ทัวร์จีน-ญี่ปุ่นเลิกมาไทย ภาคธุรกิจโอดเศรษฐกิจพังยับ-การลงทุนพินาศ

นายกสมาคมโรงแรมชี้ต่างชาติหายเกลี้ยง ภาคธุรกิจโอดเศรษฐกิจพังยับ รองประธานสภาอุตฯซัดความรุนแรงทำการลงทุนพังพินาศ ท่องเที่ยวสูญกว่า 3.5 หมื่นล้าน จีน-ญี่ปุ่นเลิกมาไทย ที่ปรึกษา "แอตต้า" แนะถวายคืนอำนาจ ชี้ยุบสภาก็วุ่นไม่จบ

นายประกิจ ชินอมรพงษ์ นายกสมาคมโรงแรมไทย ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 11 เมษายน

เหตุการณ์ปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับผู้ชุมนุมคนเสื้อแดงเมื่อวันที่ 10 เมษายนที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวอย่างรุนแรง และจะทรุดลงต่อเนื่องไปอีกประมาณ 4-6 เดือน เนื่องจากความเชื่อมั่นของต่างชาติได้หายไปหมดแล้ว การที่จะฟื้นความเชื่อมั่นให้กลับคืนมาอีกครั้งอาจจะเป็นเรื่องลำบาก และจะต้องใช้เวลานานพอสมควร ทั้งนี้ ยอมรับว่าในส่วนของนักท่องเที่ยวจีนที่จะเดินทางเข้ามาในช่วงนี้ได้ยกเลิกการเดินทางเข้ามาทั้งหมดแล้ว หลังจากรัฐบาลจีนประกาศให้ชาวจีนชะลอการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในไทย


นายเอนก ศรีชีวะชาติ นายกสมาคมส่งเสริมท่องเที่ยวไทย-ญี่ปุ่น กล่าวว่า ขณะนี้นักท่องเที่ยวจากญี่ปุ่นได้ยกเลิกการเดินทางเข้ามาในไทยหมดแล้ว

หลังจากรัฐบาลญี่ปุ่นได้ออกประกาศเตือนให้นักท่องเที่ยวของตนชะลอเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในไทย ทั้งที่ ก่อนหน้านี้ตลาดญี่ปุ่นไม่ได้สนใจกับความวุ่นวายทางการเมืองที่เกิดขึ้นในไทยมากเท่าไหร่นัก เพราะเห็นว่าเป็นปกติ และยังเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง แต่พอเกิดเหตุรุนแรงขึ้น และยังมีคนญี่ปุ่นเสียชีวิตอีก ทางรัฐบาลเลยประกาศห้ามทันที เพราะถือว่าร้ายแรงมาก


นายอภิชาติ สังฆอารี ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ สมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) กล่าวว่า หากพิจารณาจากประวัติศาสตร์การชุมนุมของไทย จะมีอยู่ด้วยกัน 2 แบบ

คือ จบในทางที่ดี และจบแบบนองเลือด แต่เท่าที่พิจารณาในตอนนี้นองเลือดแล้วก็ยังจะไม่จบ จึงมีอยู่ทางเดียว คือ จะต้องคุยกัน ถ้าคุยกันแล้วไม่จบ ก็ให้ถวายคืนอำนาจแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพราะหากยุบสภา ความวุ่นวายที่เกิดขึ้นก็คงจะไม่จบ หรือการให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ลาออกจากตำแหน่ง ก็พิจารณาแล้วเห็นว่าไม่มีใครเหมาะสม


"ตอนนี้จะเอาชนะกันอย่างเดียวไม่ได้ ทุกฝ่ายจะต้องคุยกันอย่างจริงจัง ส่วนผลกระทบที่เกิดขึ้นขอเวลาพิจารณาประมาณ 2-3 วันก่อน จึงจะประเมินได้ โดยเห็นว่าอนาคตท่องเที่ยวคงเป็นช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว (ไฮซีซั่น) ของปีนี้แทน เพราะช่วงโลว์ซีซั่นของปีนี้ อาจจะได้รับผลกระทบรุนแรงกว่าปีที่แล้ว" นายอภิชาติกล่าว


นายประกิตติ์ พิริยะเกียรติ รองผู้ว่าการด้านสื่อสารการตลาด การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า ขณะนี้มีประเทศที่ประกาศเตือนนักท่องเที่ยวในระดับสูงสุดจำนวน 7 ประเทศ

คือ ลัตเวีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) สเปน ซาอุดีอาระเบีย ฮ่องกง ออสเตรีย และเช็ก ขณะเดียวกัน เห็นว่าการยกระดับการเตือนในประเทศต่างๆ ขณะนี้ไม่มีความสำคัญอีกแล้ว เพราะภาพข่าวที่ถูกนำไปเผยแพร่ทั่วโลก สามารถบ่งบอกถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในไทยอย่างชัดเจน จึงคาดว่าการท่องเที่ยวของไทยหลังจากนี้จะได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน


"เมื่อเช้านี้ (11 เมษายน) นายสุรพล เศวตเศรนี ผู้ว่าการ ททท.ได้เรียกผู้บริหารประชุมด่วน เพื่อปรับกลยุทธ์การดำเนินงานใหม่ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันมากยิ่งขึ้น เบื้องต้นกำหนดให้นำเสนอข้อมูลที่เป็นจริงให้นักท่องเที่ยวรับทราบโดยเร็วผ่านทางเว็บไซต์ ขณะเดียวกัน ก็จะปรับแผนการดำเนินงานด้านการตลาด จากเดิมที่จะเชิญผู้ประกอบการเอกชนจากต่างประเทศเข้ามาเพื่อสร้างความเชื่อมั่นในช่วงปลายปี ก็จะทำให้เร็วขึ้น ส่วนการโฆษณาประชาสัมพันธ์ในเร็วๆ นี้ ให้เลื่อนไปก่อน เพราะยังไงก็คงจะไม่มีใครเข้ามา" นายประกิตติ์กล่าว


นายอรรคพล สรสุชาติ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ สสปน. กล่าวว่า

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบกับการจัดประชุมสัมมนา การท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล และการจัดนิทรรศการนานาชาติ (ไมซ์) เนื่องจากมีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก โดยเห็นว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่มีใครชนะ ประเทศชาติพังหมด และถือเป็นเรื่องยากในการฟื้นฟูภาพลักษณ์ การอธิบายให้ชาวต่างชาติเข้าใจ คาดว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นส่งผลให้ธุรกิจไมซ์สูญเสียรายได้ประมาณ 1,000 ล้านบาท ขณะเดียวกัน ยังจะกระทบไปถึงไตรมาส 3-4 หรือต้นปี 2554 ด้วย


"ตอนนี้สิ่งสำคัญ คือ ความมั่นใจ และต้องการให้ทั้ง 2 ฝ่ายหยุด เพื่อผลประโยชน์ของประชาชน พยายามเจรจาหาทางสายกลางให้ทุกฝ่ายยอมรับมากที่สุด เพราะตอนนี้ถือว่าแพ้ด้วยกันทั้งหมด จึงต้องให้เรื่องนี้จบลงโดยเร็ว"


นายธนิต โสรัตน์ รักษาการ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ขณะนี้หมดเวลาที่จะพูดถึงผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศหรือจีดีพี

จะขยายตัว 4.5% แล้ว เพราะความรุนแรงที่เกิดขึ้นได้ทำให้บรรยากาศการลงทุนของไทยพังพินาศหมดแล้ว การท่องเที่ยวธุรกิจบริการยิ่งไม่ต้องพูดถึง คงต้องใช้เวลาอีกนานกว่าจะฟื้นตัว และคาดว่าจีดีพีปีนี้อาจจะลดลง 1% จากเป้าที่รัฐบาลกำหนดไว้อีกด้วย นายธนิตกล่าวด้วยว่า จากการหารือกับภาคเอกชนด้วยกันมองว่าความเสียหายจากการ ชุมนุมและความรุนแรงจะทำให้การท่องเที่ยว การบริการ ร้านอาหารโรงแรมภัตตาคารร้านขายของที่ระลึกเกี่ยวกับนักท่องเที่ยวตลอดจน ห้างสรรพสินค้าในพื้นที่ชุมนุมเสียหายรวมกันกว่า 35,000 ล้านบาทแล้ว


นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า หอการค้าไทยได้มีการประเมินผลกระทบจากความขัดแย้งทางการเมือง

ภาคการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบ เสียหายวันละ 200-500 ล้านบาท แยกเป็นผลกระทบต่อธุรกิจขนาดใหญ่ ได้แก่ ธุรกิจสายการบิน ธุรกิจทัวร์ รถโดยสาร โรงแรม และสถานที่พักวันละ 120-400 ล้านบาท ที่เหลืออีก 80-200 ล้านบาท กระทบต่อธุรกิจเอสเอ็มอีและประชาชนทั่วไป ได้แก่ ธุรกิจร้านอาหาร ขายของที่ระลึก เกสท์เฮาส์ สปาและนวดแผนไทย รถโดยสารขนาดเล็ก รวมถึงกระทบต่อพนักงานและลูกจ้างรายวัน เช่น ไก๊ด์นำเที่ยว พนักงานขับรถ หมอนวดแผนไทย พนักงานร้านอาหาร พนักงานขายของ และชาวบ้านที่ผลิตของที่ระลึก


นายธนวรรธน์กล่าวว่า ในส่วนผลกระทบที่เกิดขึ้นกับภาคธุรกิจค้าขายในประเทศเสียหายวันละ 500-800 ล้านบาท แยกเป็นผลกระทบต่อธุรกิจขนาดใหญ่

ได้แก่ ธุรกิจผลิตและขายสินค้าอุปโภคบริโภค ธุรกิจผลิตและขายสินค้าคงทน เช่น บ้าน รถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า วันละ 350-560 ล้านบาท ขณะที่เหลืออีก 150-240 ล้านบาท เกิดขึ้นกับธุรกิจ SMEs เช่น ผู้ผลิตและผู้ขายขนาดกลางและขนาดเล็ก ร้านขายของชำทั่วไปและประชาชนทั่วไป ที่เป็นพนักงานหรือรับจ้างในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจผลิตและขายสินค้า มนุษย์เงินเดือนหรือลูกจ้างรายวัน เช่น คนงานในโรงงาน ผู้ใช้แรงงาน และพนักงานขายของ


สำหรับการชุมนุมสี่แยกราชประสงค์ได้ส่งผลกระทบต่อธุรกิจใกล้เคียงวันละ 200-500 ล้านบาท โดยธุรกิจขนาดใหญ่ เช่น โรงแรมและห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่เสียหายวันละ 140-350 ล้านบาท ที่เหลืออีก 60-150 ล้านบาท กระทบกับธุรกิจ SMEs เช่น ผู้ขายขนาดกลางและขนาดเล็ก ร้านขายของชำ เป็นต้น


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์