กัมมันตรังสีไหลลงแปซิฟิก

ค่าไอโอดีนสูงลิ่ว ไทยช่วยเงินพม่า

ภาคเหนือโดนพิษดินไหวในพม่าสะเทือนถึงไทย พบโบราณสถานเสียหายอีก 2 แห่ง รัฐบาลไทยมอบเงินช่วยพม่า 3 ล้านบาท ลาวดินไหวซ้ำ 5.1 ริกเตอร์ ด้าน หม่องเผย “ทาร์เลย์-ท่าขี้เหล็ก” เสียหายยับ ชาวบ้านเดือดร้อน 1.5 หมื่นคน สหรัฐส่งสารแสดงความเสียใจ ขณะที่ญี่ปุ่นระดับสารกัมมันตรังสีในทะเลใกล้กับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์พุ่งสูงขึ้นต่อเนื่อง “ไอโอดีน” สูงกว่าปกติถึง 1,250 เท่า รัฐบาลต้องจับตาเฝ้าระวังใกล้ชิด ถึงแม้เตาปฏิกรณ์สงบไป 2 เตาแล้ว

ดินไหวกระทบรพ.14แห่ง

เมื่อวันที่ 26 มี.ค. นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.สาธารณสุข กล่าวถึงการเกิดแผ่นดินไหวในพม่า และส่งผลกระทบต่อประเทศไทย ว่า ยอดผู้บาดเจ็บทั้งหมด 18 ราย เสียชีวิต 1 ศพ และจากการติดตามผลความเสียหายของกองแบบแผน กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ พบว่ามีโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ได้รับความเสียหายผนังกระเทาะเล็กน้อย แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงโครงสร้างหลัก ทั้งหมด 14 แห่ง เป็นโรงพยาบาลศูนย์ 1 แห่ง โรงพยาบาลชุมชน 8 แห่ง และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล 5 แห่ง

รพ.งัด5มาตรการรับดินไหว

นายจุรินทร์ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ได้ออกมาตรการป้องกัน และลดผลกระทบจากแผ่นดินไหว ด้านการแพทย์และสาธารณสุข โดยให้โรงพยาบาล และหน่วยงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยง 10 จังหวัด ประกอบด้วย เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แม่ฮ่องสอน เชียงราย น่าน พะเยา แพร่ กาญจนบุรี และตาก โดยให้เตรียมความพร้อมด้วยมาตรการ 5 ด้าน ได้แก่ 1. ด้านผู้ป่วยและเจ้าหน้าที่ โดยให้ซักซ้อมทำความเข้าใจกับผู้ป่วย เจ้าหน้าที่ ถึงแนวทางปฏิบัติพร้อมกับสำรวจผู้ป่วยที่จะต้องดำเนินการเคลื่อนย้ายกรณีฉุกเฉิน และเตรียมความพร้อมด้านเส้นทาง 2. ด้านระบบบริการ ให้เตรียมความพร้อมของทีม บุคลากร อุปกรณ์การแพทย์ที่จำเป็นในการให้บริการผู้บาดเจ็บ

3. ด้านอาคารและสถานที่ ให้ตรวจสอบจุดที่เสี่ยงต่อการพังทลาย ดำเนินการป้องกัน และเตรียมทางออกฉุกเฉินอย่าให้มีสิ่งกีดขวาง 4. ด้านสาธารณูปโภค เตรียมความพร้อมระบบไฟฟ้าสำรอง ระบบสื่อสาร และเครื่องมือดับเพลิง และ 5. ด้านวัสดุ อุปกรณ์ และเครื่องมือทางการแพทย์ โดยป้องกันวัสดุ สิ่งของ อุปกรณ์ต่าง ๆ ไม่ให้ล้มทับ ตกหล่น ตลอดจนสำรวจป้องกันอุปกรณ์เครื่องมือทางการแพทย์ที่มีราคาสูง

เปิดสายด่วนสุขภาพจิต

ด้าน นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ รมช.สาธารณสุข กล่าวถึงการดูแลสุขภาพจิตคนไทยจากการณีแผ่นดินไหวในพม่า ว่า ได้มอบหมายให้สำนักงานสาธารณสุข จ.เชียงราย จัดทีมสุขภาพจิตเข้าไปเยียวยา เพื่อคลายความวิตกกังวล ความเครียดให้แก่ประชาชนทั่วไป และเยียวยาครอบครัวผู้เสียชีวิต 1 ราย คือนางคำ คำปิง อายุ 55 ปี ชาวไทยใหญ่ และจากการประเมินเบื้องต้นพบว่าสภาพจิตใจ ส่วนใหญ่ยังอยู่ในสภาพวิตกกังวล และกลัวว่าจะเกิดเหตุการณ์ซ้ำอีก ประกอบกับมีข่าวลือต่าง ๆ จึงขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนก ให้ติดตามข่าวสารจากทางราชการ หากรู้สึกกังวลสามารถขอรับบริการปรึกษาได้ที่สถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้าน หรือสายด่วนสุขภาพจิต 1323 หรือ 1667 ตลอด 24 ชั่วโมง   

มอบเงินช่วยพม่า 3 ล้าน

ทางด้าน นายธานี ทองภักดี อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และนายกษิต ภิรมย์ รมว.การต่างประเทศ ได้มีสารแสดงความเสียใจไปยังนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีต่างประเทศพม่า จากกรณีเกิดแผ่นดินไหว ขณะที่รัฐบาลได้อนุมัติงบช่วยเหลือเบื้องต้นเป็นเงิน 3 ล้านบาท พร้อมมอบหมายให้เอกอัครราชทูตไทยประจำพม่าไปสอบถามกับทางการพม่าเพิ่มเติมว่า ต้องการความช่วยเหลือใด ๆ เพิ่มเติมด้วย

พบโบราณสถานเสียหายอีก

วันเดียวกัน นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รมว.วัฒนธรรม พร้อมคณะ ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบโบราณสถาน ใน อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ประกอบด้วย พระธาตุจอมกิตติ พระธาตุภูเข้า วัดป่าสัก และพระธาตุเจดีย์หลวง ที่ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว โดยนายนิพิฏฐ์ กล่าวว่า จากการตรวจสอบพบว่า โบราณสถานที่มีความเสียหายนอกจากพระธาตุจอมกิตติ พระธาตุภูเข้า พระธาตุเจดีย์หลวง และวัดป่าสัก แล้วยังได้รับรายงานเพิ่มเติมว่า พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงแสน และเจดีย์ประธานวัดปราสาทคุ้ม บริเวณหลังตลาดสดเมืองเชียงแสน ได้รับความเสียหาย พบรอยร้าวบริเวณฐาน และช่วงกลางขององค์เจดีย์

ทั้งนี้ จากการประเมินสถานการณ์เบื้องต้น ที่พระธาตุจอมกิตติ ที่มียอดฉัตรเอียงมานั้น ได้เร่งให้เจ้าหน้าที่กรมศิลปากรใช้วัสดุค้ำยันฉัตรพระธาตุให้ทรงตัว ส่วนที่เป็นห่วงกันว่าฐานพระธาตุจะเกิดการทรุดตัวนั้น ตนคิดว่าไม่น่าเป็นห่วง เนื่องจากกรมศิลปากรได้เสริมโครงสร้างของพระธาตุให้แข็งแรงมาตั้งแต่ปี 2549 แล้ว


พบคณะสงฆ์หายในพม่า

ด้าน ร.ต.อ.หญิงชนัฐนันท์ แสนอาทิตย์ รอง สว.ตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ด่านแม่สาย จ.เชียงราย เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้มีกลุ่มคนไทยและพระสงฆ์ ชั้นพระครู 5 รูป รวมทั้งหมด 65 คน ได้เดินเท้าผ่านด่านขาออก และไปเช่ารถบัส ที่ จ.ท่าขี้เหล็ก ประเทศพม่า เพื่อเดินทางไปแสวงบุญ ที่เมืองเชียงตุง และมีกำหนดการเดินทางกลับเข้าไทย ในวันที่ 30 มี.ค.นี้ แต่ขณะนี้ได้ขาดการติดต่อไป และเชื่อว่าไม่สามารถเดินทางกลับเข้าไทยได้ เนื่องจากถนนระหว่างเมืองเชียงตุงกับ จ.ท่าขี้เหล็กหรือถนนสายอาร์ 3 บี มีระยะทางประมาณ 189 กม. โดยพบว่ามีถนนและสะพานหลายแห่งถูกตัดขาด รถยนต์ไม่สามารถสัญจรไปมาได้ อย่างไรก็ดี ในช่วงเย็นวันเดียวกันนี้ ได้พบคณะสงฆ์เดินทางกลับมายังฝั่งไทยแล้ว ส่วนคณะคนไทยจะเดินทางกลับประเทศไทยในวันที่ 27 มี.ค.  

ลาวดินไหว 5.1 ริคเตอร์

ขณะที่สำนักเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยา รายงานว่า เมื่อเวลา 12.57 น. วันเดียวกันนี้ เกิดแผ่นดินไหว ที่ประเทศลาว บริเวณละติจูดที่ 20.89 ลองจิจูด 100.01 ขนาด 5.1 ริคเตอร์ จุดศูนย์กลางลึกจากพื้นดินประมาณ 15 กิโลเมตร แต่ไม่มีรายงานความเสียหาย และการรับรู้ถึงแรงสั่นไหวในประเทศไทย

ด้าน นายบุรินทร์ เวชบันเทิง ผอ.ส่วนเฝ้าระวังและติดตามแผ่นดินไหวและสึนามิ กรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวว่า แผ่นดินไหวระดับ 3-6 ริคเตอร์ ถือว่าเป็นแผ่นดินไหวระดับปานกลาง และสามารถเกิดขึ้นได้บ่อยบริเวณรอยเลื่อนต่าง ๆ สำหรับแผ่นดินไหวที่ลาวครั้งนี้ คาดว่าเป็นบริเวณรอยเลื่อนน้ำมา ที่พาดผ่านทั้งพม่าและลาว อยู่ใกล้เคียงรอยต่อพื้นที่ของ 3 ประเทศ คือ ไทย ลาว พม่า ส่วนการเกิดแผ่นดินไหวที่พม่าขนาด 6.7 ริคเตอร์ มีอาฟเตอร์ช็อกขนาด 3 ริคเตอร์ขึ้นไปตามมาอีกกว่า 110 ครั้ง

เผยทาร์เลย์-ท่าขี้เหล็กยับ

ด้าน สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานจากกรุงย่างกุ้ง ประเทศพม่าว่า เมืองทาร์เลย์ และท่าขี้เหล็ก รวมถึงหมู่บ้านใกล้เคียง ในรัฐฉานทางตะวันออกของพม่านั้น ดูเหมือนว่า จะได้รับความเสียหายมากที่สุดจากแผ่นดินไหวครั้งรุนแรง 6.8 ริคเตอร์ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา ส่งผลให้บ้านเรือนราษฎร วัดวาอาราม และ อาคารสถานที่ราชการได้รับความเสียหายพังราบเป็นหน้ากลอง โดยมีชาวบ้านรายหนึ่ง ได้โพสต์ข้อความในอินเทอร์เน็ตระบุว่า เมืองท่าขี้เหล็กเสียหายยับเยิน ชาวบ้านยังหวาดกลัว หลายคนหลบเข้าไปนอนในวัด ไม่กล้ากลับเข้าไปนอนบ้าน แม้คืนที่ผ่านมา จะไม่มีแผ่นดินไหวแล้ว และหวังว่าจะไม่มีแผ่นดินไหวเช่นนี้อีก เพราะสถานการณ์ในพม่าไม่ค่อยดี การขอความช่วยเหลือจากภาครัฐ เป็นไปด้วยความยากลำบาก หลายคนต้องอาศัยฟังข่าวทางวิทยุจากฝั่งของไทย

เหยื่อเคราะห์ร้ายอาจสูงขึ้น

ขณะที่ เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลทหารพม่า กล่าวว่า ยังไม่มีรายงานแจ้งตัวเลขผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นจากเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ซึ่งยังอยู่ที่ 74 ศพ เพราะบางพื้นที่ ยังเข้าไปไม่ได้ เนื่องจากปัญหาเรื่องการขนส่งและระบบการสื่อสาร ดังนั้นตัวเลขผู้เสียชีวิต จึงอาจสูงขึ้นกว่านี้ อย่างไรก็ตาม มีเจ้าหน้าที่ระดับสูง เป็นรัฐมนตรีกิจการสังคมสงเคราะห์และตั้งถิ่นฐานของรัฐบาลพม่า ออกเดินทางจากกรุงเนปิดอว์ ไปยังเมืองท่าขี้เหล็ก เพื่อให้ความช่วยเหลือในพื้นที่ประสบภัย

ทางด้าน นายไซ เธียน ออง ส.ส.พรรคฉานชาตินิยมประชาธิปไตยในพื้นที่ของจังหวัดท่าขี้เหล็ก กล่าวด้วยว่า เพิ่งจะสามารถติดต่อกับคนในพื้นที่ได้ เพราะเครือข่ายโทรศัพท์ถูกตัดขาด ส่วนมอเตอร์ไซค์รับจ้างในเมืองท่าขี้เหล็ก กล่าวว่า ตอนนี้ทุกอย่างได้กลับคืนสู่ภาวะปกติแล้ว

หม่องเดือดร้อน1.5หมื่นคน

กลุ่มองค์กรการกุศล เวิลด์ วิชั่น โดยนายคริส เฮนริก ผอ.ประจำพม่า กล่าวว่า มีประชาชนได้รับความเดือดร้อน ในพื้นที่ประสบภัย 15,000 คน จึงจัดส่งชุดปฐมพยาบาลเบื้องต้นและผ้าใบกันน้ำ สำหรับสร้างศูนย์พักพิงชั่วคราวให้กับผู้ประสบภัย 2,500 ครอบครัว แต่มีเรื่องที่น่าเป็นห่วง เพราะยังมีฝนตกอย่างต่อเนื่อง

สหรัฐแสดงความเสียใจ

ด้าน รัฐบาลสหรัฐได้ส่งสารแสดงความเสียใจถึงรัฐบาลพม่า โดยนางฮิลลารี คลินตัน รมว.ต่างประเทศสหรัฐ กล่าวระบุในสารว่า ในนามของประธานาธิบดีบารัค โอบามา แห่งสหรัฐ และ ประชาชนชาวอเมริกัน ข้าพเจ้าขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อการสูญเสียชีวิตและความเสียหาย อันเนื่องจากแผ่นดินไหวรุนแรงในประเทศพม่า ใกล้พรมแดนไทยกับลาว และขอมอบความห่วงใยและภาวนาถึงประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากโศกนาฏกรรมครั้งนี้ด้วย

ญี่ปุ่นระดับรังสีเพิ่มขึ้น

ส่วนความคืบหน้าของเหตุแผ่นดินไหวและสึนามิในประเทศญี่ปุ่น สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากเมืองเซนได จังหวัดมิยางิว่า นายฮิเดฮิโกะ นิชิยามะ เจ้าหน้าที่สำนักงานความปลอดภัยด้านพลังงานนิวเคลียร์ แถลงหลังทราบผลการตรวจสอบจากบริษัทโตเกียว เพาเวอร์ อีเลคตริค จำกัด (เทปโก) เจ้าของโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ฟูกูชิมา ในระยะ 250 กม. ทางตะวันออกเฉียงเหนือของกรุงโตเกียว ซึ่งได้รับความเสียหายอย่างหนักจากเหตุแผ่นดินไหว โดยกล่าวว่า ระดับของสารกัมมันตรังสีในน้ำทะเลใกล้กับโรงไฟฟ้า สูงขึ้นถึง 10 เท่า ในช่วงหลายวันที่ผ่านมา โดยเปรียบเทียบกับการดื่มน้ำ 1 ขวดขนาดครึ่งลิตร จะได้รับสารกัมมันตรังสี 1 มิลลิซีเวอร์ตส์ ซึ่งเป็นปริมาณที่คนปกติจะได้รับสารกัมมันตรังสีใน 1 ปี อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้ยังถือว่าไม่อันตรายในทันทีต่อชีวิตสัตว์น้ำ และอุตสาหกรรมอาหารทะเล

ไอโอดีนสูงกว่า 1,250 เท่า

ในส่วนของระดับของสารกัมมันตรังสี ไอโอดีน-131 ในน้ำทะเลของมหาสมุทรแปซิฟิก นอกชายฝั่งของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมา พบว่าสูงถึง 1,250 เท่าของระดับที่กฎหมายกำหนด ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เมื่อเทียบกับการตรวจวัดเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา วัดได้สูงกว่าระดับที่กฎหมายกำหนด 126 เท่า และ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา สูงกว่า 145 เท่า เจ้าหน้าที่สำนักงานความปลอดภัยด้านพลังงานนิวเคลียร์ กล่าวว่า เป็นตัวเลขที่สูง และสารกัมมันตรังสีเมื่อไหลลงสู่ทะเล จะแพร่กระจายไปตามกระแสน้ำ วงจรชีวิตของสารกัมมันตรังสีตัวนี้ จะอยู่ได้แค่ครึ่งเดียว คือ 8 วัน เมื่อคนบริโภคอาหารทะเลเข้าไป จะค่อย ๆ ลดปริมาณของสารกัมมันตรังสี อย่างไรก็ตาม บริษัทเทปโกออกแถลงการณ์ด้วยว่า ระดับของสารกัมมันตรังสี ซีเซียม-137 มีวงจรชีวิตครึ่งหนึ่งเช่นกัน แต่อยู่ที่ประมาณ 30 ปี และพบว่ามีระดับของสารกัมมันตรังสีตัวนี้ในน้ำทะเลสูงถึง 79.6 เท่าของระดับที่กฎหมายกำหนด

รัฐบาลยันต้องเฝ้าระวัง

นายยูคิโอะ เอดาโนะ หัวหน้าเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่โฆษกรัฐบาล แถลงว่า สถานการณ์ที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมา ไดอิจิ ไม่ได้ถึงขั้นกับเลวร้ายไปกว่านี้ แต่ยังจำเป็นที่จะต้องเฝ้าระวังต่อไป โดยเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ 2 เตาในจำนวนทั้งหมด 6 เตานั้นปลอดภัยแล้ว แต่อีก 4 เตายังคงมีการระเหยเป็นควันและไอ อย่างไรก็ตาม ทางสำนักงานความปลอดภัยด้านความปลอดภัยพลังงานนิวเคลียร์ระบุว่า อุณหภูมิและแรงดันภายในเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ทุกเตานั้น อยู่ในระดับทรงตัว

กรีนพีซเฝ้าจับตาใกล้ชิด

ด้าน กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม กรีน พีซ ออกแถลงการณ์ระบุว่า ผู้เชี่ยวชาญด้านนิวเคลียร์ของกลุ่มเริ่มเฝ้าสังเกตการณ์เรื่องกัมมันตภาพรังสีใกล้กับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมา เพราะเกรงว่าเจ้าหน้าที่ของญี่ปุ่น อาจไม่สามารถดำเนินการได้อย่างเต็มที่เกี่ยวกับระดับของวิบัติภัยทางธรรมชาติที่เกิดขึ้น จึงอาจประเมินค่าต่ำไปทั้งความเสี่ยงและการปนเปื้อนของสารกัมมันตรังสี ดังนั้น กลุ่มกรีนพีซ จึงต้องร่วมสังเกตผลกระทบของวิกฤติการณ์ครั้งนี้ และให้ความเห็นชัดเจนเกี่ยวกับผลการตรวจการปนเปื้อนของกัมมันตภาพรังสี

มะกันส่งเรือบรรทุกน้ำช่วย


ส่วนที่สำนักงานด้านความปลอดภัยพลังงานนิวเคลียร์ของญี่ปุ่น ระบุว่า การเปลี่ยนไปใช้น้ำจืดฉีดเข้าไปช่วยลดอุณหภูมิความร้อนของเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ ที่โรงไฟฟ้าฟูกูชิมานั้น จำเป็นต้องดำเนินการอย่างยิ่ง เพราะเกรงว่าเกลือจากน้ำทะเลและสารกัมมันตรังสีในทะเล จะเข้าไปอุดตันท่อ และลอยขึ้นเหนือผิวน้ำของบ่อในระดับหล่อเย็น เป็นอุปสรรคต่อการทำงานของระบบหล่อเย็นอีก เรื่องนี้ นายโยชิมิ คิตาซาวะ รมว.กลาโหมของญี่ปุ่น แถลงว่า รัฐบาลสหรัฐได้ทำเรื่องร้องขออย่างเร่งด่วนแล้วให้เปลี่ยนไปใช้น้ำจืดแทน ซึ่งทางกองทัพสหรัฐกำลังส่งเรือบรรทุกน้ำจืดมายังอ่าวโอนาฮามะที่อยู่ใกล้ ๆ กัน และจะเริ่มทำการฉีดน้ำจืดเข้าไปที่เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ในต้นสัปดาห์นี้ ขณะที่กองเรือแปซิฟิกของสหรัฐ แจ้งว่า เรือลากจูงบรรทุกน้ำจืดกำลังส่งไปช่วยที่โรงไฟฟ้าฟูกูชิมาแล้ว

ยอดผู้เสียชีวิตยังเพิ่มขึ้น

ขณะที่ ตัวเลขผู้เสียชีวิตอย่างเป็นทางการนั้น เพิ่มขึ้นเป็น 10,151 ศพแล้ว แต่เหลือความหวังอีกเพียงน้อยนิดเท่านั้นที่จะพบผู้สูญหาย ซึ่งมีอยู่ประมาณ 17,053 คน อย่างไรก็ตาม คาดหมายว่า อาจมีผู้เสียชีวิตสูงเกินกว่า 18,000 ศพ ส่วนผู้รอดชีวิตที่บ้านเรือนถูกทำลาย ไม่มีไฟฟ้าใช้ ไม่มีอาหาร รวมทั้งไม่ได้อาบน้ำมาร่วมสองสัปดาห์ เช่นนายโตโมฮิโกะ อาเบะ วัย 45 ปี อาศัยอยู่ที่เมืองโอนางาวะ กล่าวว่า ตนคิดว่าฝันไปเสียอีก บางคนบอกว่าเหมือนกับในหนัง แต่มันเลวร้ายกว่าในหนังเรื่องไหนที่เคยดูมาเสียอีก และทางโฆษกรัฐบาลยืนยันว่า หากประชาชนผู้ไร้ที่อยู่อาศัย แล้วเข้าไปอยู่ในศูนย์พักพิงชั่วคราว จะปลอดภัยจากสารกัมมันตรังสี ตราบเท่าที่ยังไม่ออกมาสู่ที่โล่งแจ้ง.

เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์