พิพิธภัณฑ์ชะตากรรม กัมพูชา

พ.ศ.2550 วาระครบรอบ 40 ปีการลุกฮือของชาวนาประชาชนที่ซัมโลต์ จังหวัดพระตะบอง


นำสู่การเปลี่ยนแปลงชนิดพลิกฟ้าพลิกแผ่นดินเขมรไปอย่างสิ้นเชิงพร้อมปรากฏตัวของ "พล พต" โลกบันทึกความเหี้ยมโหดอย่างที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ เดินทางตรวจ "แผลเก่า" เป็นบทเรียน ระมัดระวังไม่ให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย

Genocide Museum-พิพิธภัณฑ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์



ความหลังพอสังเขป


ผ่านยุคมหาอาณาจักรมาหลายศตวรรษ กัมพูชายุคใหม่เริ่มต้นเมื่อได้รับเอกราชตามข้อตกลงเจนีวาพ.ศ.2497 สมเด็จเจ้านโรดมสีหนุขึ้นปกครองประเทศ กระทั่งผลกระทบของสงครามเย็นทำให้กัมพูชาในช่วงปี 2508 วิกฤตทั้งเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง


ที่สุด เดือนเมษายน พ.ศ.2510


ชาวบ้านและชาวนาในอำเภอซัมโลต์ ก่อการจลาจล และการปราบปรามอย่างรุนแรงที่ตามมา ทำให้ประชาชนซึ่งถูกรวมเรียกเป็นฝ่ายซ้ายหลบหนีเข้าร่วมกับฝ่ายคอมมิวนิสต์ที่มีผู้นำเป็นกลุ่มปัญญาชนที่ได้รับการศึกษาจากฝรั่งเศส หนึ่งในนั้นคือ พล พต กองกำลังคอมมิวนิสต์ หรือเขมรแดง ยึดอำนาจปกครองกัมพูชาเบ็ดเสร็จเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2518

ในกำมือ พล พต


กัมพูชาระหว่างปี 2518-2522 ตกอยู่ในความรุนแรงสุดขั้ว โดดเดี่ยวประเทศ ปิด โรงเรียน โรงพยาบาล โรงงาน ยกเลิกระบบธนาคาร ระบบเงินตรา ศาสนาพุทธที่ยั่งยืนมาช้านาน สูญสิ้นสถานะ วัดวาอารามปิดทิ้งร้าง

พล พต เชื่อว่าระบบสังคมนิยมแบบพึ่งตนเอง จะนำกัมพูชาสู่ความเจริญรุ่งเรืองเหมือนในอดีตได้ โดยประเทศควรจะอยู่อย่างสันโดษ ไม่ต้องเพิ่งวิทยาการเทคโนโลยีใด ๆ นักศึกษา ปัญญาชน ศิลปิน ล้วนเป็นภัยต่อความมั่นคง ต้องฆ่าเสียให้สิ้น กัมพูชาต้องมีแต่ชนชั้นแรงงานเท่านั้น ประชาชนพลเมืองถูกหลอกออกจากเมืองไปทำไร่ทำนายังชนบทกันดาร

Genocide Museum-พิพิธภัณฑ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์



อีกคำอธิบายหนึ่ง ระบุว่า


พรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชาที่นำโดยพลพต หวาดระแวงต่างชาติ ทั้งเกรงการหวนกลับของฝ่ายที่มีตะวันตกสนับสนุน ทั้งหวาดเกรงเวียดนามที่มีท่าทีต้องการครอบงำกัมพูชามาตลอด กลายเป็นความพยายามพึ่งตนเองอย่างสุดขั้ว เมื่อเกิดสภาพขาดแคลนอาหารโดยเฉพาะข้าว ทำให้เกิดการกะเกณฑ์ประชาชนลงใช้แรงงานทำนาข้าวโดยไม่ใช้เทคโนโลยี ซึ่งอาจนำไปสู่การพึ่งพาต่างชาติ 4 ปี ผู้คนล้มตายนับล้าน ทั้งอดอยาก ทั้งถูกทารุณกรรม ถูกฆ่ายิ่งมหาศาล "ทุ่งสังหาร" อุบัติขึ้นเวลานั้น

อวสานเขมรแดง


มกราคม พ.ศ.2522 เขมรฝ่ายที่เวียดนามหนุนหลังบุกเข้ายึดกรุงพนมเปญ เขมรแดงแตกพ่ายมาหลบอยู่ตามตะเข็บชายแดน กัมพูชา-ไทย ขณะที่ระเบิดนับสิบล้านลูกฝังอยู่ทั่วประเทศ

ทุกวันนี้หลักฐานความเหี้ยมโหด


ของเขมรแดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์กลางกรุงพนมเปญ "ตวล ชเลง" หรือ "Genocide Museum-พิพิธภัณฑ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์" พ.ศ.2519 เขมรแดงเปลี่ยนโรงเรียนเป็น S-21 ย่อจาก Security Office 21 สถานจองจำและทรมานผู้คนที่เห็นว่าเป็นศัตรูก่อนเอาตัวไปฆ่า ณ ทุ่งสังหาร

ตวล ชเลง


จากโรงเรียนมัธยมบ่มเพาะภูมิปัญญา เปลี่ยนเป็นคุก พิพิธภัณฑ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ตวล ชเลง ปัจจุบัน พื้นปูกระเบื้องยางสกปรกคราบฝังลึกเกินจะทำความสะอาด มองภาพติดผนังยิ่งสะดุ้ง นักโทษเหลือแต่หนังหุ้มกระดูก ถูกจองจำติดแคร่เหล็กตีเป็นตาราง ที่ไหลหยดลงพื้นคือน้ำหนอง น้ำเหลือง และเลือดจากแผลที่ถูกทารุณกรรม บวกเข้ากับอุจจาระปัสสาวะที่ล้นออกมาจากกล่องเหล็กขนาดกว้างไม่ถึงครึ่งฟุต ยาวไม่เกินฟุต (2 สัปดาห์ ทิ้ง 1 ครั้ง) พื้นที่เห็นในรูปซึ่งเป็นช่วงเวลาระหว่างปี 2518-2522 คือพื้นที่เหยียบอยู่เดี๋ยว


บอร์ดใหญ่หลายสิบแผ่นแน่นด้วยดวงหน้า

หนุ่ม สาว คนแก่ เด็กน้อย ถูกมัดมือไพล่หลังถ่ายรูป อกเสื้อแต่ละคนมีหมายเลข 3 หลัก ไม่แปลกที่เลขของคนหนึ่งจะซ้ำกับอีกคน และอีกคน นั่นหมายความว่าคนแรก (ถูกทรมานจน) ตายไป คนที่สองถูกจับมาใหม่ก็รับหมายเลขนั้นเป็นมรดก คนที่สองตาย คนที่สามก็รับต่อ

ลวดหนามสะแน่นหนา ภายในมีห้องขังเดี่ยว

เครื่องมือกระทำทรมานทั้งที่ตอกเล็บ อ่างเหล็กใบใหญ่ใส่น้ำไว้จับนักโทษกด กล่องใส่งูพิษให้ยื่นมือลงไป ขื่อไม้ขนาดใหญ่ไว้ขึงพืด ที่ฝังอยู่ในสมองเขมรแดงผู้ลงมือคืออคติเกลียดชังต่อปัญญาชนคนเมืองว่าล้วนเสพสุขสบายเหนือทุกข์ยากของชาวชนบท

ไกด์แห่งตวล ชเลงคนหนึ่ง เล่าว่า

เวลานั้น เด็กๆ รวมทั้งตัวเขาในวัย 8 ขวบ ถูกจับแยกจากพ่อแม่ หลายคนเป็นตำรวจตรวจคนผิวบาง คนที่ถูกกวาดต้อนมา ใครมือนุ่มนิ่ม ผิวไม่เกรียมแดด สวมแว่นสายตา ตำรวจเด็กจะส่งเข้าตวล ชเลง ไม่ลังเล และในบรรดานักโทษมีไม่น้อยที่เป็นเขมรแดงเอง ตวล ชเลงฉายภาพชัดเจนถึงความบ้าคลั่ง หวาดระแวงอันโหดร้ายป่าเถื่อน

เชือง เอก ทุ่งสังหาร-killing fields


จากกลางเมืองออกชานกรุงไปทางตะวันออกเฉียงใต้ 15 กิโลเมตร อนุสรณ์สถานทุ่งสังหาร อยู่ที่นั่น เนื้อที่ 20,000 ตารางเมตร คือลานประหารนักโทษที่ส่งมาจาก S-21 ตวล ชเลง และทั่วประเทศ กระดูกมนุษย์นับแต่แรกเกิดถึงวัยชรา เกลื่อนทุกหย่อมหญ้า พ.ศ.2531 รัฐบาลจัดสร้างเป็นอนุสรณ์สถาน พร้อมนิยามบนแผ่นประชาสัมพันธ์ "นรกบนพื้นพิภพแห่งศตวรรษที่ 21"


อนุสรณ์สถานรูปทรงเดียวกับเมรุเผาศพ คือตู้เก็บโครงกระดูก

โดยเฉพาะอย่างยิ่งกะโหลกกว่า 8,000 หัว หลุมเผาศพ 86 หลุมใหญ่ๆ ไว้เผาหมู่ หลุมหนึ่งสำหรับศพไร้ศีรษะ 166 ศพ หลุมหนึ่งสำหรับผู้หญิงและเด็กกว่า 100 หลุมหนึ่ง 450 ชีวิตไหม้เป็นจุณรวมทั้งสิ้น 8958 เขมร สังเวยความเลือดเย็นของพล พต ที่นี่ นับเป็นจุดที่สังหารคนมากที่สุดในบรรดา คิลลิ่ง ฟิลด์ ทั่วกัมพูชา

เชือง เอก ยังมีต้นไม้ประวัติศาสตร์ 2 ต้น

ต้นหนึ่งไว้แขวนลำโพง นักโทษคนใดกรีดร้องโหยหวน ผู้คุมจะกระจายเสียงให้ได้ยินทั่วกัน ข่มขวัญว่าทรมานทรกรรมมันเจ็บปวดสาหัสอย่างไร

ต้นหนึ่ง เรียก ต้นไม้สังหาร เด็กแดงคลอดหยกๆ ผู้คุมจับรวบ 2 เท้าเท่าฝาหอยฟาดเปรี้ยงกับลำต้น แล้วโยนลงหลุมทันที

เหยื่อและที่เหลืออยู่


บริเวณด้านหน้าของพิพิธภัณฑ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ตวล ชเลง และอนุสรณ์สถานทุ่งสังหาร เชือง เอก หนาแน่นด้วยเขมรใบหน้าเกรียมทุกข์ พิการขาขาด แขนขาด ตาบอด ล้วนเหยื่อกับระเบิด เหยื่อกระสุน และเหยื่อการกระทำทารุณทรมาน

แต่ละวันยังชีพด้วยการหอบสังขารมาขอทานอยู่บริเวณด้านหน้าพิพิธภัณฑ์ที่เล่าเรื่องราวของเขา ขอเศษเงินจากนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาตระหนกตกใจกับชะตากรรมกัมพูชา


จุดขายของที่ระลึก


นอกจากของเล็กๆ น้อยๆ สัญลักษณ์ประเทศนี้ ที่มีเหมือนกันคือวีซีดีหนังฮอลลีวู้ด "เดอะ คิลลิ่ง ฟิลด์ส" สร้างจากเหตุการณ์จริงในกัมพูชา เห็นแล้วบอกไม่ถูกเลยว่าจะรู้สึกอย่างไรดี

โศกนาฏกรรมกัมพูชา


"กัมพูชา" เส้นทางผู้มาเยือนจากทั่วโลกที่มุ่งเข้าประเทศนี้ แทบทุกสายขึ้นเหนือเข้า "เสียมเรียบ" เมืองที่ตั้ง "เมืองพระนคร" จาก "นครวัด-นครธม" สู่ "บันทายสรี" และ "นาคพัน" ไปจนจรด "พนมบาแค็ง" ถึง "กบาลสะเปียน" และอีกนับสิบปราสาทหิน ปราสาทอิฐ เห็นแล้วต้องตั้งคำถาม

ศรัทธาปสาทะต้องสูงส่งถึงระดับใดกัน


มนุษย์จึงถวายเทวราช ถวายพุทธบูชา ได้ยิ่งใหญ่และงามข้ามเวลามานับพันปี" 5 ชั่วโมงในรถยนต์ ถนนเล็กขนาด 2 เลน พาลงใต้เข้า "พนมเปญ" เมืองหลวง ผ่านไปกลางกรุงและชานกรุง มีคำถามเช่นกัน

"เคียดแค้นเกลียดชังต้องมากถึงระดับใดกัน มนุษย์จึงกระทำกับมนุษย์ด้วยกันได้ถึงขนาดนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับพี่น้องร่วมชาติ"


ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดย: หนังสือพิมพ์ข่าวสด

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์