พบพระพุทธรูปสมัยบายนคาดอายุราว700-800 ปี

พบพระพุทธรูปปางนั่งขัดสมาธิ"สมัยบายน" พร้อมหม้อบรรจุกระดูกบรรพบุรุษในปราสาทหินทามจาม อ.กันทรลักษณ์ จ.ศรีสะเกษ คาดอายุราว 700-800 ปี กรมศิลป์ฯลงพื้นที่ตรวจสอบหวั่นเกิดการสูญหาย พร้อมนำชิ้นส่วนสำคัญเก็บไว้ที่ศูนย์วัฒนธรรมอีสานตอนใต้

(13ธ.ค.) ที่ปราสาทหินทามจาม บ้านสมอ ม.12 ต.สมอ อ.ปรางค์กู่ จ.ศรีสะเกษ เจ้าหน้าที่กรมศิลปากร ได้เข้าตรวจสอบพระพุทธรูปสมัยบายน สร้างราวๆ พ.ศ.1761-1763 หรือเมื่อราวๆ 788 ปี ชื่อ พระโพธิสัตว์คุรุไพทูรย์ชะยะประภา สูงราว 70 เซนติเมตร หน้าตักกว้าง 63 เซนติเมตร ปรางนั่งขัดสมาธิราบ อยู่บนดอกบัวคว้ำ มือทั้งสองข้างถือวัชระ ที่พระเจ้าชัยวรมันต์ที่ 7 มหาราชองค์สุดท้าย ทรงสร้างไว้ในปราสาทอโรคยาศาลแห่งนี้ ถือเป็นแห่งที่ 102 ปราสาทหลังสุดท้ายของพระองค์ ภายหลังจากที่ได้มีการขุดค้นเมื่อช่วงค่ำวันที่ 12 ธ.ค.ที่ผ่านมา เนื่องจากหวั่นจะเกิดการสูญหาย เพราะพระพุทธรูปดังกล่าวมีความศักดิ์ศิทธิ์อยู่ในตัว คนสมัยโบราณกราบไหว้บูชา รักษาโรคภัยให้หายเจ็บหายป่วยได้ และนอกจากนี้ยังพบพระพุทธรูปปางนาคปรกขนาดเล็ก หม้อบรรจุกระดุกบรรพบุรุษภายในปรางปราสาทดังกล่าวนี้ด้วย

นายชินวุฒิ ริลยาลัย นักโบราณคดี 7 ว.หัวหน้าชุดขุดเพื่อตบแต่ง เปิดเผยว่า ที่นี้เป็นอโรคยาศาล หรือว่าเป็นโรงพยาบาลในสมัยพระเจ้าชัยวรมันต์ที่ 7 เมื่อประมาณ 700-800 ปีที่ผ่านมา ใช้เป็นสถานที่รักษาผู้ป่วยด้วยยาสมุนไพร โดยมากอโรคยาศาลจะพบประติมากรรมที่ทำจากหินทราย และพวกแท่งบดยาใช้บดยาในการรักษาผู้ป่วย ที่พบในครั้งนี้เป็นประติมากรรมหรือพระพุทธรูปในศาสนาพุทธลัทธิมหายาน สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นพระวัยรจนะ ที่แบ่งภาค เป็นพระชัยศาสนะคุรุประภา ของภาค 1 ปกติพระพุทธรูปนี้จะอยู่ด้านในปรางปราสาท แต่สันนิษฐานว่าอาจจะมีการขุดค้นสมบัติของชาติไปเมื่อราว 100 ปี แต่ด้วยความศักดิ์สิทธิ์ของพระพุทธรูปจึงทำให้ผู้ขโมยไปมีอันเป็นไปและต้องนำกลับมาไว้ดังเดิม ทำให้การขุดพบพระพุทธรูปครั้งล่าสุด พบอยู่ที่บริเวณด้านหน้าปรางปราสาทด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ความลึกที่ 80 ซม. เท่านั้น

สำหรับความสูงขององค์พระ ประมาณ 55 ซม.หน้าตักกว้าง 35 ซม. ประทับนั่งอยู่บนฐานกาบบัวลักษณะนั่งสมาธิราบ ประคองอาวุธ คือ วัชระ ไว้ที่หน้าอก พุทธศิลปะนี้น่าจะเป็นสมัยบายนแท้ และก็เป็นไปได้ว่าอาจจะมีการส่งตรงมาจากส่วนกลาง คือ พระนครฯ ก็เป็นไปได้

ด้านนางคำแดง คำเขื่อง นายก อบต.สมอ เปิดเผยว่า ขณะนี้ชาวบ้านได้ทราบข้อมูลการพบพระพุทธรูปดังกล่าวกันแล้ว และตั้งแต่เช้ามืดของวันนี้ ต่างก็ได้พากันเดินทางมากราบไหว้ขอพร

ในส่วนของ อบต.สมอ ก็จะนำเรื่องนี้เข้าสู่การประชุมคณะผู้บริหาร เพื่อที่จะตั้งงบประมาณในการมาดูแล บำรุงรักษา และพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวของ จ.ศรีสะเกษ ต่อไป และภายหลังจากที่คณะกรมศิลปากรได้ขุดปรับตบแต่งเรียบร้อยแล้ว ก็จะได้อัญเชิญพระพุทธรูปมาประดิษฐานไว้ดังเดิม เพื่อเป็นสิ่งมงคลต่อชุมชน ต่อพื้นที่ และต่อประชาชน พร้อมกับการดูแลปกป้องรักษาไว้ชั่วลูกหลานต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทั้งนี้คณะเจ้าหน้าที่จากกรมศิลปากร ที่11 ได้นำสมบัติของชาติชิ้นสำคัญที่สมบูรณ์อีกชิ้นหนึ่งขึ้นจากแหล่งขุดพบ แล้วนำไปเก็บไว้ที่ศูนย์วัฒนธรรมอีสานตอนใต้ อ.เมือง จ.อุบลราชธานี


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์