ผู้ประกอบการต้านยกเลิก LPG ชี้ อุบัติเหตุเกิดจากร้านไม่ได้มาตรฐาน

ผู้ประกอบการต้านยกเลิก LPG ชี้ อุบัติเหตุเกิดจากร้านไม่ได้มาตรฐาน


 กรรมการสมาคมธุรกิจก๊าซรถยนต์ไทย ออกโรงต้านแนวคิดยกเลิกจดทะเบียนรถยนต์ที่ใช้แอลพีจี ระบุเหตุที่ทำให้เกิดไฟไหม้เป็นฝีมือของผู้ประกอบการที่ติดตั้งโดยไม่ได้มาตรฐาน และไม่มีใบอนุญาต แนะรัฐตรวจสอบให้ถูกทาง
 
          จากกรณีผลการหารือร่วมของกระทรวงพลังงาน กระทรวงคมนาคม และกระทรวงอุตสาหกรรม ในการกำหนดมาตรการดูแลรถยนต์ที่ติดตั้งแก๊สหุงต้ม (แอลพีจี) โดยมีแนวคิดยกเลิกจดทะเบียนรถยนต์ที่ใช้แอลพีจีและสนับสนุนให้ใช้ก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (เอ็นจีวี) แทนนั้น
 
          เมื่อวานนี้ (14 กุมภาพันธ์) นายสุรชัย นิตติวัฒน์ กรรมการสมาคมธุรกิจก๊าซรถยนต์ไทย และประธานกรรมการ บริษัท เอนเนอร์จี รีฟอร์ม จำกัด เปิดเผยว่า ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าว เพราะความต้องการติดตั้งแอลพีจีได้รับความนิยมกว่าเอ็นจีวี เนื่องจากขนาดถังเล็กกว่า เหมาะกับรถยนต์นั่งในเมือง ขณะที่เอ็นจีวีปัจจุบันสถานีบริการ (ปั๊ม) ยังขาดแคลนมาก และไม่สะดวก เพราะใช้เวลาเติมก๊าซนาน ทำให้ตัวเลขรถยนต์ที่ใช้แอลพีจีในปัจจุบันมากถึง 1.4 ล้านคัน ส่วนรถเอ็นจีวีมีเพียง 3-4 แสนคันเท่านั้น
 
          ส่วนมาตรการที่รัฐบาลพยายามประชาสัมพันธ์ว่า แอลพีจีอันตรายกว่าเอ็นจีวีนั้น ต้องทำความเข้าใจว่า รถยนต์ที่อันตรายที่สุดคือ รถยนต์ใช้น้ำมัน เพราะน้ำมันติดไฟง่ายที่สุด ส่วนแอลพีจีนั้นหากอันตราย คงไม่แพร่หลายในยุโรป อาทิ อังกฤษ อิตาลี เยอรมนี เพราะมาตรฐานของประเทศเหล่านั้นสูง ต่างกับไทยที่มาตรฐานต่ำ ทำให้เกิดอุบัติเหตุบ่อย และแอลพีจียังเป็นเชื้อเพลิงที่ไม่ก่อให้เกิดมลพิษเหมือนน้ำมัน ดังนั้น การแก้ปัญหาที่ตรงจุด ไม่ใช่เลิกออกใบอนุญาตรถยนต์แอลพีจี แต่ต้องเป็นการออกมาตรการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันตรวจสอบให้เข้มงวดมากขึ้น ทั้งตัวถังแอลพีจี และร้านติดตั้ง
 
          นายสุรชัย กล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้ประกอบการติดตั้งแอลพีจีที่ได้มาตรฐานและจดทะเบียนถูกกฎหมาย ทั่วประเทศราว 600 ราย กระจายทั่วประเทศ จำนวนนี้เป็นเครือข่ายของบริษัท เอนเนอร์จี รีฟอร์ม กว่า 200 แห่ง แต่ที่น่าตกใจคือ มีผู้ประกอบการที่ติดตั้งโดยไม่ได้มาตรฐาน และไม่มีใบอนุญาตมากกว่า 700 แห่ง การติดตั้งลักษณะนี้เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุในช่วงที่ผ่านมา ดังนั้น กระทรวงที่เกี่ยวข้องควรเข้ามาตรวจสอบมาตรฐานอย่างเข้มงวดและระงับใบอนุญาตดังกล่าว เนื่องจากร้านที่ไม่ได้มาตรฐานจะตั้งถังแอลพีจี ในราคาเฉลี่ย 18,000-19,000 บาท เนื่องจากนำเข้าจากจีนและอินเดีย ขณะที่ร้านมาตรฐานนำเข้าจากยุโรปจะมีราคาเฉลี่ย 26,000-27,000 บาท
 
          นายสุรชัย กล่าวอีกว่า นอกจากนี้รัฐบาลควรออกมาตรการตรวจสอบอุปกรณ์ติดตั้งแอลพีจีด้วย เพราะปัจจุบันตรวจสอบเฉพาะถังแอลพีจี แต่แทบทุกครั้งที่เกิดปัญหาไฟไหม้ ไม่ได้มีสาเหตุมาจากถัง แต่มาจากมัลติวาล์ว อุปกรณ์ควบคุมถังเหมือนเป็นประตูแรกที่ทำให้ก๊าซรั่วจนเกิดปัญหาไฟไหม้ตามมา อีกทั้ง ภาพรวมตลาดแอลพีจีปีนี้ คาดว่าจะเติบโต 10% จากมูลค่าตลาดที่ 3,000 ล้านบาท เพราะรัฐบาลมีนโยบายชัดเจนในการปรับราคาแอลพีจีขนส่งภายในปีนี้ และราคาอยู่ ที่ประมาณ 24 บาทต่อกิโลกรัม หรือ 13-14 บาทต่อลิตร ซึ่งถูกกว่าราคาน้ำมัน ทำให้ประชาชนอยากใช้แอลพีจีเพิ่มขึ้น แต่ถ้ารัฐบาลยกเลิกการสนับสนุนแอลพีจี อาจกระทบต่อภาพรวมของตลาด ซึ่งต้องติดตามสถานการณ์อีกครั้ง


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์