ช่วยชีวิตช้างป่า ส่งผ่าตัดเนื้องอก

ที่ห้องประชุมชั้น 2 อาคารศูนย์ปฏิบัติการป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 4 มี.ค.

นายกมลวัฒน์ วิเศษศิริ รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดเผยถึงความช่วยเหลือ “พลายสามพราน” ช้างที่ได้รับบาดเจ็บจากการถูกช้างป่าด้วยกันทำร้ายว่า เมื่อปลายปี 2549 กรมอุทยานฯได้ส่งสัตวแพทย์เข้าไปในหน่วยพิทักษ์ป่าสามพราน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน จ.ฉะเชิงเทรา เพื่อช่วยเหลือลูกช้างป่าหลงโขลงเพศผู้ อายุ 5 ปี หรือพลายสามพราน ซึ่งได้รับบาดเจ็บจากการถูกบ่วงเชือกของพรานรัดที่เท้าหน้าขวา กระทั่งอาการดีขึ้น จึงส่งช้างตัวดังกล่าวกลับเข้าป่าตามเดิม
 

ต่อมาเมื่อกลางปี 2550 ชาวบ้านคลองตะเคียน หมู่ 13 ต.ท่าตะเกียบ อ.ท่าตะเกียบ จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งอยู่ห่างจากหน่วยพิทักษ์ป่าสามพราน 15 กม.

ทำหนังสือร้องเรียนว่าช้างป่าพลายสามพราน ลงมากินและทำลายพืชไร่ได้รับความเสียหาย จึงขอให้ย้ายช้างเข้าไปในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน บริเวณอ่างเก็บน้ำ ซึ่งเป็นพื้นที่หากินของช้างป่าโขลงภูไท ที่พลายสามพรานเคยอยู่ ซึ่งจากการตรวจสอบยังพบว่าพื้นที่บ้านคลองตะเคียนที่ช้างอาศัยหากินนั้น มีการใช้สารเคมีเกษตรจำนวนมาก ทำให้แผลที่เท้าหน้าขวาของช้างได้รับการระคายเคืองจากสารเคมี ส่งผลให้เกิดก้อนเนื้องอกขนาดใหญ่ น้ำหนักกว่า 10 กก. 

จากปัญหาดังกล่าว ทางกรมอุทยานฯจึงเห็นสมควรย้ายช้างออกจากพื้นที่บ้านคลองตะเคียนไปยังพื้นที่ป่าภูไท ที่อยู่ห่างออกไปราว 25 กม.

เพื่อลดปัญหาบาดแผลที่ต้องสัมผัสกับสารเคมี และป้องกันช้างลงมาทำลายพืชไร่ของชาวบ้าน แต่หลังจากนำช้างไปปล่อยเข้าป่าได้เพียง 3 วัน ปรากฏว่าช้างเดินกลับมายังบ้านคลองตะเคียนที่เดิมอีก และพบร่องรอยถูกช้างป่าตัวอื่นใช้งาแทงเข้าที่สะโพก คาดว่าพลายสามพรานคงจะถูก ขับออกจากโขลง เนื่องจากข้อมูลงานวิจัยของสถานีสัตว์ป่าฉะเชิงเทราระบุว่า ประชากรช้างป่าในพื้นที่เขาอ่างฤาไน มีอัตราเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 10 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเกินกว่าศักยภาพพื้นที่ป่าจะรองรับได้ จึงน่าจะเป็นสาเหตุสำคัญทำให้พลายสามพรานถูกขับออกจากโขลง และกลับมาหากินในพื้นที่เดิม
 


ทางสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานฯ

จึงร่วมกับสัตวแพทย์จากสำนักพระราชวัง สถาบันวิจัยสุขภาพช้างแห่งชาติ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สถาบันคชบาลแห่งชาติ จ.ลำปาง สัตวแพทย์สวนสัตว์ นครราชสีมา ผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์ป่า และเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน ประชุมร่วมกันเพื่อแก้ไข ปัญหาของพลายสามพราน และได้ผลสรุปว่า สภาพโดยรวมของช้างมีอาการดีขึ้น แต่ยังมีภาวะโลหิตจางและโปรตีนในเลือดต่ำ ส่วนสภาพบาดแผลนั้นแย่ลง ขนาดของเนื้องอกใหญ่ขึ้น เนื่องจากบาดแผลยังคงสัมผัสกับสารเคมีเกษตร หากปล่อยให้ช้างอาศัยอยู่ในพื้นที่เดิม จะทำให้สุขภาพแย่ลงเรื่อยๆ
 

ที่ประชุมได้เสนอให้ย้ายพลายสามพรานไปรักษาที่โรงพยาบาลช้าง ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย จ.ลำปาง

โดยสัตวแพทย์จะผ่าตัดเอาเนื้องอกที่เท้าหน้าขวาออก รักษาบาดแผล รวมทั้งอาการอื่นๆ และรอให้ช้างมีสุขภาพดี ขึ้นสักระยะหนึ่งก่อน จากนั้นจะนำพลายสามพรานไปปล่อยให้ดำรงชีวิตตามธรรมชาติที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยผาเมือง จ.ลำปาง ซึ่งเป็นพื้นที่ในโครงการคืนช้างสู่ธรรมชาติ ในพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ โดยในพื้นที่ดังกล่าวมีช้างป่าที่ปล่อยไปแล้วตั้งแต่ปี 2540 รวมทั้งสิ้น 8 ตัว คาดว่าพลายสามพรานจะสามารถอาศัยอยู่ร่วมกับช้างโขลงนี้ได้
 

“กำหนดการเคลื่อนย้ายพลายสามพรานออกจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน จ.ฉะเชิงเทรา ไปยังโรงพยาบาลช้าง จ.ลำปาง จะเริ่มในช่วงเย็นวันที่ 5 มี.ค.นี้ เพื่อหลีกเลี่ยงอากาศร้อนในตอนกลางวัน การเคลื่อนย้ายครั้งนี้จะนำพลายสามพรานขึ้นรถบรรทุกสิบล้อ และให้ควาญ ช้างจาก จ.สุรินทร์ นำช้างพลายบัวบานมาเป็นช้างพี่เลี้ยง คอยปลอบโยนไม่ให้พลายสามพรานซึ่งขณะนี้มีอายุ 7 ปีแล้ว มีอาการตื่นตระหนกและเครียด โดยจะมีเจ้าหน้าที่ให้อาหารและน้ำ รวมทั้งจะมีสัตวแพทย์คอยให้ยาและดูแลอาการอย่างใกล้ชิดตลอดเส้นทาง ทั้งนี้ จะไม่มีการให้ยาสลบแก่พลายสามพราน สำหรับความคืบหน้าในการรักษา ทางกรมอุทยานฯจะเฝ้าติดตามและแจ้งให้ทราบเป็นระยะ” รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯกล่าว


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์