รัฐบาลไทยแจง!! ความจริงกรณีถูกกล่าวหาขู่ยิง โรฮีนจา

นับว่าเป็นเรื่องที่หน้ายินดีที่ผลการหารือ3ฝ่ายระหว่าง ไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติในภูมิภาค โดยการตกลงว่ามาเลเซีย และอินโดนีเซีย จะเปิดรับผู้อพยพชาวโรฮิงญาและบังคลาเทศที่ลอยเรืออยู่กลางทะเลกว่า7,000คน


 แม้ว่าจะมีเงื่อนไขว่า 1ปีหลังจากการช่วยเหลือจะต้องมีการแก้ไขปัญหาโดยกระบวนการของประชาคมโลก


ความร่วมมือของ3ประเทศดังกล่าวถือว่าเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าการแก้ไขปัญหาผู้อพยพชาวโรฮิงญาไม่สามารถที่จะโยนภาระความรับผิดชอบไปยังประเทศใดประเทศหนึ่งได้แต่ต้องเป็นความรวมมือระหว่างประเทศที่ทุกฝ่ายต้องช่วยเหลือกันโดยเฉพาะประเทศพม่าซึ่งเป็นประเทศต้นทางที่ปล่อยให้ชาวโรฮิงญาเดินทางไปยังประเทศต่างๆมาอย่างต่อเนื่อง


สำนักข่าวเอเอฟพีและรอยเตอร์รายงานว่า ในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศของไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย เรื่องการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติในภูมิภาค ที่เมืองปุตราจายา ประเทศมาเลเซีย เพื่อพูดคุยเกี่ยวกับวิกฤตผู้อพยพชาวโรฮิงญาและชาวบังกลาเทศที่กลายเป็นบุคคลที่หลายประเทศไม่ต้องการและต้องลอยเรืออยู่กลางทะเลโดยไม่มีใครเหลียวแล โดยมี พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ร่วมหารือกับนายอานิฟาห์ อามัน รัฐมนตรีต่างประเทศมาเลเซีย และนางเรตโน มาร์ซูดี รัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งที่ประชุมได้ตกลงกันว่าอินโดนีเซียและมาเลเซียยอมที่จะรับผู้อพยพทางเรือเหล่านี้เอาไว้ชั่วคราว


หลังเสร็จสิ้นการหารือ รัฐมนตรีต่างประเทศของมาเลเซียและอินโดนีเซีย ได้แถลงข่าวร่วมกันโดยระบุว่า ทั้งมาเลเซียและอินโดนีเซียจะไม่ผลักดันเรือของผู้อพยพอีกต่อไป โดยนายอานิฟาห์กล่าวว่า การผลักดันเรือผู้อพยพออกจากฝั่งจะไม่เกิดขึ้นอีกในอนาคต และทั้งสองประเทศได้ตกลงที่จะเสนอที่พักพิงชั่วคราวให้แก่ผู้อพยพ เพื่อให้ผู้อพยพได้ตั้งรกรากหรือกลับประเทศของตัวเองภายในระยะเวลา 1 ปี ผ่านกระบวนการโดยประชาคมโลก


อย่างไรก็ตาม นายอานิฟาห์ย้ำว่าอินโดนีเซียและมาเลเซียจะรับผู้อพยพเฉพาะ 7,000 คน ที่ยังลอยเรืออยู่กลางทะเลและเรืออยู่ในสภาพย่ำแย่แล้วเท่านั้น จะไม่รับเพิ่มเติมอีกแต่อย่างใด ทั้งนี้ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีผู้อพยพราว 3,000 คน ที่ขึ้นฝั่งหรือได้รับการช่วยเหลือแล้วจากมาเลเซีย อินโดนีเซีย และไทย ซึ่งนายอานิฟาห์กล่าวว่า หน่วยข่าวกรองของมาเลเซียคาดว่ายังมีผู้อพยพลอยเรืออยู่กลางทะเลราว 7,000 คน ซึ่งจะมีเฉพาะคนเหล่านี้เท่านั้นที่จะได้รับการช่วยเหลือจากมาเลเซียและอินโดนีเซีย

นายอานิฟาห์กล่าวว่า จะมีการสร้างที่พักชั่วคราวขึ้น แต่จะไม่มีในประเทศไทย ซึ่งเป็นเพียงจุดแวะของผู้อพยพเท่านั้น โดยระบุว่าในส่วนของไทยนั้นไม่ได้แจ้งว่าจะรับหรือไม่รับผู้อพยพไว้ แต่จะขอไปพิจารณาข้อกฎหมายภายในประเทศก่อน อย่างไรก็ตาม นายอานิฟาห์กล่าวว่า มาเลเซียและอินโดนีเซียขอเชิญประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคร่วมมือกันในความพยายามครั้งนี้ ทั้งนี้ ข่าวระบุว่า พล.อ.ธนะศักดิ์ซึ่งร่วมเข้าประชุมครั้งนี้ด้วย แต่ไม่ได้อยู่ร่วมในการแถลงข่าวแต่อย่างใด


ส่วนที่นาๆชาติจับตามองท่าทีประเทศต้นทางอย่างพม่า ล่าสุดก็ได้ออกแถลงการณ์ที่แสดงให้เห็นถึงความต้องการในการแก้ไขปัญหา


สำนักข่าวเอเอฟพีและรอยเตอร์รายงานว่า สื่อของทางการพม่าได้เผยแพร่แถลงการณ์ของกระทรวงต่างประเทศพม่า ระบุว่า รัฐบาลพม่าเองก็มีความเป็นห่วงกังวลอย่างยิ่งต่อความกังวลของประชาคมโลก เกี่ยวกับเรื่องผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญา และว่า พม่าพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่บุคคลที่ได้รับความเดือดร้อนทางทะเล


ทั้งนี้ แถลงการณ์ดังกล่าวถือเป็นท่าทีที่เป็นมิตรมากที่สุดเท่าที่เคยมีมาของรัฐบาลพม่าต่อวิกฤตผู้ลี้ภัยทางทะเล ซึ่งพม่าเป็นหนึ่งในประเทศที่ถูกกดดันจากนานาชาติเนื่องจากผู้อพยพส่วนใหญ่เป็นชาวโรฮิงญาที่ต้องหนีภัยจากบ้านเกิดของตัวเองในรัฐยะไข่ทางตะวันตกของประเทศพม่า เนื่องจากความรุนแรงและการถูกเลือกปฏิบัติจากผู้คนส่วนใหญ่ที่เป็นชาวพุทธ ซึ่งชาวโรฮิงญาเหล่านี้จะมีเป้าหมายอพยพไปยังประเทศมาเลเซียเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากเป็นประเทศมุสลิม


เมื่อพิจารณาจะสถานการณ์ล่าสุดในการช่วยเหลือชาวโรฮิงญาก็ต้องบอกกำลังเป็นในทิศทางที่ดี แต่ทว่ากลับมีการนำเสนอข่าวของสื่อต่างประเทศอย่างเอพีที่อ้างคำให้สัมภาษณ์ของชาวโรฮิงญาคนหนึ่งว่าถูกกองทัพไทยขับไล่ในขณะที่ลอยเรืออยู่กลางทะเลพร้อมกับมีการระบุด้วยว่ากองทัพไทยขู่ถึงขณะที่จะเอาชีวิตหากแล่นเรือเข้ามายังประเทศไทย


แน่นอนว่าการนำเสนอข่าวดังกล่าวเป็นการกล่าวหาและทำลายภาพลักษณ์ของประเทศไทยเป็นอย่างมากและยิ่งซ้ำเติมการแก้ไขปัญหาให้มีความยากลำบากมากขึ้น


วันที่ 20 พฤษภาคม 2558 สำนักข่าวเอพีรายงานว่า ซีราจุล อิสลาม ชาวโรฮิงญา อายุ 23 ปี ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้โดยสารบนเรือของชาวโรฮิงญาที่ได้ขึ้นฝั่งที่อาเจะห์ ประเทศอินโดนีเซีย จากความช่วยเหลือของชาวประมงอินโดนีเซีย หลังถูกเจ้าหน้าที่ไทยสกัดกั้นที่นอกเกาะหลีเป๊ะเมื่อสัปดาห์ก่อน เปิดเผยว่า เรือของพวกตนถูกเจ้าหน้าที่ไทยสกัดกั้นตรงบริเวณนอกเกาะหลีเป๊ะ โดยหลังจากที่เจ้าหน้าที่ไทยได้ให้เสบียงกับพวกตน ก็ถูกทหารเรือของไทยผลักดันเรือออก ทั้งยังขู่ว่า หากเรือของพวกตนไม่ออกไปจากพื้นที่ดังกล่าวภายใน 10 นาที จะทำการยิงเรือของพวกตน


โดยก่อนหน้านี้ กองทัพเรือไทย เคยออกมาเปิดเผยว่า เบื้องต้น ไทยได้ให้การช่วยเหลือชาวโรฮิงญา ซึ่งชาวโรฮิงญาแจ้งว่า ไม่ต้องการขึ้นฝั่งในไทย พร้อมยืนยันที่จะเดินทางไปยังประเทศมาเลเซีย


ขณะที่ ราซาลี ปูเต๊ะ ชาวประมงผู้พบเรือของชาวโรฮิงญา ก่อนช่วยเหลือเข้าฝั่งที่อาเจะห์ เล่าว่า ขณะที่ตนและเพื่อนกำลังหาปลา อยู่ห่างจากชายฝั่งอาเจะห์ประมาณ 60 กิโลเมตร ก็เห็นว่ามีเรือลำหนึ่งลอยลำอยู่ในทะเลห่างจากเรือของพวกตนประมาณ 3 กิโลเมตร แถมเรือลำดังกล่าวยังเต็มไปด้วยผู้คนจำนวนมาก ยิ่งเรือของพวกตนเข้าไปใกล้ก็ได้ยินเสียงขอความช่วยเหลืออย่างชัดเจน จึงได้ตัดสินใจช่วยกันนำเรือของชาวโรฮิงญาเข้าฝั่ง


ราซาลี ปูเต๊ะ กล่าวต่อว่า ตอนนั้น ตนได้แต่คิดว่าไม่อาจปล่อยให้พวกเขาตาย เพราะพวกเขาก็เป็นคนเหมือนกัน และตนดีใจมากที่ได้ช่วยชีวิตคนนับร้อย


การนำเสนอข่าวของเอพีที่ได้สร้างความเสียหายให้กับประเทศไทยก็ทำให้ฝั่งของรัฐบาลไทยต้องรีบออกมาชี้แจงและยืนยันในข้อมูลข้อเท็จจริงกลับไป ว่ากองทัพไทยไม่ได้มีนโยบายที่จะใช้กำลังอาวุธขับไล่หรือว่าข่มขู่ชาวโรฮีงญาแต่อย่างใด


พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ชี้แจงว่า รัฐบาลไทยมีแนวปฏิบัติที่ชัดเจนที่จะไม่ใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบใด ยึดหลักการช่วยเหลือตามหลักมนุษยธรรม รวมทั้งได้มีการตรวจสอบกับทหารทุกนายที่ปฏิบัติการช่วยเหลือในคืนนั้นยืนยันว่าไม่มีการใช้อาวุธปืนข่มขู่ตามคำกล่าวอ้าง ข้อเท็จจริงคือ เมื่อตรวจสอบพบเรือของผู้ลักลอบ ได้มีการสอบถามพูดคุย พบว่าทั้งหมดต้องการเดินทางต่อไม่ประสงค์จะขึ้นฝั่งไทยโดยร้องขออาหารและน้ำดื่ม


รัฐบาลและกองทัพเรือขอปฏิเสธข่าวที่ไร้มูลความจริงนี้โดยสิ้นเชิง ข้อเท็จจริงคือนอกจากทหารเรือไทยจะให้อาหารและน้ำดื่มตามหลักมนุษยธรรมแล้ว ยังช่วยซ่อมเครื่องยนต์เรือที่ชำรุดให้ตามที่ร้องขอซึ่งต้องดำเนินการถึงตีสามกว่าจะเสร็จสิ้นภารกิจในวันนั้น ดังนั้นหากคิดจะใช้กำลังข่มขู่ขับไล่ก็ไม่มีความจำเป็นใดที่จะต้องไปสอบถาม ไปให้การช่วยเหลือจนค่อนคืน และในวันนั้นก็มีสื่อมวลชนเป็นพยาน มาบันทึกภาพเหตุการณ์การช่วยเหลือด้วยความตั้งใจของทหารเรือไทย รัฐบาลไทยรู้สึกเจ็บปวดกับคำกล่าวอ้างที่เลื่อนลอยและทำให้ทหารเรือไทยซึ่งทุ่มเท ตั้งใจทำงานทั้งเพื่อช่วยเหลือเพื่อนมมนุษย์ และเพื่อปกป้องอธิปไตยทางทะเลของชาติรู้สึกเสียใจไม่น้อย


พล.ต.สรรเสริญ กล่าวต่อว่าแม้จะได้รับการกล่าวร้ายที่ไม่เป็นธรรมซึ่งสุ่มเสี่ยงต่อการที่นานาชาติจะเข้าใจประเทศไทยผิด แต่รัฐบาลไทยยังจะไม่เปลี่ยนแปลงแนวทางปฏิบัติต่อผู้เคลื่อนย้ายโดยไม่ปกติเหล่านี้ โดยหากอยู่ในเขตนอกน่านน้ำไทยก็จะให้การช่วยเหลือตามหลักมนุษยธรรม เช่นให้อาหารน้ำดื่ม หากประสงค์จะเข้าเขตน่านน้ำไทยก็ต้องเข้าสู่กระบวนการกฎหมายไทยในฐานะผู้ลักลอบข้ามแดนโดยผิดกฎหมายต่อไป


สุดท้ายอยากฝากให้สื่อมวลชน พิจารณานำเสนอข่าวอย่างรอบคอบ โดยใช้หลักเหตุและผลตรึกตรอง เพื่อมิให้ข้อมูลอันเป็นเท็จเหล่านี้มาบั่นทอนกำลังใจผู้ที่ตั้งใจทำงาน


เพื่อให้เกิดความกระจ่างชัดกับเรื่องที่เกิดขึ้นย้อนกลับไปตรวจสอบเรื่องที่มาของข้อกล่าวหาดังกล่าว ซึ่งพบว่าเหตุการณ์ดังกล่าวได้เกิดขึ้นเมื่อวันที่14 พ.ค. โดยกองทัพเรือพบว่าเรือของชาวโรฮิงญาได้แล่นเข้ามาบริเวณเกาะหลีเป๊ะ จ.สตูล แต่ทว่าจากภาพที่ปรากฏและการนำเสนอข่าวในวันนั้นกับพบว่าทหารไทยได้เข้าไปช่วยเหลือตามหลักมนุษยธรรม ทั้งการให้น้ำ อาหารและยังช่วยซ่อมแซมเรือที่เสียหาย


เมื่อวันที่ 14พฤษภาคม 2558 น.ต. วีรพงษ์ นาคประดิษฐ ผบ.หน่วยปฏิบัติการ หน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง ที่ 491 กองทัพเรือ ซึ่งตั้งฐานปฏิบัติการที่เกาะหลีเป๊ะ ได้นำเรือออกลาดตระเวนเพื่อป้องกันมิให้ "เรือมนุษย์" ชาวโรฮิงญา เข้ามาขึ้นฝั่ง ปรากฏว่าได้พบเรือประมงขนาดใหญ่ที่ใช้บรรทุกชาวโรฮิงญาประมาณ 300 คน อยู่ห่างจากเกาะหลีเป๊ะประมาณ 17 ไมล์ทะเล ซึ่งอยู่ในน่านน้ำไทย ทางทหารเรือที่ 419 ตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า ทั้งคนขับเรือและนายหน้าได้ทิ้งเรือหลบหนีไปกับเรือเล็กอีกลำแล้ว โดยเจตนาทิ้งชาวโรฮิงญาทั้งหมดไว้บนเรือ


ทั้งนี้ จากการสอบถามชาวโรฮิงญาซึ่งมีคนพูดภาษาอังกฤษอยู่ 2-3 คนทราบว่า ได้อพยพออกมาจากเมืองยะไข่ ประเทศเมียนมาอยู่กลางทะเลกว่า 3 เดือนแล้ว เพื่อต้องการมุ่งหน้าไปประเทศมาเลเซีย และเมื่อมาถึงระหว่างเกาะตะรุเตากับเกาะไข่เครื่องเรือเกิดขัดข้องจึงต้องจอดลอยลำ ทั้งนี้ในระหว่างเดินทางจากประเทศเมียนมามีชาวโรฮิงญาบนเรือเสียชีวิตไปแล้ว 10 คน จึงได้นำศพทิ้งลงทะเลไป


นายเดชรัฐ สิมศิริ ผวจ.สตูล เปิดเผยว่า ได้ประสานกับทหารเรือเพื่อส่งอาหารไปให้ชาวโรฮิงญาทางเฮลิคอปเตอร์แล้วเนื่องจากทราบว่าอยู่ในสภาพหิวโซ พร้อมทั้งสั่งการให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองรีบไปตรวจสอบพร้อมดูแลเครื่องยนต์เรือที่เสียให้เนื่องจากชาวโรฮิงญากลุ่มนี้ไม่ประสงค์จะเข้ามาในประเทศไทย แต่ประสงค์จะเดินทางไปประเทศมาเลเซีย


ทางด้าน พล.ร.ต.สมชาย ณ บางช้าง เสนาธิการกองเรือทัพภาค 3 กล่าวถึง กรณีที่มีกระแสข่าวว่ากองทัพเรือภาค 3 ผลักดันเรือบรรทุกชาวโรฮิงญาออกจากพื้นที่หลีเป๊ะ จ.สตูลว่า ยืนยันว่าไทยไม่ได้ผลักดันหรือขับไล่เรือดังกล่าว แต่เนื่องจากกองเรือทัพภาค 3 ได้รับการประสานจาก กอ.รมน.จ.สตูล ให้นำอาหารและน้ำขึ้นเฮลิคอปเตอร์ไปส่งให้กับเรือบรรทุกชาวโรฮิงญาลำดังกล่าว เพื่อเป็นการช่วยเหลือด้านมนุษยชน และจากการสอบถามเบื้องต้น เรือลำดังกล่าวไม่ได้มีจุดมุ่งหมายที่ประเทศไทย แต่ต้องการเดินทางไปยังประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซีย


จากภาพเหตุการณ์จริงและข้อมูลที่ปรากฏแทบจะเรียกได้ว่าทางการไทยได้บูรณาการจากทุกหน่วยงานเพื่อเข้าไปให้ความช่วยเหลือชาวโรฮิงญา ในขณะที่หนึ่งในผู้สืบข่าวของบีบีซีที่ได้มีโอกาสเข้าไปติดตามทำข่าวในครั้งนี้ก็ยืนยันเช่นเดียวกันว่าทหารไทยได้เข้าไปช่วยเหลือชาวโรฮิงญาเป็นอย่างดี


นายโจนาธาน เฮด ผู้สื่อข่าวบีบีซีที่เดินทางไปยังเรือลำนี้เมื่อวันพฤหัสบดี(14พ.ค.) รายงานผู้อพยพเหล่านั้นเผยว่ามีกลุ่มชายในเครื่องแบบและติดอาวุธขึ้นไปบนเรือ ช่วยซ่อมเครื่องยนต์ที่ได้รับความเสียหาย มอบอาหารและพาเรือมุ่งหน้าไปทางใต้ นอกจากนี้ยังพบเห็นเฮลิคอปเตอร์นำอาหารมาหย่อนลงน้ำใกล้ๆเรือและเหล่าผู้อพยพก็ว่ายมาเอา

 


รัฐบาลไทยแจง!! ความจริงกรณีถูกกล่าวหาขู่ยิง โรฮีนจา


อย่างไรก็ตามผู้สื่อข่าวรายงานนี้บอกว่าหลังต้องล่องลอยอยู่กลางทะเลมาเกือบ 3 เดือน พบว่ามีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อยๆ 10 คน ส่วนคนอื่นๆต้องดื่มปัสสาวะประทังชีวิต และบางส่วนดูเหมือว่าจำเป็นต้องได้รับการรักษาทางการแพทย์


แม้ว่าทางการไทยจะได้ทำการช่วยเหลือชาวโรฮิงญากลุ่มนี้ตามหลักมนุษยธรรม แต่กลับเป็นสหประชาชาติที่ออกมาตำหนิการกระทำของทางการไทยที่ไม่ยอมอ้าแขนรับชาวโรฮิงญากลุ่มนี้เข้ามาในประเทศทั้งๆที่เมื่อตรวจสอบจุดยืนของมาเลเซียรวมไปถึงอินโดนีเซียและประเทศใกล้เคียงในขณะนั้นก็ไม่ได้มีประเทศไหนที่มีนโยบายเปิดรับชาวโรฮิงญากลุ่มนี้


วันที่15 พฤษภาคม 2558 สหประชาชาติ แสดงความตกใจต่อนโยบายของทางการไทย มาเลเซียและอินโนเซีย ที่จะผลักดันเรือผู้อพยพกลับออกไป "สิ่งที่ควรให้ความสำคัญคือปกป้องชีวิต ไม่ใช่ทำให้พวกเขาต้องอยู่ในอันตรายกว่าเดิม"


โฆษกข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งยูเอ็นยังตำหนิการตัดสินใจของกองทัพเรือไทยที่ผลักดันเรือที่บรรทุกชาวมุสลิมโรฮิงญากว่า 300 คน ที่ลอยลำอยู่ใกล้เกาะหลีเป๊ะ ออกนอกน่านน้ำของไทยในค่ำคืนวันพฤหัสบดี(14พ.ค.) ว่า "ไม่สามารถเข้าใจได้" และ "ขาดมนุษยธรรม" แม้เจ้าหน้าที่ไทยอ้างว่าผู้อพยพเหลานั้นไม่ต้องการขึ้นฝั่งและหวังเดินทางต่อไปยังมาเลเซีย


นายวัน จูไนดี จาฟาร์ รัฐมนตรีช่วยกระทรวงมหาดไทยของมาเลเซีย ออกแถลงการณ์ว่า ประเทศมาเลเซียไม่ขอต้อนรับผู้อพยพชาวโรฮิงญา เนื่องจากหากมีการเปิดรับผู้อพยพกลุ่มนี้ จะมีผู้อพยพกลุ่มอื่น ทั้งจากโรฮิงญาและบังกลาเทศเดินทางเข้ามาในประเทศมากขึ้น

ถ้อยแถลงดังกล่าว มีขึ้นหลังจากที่สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่ารัฐบาลไทยใช้เฮลิคอปเตอร์ส่งอาหารและเครื่องยังชีพให้กับผู้อพยพชาวโรฮิงญา ที่ล่องเรืออยู่ใกล้กับเกาะหลีเป๊ะ จ.สตูล ในทะเลอันดามัน โดยหนึ่งในผู้อพยพกล่าวว่า ต้องการเดินทางเข้าไปยังประเทศมาเลเซีย


เพราะฉะนั้นเพื่อให้เกิดความชัดเจนมากยิ่งขึ้นเกี่ยวกับคำชี้แจงของทางการไทย เราก็จะได้ไปพูดคุยกับพล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี


 เกี่ยวกับขั้นตอนและการปฏิบัติที่แท้จริงของทางการไทยเมื่อพบเรืออพยพของชาวโรฮิงญา


ขอบคุณ tnews.co.th

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์