สลดพบซากกระทิงกุยบุรีตายเพิ่มอีก 3 ตัว รวมเป็น 16 ตัวแล้ว ปมแย่งงบ 14 ล้าน

สลดพบซากกระทิงกุยบุรีตายเพิ่มอีก 3 ตัว รวมเป็น 16 ตัวแล้ว แฉเหตุถูกวางยาเบื่อ เขย่าเก้าอี้ผู้บริหาร 2 หน่วยงานขัดแย้งเรื่องงบ 14 ล้าน พร้อมแจ้งความคนงานทีพีไอตี “เลียงผา”

เมื่อวันที่ 24 ธ.ค. นายพงษ์พันธ์ วิเชียรสมุทร นายอำเภอกุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ ประธานมูลนิธิช้างป่าบ้านพ่อ
 
พร้อมเจ้าหน้าที่เครือข่ายองค์กรอนุรักษ์สัตว์ป่ากุยบุรี (POWER of Kuiburi)ทหารหน่วยเฉพาะกิจจงอางศึก กองกำลังสุรสีห์ ทหารชุดประสานงานโครงการพระราชดำริ บ้านรวมไทย ทหารพราน ที่ 1404 ตชด. ที่ 145 ฝ่ายปกครอง เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ เจ้าหน้าที่WWFมูลนิธิช้างป่าบ้านพ่อประมาณ150นาย สนธิกำลังเข้าตรวจสอบพื้นที่6ตารางกม.ในพื้นที่โครงการฟื้นฟูสภาพป่าสงวนแห่งชาติป่ากุยบุรี อันเนื่องมาจากพระราชดำริ หลังพบกระทิงตายต่อเนื่องถึง 13ตัว เป็นเพศผู้10 ตัว เพศเมีย 3 ตัวในพื้นที่โครงการกุญชร ใกล้หมู่บ้านรวมไทย ต.หาดขาม ตั้งแต่วันที่2–23 ธ.ค. ที่ผ่านมา

โดยเจ้าหน้าที่ได้เดินเท้าลาดตระเวนไปด้านทิศตะวันตกของโครงการกุญชรเพื่อค้นหาซากสัตว์ป่า สำหรับจุดที่พบกระทิงตายมีการปิดกั้นพื้นที่ ห้ามไม่ให้นักท่องเที่ยวเข้าโดยเด็ดขาดนาน1สัปดาห์ เพื่อตรวจสอบแต่จะเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมช้างป่าและฝูงกระทิงได้ เฉพาะจุดที่กำหนด และบริเวณโป่งสลัดได

ขณะเดียวกัน นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญจากกรมควบคุมโรค กรมควบคุมมลพิษ สัตวแพทย์ ได้เก็บตัวอย่างดิน น้ำ พืชอาหาร
 
พร้อมเก็บเนื้อเยื่อจากซากกระทิงอีกครั้ง เพื่อนำมาวิเคราะห์หาข้อมูลการตายของฝูงกระทิง ส่วนเขากระทิงนำมาเก็บไว้ที่ทำการอุทยานตามคำสั่งของนายธีรภัทร ประยูรสิทธิ รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืชเนื่องจากเป็นทรัพย์สินของทางราชการ

นายพงษ์พันธ์ กล่าวว่า การสนธิกำลังค้นหาอย่างต่อเนื่อง คาดว่าน่าจะพบซากกระทิงเพิ่มอีก หลังจากพบซากกระทิงจำนวนมาก
 
ยอมรับว่ามีผลกระทบกับจำนวนนักท่องเที่ยวซึ่งมีบางส่วนได้รับข้อมูลคลาดเคลื่อน เนื่องจากอุทยานฯจะปิดป้ายประกาศห้ามเข้าในบางพื้นที่เท่านั้น แต่ไม่ได้ห้ามชมสัตว์ป่าในจุดที่กำหนดไว้ ซึ่งจะต้องแจ้งประชาสัมพันธ์ให้ทราบโดยเฉพาะในกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ สำหรับกระทิงฝูงใหญ่กว่า 150 ตัว และช้างป่าจำนวนมากที่หากินตามธรรมชาติบริเวณทิศเหนือของพื้นที่อุทยานฯขณะนี้ยังไม่มีผลกระทบใดๆ ขณะเดียวกันมีเจ้าหน้าที่หลายหน่วยงานติดตามดูแลเพื่อสำรวจความเป็นอยู่อย่างใกล้ชิด


สลดพบซากกระทิงกุยบุรีตายเพิ่มอีก 3 ตัว รวมเป็น 16 ตัวแล้ว ปมแย่งงบ 14 ล้าน

ขณะที่ชาวบ้านในอำเภอกุยบุรีวิเคราะห์สาเหตุที่กระทิงตาย น่าจะมีความผิดปกติ
เนื่องจากกระทิงไม่ได้เป็นคู่ขัดแย้งของชาวบ้านรอบพื้นที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี เหมือนกรณีช้างป่าออกมาทำลายพืชไร่โดยเฉพาะการกินสับปะรด และล่าสุดส่วนตัวได้ประเมินว่ากระทิงกินอาหารที่มีพิษ และไม่เกี่ยวข้องกับแหล่งน้ำในโครงการกุญชร ดังนั้นต้องรอผลการพิสูจน์ตามหลักวิชาการว่าพิษที่ทำให้กระทิงตายเกิดจากอาหารในธรรรมชาติหรือไม่ ส่วนข่าวลือที่ชาวบ้านวิจารณ์เรื่องความขัดแย้งของเจ้าหน้าที่ก็ยอมรับว่าน่าสนใจ เนื่องจากในระยะ 4 ปีที่ผ่านมา มีการย้ายหัวหน้าอุทยานแห่งชาติกุยบุรีถึง 6 คน

นายศรีสวัสดิ์ บุญมา กำนันตำบลหาดขาม อ.กุยบุรี กล่าวว่า ชาวบ้านในพื้นที่ไม่สบายใจ หลังจากสัตว์ป่าหายากใกล้สูญพันธุ์เพราะตายจำนวนมากผิดปกติพร้อมกัน

ขณะนี้ยังหาสาเหตุการตายไม่ได้ส่วนตัวเชื่อว่าไม่ได้เกิดจากโรคระบาดสัตว์ ดังนั้นต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบเชิงลึกว่า เกิดจากสารพิษจากการกินอาหารตามธรรมชาติ หรือเกิดจากการกระทำของมนุษย์ ซึ่งผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานที่รับผิดชอบต้องหาสาเหตุด้วยว่ามีความขัดแย้งภายในของเจ้าหน้าที่หรือไม่ หรือมีการดิสเครดิตข้าราชการในพื้นที่ และขณะนี้ฝ่ายปกครองได้ร่วมกับผู้ใหญ่บ้านอส.สมาชิก อปพร.อาสาสมัคร ชรบ.ได้ช่วยกันออกหาข่าวอย่างเต็มที่เพื่อทำให้ข้อเท็จจริงปรากฎ

ต่อมานายปรีชา วิทยพันธ์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติกุยบุรี กล่าวว่า ได้รับรายงานว่า ผลการตรวจสอบพื้นที่ล่าสุด พบซากกระทิงตายเพิ่มอีก 3 ตัว มีสภาพเน่าเปื่อย เบื้องต้นเป็นเพศเมีย 2 ตัวและเพศผู้ 1 ตัว ตอนนี้ผู้เชี่ยวชาญนำชิ้นส่วนไปตรวจพิสูจน์สาเหตุการตายแล้ว คาดว่าจะทราบผลไม่เกิน 7 วัน

ทั้งนี้มีรายงานข่าวล่าสุดด้วยว่า สาเหตุการตายของกระทิงไม่ได้เกิดจากการกินไมยราบไร้หนามตามที่สันนิษฐานเบื้องต้น
 
เนื่องจากสัตว์ป่าจะมีสัญชาติญาณในการกินอาหารตามธรรมชาติหากพบว่าพืชชนิดใดมีพิษ สัตว์ป่าจะไม่กินเด็ดขาด อีกทั้งไม่ได้ถูกฆ่าเพื่อต้องการเขาซึ่งมีราคาสูงในตลาดมืด แต่น่าจะเกิดจากปัญหาความขัดแย้งภายใน ระหว่าง 2 หน่วยงานที่ทำงานทับซ้อนในพื้นที่ระหว่างอุทยานแห่งชาติกุยบุรี และหน่วยพื้นฟูสภาพป่า ซึ่งสังกัดกรมเดียวกัน โดยอาจมีการวางยาเบื่อกระทิง เพื่อเขย่าเก้าอี้ผู้บริหาร

เนื่องจากก่อนหน้านี้คณะกรรมาธิการสิ่งแวดว้อมของวุฒิสภา ( สว.) ได้จัดสรรงบประมาณเพื่อฟื้นฟูสภาพป่าอย่างต่อเนื่อง 2 ปี มีงบประมาณ 7 ล้านบาท
 
เพื่อฟื้นฟูสภาพป่าที่เสื่อมโทรมจาการทำการเกษตร และที่ผ่านมาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นทำให้มีการแต่งตั้งโยกย้ายผู้บริหารของอุทยานแห่งชาติกุยบุรีหลายราย
ด้าน นายวิเชียร จุ่งรุ่งเรือง อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่าได้ประสานงานร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เพื่อตรวจสอบหาสาเหตุการตายที่แท้จริง โดยวันที่ 26 ธ.ค. นี้ คพ. จะลงพื้นที่เก็บตัวอย่างน้ำ ดิน พืช ในบริเวณดังกล่าวนำมาพิสูจน์ในแล็ปของคพ. คาดว่า 2 สัปดาห์จะรู้ผล ทั้งนี้ทราบว่าพื้นที่บริเวณนั้นเคยเป็นพื้นที่เกษตรกรรมมาก่อน จึงเป็นไปได้ที่จะมีสารเคมีทางการเกษตรเช่น ยากำจัดศัตรูพืชตกค้างอยู่ หรือมีการกลบฝังสารเคมี จึงทำให้ไปปนเปื้อนกับน้ำ ดิน หรือพืชที่กระทิงกินเข้าไป แต่อย่างไรก็ตามจะต้องตรวจสอบซากกระทิงควบคู่กันไปจึงจะทราบสาเหตุการตายได้อย่างชัดเจน

ด้านนายธีรภัทรรองอธิบดีกรมอุทยานฯ กล่าวว่า วันนี้เจ้าหน้าที่พบซากกระทิงเพิ่มอีก 3 ตัว เป็นเพศเมีย 2 ตัว เพศผู้ 1 ตัว รวมพบซากทั้งหมดตั้งแต่วันที่ 2 ธ.ค. 16 ตัว การพบซากกระทิงเพิ่มเนื่องจากเจ้าหน้าที่ได้ปูพรมขยายพื้นที่ค้นหา อย่างไรก็ตามกระทิงทั้งหมดน่าจะตายลงในช่วงเวลาเดียวกัน ซึ่งต้องเร่งสอบสวนหาสาเหตุการตายต่อไป

นายธีรภัทร กล่าวอีกว่า ในวันนี้ตนได้เดินทางลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีพนักงานบริษัททีพีไอโพลีน จำกัด (มหาชน) อ.แก่งคอย สระบุรี

รุมทำร้ายเลียงผาที่พลัดหลงเข้ามาในเขตพื้นที่ซึ่งเป็นโรงงานผลิตปูนซีเมนต์ ตามที่มีการเผยแพร่ตามคลิป วิดีโอผ่านโซเชียลมีเดีย คาดว่าน่าจะเป็นการพลัดหลงเข้ามาของเลียงผาซึ่งอาศัยอยู่บนภูเขารอบบริเวณดังกล่าว โดยพื้นที่บริเวณนี้มีเลียงผาอาศัยอยู่ตามธรรมชาติ

ทั้งนี้จากการตรวจสอบเลียงผาหลงเข้ามาในจุดที่เป็นพื้นที่ส่วนผลิตสำคัญ จึงมีการไล่ อย่างไรก็ตามเท่าที่ปรากฏตามคลิปคนงานไปจับโดยใช้วิธีรุนแรง
 
ใช้ไม้ทุบจนเลียงผาล้มลง และมีการชี้แจงเพียงว่าปล่อยกลับเข้าป่าไปแล้ว ซึ่งเรื่องนี้ยังเป็นที่สงสัยของสังคมว่าเลียงผาตายหรือไม่
นายธีรภัทร กล่าวอีกว่า ทางกรมอุทยานฯ ได้แจ้งความดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้อง และให้เป็นหน้าที่ตำรวจในการสืบสวนต่อไป ส่วนคนที่ทำร้ายเลียงผามีความผิดตามมาตรา มาตรา 16 ของ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า 2535 ห้ามจับหรือล่าสัตว์ป่าสงวนหรือคุ้มครอง มีโทษจำคุก 4 ปี ปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งนี้เลียงผาถือเป็นสัตว์ป่าสงวน 1 ใน 15 ชนิดของไทยที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์.


เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์