคประจำตัวของคนชรา แต่ไม่น่าเป็นห่วง ต่อมามีแพทย์คนหนึ่งเข้ามาตีสนิท และชักชวนให้ผ่าตัดเปลี่ยนเส้นเลือดหัวใจ อ้างว่าจะทำให้แข็งแรงอยู่ได้อีกหลายสิบปี แม่จึงมารบเร้าให้อนุญาตผ่าตัด


"ตายแล้วยังต้องจ่ายอีกเพียบ"


"แม่ผมเข้าห้องผ่าตัดวันที่ 9 พฤศจิกายน 2547 ปรากฏว่าติดเชื้อตัวใหม่สุดท้ายก็เสียชีวิต ยังต้องจ่ายค่ารักษาอีก 5 แสนบาท ตอนแรกก็งงและสับสน พอมานั่งคิดดีๆ จึงเกิดความสงสัยว่า ก่อนเข้าโรงพยาบาลแม่เป็นปกติทุกอย่าง เป็นโรคไม่ร้ายแรงทำไมต้องมาเสียชีวิตด้วย ตอนนี้กำลังทำเรื่องเรียกค่าเสียหายโรงพยาบาลเอกชนต้นเหตุต่อศาล" นายสมศักดิ์ กล่าว

อดีตแพทย์ศัลยกรรมพิเศษโรงพยาบาลเอกชนชื่อดังหลายแห่ง เปิดเผยกับ "คม ชัด ลึก" ว่าตามปกติแล้วโรงพยาบาลเอกชน จะมีนโยบายแบ่งรายได้ให้แพทย์ทุกคน แบ่งเป็นเงินพิเศษสำหรับคนไข้นอกและคนไข้แอดมิท สำหรับคนไข้นอกจะมีส่วนแบ่งรายได้จากค่ารักษาทั่วไปของแพทย์ ซึ่งจะแยกรายการชัดเจนในใบเสร็จรับเงิน, ค่ายา ซึ่งได้เป็นเปอร์เซ็นต์ โรงพยาบาลแต่ละแห่งจะให้ไม่เท่ากัน แต่ต้องไม่น้อยกว่า 10% จากยาที่สั่งแต่ละครั้ง หากสั่งให้ใช้เครื่องตรวจเอกซเรย์หรือเครื่องมือตรวจคอมพิวเตอร์ก็จะได้ส่วนแบ่งอีกต่างหาก


"แบ่งเปอร์เซ็นต์ค่าห้องค่าเยี่ยม"


แพทย์รายเดิมยังบอกด้วยว่า โรงพยาบาลเอกชนบางแห่งแบ่งเปอร์เซ็นต์ค่าห้องผู้ป่วยด้วย เช่น ค่าห้องคืนละ 2,000 บาท จะได้ 500 บาท เช่นเดียวกับค่าเยี่ยมไข้อีกครั้งละ 500 บาท ส่วนค่าตรวจรักษาค่าผ่าตัดก็จะได้ต่างหาก

อดีตนายแพทย์พิเศษโรงพยาบาลเอกชนยังเปิดเผยอีกว่า โรงพยาบาลเอกชนเกือบทุกแห่งจะมีการประเมินผลงานหารายได้ของหมอ หากหมอที่ทำยอดรายได้มาก มีการสั่งเจาะตรวจโน่นตรวจนี่ทำยอดกำไรให้โรงพยายาลสูงก็จะไม่มีปัญหา ส่วนหมอที่ผลงานไม่ดี ไม่มีรายได้เสริมให้โรงพยาบาลจะถูกประเมินไม่ค่อยดีนัก สร้างความอึดอัดใจให้กับหมอที่มีคุณธรรมไม่ต้องการให้ผู้ป่วยสิ้นเปลืองเงินโดยใช่เหตุเป็นอย่างมาก


"วิธีหารายได้ของหมอ"


การตรวจรักษาและสั่งยาอยู่ที่การวินิจฉัยของหมอแต่ละคน ซึ่งหมอส่วนใหญ่จะเป็นคนดีมีคุณธรรม แม้ว่าผู้บริหารไม่มีนโยบายชัดเจนในเรื่องวิธีการหาเงินเข้าโรงพยาบาล แต่หมอก็จะรู้กันเองว่าต้องทำอย่างไร โดยเฉพาะพวกหมอที่เห็นแก่เงิน มองงานเป็นธุรกิจรายได้และค่าเสียเวลา เช่น มีคนกระดูกแขนหักมา หากเข้าเฝือกจะได้ค่ารักษาแค่ 1,000 บาท แต่ถ้าแนะนำให้ผ่าตัดจะได้ไม่ต่ำกว่าครั้งละ 3 หมื่นบาท ยิ่งถ้าคนไข้มีบริษัทประกันจ่าย หรือมีประกันสังคม หมอก็จะสั่งตรวจสั่งยาเต็มที่ โรงพยาบาลแต่ละแห่งจะมีวิธีกดดันหมอ โดยเฉพาะหมอที่หาเงินไม่ได้ตามเป้า ถ้าหมอคนไหนทนไม่ไหวก็จะลาออกเอง แหล่งข่าว กล่าว

ทั้งนี้ เมื่อเดือนมกราคม 2549 ศูนย์ประชามติ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดจำนวน 1,500 คน ในหัวข้อ ศรัทธาต่อแพทย์ พยาบาลและครูในโลก ผลปรากฏว่าร้อยละ 72 ไม่เชื่อมั่นว่าจะได้รับการรักษาจากแพทย์และพยาบาลอย่างเต็มที่โดยไม่เลือกชั้นวรรณะ ผู้ถูกสำรวจร้อยละ 66 ไม่เชื่อว่าโครงการ 30 บาทจะทำให้ตัวเองได้รับการรักษาอย่างเต็มที่ และมีเพียงร้อยละ 34 เท่านั้นที่เชื่อว่าจะมีจำนวนทันตแพทย์เพียงพอสำหรับการให้บริการตรวจรักษาฟันประชาชนอย่างมีคุณภาพ


"การตรวจรักษาเกินจำเป็น"


ด้าน พ.ญ.ประภา วงศ์แพทย์ นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน กล่าวว่า การประกอบวิชาชีพแพทย์ถือเป็นการประกอบโรคศิลปะ เพราะคนไข้แต่ละคนไม่เหมือนกัน แพทย์แต่ละคนก็วินิจฉัยคนไข้ไม่เหมือนกัน ปัจจุบันมีโรงพยาบาลเอกชนที่จดทะเบียนแล้วประมาณ 400 แห่ง สำหรับกลยุทธ์หาเงินของแพทย์โรงพยาบาลเอกชน 3 วิธีนั้น พ.ญ.ประภา กล่าวอธิบายว่า การตรวจรักษาเกินความจำเป็น (OVER TREATMENT) นั้น

ที่จริงแล้วเป็นการตรวจรักษาที่เน้นวิธีป้องกัน เนื่องจากปัจจุบันมีเครื่องมือคอมพิวเตอร์ที่ช่วยให้แพทย์ตรวจวินิจฉัยโรคร้าย ที่มีความหลากหลายได้รวดเร็วและปลอดภัยขึ้นกว่าเดิมมาก อีกทั้งยังช่วยค้นหาความผิดปกติของอวัยวะภายในได้ถูกต้องแม่นยำ คนไข้ที่มาโรงพยาบาลเอกชนต่างคาดหวังว่าจะได้รับการตรวจรักษาอย่างเต็มที่ แพทย์จึงสั่งให้ตรวจ ไม่เช่นนั้นคนไข้ส่วนใหญ่จะทักท้วงว่าทำไมไม่ตรวจ โดยเฉพาะคนไข้ที่มีประกันช่วยจ่ายค่ารักษา


"เทคนิคการรักษาแบบเลี้ยงไข้"


พ.ญ ประภา กล่าวถึงเทคนิคการรักษาแบบเลี้ยงไข้ว่า โดยปกติแล้วหมอแต่ละท่านจะมีวิธีการสั่งยารักษาคนไข้ไม่เหมือนกัน เช่น คนไข้บางรายเป็นไข้สูง หากวินิจฉัยไม่ได้ก็ต้องสั่งเจาะเลือดตรวจดูว่าติดเชื้ออะไร หากรู้ก็สั่งยาได้ แต่ถ้าผลตรวจเชื้อโรคไม่ชัดเจนหรือไม่แน่ชัดว่าเป็นโรคอะไร หมอก็ต้องสั่งแอดมิทดูอาการ

แต่หมอบางคนอาจมีวิธีการที่แตกต่าง เมื่อเห็นเป็นไข้สูงก็อาจสั่งยาปฏิชีวนะให้เลย กรณีคนไข้เป็นเด็กก็อาจสั่งให้นอนโรงพยาบาล เพราะไม่แน่ใจว่าเมื่อกลับบ้านจะมีผู้ดูแลที่ดีหรือไม่ ส่วนเรื่องการรักษาแบบลูกโซ่นั้นเชื่อว่า เป็นหน้าที่ของแพทย์ที่จะบอกคนไข้ว่าเป็นโรคอะไรบ้าง โดยเฉพาะหากตรวจพบโรคอื่นเพิ่มเติม และแนะนำว่าต้องรักษาอย่างไร การตัดสินใจจะรักษาหรือไม่เป็นสิทธิของคนไข้


แหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์