สธ.เตือนอย่าวิตกไข้กระต่ายเกินไป

เมื่อวันที่ 18 มี.ค. น.พ.ธวัช สุนทราจารย์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยเกี่ยวกับโรคทูลาเรเมีย (Tularemia) หรือโรคไข้กระต่าย ว่า

หลังเปิดเผยข่าวพบผู้ป่วยรายแรกของประเทศไทย ส่งผลให้ผู้ที่ชอบเลี้ยงสัตว์โดยเฉพาะสัตว์ฟันแทะ เช่น กระต่าย หนู กระรอก บางรายเกิดความวิตกกังวล ซึ่งอาจจะนำไปสู่การนำสัตว์ไปปล่อย เหมือนสัตว์เลี้ยงอื่นๆ ที่เคยเป็นที่นิยมมาก่อน เช่น อีกัวน่า ปลาซักเกอร์ กลายเป็นปัญหาต่อระบบนิเวศในอนาคตได้ ผู้ที่กำลังเลี้ยงสัตว์ฟันแทะอยู่ หรือคิดที่จะเลี้ยงสัตว์ฟันแทะ ไม่จำเป็นต้องวิตกกังวลจนเกินเหตุ แต่ขอให้ปฏิบัติให้ถูกต้อง หากตัดสินใจที่จะเลี้ยงสัตว์ประเภทนี้ ควรเลือกซื้อจากแหล่งที่ไม่มีสัตว์ป่วยในกรงหรือคอกที่เลี้ยง ไม่มีอาการเซื่องซึม เป็นต้น

"ในการเลี้ยงต้องหมั่นดูแลรักษาความสะอาด ทั้งตัวสัตว์ บริเวณที่อยู่อาศัยของสัตว์ รวมทั้งอาหารที่นำมาเลี้ยงสัตว์ ที่สำคัญ ไม่ควรคลุกคลี กอดหรือหอมสัตว์โดยตรง และต้องล้างมือทำความสะอาดทันทีทุกครั้งหลังสัมผัสกับสัตว์ โดยเฉพาะหากมีบาดแผลที่มือ นอกจากนี้ ต้องรู้จักสังเกตลักษณะของสัตว์ที่เลี้ยง หากมีอาการผิดปกติ หรือดูเหมือนป่วย ควรพาไปพบสัตวแพทย์โดยเร็ว ก็จะช่วยให้ผู้เลี้ยงปลอดภัยจากโรคต่างๆ ที่อาจติดมากับสัตว์เลี้ยงได้" น.พ.ธวัช กล่าว

น.พ.ธวัช กล่าวต่อว่า

ปัจจุบันโรคไข้กระต่ายยังไม่มีการติดต่อจากคนสู่คน แต่ติดต่อโดยมีแมลงเป็นพาหนะ เช่น หมัด หรือแมลงดูดเลือด กัดสัตว์ที่มีเชื้อโรคนี้อยู่แล้วมากัดคนก็จะถ่ายทอดเชื้อเข้าสู่ร่างกายคนได้ หรือสัมผัสกับสารคัดหลั่งของสัตว์กัดแทะ การหายใจ การกิน ซึ่งเชื้อนี้จะใช้เวลาฟักตัวในคนประมาณ 3-5 วัน จึงจะแสดงอาการ หากติดผ่านทางผิวหนังหรือบาดแผลจะเกิดแผลอักเสบเรื้อรัง ต่อมน้ำเหลืองบวมโต ถ้าได้รับเชื้อทางการหายใจ อาการเริ่มแรกเหมือนเป็นไข้หวัดใหญ่ จนถึงสัปดาห์ที่สองอันตรายที่สุด จะเกิดภาวะแทรกซ้อน ปอดบวม ถ้าติดต่อจากการกินอาหารหรือจากการดื่มน้ำที่มีเชื้อเข้าไปจะทำให้ท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน

น.พ.ธวัช กล่าวอีกว่า

โรคนี้สามารถรักษาให้หายขาดได้ด้วยยาปฏิชีวนะ สเตร็ปโตมายซิน และยาเจนต้ามายซิน แต่ที่เสียชีวิตนั้นส่วนใหญ่รักษาไม่ทัน ดังนั้น เมื่อให้กินยาลดไข้ ถ้าอาการไม่ดีขึ้นให้รีบไปพบแพทย์ หากได้รับการักษาแต่เนิ่นๆ โอกาสที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนก็จะน้อยลง สำหรับผู้ป่วยที่พบรายแรกของไทยนั้น อยู่ที่จ.ประจวบคีรีขันธ์ เป็นเพศหญิง อายุ 37 ปี มีอาการไข้สูง หนาวสั่น ไอ ปวดศีรษะ ปวดท้อง อาเจียน ปัสสาวะขัด ต่อมาเจ็บหน้าอก ชักเกร็ง และเสียชีวิต ขณะนี้ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าผู้ป่วยได้รับเชื้อจากช่องทางใด และยังไม่มีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่ม

ด้านน.พ.เศรษฐเกียรติ กระจ่างวงษ์ ปศุสัตว์จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เปิดเผยว่า

ภายหลังทราบข่าวมีผู้ป่วยเสียชีวิตเมื่อต.ค.2550 สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดประจวบฯ ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เข้าดำเนินการควบคุมโรคเป็นระยะเวลา 4 สัปดาห์ และรายงานผลให้ส่วนกลางทราบ โดยไปสอบสวนโรคที่บ้านและครอบครัวของผู้ตายที่อ.กุยบุรี พบว่าไม่มีประวัติรับประทานอาหารสุกๆ ดิบๆ ในละแวกบ้านมีการเลี้ยงโค สุนัข และมีแมวจรจัด ไม่มีกระต่าย โดยเจาะเลือดโค และสุนัข ตรวจหาเชื้อแล้ว พร้อมทั้งค้นหาผู้ป่วยเพิ่มเติม ด้วยการสัมภาษณ์และเจาะเลือด รวมทั้งดักจับหนูทั้งในบ้าน รอบบ้านของผู้ป่วยสงสัยและเพื่อนบ้านเพื่อตรวจการติดเชื้อจากตับ ม้าม ปอด ของหนูที่ดักได้ เก็บเห็บหมัด เพื่อตรวจ PCR และเจาะเลือดแต่ก็ไม่พบเลือดแบคทีเรียดังกล่าวแต่อย่างใด

เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์