สมิทธฟิวส์ขาด ประกาศ-ออก

สมิทธฟิวส์ขาด ประกาศ-ออก


ที่โรงแรมรอยัลภูเก็ตซิตี้ อ.เมืองภูเก็ต เมื่อเวลา 16.00 น. วานนี้ (28 ธ.ค.) นายสมิทธ ธรรมสโรช ประธานคณะกรรมการอำนวยการศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ เปิดแถลงข่าวด่วนต่อสื่อมวลชน หลังได้รับแฟกซ์หนังสือบันทึกข้อความจากสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ที่ ว.182/2549 ลงวันที่ 27 ธ.ค. 49 ส่งถึงนายปลอดประสพ สุรัสวดี ผู้อำนวยการศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ มีใจความระบุว่า ด้วยนายกรัฐมนตรีมีบัญชาเห็นชอบให้โอนภารกิจการบริหารจัดการศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ไปอยู่ในความดูแลรับผิดชอบของกรมอุตุนิยมวิทยา กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

ตามที่นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารระบบเตือนภัยพิบัติแห่งชาติเสนอ เพื่อให้การโอนภารกิจดังกล่าวบรรลุตามวัตถุประสงค์และเกิดความคล่องตัวในการบริหารจัดการองค์กร

ในวันที่ 4 ม.ค. 50 เวลา 10.00 น. จะมีการประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อยกร่างแก้ไขระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการบริหารระบบเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ พ.ศ.2548 และแนวทางการโอนภารกิจ งบประมาณ บุคลากร และครุภัณฑ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

จากนั้นเจ้าหน้าที่ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติได้ส่งแฟกซ์ต่อมาถึงนายสมิทธ ที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ จ.ภูเก็ต ทำให้นายสมิทธไม่พอใจ ประกาศลาออกทันที รวมทั้งนายปลอดประสพ สุรัสวดี ที่ต้องพ้นออกจากตำแหน่ง ผอ.ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ไปโดยปริยายเช่นกัน

นายสมิทธมีสีหน้าเคร่งเครียดอย่างเห็นได้ชัด เปิดเผยว่า


จากคำสั่งดังกล่าวอยากแจ้งให้ประชาชนได้รับทราบว่า ภารกิจของตนในฐานะประธานคณะกรรมการอำนวยการศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ และมีนายปลอดประสพ สุรัสวดี ผอ.ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ตลอดจนข้าราชการบำนาญของศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติทั้งหมดจะสิ้นสุดลงโดยปริยาย

ดังนั้น จึงขอให้ประชาชนที่ต้องการทราบข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับภัยพิบัติทุกชนิดที่จะเกิดขึ้นในประเทศไทย ให้ไปขอข้อมูลจากกรมอุตุนิยมวิทยา แต่ที่เป็นห่วงที่สุด คือ ภัยพิบัติการเกิดคลื่นสึนามิ คลื่นยักษ์ซัด ชายฝั่งและแผ่นดินไหว ที่ศูนย์เตือนภัยฯดำเนินการไปแล้วเป็นโครงการที่ดีมาก มีการติดตั้งระบบเตือนภัย 90 กว่าแห่งใน 6 จังหวัดอันดามัน และติดตั้งทุ่นตรวจจับคลื่นสึนามิในมหาสมุทรอินเดีย เป็นระบบเตือนภัยสึนามิที่ดีที่สุด 1 ใน 5 ของในโลก โครงการนี้อาจจะไม่เลิก แต่คงต้องมอบให้กรมอุตุนิยมวิทยารับไปดำเนินการต่อ

ส่วนเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานมาตั้งแต่เริ่มต้นก็คงไม่ได้ไปปฏิบัติหน้าที่ที่กรมอุตุฯ เนื่องจากเป็นข้าราชการที่มาจากกรมกองอื่นๆ และผู้เชี่ยวชาญซึ่งเกษียณอายุไปแล้ว แต่ตนขอ หรือดึงตัวมาช่วยงาน


การจะโอนผู้เชี่ยวชาญที่เกษียณอายุราชการไปทำงานกับหน่วยงานราชการนั้น คงเป็นไปไม่ได้ จะเอาอัตราไหนมาจ้าง แต่หากเป็นองค์กรอิสระสามารถทำได้

ส่วนกรณีการเกิดแผ่นดินไหวหรือภัยพิบัติต่างๆ ต่อจากนี้ไปจะเป็นหน้าที่ของกรมอุตุฯที่จะต้องดำเนินการและรับผิดชอบ ศูนย์เตือนภัยฯไม่สามารถรับผิดชอบต่อได้ เพราะหากเกิดความผิดพลาดในการแจ้งเตือนภัย การฟ้องร้องก็จะตามมา ที่ทำในปัจจุบันก็ยังไม่มีกฎหมายรับรอง

นอกจากนี้

ที่ศูนย์เตือนภัยฯปัจจุบันมีเจ้าหน้าที่ของกรมอุตุฯมาร่วมงานเพียง 1 คน ที่ผ่านมาทางกรมอุตุฯเองก็ไม่ได้มาเรียนรู้ หรือศึกษางานใดๆ จากศูนย์เตือนภัยฯ รัฐบาลเวลาจะดำเนินการอะไร ไม่ได้มีการปรึกษากันเลย

การจะทำระบบเตือนภัยพิบัติแห่งชาติให้เป็นระบบของประเทศเทียบเท่ากับนานาชาติ

จะต้องขึ้นตรงกับนายกรัฐมนตรี เพื่อการสั่งการให้เกิดความรวดเร็ว หากโอนไปอยู่กับกรมอุตุฯ การขออนุญาตต่างๆ จะต้องมีขั้นตอนมากมายกว่าจะมีการอนุมัติได้ เมื่อคลื่นมาจะทำอย่างไร ครั้งที่เกิดสึนามิเมื่อวันที่ 26 ธ.ค. 47 ก็เช่นกัน อธิบดีคนนี้ตัดสินใจไม่ดี ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 5,000 คน ทรัพย์สินเสียหายนับหมื่นล้านบาท เนื่องจากไม่กล้าตัดสินใจ นายสมิทธกล่าวอย่างมีอารมณ์

นายสมิทธกล่าวต่อไปว่า


ระบบการเตือนภัยที่ดำเนินการไปแล้วนั้น ต่างประเทศมาดูแล้วต่างก็ยกย่องว่าเป็นระบบเตือนภัยที่ดีที่สุดในภูมิภาคนี้ และดีที่สุด 1 ใน 5 ของโลก ต่างชาติยกย่องขนาดนี้แล้ว แต่คนไทยเราเองกลับไม่ยกย่อง เรื่องนี้คงจะไม่มีการพูดคุยกับนายกรัฐมนตรีอีก เพราะตนเหนื่อยที่จะพูด ทำไมตอนที่คิดจะโอนหรือย้ายไม่มาถามกัน เงินเดือนก็ไม่ได้ และจะไปขอร้องเพื่อของานมาทำทำไม เพราะไม่ได้มีผลประโยชน์ อะไรเลย คิดว่าพอแล้ว การทำเช่นนี้เหมือนเป็นการหยามหน้ากันชัดๆ ผู้เชี่ยวชาญที่มาทำงานที่ศูนย์เตือนภัยฯต่างเห็นกับตนจึงมาทำงานให้ และมีผู้ที่ไม่ได้รับเงิน เดือนหลายคน


เรื่องที่เกิดขึ้นไม่ได้น้อยใจ แต่โกรธที่มาทำกันอย่างนี้ น่าจะถามกันสักคำ


เพราะเหมือนกับเป็นการ กลั่นแกล้งกัน หรือเห็นว่าศูนย์นี้เกิดมาจากรัฐบาลทักษิณ แต่อยากบอกว่า ศูนย์นี้เกิดขึ้นเพื่อช่วยเหลือ รักษาชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชน ไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองหรือการต่อยอดการเมืองให้กับผู้ใด ใคร่วอนรัฐบาลอย่านำเรื่องการเมืองมาเป็นเครื่องต่อรองหรือเกี่ยวข้องกับชีวิตพี่น้องประชาชนตาดำๆ การโอนภารกิจนี้ไปให้กับกรมอุตุฯ ในขณะที่งานดังกล่าวเป็นเรื่องระดับชาติ แต่ให้ไปอยู่ในงานระดับจังหวัด

กรมอุตุฯมีภารกิจและศักยภาพในการเตือนภัยได้อย่างที่ทราบกันอยู่

เช่น กรณีพายุหรือคลื่นยักษ์ที่พัดถล่มภาคใต้ฝั่งตะวันออก กรมอุตุฯเตือนได้กี่ครั้ง ความเสียหายที่เกิดขึ้นประชาชนรู้ล่วงหน้าหรือไม่ ดูกันได้ง่ายๆ ศักยภาพมีมากน้อยเพียงใด แต่ของเราสามารถเตือนภัยได้เพราะมีเครื่องมือพร้อม แต่ไม่สามารถเตือนได้เพราะไม่มีการ มอบฉันทะให้สั่งการ จากนี้ไปคงสบาย และมีเวลาให้ ครอบครัวมากขึ้น นายสมิทธกล่าวทิ้งท้าย

สำหรับนายสมิทธ ธรรมสโรช


อดีตเคยดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา สร้างความฮือฮาเมื่อปี พ.ศ. 2541 เมื่อออกมาเตือนรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ สมัยนั้นว่า ประเทศไทยอาจจะเผชิญกับมหันตภัยคลื่นยักษ์ สึนามิ เป็นครั้งแรก หลังจากเกิดสึนามิถล่มหมู่เกาะปาปัวนิวกินีไม่นานนัก ขอให้รัฐบาลเร่งวางแผนรับมือแต่เนิ่นๆ

แต่ปรากฏว่าไม่มีใครเชื่อ กลับรุมด่าว่าเป็นคนทำลายบรรยากาศการท่องเที่ยว กระทั่ง 6 ปีให้หลัง คำทำนายก็เป็นจริง เมื่อวันที่ 26 ธ.ค. 47 ได้เกิดคลื่นยักษ์สึนามิซัดถล่มภาคใต้ของไทย คร่าชีวิตผู้คนไปกว่า 5,000 ศพ ทำให้รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ต้องเชิญมารับตำแหน่งประธานคณะกรรมการอำนวยการศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ดังกล่าว


ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดย: หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์