พบโรคใหม่จากภัยสึนามิเชื้อราในทรายฝังแผล

วงการแพทย์ตะลึง"เม็ดทรายในเนื้อเยื่อ"

โรคใหม่จากภัยสึนามิ คร่าชีวิตเหยื่อคลื่นยักษ์ชาวต่างชาติแล้ว 7 ราย รอง สสจ.ภูเก็ตยอมรับเป็นโรคใหม่ยังไม่เคยเจอมาก่อน แนะการรักษาใช้วิธีเปิดปากแผลจนกว่าจะหายสนิท ขณะ ผอ.รพ.กรุงเทพภูเก็ต ยืนยันจนถึงขณะนี้ยังไม่มียารักษา เผยสาเหตุเกิดจากเชื้อราในดินที่มากับคลื่นยักษ์


เกือบ 3 ปีแล้ว ที่คลื่นยักษ์สึนามิได้พัดถล่มชายฝั่งอันดามันของไทย 

สร้างความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สินจำนวนมหาศาล ผลจากเหตุการณ์ครั้งนั้นมีผู้เสียชีวิต สูญหายและได้รับบาดเจ็บนับหมื่นคน กรณีผู้ได้รับบาดเจ็บ มีบาดแผลตามร่างกายนั้น แม้ดูภายนอกจะหายเป็นปกติแล้วก็ตาม แต่ก็ยังไม่มั่นใจว่าภายในร่างกายจะหายเป็นปกติหรือไม่ หลังพบว่ามีผู้ป่วยเหยื่อสึนามิจำนวนไม่น้อยเข้ารับการผ่าตัดเปิดปากแผลในโรงพยาบาลต่างๆ ทั้งใน จ.พังงา และ จ.ภูเก็ต เพื่อรักษาบาดแผลใหม่อีกครั้งนพ.วิวัฒน์ศรีตะมาโนช รองสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต เปิดเผยว่า ตัวเลขผู้ป่วยเหยื่อสึนามิที่เข้ารับการรักษาตามโรงพยาบาลต่างๆ ใน จ.ภูเก็ต แต่ยังไม่ขอยืนยันตัวเลขชัดเจน เท่าที่ตรวจสอบไปตามโรงพยาบาลต่างๆ พบว่ายังมีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่อง ส่วนใหญ่จะเข้ารับการรักษาด้วยการผ่าตัดเปิดปากแผลใหม่ เนื่องจากแผลเดิมมีอาการบวมแดง ปูดขึ้นมาและเกิดการอักเสบอย่างรุนแรง


"ลักษณะของแผลเหยื่อสึนามิจะต่างจากบาดแผลทั่วไป คือ ปากแผลเล็กแต่ข้างในกว้าง หมอจะต้องกว้านเนื้อเยื่อข้างในออกให้หมด แล้วก็ทำการรักษาใหม่ ซึ่งแผลกรณีนี้ที่จริงจะต้องไม่เย็บ แต่ใช้วิธีรักษาแบบแผลเปิด เพราะมีเม็ดทรายเล็กๆ ที่ฝังอยู่ในเนื้อเยื่อ ที่ทางการแพทย์เรียกว่า เม็ดทรายในเนื้อเยื่อ คือเป็นบาดแผลที่เกิดจากแรงกระแทกของคลื่น แม้บาดแผลจะหายแล้ว แต่ก็ยังมีสิ่งแปลกปลอมฝังอยู่ในร่างกาย วันดีคืนดีก็จะเกิดบวมแดงขึ้นมาและมีอาการอักเสบ"


รองสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ตยอมรับว่า 

อาการของผู้ป่วยจากกรณีดังกล่าวจะไม่อันตรายถึงขั้นเสียชีวิต แต่จะทรมานจากอาการอักเสบของแผลและยังต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาที่สูงมาก ส่วนกรณีที่ผู้ป่วยเสียชีวิตนั้น จะเกิดจากการมีโรคแทรกซ้อนมากกว่า แต่จะไม่เสียชีวิตจากบาดแผลในกรณีดังกล่าว


"เท่าที่ทราบข้อมูลมีผู้เสียชีวิตจากกรณีนี้เหมือนกัน แต่เกิดจากโรคแทรกซ้อนมากกว่า ไม่ใช่มาจากบาดแผลที่เกิดจากสึนามิแต่อย่างใด อย่างกรณีที่มีผู้เสียชีวิตรายหนึ่ง ได้รับบาดเจ็บที่ขาและรักษาจนแผลหายเป็นปกติ จากนั้นไม่นานก็เกิดอาการอักเสบ มีหนอง บวมปูดขึ้นมา จนต้องตัดขาทิ้งแล้วก็มาเสียชีวิตในเวลาต่อมาจากโรคปอดอักเสบ" นพ.วิวัฒน์ เผย
 

นพ.ก้องเกียรติเกษเพ็ชร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ต กล่าวถึงกรณีผู้ป่วยซึ่งเกิดจากแผลสึนามิว่า

 ในส่วนของคนไทยไม่มีข้อมูลในการติดตามโรค แต่มีข้อมูลที่ได้รับจากแพทย์ของประเทศสวีเดน ซึ่งมีการติดตามอาการของผู้ป่วยที่มีบาดแผลติดเชื้อจากคลื่นยักษ์สึนามิประมาณ 1 ปีเศษพบว่าแผลภายนอกหายแล้ว แต่จะมีอาการลักษณะการเป็นหนองเกิดขึ้นใหม่ตลอดเวลา เมื่อทำการเพาะเชื้อก็พบว่าเป็นเชื้อราที่อยู่ในดิน ซึ่งเป็นเชื้อที่หายากและเป็นโรคที่ไม่เคยเจอมานานแล้ว เข้าใจว่าตอนที่คลื่นซัดเข้ามามีดินเม็ดเล็กๆ แทรกเข้าไปตามผิวหนัง หลังจากนั้นเชื้อราก็ค่อยๆ เจริญเติบโต ซึ่งได้รับรายงานว่ามีผู้ป่วยประมาณ 6 รายเป็นคนไข้ที่สวีเดนทั้งหมด และมีข้อมูลที่ตีพิมพ์ในนิตยสารทางการแพทย์พบที่ออสเตรเลียด้วย 1 ราย


"โรคดังกล่าวไม่มีชื่อที่เป็นภาษาไทยแต่จะเรียกว่าการติดเชื้อราที่ผิวหนังชั้นลึก โดยปัญหาที่พบ คือ เป็นเชื้อที่เจริญเติบโตช้ามาก และยังไม่มีความรู้ว่าจะใช้ยาตัวใดในการรักษา ขณะนี้การรักษาของทางแพทย์จะใช้ยาประกอบลักษณะคล้ายกับการรักษาวัณโรค โดยใช้ยาหลายตัวประกอบกันและต่อเนื่องเป็นเวลาประมาณ 6 เดือนถึง 1 ปีโดยหวังว่าเชื้อจะหยุดการเจริญเติบโต ส่วนกรณีที่ไม่สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อดังกล่าวได้นั้น จะเป็นอันตรายต่อส่วนอื่นๆ หรือไม่ ก็ยังไม่มีใครทราบ ซึ่งได้สอบถามไปยังโรคเขตร้อน และมหาวิทยาลัยต่างๆ ไม่ปรากฏว่ามีการรักษาโรคดังกล่าวมาก่อน" 


ทั้งนี้นพ.ก้องเกียรติกล่าวถึงห้องทดลองเพาะเชื้อของโรงพยาบาลว่า

 โรงพยาบาลมีห้องเพาะเชื้อที่สามารถทำการเพาะเชื้อให้เจริญเติบโตขึ้นมาได้ หากเป็นโรคที่ไม่เคยติดต่อหรือเกิดขึ้นในคนมาก่อนก็จะได้มีองค์ความรู้ในการรักษาว่าควรจะเป็นเช่นไร แต่การเพาะเชื้อที่ผ่านมาไม่ได้มีการเพาะเชื้อรากลุ่มดังกล่าว เนื่องจากเป็นเชื้อราที่เกิดขึ้นในเนื้อเยื่อของผิวหนัง ทำการเพาะในช่วงแรกว่ามีเชื้อแบคทีเรียชนิดใด ซึ่งก็พบเชื้อที่ทำให้เกิดโรคหลายชนิดที่ทำให้เกิดการติดเชื้อที่บาดแผล ทำให้สามารถเลือกใช้ยาปฏิชีวนะในการรักษาที่เหมาะสมได้ เพราะไม่เช่นนั้นอาจจะก่อให้เกิดการลุกลามและติดเชื้อรุนแรงทำให้เสียชีวิตได้ นอกจากนี้การมีห้องทดลองยังทำให้สามารถทราบผลจากการเพาะเชื้อได้เร็วขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเชื้อแบคทีเรีย วัณโรค เชื้อราบางตัว 


ส่วนคำแนะนำสำหรับผู้ป่วยนพ.ก้องเกียรติกล่าวว่า

 ผู้ป่วยที่มีบาดแผลเกิดจากสึนามิให้สังเกตบริเวณขอบแผลแตกเป็นตุ่มสีเรื้อรัง รักษาไม่หาย หรือเป็นๆ หายๆ ควรจะมีการตรวจเพิ่มเติมและเพาะเชื้อกรณีหากเป็นเชื้อรา เพื่อจะได้หาวิธีการรักษาที่ถูกต้อง เพราะบาดครั้งอาจมีความเข้าใจผิดว่าเป็นอาการของน้ำเหลืองไม่ดี หรือเดี๋ยวก็หายไปเอง 


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์