ลุ่มเจ้าพระยากระอัก จมถึงพย.รับสั่งใช้แก้มลิงเต็มที่

เมืองกรุงเตรียมรับมือ23-25ตค.ทะเลหนุนสูง อยุธยาบวงสรวงหนีน้ำสุพรรณป้องกันบึงฉวาก


ในหลวงทรงมีพระบรมราชานุญาตให้ใช้พื้นที่รับน้ำพระราชทานทั้ง 3 แห่งอย่างเต็มที่เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของราษฎร อธิบดีกรมชลประทานเผยพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยายังต้องผจญน้ำท่วมต่อไปอีก แต่เชื่อเดือนพ.ย.สถานการณ์จะเข้าสู่ปกติ กทม.เตรียมรับมือน้ำเหนือหลาก หลังได้ข้อมูลความแรงของแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่นครสวรรค์ลงมาไหลแรงที่สุดในรอบ 60 ปี และปลายเดือนช่วงวันที่ 23-25 ต.ค.จะเป็นช่วงที่น้ำทะเลหนุนสูงที่สุด ทำหนังสือแจ้งกรมชล เร่งระบายน้ำคลองหกวาสายล่างออกกทม. หลังน้ำล้นตลิ่งท่วมบ้านเรือนสูง 50 ซ.ม.ทั้งที่เพิ่งแห้งไปหมาดๆ สุพรรณฯเร่งป้องกันบึงฉวากหวั่นน้ำทะลักท่วม

-ในหลวงพระราชทานที่รับน้ำอีก 3 แห่ง

เมื่อวันที่ 13 ต.ค. นายสามารถ โชคคณาพิทักษ์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชกระแสรับสั่งให้ผันน้ำเข้าไปในที่ดินส่วนพระองค์ที่ใช้รองรับน้ำอยู่ในขณะนี้เพิ่มได้อีก จนกว่าจะเต็มการรองรับ ซึ่งถือเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างล้นพ้น กรมชลประทาน จะเร่งสำรวจว่าที่ดินส่วนพระองค์ทั้ง 3 แห่ง สามารถรองรับน้ำได้เพิ่มอีกจำนวนเท่าใด

นายสามารถกล่าวว่า สำหรับที่ดินส่วนพระองค์ทั้ง 3 แห่ง ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราชานุญาตให้ผันน้ำเข้าไปในขณะนี้ ประกอบด้วย ทุ่งมะขามหย่อง อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สระพระราม 9 รังสิต จังหวัดปทุมธานี และทะเลสาบบ้านหมอ จังหวัดสระบุรี

-น้ำเจ้าพระยาหลากแรงสุดรอบ60ปี

นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยถึงสถานการณ์อุทกภัย ตั้งแต่วันที่ 27 ส.ค.-13 ต.ค มีพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมรวม 46 จังหวัด มีผู้เสียชีวิต 47 คน สูญหาย 2 คน พื้นที่การเกษตรเสียหายกว่า 1.8 ล้านไร่ มูลค่าความเสียหายกว่า 305 ล้านบาท ขณะนี้สถานการณ์น้ำท่วมได้คลี่คลายแล้ว 28 จังหวัด และยังคงมีพื้นที่ประสบภัย 18 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกำแพงเพชร พิษณุโลก สุโขทัย พิจิตร นครสวรรค์ ชัยนาท อุทัยธานี สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สระบุรี สุพรรณบุรี ปทุมธานี นนทบุรี ปราจีนบุรี จันทบุรี และกรุงเทพฯ

นายอนุชากล่าวว่า สำหรับสถานการณ์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่ไหลผ่านจังหวัดนครสวรรค์วันนี้เพิ่มสูงขึ้นเป็น 5,520 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีแล้ว นับเป็นสถิติที่สูงสุดในรอบ 60 ปี นับตั้งแต่ปี 2489 เนื่องจากมีฝนตกหนักบริเวณจังหวัดพิษณุโลก ทำให้ปริมาณน้ำไหลลงมาผนวกกับน้ำจากจังหวัดสุโขทัย อย่างไรก็ตาม ขณะนี้พื้นที่ภาคเหนือเริ่มมีฝนตกลดลง น่าจะทำให้ปริมาณน้ำลดลง ประกอบกับช่วงนี้น้ำทะเลหนุนต่ำก็จะทำให้ปริมาณน้ำจากจังหวัดนครสวรรค์ที่ไหลลงมาสู่กรุงเทพฯ ไม่น่าจะล้นตลิ่ง ยกเว้นจะเกิดเหตุสุดวิสัยจากฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ชั้นในของกรุงเทพฯ จนทำให้ไม่สามารถระบายน้ำได้ทัน ดังนั้นในช่วงนี้จึงต้องเร่งระบายน้ำลงสู่ทะเลให้มากที่สุดเพื่อจะได้ลดการระบายน้ำได้ในช่วงที่น้ำทะเลจะหนุนสูงอีกครั้งในวันที่ 23-25 ต.ค.นี้

-เตือนกทม.ฝั่งตะวันออกท่วมแน่

นายอนุชากล่าวอีกว่า พื้นที่กทม.น่าจะผ่านพ้นช่วงวิกฤตน้ำท่วมหนักในช่วงปีนี้ไปได้ เนื่องจากพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่พระราชทานที่ดินเพิ่มเติมอีก 2 แห่ง ในจังหวัดสระบุรีและปทุมธานีให้ระบายน้ำออกก่อนที่ปริมาณน้ำจำนวนมหาศาลจะไหลมาถึงกรุงเทพฯ และคงต้องขอบคุณชาวต่างจังหวัดที่ให้ความร่วมมือเสียสละพื้นที่เพื่อช่วยกันมิให้น้ำท่วมกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นเมืองหลวง ศูนย์กลางเศรษฐกิจสำคัญของประเทศ หากน้ำท่วมกรุงเทพฯ คาดจะทำให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจสูงถึง 1,000 ล้านบาท

"จุดที่ต้องเฝ้าระวังน้ำท่วมเป็นพิเศษในช่วงนี้ ได้แก่ จังหวัดที่แม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่านและเป็นพื้นที่ที่ระบายน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา เช่น สิงห์บุรี ชัยนาท อุทัยธานี พระนครศรีอยุธยา และอ่างทอง รวมถึงพื้นที่หมู่บ้านจัดสรรในเขตรอบนอกกรุงเทพฯ โดยเฉพาะกทม.ฝั่งตะวันออกและปริมณฑล ซึ่งอยู่ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยา เนื่องจากมีการถมที่ดินซึ่งเคยเป็นแอ่งกระทะและสร้างอยู่ในพื้นที่กีดขวางทางน้ำไหลโดยไม่ได้จัดเตรียมพื้นที่รองรับน้ำไว้ ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดน้ำท่วมได้หากมีฝนตกหนัก และน้ำจากจังหวัดนครสวรรค์ไหลลงมาสมทบและระบายน้ำออกจากแม่น้ำเจ้าพระยาลงสู่พื้นที่ทุ่งเจ้าพระยาทั้งฝั่งตะวันออกและตะวันตก จึงขอให้ผู้ที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงดังกล่าวเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เตรียมขนย้ายสิ่งของไว้บนที่สูงในช่วงที่ฝนตกหนัก และให้นำกระสอบทรายมาเสริมเป็นแนวคันกั้นน้ำด้วย" อธิบดี ปภ. กล่าว

-พระบรมฯพระราชทานถุงยังชีพ


เมื่อวันที่ 13 ต.ค. นายอนันต์ กิตติรัฒนวศิน ปลัดหัวหน้ากิ่งอ.บึงนาราง จ.พิจิตร พร้อมด้วยกาชาดจังหวัดพิจิตร นำสิ่งของพระราชทานของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร และพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาฯ มอบให้กับราษฎรที่ประสบภัยน้ำท่วม บ้านหนองในดง หมู่ที่ 4 ต.บางลาย กิ่งอ.บึงนาราง จำนวน 250 ชุด หลังจากที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ทรงพระกรุณาฯ ให้ราชเลขาธิการนำถุงยังชีพมามอบให้นายพินิจ พิชยกัลป์ ผวจ.พิจิตร นำไปแจกจ่ายราษฎรที่ประสบภัยน้ำท่วมทั้ง 6 อำเภอ จำนวน 1,000 ชุด
ตร.บริการ - พล.ต.ท.วิโรจน์ จันทรังษี ผบช.น. ตรวจน้ำท่วมที่ย่านมีนบุรี และเปิดศูนย์ช่วยเหลือผู้ใช้ยานพาหนะร่วมกับสำนักงานการอาชีวศึกษา ที่ส่งนักศึกษาจากสถาบันต่างๆ ออกช่วยเหลือผู้ใช้รถที่ประสบปัญหาเรื่องเครื่องยนต์ เมื่อวันที่ 13 ต.ค.

นายอารีย์ วงศ์อารยะ รมว.มหาดไทย กล่าวว่า ขณะนี้เท่าที่สัมผัสประชาชนพอใจในการแก้ปัญหา เพราะเข้าใจว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องธรรมชาติ แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือผู้ใหญ่ของบ้านเมือง และส่วนราชการไม่ทิ้งเขา ขอเน้นย้ำถึงผวจ.ทุกจังหวัด ว่าขออย่าให้มีเรื่องไปช่วยไม่ทั่วถึง ความไม่โปร่งใส หากมีการร้องเรียนมาก็จะต้องสอบข้อเท็จจริงหากจริงก็ต้องถูกลงโทษแน่นอน ยอมรับว่าน้ำปีนี้มากจริงๆ เมื่อปี 2538 ตนเป็นปลัดกระทรวงก็เดินทางไปตรวจพื้นที่ระดับน้ำยังไม่สูงขนาดนี้

-23-25ต.ค.-กทม.อันตราย

เมื่อเวลา 10.00 น. ที่ลานคนเมือง ศาลาว่าการกทม. นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าฯกทม. เป็นประธานรับมอบสิ่งของเครื่องอุปโภคบริโภค และเงินสดจำนวน 5 ล้านบาท ที่ประชาชนทั้ง 50 เขต บริจาคช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมในกรุงเทพฯ โดยนายอภิรักษ์ เปิดเผยว่า กทม.จะนำไปช่วยเหลือผู้ประสบภัย ที่อยู่นอกแนวคันกั้นน้ำริมแม่น้ำเจ้าพระยา และฝั่งตะวันออกที่อยู่นอกแนวคันกั้นน้ำพระราชดำริ เช่น เขตลาดกระบัง คลองสามวา หนองจอก ประเวศ และมีนบุรี เป็นต้น ส่วนเงินสด 5 ล้านบาท จะนำไปมอบให้มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมในจังหวัดต่างๆ

นายอภิรักษ์ กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์น้ำท่วมในกรุงเทพฯ นั้น กรมชลประทานปล่อยน้ำท้ายเขื่อนเข้าสู่แม่น้ำเจ้าพระยามีปริมาณสูงถึง 4,216 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ส่วนระดับน้ำทะเลหนุนสูงเพียง 1.97 เมตร เป็นระดับที่ไม่น่าห่วง ดังนั้นในช่วงนี้ กทม.จะเร่งพร่องน้ำในแก้มลิง บึงรับน้ำต่างๆ ให้มีระดับต่ำที่สุด เพื่อรองรับปริมาณน้ำฝนและน้ำทะเลหนุนสูง ซึ่งทางสำนักการระบายน้ำ(สนน.) จะเร่งจัดทำแผนปฏิบัติการฉุกเฉินเพื่อรองรับปัญหาน้ำทะเลหนุนสูงในระหว่างวันที่ 23-25 ต.ค.นี้ด้วย

ผู้ว่าฯกทม. กล่าวอีกว่า สำหรับพื้นที่ฝั่งตะวันออกโดยเฉพาะในแขวงโคกแฝด ลำต้อยติ่ง ลำผักชี และกระทุ่มราย เขตหนองจอก ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีปัญหาน้ำในคลองหกวาสายล่าง ได้เอ่อล้นตลิ่งทำให้น้ำท่วมขังบ้านเรือนมากโดยมีระดับสูงถึง 50 ซ.ม. ทั้งที่ก่อนหน้านี้ได้ลดระดับแห้งลงไปแล้ว สาเหตุมาจากคลองหกวาสายล่างเป็นคลองที่รับน้ำจากภาคเหนือผ่านอ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี เข้าสู่เขตหนองจอก กทม.จะทำหนังสือถึงกรมชลประทานให้เร่งจัดการ โดยเพิ่มกำลังการระบายน้ำของประตูระบายน้ำที่คลองหกวาสายล่าง 3 แห่งมากขึ้น เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน

-กรุงเก่าบวงสรวงขอรอดน้ำท่วม

เวลา 09.09 น. นายสมชาย ชุ่มรัตน์ ผวจ.พระนครศรีอยุธยา เป็นประธานพิธีบวงสรวงศาลหลักเมืองกรุงศรีอยุธยา เพื่อวิงวอนบูรพมหากษัตริย์ และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในแผ่นดินกรุงศรีอยุธยา ดลบันดาลให้เกาะเมืองพระนครศรีอยุธยาพ้นจากน้ำท่วมในปีนี้ และไม่ให้น้ำท่วมในเขตจังหวัดขยายวงกว้างและมีระดับสูงไปมากกว่านี้ ล่าสุดพบว่าทั้งจังหวัดมี 16 อำเภอ ถูกน้ำท่วมไปแล้ว 14 อำเภอ กว่า 140 ตำบล ประชาชนเดือดร้อนกว่า 42,000 ครัวเรือน เกือบ 2 แสนราย อีกทั้งยังพบว่าระดับน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำน้อย แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำลพบุรี สูงขึ้นตลอดเวลา สำหรับพื้นที่เกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา โบราณสถาน สถานที่ราชการ ตลาด สถานศึกษาและชุมชน มีการป้องกันเต็มกำลัง เพราะระดับน้ำเจ้าพระยาสูงกว่าพื้นเกาะเมือง

ที่เพนียดคล้องช้าง นายลายทองเหรียญ มีพันธ์ เจ้าของปางช้าง ได้นำช้างช่วยอพยพสิ่งของของประชาชนในพื้นที่ต.สวนพริก ที่อยู่บริเวณใกล้เคียง ที่ถูกน้ำท่วมสูงประมาณ 1 เมตร โดยทำแพขนาดใหญ่เอาสิ่งของชาวบ้านลงในแพแล้วใช้ช้างลาก หลังจากช่วยขนของแล้วบรรดาช้างจำนวนหลายเชือกได้ลงไปเล่นน้ำอย่างสนุกสนาน ส่วนช้างทั้งหมด 80 เชือกได้นำไปไว้บริเวณวัดป้อมรามัญ

เมื่อเวลา 15.28 น. พ.ตท.สมนึก ธรรมอยู่ สว.เวร สภ.อ.บางบาล รับแจ้งพบผู้เสียชีวิตที่บ้านเลข 7/3 ม.1 ต.บางบาล จึงไปที่เกิดเหตุ พบศพนายวงษ์ ภักดิ์ดีวงษ์ อายุ 41 ปี สอบสวนทราบว่า ก่อนเกิดเหตุนายวงษ์พายเรือออกมาเพื่อจะเดินทางเข้าตัวจังหวัด เกิดพลัดตกในน้ำที่ท่วมสูงกว่า 2 เมตร จมน้ำเสียชีวิต อีกรายเจ้าหน้าที่ตำรวจสภ.อ.มหาราช พร้อมชาวบ้านช่วยกันงมค้นหาศพนายลักษณ์ อาจคิดการ อายุ 74 ปี ขณะพายเรือเอาข้าวมาให้สุนัขที่เลี้ยงไว้บนนถนนสายบางปะหัน-มหาราช น้ำไหลแรงทำให้เรือล่มจมน้ำเสียชีวิต

-น้ำท่วมวัดหลวงพ่อโต

ที่จ.อ่างทอง ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง กระแสน้ำกระแทกกัดเซาะแนวคันกั้นน้ำเสริมพังทลาย 3 แห่งในต.ย่านซื่อ ต.ศาลาแดง อ.เมือง ทำให้น้ำตลบหลังท่วมบ้านเรือนในพื้นที่ ต.ศาลาแดง ต.ป่างิ้ว ต.ตลาดหลวง รวมทั้งเขตเทศบาลเมือง ชาวบ้าน 700 ครัวเรือน ไร้ที่อยู่อาศัย ต้องอพยพไปอาศัยเต็นท์ที่พักชั่วคราว โดยชาวบ้านร้องขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานภาครัฐในการอพยพเด็กและคนชราตลอดจนการขนย้ายสิ่งของตลอด 24 ชั่วโมง ขณะที่ถนนสายศาลาแดง-บางพลับสัญจรไม่ได้ และกระแสน้ำได้ไหลบ่าไปยังอ.ไชโย จนร.พ.ไชโย ต้องขนย้ายผู้ป่วยและอุปกรณ์การแพทย์กันโกลาหล นอกจากนี้น้ำยังไหลเข้าท่วมวัดไชโยวรวิหาร สถานที่ประดิษฐานพระมหาพุทธพิมพ์ และสมเด็จพระพุฒาจารย์(โต พรหมรังสี) สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของอ่างทอง
ตลาดน้ำ - พ่อค้า-แม่ค้าในเมืองอุทัยธานี พายเรือนำของมาขายอยู่ริมถนนสาย 333 หลังน้ำทะลักท่วมตลาดสดจนต้องปิดไปโดยปริยาย ขณะที่สถานการณ์น้ำท่วมภาคเหนือและอีสานยังวิกฤต ตามข่าว

ที่จ.สิงห์บุรี ระดับน้ำยังคงขึ้นอย่างเนื่อง บนถนนสิงห์บุรี-ชัยนาท บริเวณโค้งบ้านบางพระนอน หลักกิโลเมตรที่ 15 หมู่ที่ 2 ต.ทับยา อ.อินทร์บุรี ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเอ่อล้นข้ามถนน น้ำลึกประมาณ 60 ซ.ม. ส่วนที่ชุมชนห้วยจระเข้ หมู่ที่ 4,5,6 อ.เมือง น้ำในห้วยเอ่อล้นเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชน 500 หลังคาเรือน ชาวบ้านไม่มีที่อยู่อาศัย ต้องอพยพข้าวของเครื่องใช้มาตั้งเต็นท์พักบนถนนสายสิงห์บุรี-บางระจัน ตำรวจสภ.อ.เมืองสิงห์บุรี ต้องปิดการจราจรให้หนึ่งเลน เป็นระยะทางกว่า 1 กิโลเมตร นอกจากนี้น้ำยังไหลเข้าวัดพระนอนจักรสีห์ วัดเก่าแก่คู่เมืองสิงห์บุรีด้วย

-สุพรรณเร่งป้องกันบึงฉวาก


นายสมศักย์ ภูรีศรีศักดิ์ ปฏิบัติราชการผู้ว่าราชการ จ.สุพรรณบุรี เปิดเผยว่า จากสภาวะน้ำเหนือไหลหลาก และ ฝนตกหนัก ทำให้หลายพื้นที่เกิดน้ำท่วม ประมวลสรุปยอดความเสียหายที่เกิดขึ้นในจังหวัด 10 อำเภอ พบว่า ได้รับผลกระทบถึง 9 อำเภอ ยกเว้น อ.หนองหญ้าไซ รวม 72 ตำบล พื้นที่การเกษตรเสียหาย 19,559 ไร่ บ่อปลา นากุ้ง จำนวนหนึ่ง ประชาชนได้รับความเดือดร้อน 18,725 ครัวเรือน จำนวน 64,799 คน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ตลาด 100 ปี อ.สามชุก ปริมาณน้ำเริ่มทะลักเข้าตลา เจ้าหน้าที่เทศบาลต้องระดมเร่งทำแนวกระสอบทรายอย่างต่อเนื่อง ส่วนที่ทางเข้าบึงฉวากเฉลิมพระเกียรติ อ.เดิมบางนางบวช ทางด้านหน้าติดกับถนนสาย 340 สุพรรณบุรี-ชัยนาท บริเวณเชิงสะพานข้ามแม่น้ำท่าจีนมีน้ำท่วมขังปริมาณสูงกว่า 50 ซ.ม. เจ้าหน้าที่ต้องระดมกำลังทำแนวกระสอบทรายเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนนักท่องเที่ยว ส่วนที่ตัวบึงฉวากปริมาณน้ำไม่เพิ่มปมากนัก

-ปราจีนบุรีสังเวยอีกศพ

เมื่อเวลา 10.00 น ร.ต.ท.สุริยา เที่ยงธรรม ร้อยเวรสภ.อ.เมืองปราจีนบุรี รับแจ้งมีเหตุคนจมน้ำเสียชีวิต ที่ถนนสายเลี่ยงเมือง หมู่ที่ 12 ต.หน้าเมือง จึงเดินทางไปยังที่เกิดเหตุ เป็นทุ่งกว้างมีน้ำท่วมสูง พบศพนายไพโรจน์ คุดคง อายุ 51 ปี สภาพศพนอนหงายอยู่บนเรือ สอบสวนทราบว่าในช่วงเช้าผู้ตายได้ออกมาตัดต้นโสนในทุ่งที่น้ำกำลังท่วมสูงประมาณ 150 ซ.ม. แต่เมื่อเห็นน้ำมากจึงเดินกลับบ้าน และเกิดไปเจอจุดน้ำลึกจึงจมน้ำตาย นับเป็นรายที่ 6 ของจ.ปราจีนบุรี

ส่วนในเขตเทศบาลเมืองลพบุรี น้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาที่ไหลมาตามคลองชลประทาน ป่าสัก-ชัยนาท-ลพบุรี ตามแผนป้องกันน้ำท่วมกทม. เริ่มเอ่อไหลทะลักเข้าในเขตเทศบาลเมืองลพบุรี นางวนิดา มโนสุจริตธรรม นายกเทศมนตรีเมืองลพบุรี ออกสำรวจความเสียหายพร้อมนำถุงยังชีพไปแจกให้กับราษฎร

ที่จ.นครสวรรค์ นายจิตตเกษม นิโรจน์ นายกเทศมนตรีเทศบาลนครนครสวรรค์ ระดมกำลังคนและอุปกรณ์เร่งสูบระบายน้ำออกจากย่านธุรกิจ ทำให้ระดับน้ำลดลง แต่ยังมีน้ำท่วมขังอยู่บนถนนอรรถกวี ถนนอารักษ์ ถนนเทพนิมิต ถนนปาริชาต ถนนดาวดึงส์ ถนนวงษ์สวรรค์ ศูนย์ท่ารถนครสวรรค์และอุทยานสวรรค์ ตั้งแต่ 20-70 ซ.ม. สำหรับสถานการณ์น้ำในแม่น้ำต่างๆ มีดังนี้ แม่น้ำปิงระดับน้ำสูงเพิ่มขึ้นอีก 5 ซ.ม. แม่น้ำน่านระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น 3 ซ.ม. แม่น้ำเจ้าพระยาระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นอีก 4 ซ.ม. ปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาอยู่ที่ 5,520 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที สูงที่สุดในรอบหลายสิบปี

ส่วนในตลาดปากน้ำโพ ร้านค้าบางส่วนหยุดกิจการโยกย้ายสินค้าขึ้นไปอยู่ที่สูง และส่วนใหญ่ทุกร้านจะมีแนวกระสอบทรายและคันปูนกั้นน้ำ สูงตั้งแต่ 0.5-1 เมตร เพื่อกันน้ำท่วม เพราะเกรงว่าคันกั้นน้ำจะพังแบบเมื่อปี 2538 ทำให้เก็บข้าวของไม่ทัน

-เมืองโอ่งก็ตายอีกศพ

ที่ จ.ราชบุรี มีฝนตกหนักติดต่อกัน 2 วัน ทำให้มีน้ำท่วมขังในพื้นที่ต.แก้มอ้น อ.จอมบึง ซึ่งเป็นพื้นที่รอยต่อระหว่าง อ.จอมบึง จ.ราชบุรี และอ.ด่านมะขามเตี้ย จ.กาญจนบุรี ไร่อ้อย ไร่ข้าวโพด และไร่ผัก นับพันไร่ และถนนต้องจมอยู่ใต้น้ำหลายวันได้รับความเสียหายอย่างหนัก มีผู้เสียชีวิต 1 รายคือนายถวิล สวัสดิ์รัตน์ อายุ 48 ปี โดยผู้ตายได้ออกไปทอดแหหาปลาขณะที่ฝนกำลังตกหนักและน้ำกำลังไหลเชี่ยว ถูกกระแสน้ำพัดพาจมหายไป

จ.อุทัยธานี ระดับน้ำในแม่น้ำสะแกกรังยังเพิ่มระดับความสูงอย่างต่อเนื่อง ที่ต.สะแกกรัง ต.ท่าซุง ต.น้ำซึม ต.หาดทนง ต.เกาะเทโพ อ.เมือง ย่านตลาดสดเทศบาลถูกน้ำท่วม พ่อค้า แม่ค้า ต้องนำสินค้ามาขายบนถนนสาย 333 ซึ่งจุดวิกฤตหนักได้แก่ต.ท่าซุง ต.เกาะเทโพ วัดท่าซุงซึ่งเป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อฤาษีลิงดำ ซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของเมืองอุทัยธานี ระดับน้ำสูงกว่า 50 ซ.ม. ถนนสายไปต.ท่าซุงไม่สามารถสัญจรไปได้ นายปรีชา บุตรศรี ผวจ.อุทัยธานีระดมเจ้าหน้าที่ทุกส่วนราชการเข้าช่วยเหลือประชาชนเป็นการการเร่งด่วน

-ปราสาทหินพิมายก็เจอท่วม

สถานการณ์น้ำที่จ.นครราชสีมา จากกรณีเขื่อนลำพระเพลิง อ.ปักธงชัย ปล่อยน้ำออกจากตัวเขื่อนจำนวนมาก เนื่องจากระดับน้ำไหลเข้าตัวเขื่อนจนเกินระดับเก็บกัก ในวันนี้ปริมาณน้ำในเขื่อนอยู่ที่ 119.33 ล้านลูกบาศก์เมตร ในขณะที่เขื่อนสามารถเก็บกักน้ำได้ 110 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่งผลให้น้ำยังล้นสปิลเวย์ น้ำที่ปล่อยออกมาจากเขื่อนลำพระเพลิง ไหลไปสมทบกับน้ำฝนที่ตกลงมาท้ายเขื่อนส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำมูลมีปริมาณเพิ่มขึ้น จนล้นตลิ่งเข้าท่วมที่นาในเขตอ.ปักธงชัยและอ.โชคชัย นาข้าวได้รับความเสียหายกว่า 1 หมื่นไร่

ที่ได้รับผลกระทบมากอีกแห่งคือเขตเทศบาลตำบลพิมาย อ.พิมาย แม่น้ำมูลได้ทะลักเข้าท่วมอุทยานประวัติศาสตร์ปราสาทหินพิมาย เจ้าหน้าที่อุทยานฯได้นำเครื่องสูบน้ำมาเร่งสูบน้ำออกจากบริเวณภายในปราสาท เพราะเกรงว่าน้ำจะทะลักเข้าถึงตัวปราสาทซึ่งจะส่งผลให้ทรุดตัวลงได้ ที่โรงเรียนพิมายวิทยาและโรงเรียนกุลโน ในเขตเทศบาลตำบลพิมายน้ำทะลักเข้าท่วมอาคารเรียนสูงประมาณ 50 ซ.ม. และยังไม่มีหน่วยงานใดเข้าไปให้ความช่วยเหลือ

-พบศพแล้วเมียครอบครัวตาย3ศพ


ส่วนกรณีน้ำป่าพัดนายรวย มูลนันทชัย ชาวจ.แม่ฮ่องสอน หายไปพร้อมกับนางทรงศรี จิตนภาสุริยะกุล ภรรยาและด.ญ.ฟ้าประทาน มูลนันทชัย บุตรสาววัย 2 ขวบ ที่บ้านห้วยเสือเฒ่า อ.เมืองแม่ฮ่องสอน เมื่อวันที่ 11 ต.ค. เมื่อเวลา 15.00 น. เจ้าหน้าที่ทหารจากหน่วยเฉพาะกิจ กรมทหารราบที่ 7 อาสารักษาดินแดน และชาวบ้านห้วยเสือเฒ่า ค้นเจอศพนางทรงศรีลอยขึ้นอืดอยู่ในแม่น้ำปายบริเวณห้วยไม้หย่อง ตรงข้ามบ้านห้วยคลี่ หมู่ 3 ต.ผาบ่อ ห่างจากจุดเกิดเหตุประมาณ 10 ก.ม.

นางโซแหมะ คงแก้ว อายุ 40 ปี ญาติของครอบครัวนายรวย ได้ติดต่อมายังตน ว่าจะมาขอรับศพนายรวยครอบครัวนายรวยจากร.พ.ศรีสังวาลย์ เพื่อนำมาตั้งบำเพ็ญกุศลที่ศาลาที่วัดบ้านห้วยเสือเฒ่า โดยจะฌาปนกิจศพในวันที่ 15 ต.ค.ที่จะถึงนี้

เวลา 12.00 น. วันเดียวกัน นายดิเรก ก้อนกลีบ ผวจ.แม่ฮ่องสอน เดินทางไปยังบ้านของนายรวยโดยมอบเงินช่วยเหลือจำนวนหนึ่งให้กับด.ญ.เบญจกัลยานี หรือน้องต้นข้าว อายุ 7 ขวบ บุตรสาวอีกคนของนายรวย โดยน้องต้นข้าวได้เล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า ขณะที่เดินทางกลับจากเที่ยวงานประเพณีออกพรรษา เมื่อมาถึงบริเวณที่เกิดเหตุ เมื่อรถไปถึงกลางแม่น้ำ เครื่องยนต์ได้เกิดสะดุดและดับไป จากนั้นมารดาได้บอกให้ตนหนีขึ้นไปอยู่บนฝั่งที่สูง ขณะที่บิดา มารดา และน้องสาว ถูกกระแสน้ำพัดหายไปต่อหน้าต่อตา ต่อมามีรถจักรยานยนต์ของชาวบ้านห้วยเสือเฒ่าวิ่งผ่านมาจึงบอกให้ทราบเรื่อง จึงได้รับการช่วยเหลือ

-น้ำมูล-น้ำชีล้นฝั่งท่วมเมือง

ที่จ.อุบลราชธานี พล.ต.ต.สมพิศ ชนะมี ผบก.ภ.จว.อุบลราชธานี พร้อมด้วยพ.ต.อ.ปกรณ์ เสริมสุวรรณ ผกก.สภ.อ.ดอนมดแดง และคณะแม่บ้านตำรวจ ได้นำข้าวสารบรรจุถุงละ 1 ก.ก. น้ำหนักรวม 3 ตัน แจกให้ประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วมสองฝั่งแม่น้ำมูลในชุมชน อ.วารินชำราบ จำนวน 774 ครอบครัว ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่สามารถออกมารับของในจุดแจกบริเวณชุมชนหาดสวนสุข ส่วนประชาชนที่ไม่สามารถออกมารับของแจก คณะนายตำรวจได้นำข้าวสารลงเรือของหน่วยเรือตชด.ที่ 22 ที่มาคอยช่วยเหลือประชาชนนำไปมอบให้ถึงบ้านพัก

สำหรับสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่จ.อุบลราชธานี น้ำแม่น้ำมูลไหลท่วมชุมชนสองฝั่งแม่น้ำ เริ่มอยู่ในระดับทรงตัว โดยระดับน้ำล่าสุดที่สะพานเสรีประชาธิปไตยมีความสูง 7.79 เมตร เกินระดับน้ำล้นตลิ่ง 1.47 เมตร มีประชาชนในอ.วารินชำราบ ถูกน้ำท่วม 10 ชุมชน จำนวน 774 ครอบครัว ส่วนอ.เมืองอุบลราชธานี มีชุมชนถูกน้ำท่วม 5 ชุมชน มีผู้เดือดร้อน 178 ครอบครัว

ส่วนที่จ.มหาสารคาม ระดับน้ำในลำน้ำชีเพิ่มสูงขึ้นไม่ต่ำกว่าชั่วโมงละ 1 ซ.ม. ส่งผลให้น้ำชีเริ่มเอ่อล้นตลิ่งไหลไปตามลุ่มน้ำสาขา นอกจากนั้นยังทำให้แหล่งน้ำอื่นๆเริ่มมีน้ำไหลเอ่อเข้าท่วมนาข้าวในเขตอ.เมือง 5 ตำบล อ.โกสุมพิสัย 8 ตำบล อ.นาเชือก 2 ตำบล และอ.เชียงยืน 2 ตำบลรวม 6 อำเภอ 25 ตำบล 183 หมู่บ้าน พื้นที่นาข้าวจมน้ำแล้วกว่า 9.9 หมื่นไร่ นายชวน ศิรินันท์พร ผวจ.มหาสารคาม ประกาศเตือนให้ประชาชนในเขตลุ่มน้ำชี และลุ่มน้ำสาขาใน 4 อำเภอ ให้ติดตามข่าวสารสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด เพื่อสามารถขนย้ายสิ่งของได้ทัน หากระดับน้ำชีเพิ่มสูงขึ้นกว่าเดิม

-บขส.ลดค่าโดยสารพื้นที่น้ำท่วม

นายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร กรรมการและรักษาการผู้จัดการใหญ่บริษัทขนส่ง จำกัด (บขส.) เปิดเผยว่า ภายหลังได้รับนโยบายจากพล.ร.อ.ธีระ ห้าวเจริญ รมว.คมนาคม เรื่องการให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาอุทกภัย วันที่ 16 ต.ค.นี้ ฝ่ายบริหารบขส.ได้เรียกประชุมฝ่ายจัดการเดินรถเพื่อหารือแนวทางปรับลดค่าโดยสารให้แก่ประชาชนที่มีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดที่ประสบภัยน้ำท่วมทั่วประเทศ โดยจะสามารถซื้อตั๋วโดยสารได้ในอัตราที่มีส่วนลดร้อยละ 10-15 ระยะเวลา 3 เดือน ซึ่งประชาชนที่ประสงค์จะซื้อตั๋วโดยสารในราคาส่วนลดสามารถนำบัตรประชาชนที่ระบุภูมิลำเนาประสบอุทกภัยมาแสดงบริเวณเคาน์เตอร์ขายตั๋วของบขส.ได้ทุกแห่ง

นายปิยะพันธ์ จัมปาสุต อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวว่า นโยบายดังกล่าวถือเป็นแนวคิดที่ดี และหากนำเสนอให้กรมการขนส่งทางบกอนุมัติปรับลดราคาเมื่อใด ก็พร้อมจะอนุมัติ เพื่อให้มีผลบังคับใช้ต่อไป


แหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์ข่าวสด

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์