นายกปลื้มยูเนสโกหนุนเลื่อนถกแผนพระวิหาร

นายกฯปลื้มยูเนสโกหนุนเลื่อนถกแผนบริหารเขาพระวิหาร ไทยพร้อมแจงศาลโลกพรุ่งนี้

เมื่อเวลา 08.00 น. วันที่  30 พ.ค.ที่วัดศรีบุญเรืองย่านรามคำแหง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ความคืบหน้าการหารือระหว่างคณะผู้แทนเจรจาฝ่ายไทยกับกัมพูชา ที่สำนักงานคณะกรรมการมรดกโลก ซึ่งกัมพูชาออกมาระบุในสิ่งที่ตรงข้ามกับผลการหารือ ว่า  เราทราบว่าฝ่ายกัมพูชาไม่ยินยอม แต่จากการพูดคุยคณะกรรมการเตรียมร่างข้อเสนอเพื่อคณะกรรมการมรดกโลกพิจารณาในเดือน มิ.ย.นี้ ก็เป็นไปในทางที่ดี  โดยสำนักงานยูเนสโกชี้ให้เห็นว่าการเลื่อนพิจารณาแผนบริหารจัดการพื้นที่รอบปราสาทพระวิหารเป็นทางออกที่ดีสุด รายละเอียดทั้งหมดนายสุวิทย์ คุณกิตติ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะประธานคณะผู้แทนเจรจาฝ่ายไทยจะมารายงานที่ประชุมครม.แต่ขณะนี้มีการชี้แจงต่อศาลโลกที่กัมพูชาร้องขอให้ตีความคำพิพากษาเมื่อปี 2505 และขอให้มีมาตรการคุ้มครองชั่วคราวให้ไทยถอนกำลังทั้งหมดออกจากพื้นที่รอบปราสาทพระวิหาร ซึ่งไทยพร้อมแถลงด้วยวาจาต่อศาลโลกวันที่ 30-31 พ.ค.นี้

เมื่อถามว่าแนวทางที่ผอ.ยูเนสโกชี้ไว้ จะมีผลต่อการตัดสินใจต่อคณะกรรมการมรดกโลกมากน้อยแค่ไหน
 
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เชื่อว่าแนวทางของผอ.ยูเนสโกมีน้ำหนัก แต่อำนาจอยู่ที่คณะกรรมการมรดกโลก ดังนั้นไทยจึงต้องเดินสายทำความเข้าใจ แต่คิดว่าถ้าฝ่ายสำนักงานคณะกรรมการมรดกโลกมีข้อเสนอที่เป็นรูปธรรมคล้ายกับร่างข้อมติที่จะเป็นไปในทางที่ให้เลื่อนการพิจารณาแผนบริหารฯ ก็เป็นแนวโน้มที่ดี  การที่กัมพูชากล่าวตำหนิผอ.ยูเนสโกว่าทำเกินหน้าที่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ตรงนี้เป็นสิ่งที่บ่งบอกว่าถ้ากัมพูชาเริ่มโวยวาย แสดงให้เห็นว่าที่จริงแล้วมีความโน้มเอียงเห็นประเด็นที่ไทยเสนอมาตลอด  ส่วนที่นายสุวิทย์ ต้องทำหน้าที่สร้างความเข้าใจและต้องหาเสียงเลือกตั้งด้วยนั้น คิดว่าไม่มีปัญหามีเครือข่ายและเจ้าหน้าที่ช่วยทำ      
       
เมื่อถามว่าแนวทางที่ไทยจะต่อสู้ในศาลโลกมีอะไรบ้าง นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เป็นเรื่องการพิจารณากรณีกัมพูชาร้องขอมาตรการคุ้มครองชั่วคราว
 
หลักๆคือไม่จำเป็นที่ออกมาตรการนี้ อีกทั้งเป็นคำขอก้าวล่วงไปเกินเลยจากคำพิพากษาเดิมและคำตีความที่กัมพูชาพยายามเสนออยู่ ดังนั้นเราต่อสู้ทั้งในแง่ความจำเป็น ขอบเขตอำนาจของศาล และตัวข้อเท็จจริงของการนำเสนอ เมื่อกัมพูชาชนะคดีในรอบที่แล้ว รัฐบาลไทยได้กำหนดขอบเขตวิธีปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลโลก และทำมาตั้งแต่ปี 2505 ซึ่งกัมพูชาไม่ได้โต้แย้ง ดังนั้นตรงนี้ควรจบไปนานแล้ว

ต่อข้อถามว่ากัมพูชาอ้างบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) ระหว่างไทยกับกัมพูชาว่าด้วยการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบก ปี 2543

และยังอ้างว่าไทยยอมรับแผนที่ของกัมพูชา 1:200,000 ที่ฝรั่งเศสจัดทำขึ้น นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ไม่ใช่ แต่ตรงกันข้ามกัมพูชามีเอกสารที่ส่งถึงคณะกรรมการมรดกโลก โดยอ้างถึงเอ็มโอยูไทย-กัมพูชา ปี 2543 ว่าทำให้กัมพูชาไม่สามารถใช้แผนที่ 1:200,000 ยื่นต่อคณะกรรมการมรดกโลกได้ ซึ่งเอกสารนี้น่าจะมัดกัมพูชา และไทยถือว่าเอ็มโอยูนี้บ่งบอกว่ากัมพูชายอมรับว่ากระบวนการการจัดทำหลักเขตแดนยังไม่จบ เพราะฉะนั้น การอ้างจากคำพิพากษาว่าเขตแดนอยู่ตรงนั้นตรงนี้จึงไม่เป็นความจริง เพราะกัมพูชาลงนามในเอ็มโอยูนี้เองว่าจำเป็นต้องจัดทำหลักเขตแดน.


เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์