สรุปแล้วเหตุปลาตาย พิษเรือล่มน้ำตาลดูดออกซิเจน

สั่งรับมือน้ำเสียชี้ถึงกรุง18มีค.ม็อบอ่างทอง!ปล่อยรองผวจ.


กระทรวงทรัพยากรฯสรุปชัดสาเหตุปลาตาย เกิดจากเรือน้ำตาลล่มกลางเจ้าพระยา แบคทีเรียดูดออกซิเจนย่อยสลายน้ำตาล ทำให้ปลาขาดอากาศหายใจ สั่งเอาผิดเจ้าของเรือ นายกฯสุรยุทธ์สั่ง"บัญญัติ จันทน์เสนะ"ลงพื้นที่อ่างทองเร่งช่วยเหลือชาวบ้านเหยื่อปลาตาย ขณะที่ม็อบอ่างทองยอมปล่อยรองผวจ.อ่างทองแล้ว หลังฮือล้อมไว้เกือบตลอดคืน มท.2บุกอ่างทองถกเครียด กลุ่มผู้ชุมนุมยื่นข้อเสนอ จี้โรงงานเร่งแก้ปัญหาปล่อยน้ำเสียลงเจ้าพระยา "อภิรักษ์ โกษะโยธิน"ผู้ว่าฯกทม.สั่งเตรียมรับมือน้ำเน่า คาดทะลักกรุง 18 มี.ค.นี้

-"สุรยุทธ์"สั่งมท.เร่งช่วยเหยื่อปลาตาย

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 15 มี.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์รายการ "นายกฯ พบสื่อทำเนียบฯ" ครั้งที่ 5 ว่า ปัญหาเรื่องน้ำเสียที่ทำให้เกิดความเสียหายกับการเลี้ยงปลาของประชาชนใน จ.อ่างทอง และ จ.พระนครศรีอยุธยา นั้น ได้มอบหมายผู้เกี่ยวข้องลงไปดำเนินการแก้ปัญหา โดยเฉพาะนายบัญญัติ จันทน์เสนะ รมช.มหาดไทย โดยจะทราบผลการตรวจสภาพน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาในวันนี้ เมื่อทราบสาเหตุแล้ว มอบหมายนายบัญญัติลงพื้นที่ เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อนและชุมนุมกันอยู่ ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาขึ้นมาระหว่างผู้ประกอบการกับประชาชนได้ ดังนั้นสิ่งใดที่จะสามารถทำความเข้าใจ และแก้ไขปัญหาได้ก็จะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด

พล.อ.สุรยุทธ์ กล่าวต่อว่า สถานการณ์ในบ้านเมืองของเรา หากพิจารณาโดยรอบคอบ ใช้เหตุผลก็จะใช้เวลาบ้าง เพราะบางอย่างต้องใช้เวลา เราจะรักษาความสามัคคีและความเป็นปึกแผ่นของบ้านเมืองไว้ได้ แต่ถ้าใช้ความโกรธ ใช้อารมณ์ การแก้ไขปัญหาก็จะยืนอยู่บนหลักการไม่ได้ และเหตุผลก็จะหมดไป

"ผมขอเรียนให้กับประชาชนทราบว่า รัฐบาลมีความห่วงใยในทุกๆ เรื่อง และพยายามเข้าไปแก้ไขปัญหาให้คลี่คลายโดยเร็วที่สุด บางอย่างอาจต้องใช้เวลา และรอผลการตรวจทางวิทยาศาสตร์บ้าง" นายกฯ กล่าว

-"อภิรักษ์"เผยน้ำเสียถึงกรุง18มี.ค.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 09.00 น. นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าฯ กทม. เดินทางไปตรวจสภาพน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณสถานีตรวจวัดคุณภาพน้ำอัตโนมัติ สถานีสะพานพระราม 7 หลังเกิดเหตุการณ์ปลาที่ชาวบ้านเลี้ยงไว้ในจ.อ่างทอง และ จ.พระนครศรีอยุธยาตายจำนวนมาก หลังจากได้รับสารพิษ ก่อนที่น้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาจะไหลผ่านพื้นที่กทม.

ภายหลังการตรวจน้ำ นายอภิรักษ์ เปิดเผยว่า จากการตรวจคุณภาพน้ำเจ้าพระยา พบว่า อยู่ในสภาวะปกติ โดยเจ้าหน้าที่สำนักการระบายน้ำ (สนน.) วัดค่าออกซิเจนในแม่น้ำเจ้าพระยา (DO) ได้ 3.6 ม.ก./ลิตร และวันนี้จะส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ร่วมกับเจ้าหน้าที่กรมชลประทาน ที่ อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา เนื่องจากขณะนี้น้ำที่มีปัญหาไหลลงมาถึงอ.บางไทรแล้ว และคาดว่าจะมาถึงกทม.วันที่ 18 มี.ค. นี้ ซึ่งกทม.จะตรวจสอบคุณภาพน้ำอย่างใกล้ชิด โดยกทม.มีสถานีวัดคุณภาพน้ำ 6 แห่ง และสถานีพระราม 7 ถือเป็นสถานีแรกที่ใช้วัดคุณภาพน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาในตอนต้น ก่อนจะไหลผ่านพื้นที่กทม. ซึ่งปริมาณน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาจะถูกปล่อยเข้ามาในกทม. 7.7 ล้านลบ.ต่อวัน โดยเป็นน้ำเสีย 2.4 ล้านลบ./วัน

-วอนชาวบ้านอย่าทิ้งขยะลงเจ้าพระยา


นายอภิรักษ์ กล่าวต่อว่า สำหรับแนวทางรับมือน้ำที่มีปัญหานั้น ขณะนี้กรมชลประทานปล่อยน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยา และเขื่อนพระราม 6 เพื่อชะล้างความเน่าเสียดังกล่าว ขณะที่กทม.จะดำเนินการปิดระบบคูคลองต่างๆ ไม่ให้ไหลลงไปเพิ่มในแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งจะทำให้มีความเน่าเสียเพิ่มขึ้น รวมทั้งกำชับผอ.เขตทั้ง 50 เขต ส่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายสิ่งแวดล้อมออกตรวจสถานประกอบการว่ามีระบบบำบัดน้ำเสียได้มาตรฐานหรือไม่ อีกทั้งวันที่ 18 มี.ค. นี้อยากแนะนำประชาชนหันมาใช้น้ำประปาในการอุปโภคบริโภคไปก่อน เพื่อความมั่นใจในความสะอาดของน้ำ

นายอภิรักษ์ กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้อยากขอความร่วมมือจากประชาชนที่มีบ้านเรือนอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา งดทิ้งขยะหรือสิ่งปฏิกูลลงในแม่น้ำเจ้าพระยาด้วย เนื่องจากน้ำเสียที่ปล่อยลงสู่ระบบบำบัดน้ำเสียของกทม. พบว่าไหลมาจากครัวเรือนต่างๆ 70% และจากโรงงาน 30% อย่างไรก็ตาม ขณะนี้กทม.มีโรงงานบำบัดน้ำเสียอยู่ทั้งสิ้น 7 แห่ง สามารถบำบัดน้ำเสียได้วันละ 1 ล้านลบ.ม./วัน คิดเป็น 40% ทั้งนี้ในอนาคตกทม. จะก่อสร้างโรงบำบัดน้ำเสียบางซื่อ และโรงบำบัดน้ำเสียคลองเตย จะแล้วเสร็จในปี 2553 และ 2554 ตามลำดับ ซึ่งจะทำให้กทม.สามารถบำบัดน้ำเสียได้เพิ่มขึ้นเป็น 68%

"สำหรับสถานีตรวจวัดคุณภาพน้ำอัตโนมัติจะทำงานตรวจวัดคุณภาพน้ำทุกๆ 1 ชั่วโมง และจะส่งผลการตรวจวัดคุณภาพน้ำผ่านระบบออนไลน์ โดยการส่งสัญญาณผ่านทางสายโทรศัพท์ไปที่ศูนย์ควบคุมระบบกลางแบบ Realtime ไปที่สำนักการระบายน้ำ ศาลาว่าการ กทม.2 ดินแดง เพื่อเตือนให้ทราบถึงการเกิดน้ำเสียเฉียบพลัน การแจ้งเตือนภัยจากน้ำเค็มหนุนสูง ซึ่งรายการตรวจวัดนั้น แต่ละสถานีจะมีพารามิเตอร์ตรวจวัดระดับน้ำ อุณหภูมิของน้ำ ความเป็นกรด-ด่าง ความนำไฟฟ้า ความขุ่น ค่า BOD โลหะหนัก และคลอโรฟิลล์เอ" ผู้ว่าฯ กทม.กล่าว

จากนั้นนายอภิรักษ์เดินทางไปตรวจเยี่ยมการปฏิบัติงานของทหารพัฒนา บก.สส. ร่วมกับพล.อ.สุรพันธ์ พุ่มแก้ว ผบ.หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา ที่ขุดลอกคลองบริเวณคลองเปรมประชากร ทั้งนี้จะขุดลอกคูคลองทั่วกทม. จำนวน 93 คลอง คาดว่าจะแล้วเสร็จเดือนมิ.ย.นี้

-น้ำเน่าไหลถึงบางปะอินแล้ว

ด้านนายสามารถ โชคคณาพิทักษ์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึงน้ำเสียในแม่น้ำเจ้าพระยาว่า ขณะนี้น้ำเสียเคลื่อนตัวมาอยู่ที่บริเวณอ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา ด้วยความเร็วประมาณ 15 ก.ม.ต่อวัน วัดค่าออกซิเจนละลายในน้ำ (ดีโอ) เมื่อเวลา 07.00 น. อยู่ที่ 0.2 มิลลิกรัม/ลิตร ตามที่กรมชลประทานระบายน้ำจากทั้งเขื่อนเจ้าพระยา และเขื่อนพระราม 6 รวม 90 ลบ.ม.ต่อวินาที ยังคงไม่เพียงพอ เนื่องจากการไหลของน้ำช้า เพราะมีสภาวะน้ำทะเลหนุน จึงสั่งการให้เพิ่มการระบายน้ำจากแม่น้ำน้อยมาที่บริเวณอ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา อีก 10 ลบ.ม.ต่อวินาที รวมทั้งสั่งการให้เปิดประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ ซึ่งจะสามารถช่วยระบายน้ำช่วงน้ำลงได้ประมาณ 200 ลบ.ม.ต่อวินาที

"คาดว่าน้ำที่เน่าเสียจะไหลผ่านถึงกรุงเทพฯ ในอีกประมาณ 3 วันข้างหน้า แต่ขึ้นอยู่กับสภาวะน้ำทะเลหนุน และความลาดของท้องแม่น้ำเจ้าพระยาแต่ละจุดด้วย ซึ่งกรมชลประทานเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และให้ตรวจวัดหาค่าออกซิเจนละลายในน้ำวันละ 2 ครั้ง" อธิบดีกรมชลประทาน กล่าว

ทั้งนี้ การตรวจวัดค่าดีโอ และความเป็นกรดเป็นด่าง (พีเอช) ในแม่น้ำเจ้าพระยา ที่จ.ชัยนาท จุดตรวจวัดท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ค่าดีโอ อยู่ที่ 15.76 ส่วนค่าพีเอช อยู่ที่ 8.34 จุดตรวจ จ.พระนครศรีอยุธยา สถานีวัดน้ำ ซี-35 ค่าโอดี 5.54 หน้าวัดพนัญเชิง ค่าดีโอ 4.61 จุดตรวจสะพานเลี่ยงเมือง อ.บางปะอิน ค่าดีโอ 3.53 จุดตรวจท้ายสถานี ซี 29 ค่าดีโอ 3.63 จุดตรวจโรงกรองน้ำบางไทร ค่าดีโอ 4.2 จุดตรวจปทุมธานี ปากคลองสำแล ค่าดีโอ 4.08 และที่จุดตรวจ จ.นนทบุรี อ.ปากเกร็ด ค่าดีโอ 3.58

-สรุปชัดเรือน้ำตาลล่มต้นเหตุปลาตาย

เมื่อเวลา 12.45 น. นายเกษม สนิทวงศ์ ณ อยุธยา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยความคืบหน้าผลตรวจพิสูจน์สาเหตุน้ำเน่าเสียที่จ.อ่างทอง ว่า ได้รับรายงานจากเจ้าหน้าที่ที่ลงไปตรวจวิเคราะห์น้ำในพื้นที่ว่า ขณะนี้ปริมาณออกซิเจนในน้ำบริเวณที่เกิดเหตุเริ่มเข้าสู่สภาวะปกติแล้ว ถือเป็นข่าวดีว่าสภาพน้ำจะไม่ทำให้เกิดอันตรายรุนแรงต่อสัตว์น้ำอีก

นายเกษม กล่าวต่อว่า ส่วนสาเหตุเบื้องต้น จากการรายงานผลวิเคราะห์ของเจ้าหน้าที่กรมควบคุมมลพิษชี้ว่าสาเหตุแน่ๆ ที่ทำให้ปลาตายจำนวนมากเป็นผลมาจากเรือน้ำตาลที่ล่มลง เนื่องจากการกู้เรือไม่ได้ดูดน้ำตาลมาทิ้งบนบก แต่กลับปล่อยลงในแม่น้ำ ทำให้แบคทีเรียดึงออกซิเจนที่อยู่ในน้ำไปใช้ในการย่อยสลายน้ำตาล เป็นเหตุให้ปริมาณออกซิเจนไม่เพียงพอ

นายเกษมกล่าวอีกว่า จากผลวิเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์ จะพบว่าเมื่อมีการละลายน้ำตาลในบริเวณหนึ่ง น้ำจะไม่เสียที่ตรงนั้นเลย แต่ผลเสียจะเกิดในระยะทางที่ห่างออกมา ตามหลักการจำลองทางวิทยาศาสตร์ ดังนั้นขณะนี้ผลสรุปเบื้องต้น สาเหตุแรกคือการจมของเรือน้ำตาลดังกล่าว แต่จะเป็นจากสาเหตุนี้อย่างเดียวหรือไม่คงต้องพิสูจน์กันต่อไป โดยเฉพาะประเด็นเรื่องโรงงานในพื้นที่ ทั้งนี้จากที่ตนได้รับรายงานจากเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับการตรวจสอบโรงงานผงชูรสอายิโนะทะกะระ พร้อมกับรองผวจ.พระนครศรีอยุธยา เมื่อช่วงเย็นวันที่ 14 มี.ค.นั้น พบว่าโรงงานดังกล่าวมีการจัดระบบน้ำเสียเป็นแบบปิด จะไม่ปล่อยน้ำเสียออกมาภายนอก อย่างไรก็ตามไม่ได้ทิ้งประเด็นนี้ ขณะนี้เจ้าหน้าที่ลงตรวจสอบทุกโรงงานบริเวณนั้น เพื่อนำมาวิเคราะห์สรุป คาดว่าจะได้ผลเร็วๆ นี้

-สั่งเอาผิดเจ้าของเรือน้ำตาล


"ขณะนี้สั่งการให้กรมควบคุมมลพิษเร่งวิเคราะห์หาสาเหตุที่แท้จริงของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และให้ชี้แจงทำความเข้าใจให้ประชาชนทราบเป็นระยะ ส่วนการแถลงผลสรุปอย่างเป็นทางการน่าจะสามารถทำได้ในวันที่ 16 มี.ค.นี้" นายเกษมกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่าหลังได้ข้อสรุปแล้วจะดำเนินการทางกฎหมายกับผู้ที่เป็นสาเหตุทำให้น้ำเสียครั้งนี้อย่างไร นายเกษมกล่าวว่า หากทราบชัดว่าใครบ้างที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดความเสียหายทั้งหมดจะต้องดำเนินคดีตามพ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535 โดยต้องชดใช้ค่าเสียหายทั้งหมด ตอนนี้ผู้ที่ต้องรับผิดชอบแน่นอนคือเจ้าของเรือน้ำตาล ส่วนจะมีผู้ประกอบการอื่นๆ ด้วยหรือไม่นั้นต้องดูจากผลพิสูจน์สาเหตุต่อไป

-สธ.สรุปผลตรวจน้ำไม่พบสารเคมี

วันเดียวกัน น.พ.มรกต กรเกษม รมช.สาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ความคืบหน้าการตรวจวิเคราะห์ความปลอดภัยของปลาเลี้ยงในกระชังของชาวบ้าน ที่ต.บางเสด็จ อ.ป่าโมก จ.อ่างทอง รวมทั้งปลาแม่น้ำที่ตายจำนวนมากว่า กระทรวงสาธารณสุขเก็บตัวอย่างปลาทับทิม รวมทั้งปลาแม่น้ำที่ตาย ประกอบด้วยปลาตะเพียน ปลากด ปลาสร้อย และน้ำเจ้าพระยาบริเวณที่ปลาตาย มาตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อตรวจสอบว่า ปนเปื้อนสารเคมีและปลอดภัยต่อประชาชนหรือไม่ ผลตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างปลาและน้ำทั้งหมด ไม่พบสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ทั้งกลุ่มออร์กาโนคลอรีน กลุ่มออร์กาโนฟอสฟอรัส กลุ่มคาร์บาร์เมต และกลุ่มสารสังเคราะห์ไพรีทรอยด์

น.พ.มรกต กล่าวต่อว่า ผลการตรวจตัวอย่างปลาทั้งปลาตะเพียน ปลาสร้อย ปลาดุก ปลาทับทิม พบว่า มีสารปรอทต่ำกว่ามาตรฐาน คือไม่เกิน 0.02 ม.ก./ก.ก.อาหาร (พีพีเอ็ม) มีสารตะกั่วต่ำมาก ไม่เกินค่ามาตรฐานที่กำหนดคือ 1 พีพีเอ็ม และสารแคดเมียมปริมาณที่ต่ำมาก ไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค ส่วนตัวอย่างน้ำเจ้าพระยาที่เก็บมาตรวจก็ไม่พบสารปรอท สารตะกั่ว และแคดเมียมแต่อย่างใด ขอให้ประชาชนสบายใจ และสามารถนำปลามาบริโภคได้ แต่ต้องปรุงให้สุกก่อน เพื่อความปลอดภัยจากเชื้อโรคในฤดูร้อน โดยเฉพาะโรคอุจจาระร่วง

-กรุงเก่าติดกังหันชัยพัฒนาเพิ่มอากาศ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 12.00 น. ที่วังปลาหน้าวัดกษัตราธิราชวรวิหาร อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา ติดแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งได้รับผลกระทบจากน้ำเน่าเสียจากจ.อ่างทองอย่างมาก จนสัตว์น้ำหน้าวัดตายจำนวนมาก นายถาวร พรหมมีชัย รองผู้ว่าฯ พระนครศรีอยุธยา นางสมทรง พันธ์เจริญวรกุล นายกอบจ.พระนครศรีอยุธยา ว่าที่ร.ต.สมทรง สรรพโกศลกุล นายกเทศบาลนครพระนครศรีอยุธยา นำหัวเชื้อสารชีวภาพปรับปรุงคุณภาพน้ำ หรือสารอีเอ็มจำนวน 50,000 ลิตรฉีดพ่นลงในแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อให้หัวเชื้ออีเอ็มช่วยปรับสภาพน้ำในแม่น้ำ

นอกจากนี้ วิทยาลัยเทคนิคพระนครศรีอยุธยายังนำเครื่องเติมอากาศแบบกังหันชัยพัฒนาหลายเครื่องลงติดตั้งตามวังปลาหน้าวัด เพื่อช่วยเติมออกซิเจนลงในแม่น้ำและปรับสภาพน้ำให้ดีขึ้น พบว่าในแม่น้ำยังเหลือปลาสวาย และปลาสังกะวาดที่ต่างว่ายมาหน้าวัด เพื่อหาที่ปลอดภัยและจุดที่มีออกซิเจนในอากาศสูงทันที อย่างไรก็ตามจะมีการนำหัวเชื้อสารอีเอ็มใส่ลงในแม่น้ำเจ้าพระยาให้ได้อย่างน้อยวันละ 50,000 ลิตร

นายถาวร กล่าวว่า ทางจังหวัดร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพิ่มค่าออกซิเจนลงในแม่น้ำ เพื่อช่วยเหลือปลาตามหน้าวัดต่างๆ โดยจะทำอย่างต่อเนื่อง จนกว่าค่าออกซิเจนในน้ำจะเป็นปกติ จากนั้นจะปล่อยปลาเบญจพรรณ เช่นปลาตะเพียน ปลากระโห้ ปลากด เป็นต้น รวมทั้งกุ้งจำนวน 80 ล้านตัวลงน้ำ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะทำให้ประชาชนมีปลารับประทานอย่างต่อเนื่อง ส่วนการช่วยเหลือผู้เลี้ยงปลากระชัง ขณะนี้เร่งรัดสำรวจ คาดว่าในอาทิตย์หน้าจะสามารถสรุปตัวเลข พร้อมทั้งจะใช้เงินทดรองของจังหวัดจ่ายชดเชย

-ผู้เสียหายแห่แจ้งความแล้ว 75 ราย


วันเดียวกัน พ.ต.อ.อดุลย์ รัตนภิย์ ผกก.สภ.อ.ป่าโมก จ.อ่างทอง กล่าวว่า ภายหลังประชุมหน่วยงานทั้งจังหวัดเพื่อหาทางแก้ไขเกี่ยวกับเรื่องปลาตายในแม่น้ำเจ้าพระยา เมื่อเวลา 11.00 น.ว่า ตนมอบหมายให้พ.ต.ท.อนุศักดิ์ เข็มทอง รองผกก.(สส.) เป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวน ทำหน้าที่รับเรื่องราวร้องทุกข์กับผู้เสียหายทั้งหมดที่จะเข้าแจ้งความดำเนินคดีในครั้งนี้แล้ว ล่าสุดพบว่ามีผู้เสียหายจากการเลี้ยงปลาในกระชัง 75 รายที่เป็นผู้เสียหายเข้าแจ้งความร้องทุกข์ไว้แล้ว คาดว่าจะทยอยเดินทางมาแจ้งความเพิ่มขึ้นอีก

ผู้สื่อข่าวถามว่ามีการดำเนินคดีกับใครหรือยัง พ.ต.อ.อดุลย์ศักดิ์ กล่าวว่า ในชั้นนี้ยังไม่สามารถเอาผิดกับใครได้ ต้องรอผลตรวจพิสูจน์ค่าของน้ำ โดยการประมวลค่าของสารในน้ำแต่ละที่ที่เก็บได้มาเป็นตัวอย่างจากแหล่งต่างๆ ที่กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นำไปตรวจพิสูจน์ตามกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ว่ามีสารใดเจือปนจนทำให้ปลาตายได้ เรื่องนี้ผู้ว่าฯ อ่างทองประสานงานเพื่อเร่งผลการตรวจแล้ว

เมื่อถามว่ากรณีเรือบรรทุกน้ำตาลล่มถือเป็นสาเหตุหรือไม่ พ.ต.อ.อดุลย์ศักดิ์ กล่าวว่า ความจริงยังไม่สามารถระบุได้ชัด ขณะนี้ต้องรอผลการตรวจตามกระบวนการทางวิทยาศาสตร์เสียก่อนว่ามาจากสารตัวใดที่ตรวจพบ ทั้งเรือบรรทุกน้ำตาลที่ล่ม โรงงานผลิตผงชูรส ไทยคาร์บอน หรือไทยเลยอน จากนั้นสามารถดำเนินคดีได้ทันที

ด้านพ.ต.อ.ธวัชชัย ยิ่งเจริญสุข ผกก.สภ.อ.เมืองอ่างทอง กล่าวว่า การตรวจหาสารปนเปื้อนในลำน้ำเจ้าพระยาที่ส่งไปให้กระทรวงอุตสาหกรรมนั้น มีหลายประเด็นที่คณะทำงานตั้งไว้ ทั้งเรื่องเรือบรรทุกน้ำตาลล่มในแม่น้ำ โรงงานผลิตผงชูรส โรงงานไทยคาร์บอน โรงงานไทยเลยอน สารเคมีจากท้องนา และน้ำทะเลที่หนุนจนทำให้น้ำนิ่ง อาจจะส่งผลให้ขาดออกซิเจนในน้ำ เป็นเหตุให้ปลาตายก็เป็นไปได้หลายอย่าง ดังนั้นสิ่งที่จะชี้วัดคือผลการตรวจสารปนเปื้อนที่จะออกมาว่าเป็นสารมาจากที่ใด

-บริษัทดังแจงตลท.ไม่เกี่ยวเรือล่ม

วันเดียวกัน บริษัท ยูไนเต็ด แสตนดาร์ด เทอร์มินัล จำกัด (มหาชน) ซึ่งดำเนินการเกี่ยวกับการจัดเก็บและขนส่งน้ำตาล ชี้แจงตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) เกี่ยวกับข้อเท็จจริงกรณีเรือบรรทุกน้ำตาลล่มที่จ.อ่างทองว่า เมื่อวันที่ 3 มี.ค. บริษัท จ้าวสมุทรขนส่ง จำกัด นำเรือโป๊ะ (เรือ Lighter) ชื่อ UE-35 (241093268) ของบริษัท เพรสซิเด้นขนส่ง จำกัด ซึ่งบรรทุกน้ำตาลทรายดิบจำนวน 1 ลำ น้ำหนักประมาณ 650 ตันมาผูกไว้ที่หลักไม้ค้อบริเวณหน้าท่าเรือของบริษัท ซึ่งตั้งอยู่เลขที่ 14/1 หมู่ 4 ถนนสายอยุธยา-อ่างทอง ต.โพสะ อ.เมือง จ.อ่างทอง เพื่อรอการลากจูงไปกับพ่วงเรือ

ต่อมาเวลาประมาณ 02.00 น. วันที่ 4 มี.ค. เรือลำดังกล่าวจมลง เป็นเหตุให้กลุ่มหลักไม้ค้อที่เรือผูกโยงไว้ล้มลงได้รับความเสียหาย บริษัทจึงแจ้งความไว้ในรายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐานที่สภ.อ.เมืองอ่างทอง และแจ้งให้บริษัทตัวแทนในการรับประกันภัย เพื่อเรียกร้องค่าเสียหายที่เกิดขึ้นกับกลุ่มหลักไม้ค้อบริเวณหน้าท่าเรือ ทั้งนี้บริษัทมิได้เป็นผู้ว่าจ้าง ควบคุมดูแล หรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับเรือลำดังกล่าว ส่วนสินค้าน้ำตาลที่เสียหายนั้นมิใช่ทรัพย์สินของบริษัท หรือของลูกค้าของบริษัทใดๆ ทั้งสิ้น บริษัทจึงไม่มีความรับผิดทั้งปวงกับความเสียหายที่เกิดขึ้น

-ม็อบปล่อยตัวรองผวจ.อ่างทองแล้ว

ส่วนความคืบหน้ากรณีชาวบ้านที่เดือดร้อน เนื่องจากปลาตายประมาณ 200 คนชุมนุมประท้วงบริเวณหน้าบริษัท เค ที เอ็มเอสจี จำกัด ผู้ผลิตผงชูรสอายิโนะทะกะระ ตั้งอยู่ริมถนนสาย 309 อ่างทอง-อยุธยา ต.บางเสด็จ อ.ป่าโมก จ.อ่างทอง และฮือปิดล้อมน.ส.เบญจวรรณ อ่านเปรื่อง รองผู้ว่าฯอ่างทอง และคณะที่เข้าตรวจสอบน้ำเสียของโรงงานดังกล่าว เมื่อค่ำวันที่ 14 มี.ค.ที่ผ่านมานั้น

ความคืบหน้าเรื่องนี้ เมื่อเวลา 09.00 น. ที่หน้าบริษัท เค ที เอ็มเอสจี จำกัด ผู้ชุมนุมประมาณ 100 คนรวมตัวกันอีกครั้ง หลังจากยอมสลายตัวและปล่อยตัวรอง ผวจ.อ่างทอง ให้ออกจากโรงงานดังกล่าว เมื่อเวลา 04.40 น. หลังปิดล้อมโรงงานตั้งแต่เวลา 18.00 น. วันที่ 14 มี.ค.

ต่อมานายบัญญัติ จันทน์เสนะ รมช.มหาดไทย เดินทางมาพบกลุ่มเกษตรกรดังกล่าวเพื่อรับฟังปัญหาและแนวทางแก้ไข

นายบัญญัติ กล่าวว่า เหตุการณ์วิกฤตปัญหาที่เกิดขึ้นเสียหายมหาศาล ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและอาชีพซึ่งนายกรัฐมนตรีห่วงใย สั่งการให้ดูแลอย่างใกล้ชิดให้ช่วยเหลือโดยเร็วเพราะเกิดความเสียหายค่อนข้างรุนแรง ปลาที่ตายเป็นความหวังในอาชีพ แต่ต้องหมดไป ชาวบ้านรับไม่ได้ในเรื่องความเดือดร้อน จะทำอย่างไรให้ฟื้นตัว จึงต้องหาช่องทางช่วยเหลือมากกว่าระเบียบที่มีอยู่ คาดว่าจะนำเข้าครม. เพื่อออกมติช่วยเหลือเพิ่มขึ้น

"เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต้องหาที่มาที่ไป หาข้อมูลเพิ่มเติม ต้องหาทางออกให้ได้ แก้ที่ต้นเหตุให้หมดไป ขณะนี้ทางภาคเหนือมีหมอกควันมาก ภาคใต้กำลังชุลมุน ภาคกลางเกิดภัยพิบัติด้านประมง รัฐบาลดูแลทุกข์สุขเต็มที่และให้ร่วมแก้ปัญหาร่วมกัน" รมช.มหาดไทย กล่าว

-"บัญญัติ จันทน์เสนะ"ถกเครียดม็อบ


เมื่อเวลา 12.00 น. ที่อบต.บางเสด็จ อ.ป่าโมก นายบัญญัติ พร้อมนายวิบูลย์ สงวนพงศ์ ผู้ว่าฯอ่างทอง นายสุเมธ แสงนิ่มนวล รองผู้ว่าฯอ่างทอง เป็นตัวแทนภาครัฐ นายวิชัย สุทธิเลิศวรกุล ผู้บริหารบริษัท เค ที เอ็มเอสจี จำกัด โรงงานต้องสงสัยปล่อยน้ำเสีย นายสุเทพ กาแก้ว นายกอบต.บางเสด็จ และตัวแทนเกษตรกร 10 คน เข้าประชุมหาข้อยุติปัญหาในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

นายสุชิน ฉัตรแหลม ตัวแทนเกษตรกรเรียกร้องให้ตรวจสอบและรื้อถอนท่อระบายน้ำของโรงงาน หลังพบว่ามีท่อระบายน้ำ 2.ขออย่าให้ภาครัฐเบี่ยงเบนประเด็นข้อเท็จจริง 3.ให้โรงงานนำใบอนุญาตการใช้น้ำ การวางท่อระบายน้ำมาแสดงว่ามีใบอนุญาตหรือไม่ 4.ขอตรวจสอบแผนผังการจัดสร้างโรงงาน 5.ขั้นตอนการตรวจสอบน้ำคุณภาพน้ำในโรงงานถูกต้องหรือไม่ 6.ขอคำชี้แจงจากวิศวกรผู้ควบคุมโรงงานด้านบำบัดน้ำเสีย และ 7.มีเครื่องบำบัดน้ำเสียใช้การได้หรือไม่

"เมื่อปี 2541 โรงงานมีนโยบายนำน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยามาใช้แทนน้ำบาดาล เมื่อมีการร้องเรียนผ่านสำนักราชเลขาธิการ พระบรมมหาราชวังว่ามีการลักลอบระบายน้ำเสียลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาโดยใช้ท่อดังกล่าว ต่อมาอุตสาหกรรมจังหวัดเข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริงและมีคำสั่งให้รื้อถอนท่อทั้งหมด ตั้งแต่ปี 2542 ตรวจสอบไม่พบท่อหลงเหลือยู่ แต่เมื่อเข้าไปตรวจสอบเมื่อวันที่ 14 มี.ค.ขุดพบท่อและมีน้ำไหลซึม จากนั้นทางโรงงานไม่ยอมให้ขุดพิสูจน์ต่อ" นายสุชิน กล่าว

-โรงงานพร้อมให้ชาวบ้านตรวจสอบ

นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล รองหัวหน้าพรรคชาติไทย กล่าวว่าประชาชนยังคลางแคลงใจว่าโรงงานมีท่อระบายน้ำทิ้งที่ไม่ผ่านการบำบัดไปยังแม่น้ำเจ้าพระยาหรือไม่ หากโรงงานยืนยันแสดงความบริสุทธิ์ใจ ต้องมีการขุดเจาะตรวจพิสูจน์ข้อเท็จจริง มีกรมควบคุมมลพิษเป็นตัวแทนกลางในการตรวจสอบร่วมกับทุกฝ่าย จะเป็นหลักประกันต่อประชาชนเร็วที่สุดยิ่งดี โดยให้จังหวัดหรือ อบจ.นำเครื่องจักรกลเข้าไปอำนวยความสะดวก ตรงนี้จะตรวจสอบได้ ทางโรงงานจะขัดข้องหรือไม่

ด้านนายวิชัย กล่าวต่อว่า เสียใจที่เกิดเหตุการณ์ดังกล่าว แต่ยืนยันว่าไม่เกี่ยวข้องกับโรงงาน และไม่ทำอะไรให้ชาวบ้านเดือดร้อน นอกจากนี้ยังเสนอแนะต่อจังหวัดว่าแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นเส้นทางลำเลียงสินค้าทางน้ำที่สำคัญ จึงเสนอให้มีการจัดระบบให้ดีขึ้นพร้อมดูแลคุณภาพน้ำ ส่วนข้อเรียกร้องของชาวบ้านนั้น ทางโรงงานยินดีให้ความร่วมมือและจะจัดหาเอกสารข้อมูลมาแสดง และยื่นแก่อบต.บางเสด็จ รวมทั้งให้เข้าพิสูจน์ข้อเท็จจริง เพราะเราเพิ่งเดินเครื่องเมื่อเดือนม.ค.ที่ผ่านมา กำลังผลิตไม่เกิน 20 เปอร์เซ็นต์

"การตรวจพิสูจน์เพื่อนำผลไปวิเคราะห์ หากออกมาอย่างไร ใครรับผิดชอบก็ต้องว่ากันไป ต้นเหตุต้องรับผิดชอบชัดเจน การตรวจสอบทางเราไม่ขัดข้อง ยินดี และน่าจะตรวจสอบทุกโรงในจังหวัด เพราะเป็นภาพที่ชัดเจน ชาวบ้านได้ประโยชน์ ส่วนเอกสารหลักฐานข้อมูลต่างๆ ทางเราจะยื่นแสดงในวันจันทร์ที่ 19 มี.ค.นี้" นายวิชัยกล่าว

-ผวจ.อ่างทองตั้งกก.สอบโรงงาน

ขณะที่นายวิบูลย์ กล่าวว่า จะออกคำสั่งจังหวัดเพื่อแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงของโรงงาน ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ภาครัฐ ผู้ประกอบการ และผู้แทนชุมชน ทำการตรวจสอบโดยเร็ว เบื้องต้นแต่งตั้งให้นายสุเมธ เป็นหัวหน้าคณะและให้เข้าตรวจสอบในวันนี้ นอกจากนี้จะให้ทำการตรวจสอบโรงงานทั้งจังหวัด หากผิดก็คือผิด ต้องดำเนินการแม้ว่าไม่เกี่ยวข้องกับปลาตาย

"ภัยพิบัติด้านประมงครั้งนี้ มีเกษตรกรได้รับความเสียหาย 66 ราย 583 กระชัง มูลค่าความเสียหาย 49 ล้านบาทเศษซึ่งทางจังหวัดจะช่วยเหลืออย่างเป็นรูปธรรมทั้งระยะกลางระยะยาว และดึงเงินกองทุนอื่นมาช่วยเหลือ" ผู้ว่าฯอ่างทองกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การชุมนุมยืดเยื้อมีกองร้อยควบคุมฝูงชนจำนวน 100 นายเข้ารักษาความสงบและสังเกตการณ์ นอกจากนี้นายสุเมธและผู้เกี่ยวข้องนำรถแบ๊คโฮไปรอที่จะขุดพิสูจน์หาท่อน้ำดังกล่าว ขณะเดียวกันมีข้อมูลจากกรมทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมว่าต้นเหตุของน้ำเน่าเสียและปลาตายมาจากน้ำตาลในน้ำมีปริมาณมาก

-รองผวจ.นำแบ๊คโฮขุดน้ำเสียรง.ผงชูรส


เมื่อเวลา 16.00 น. นายสุเมธ นำนายฉัตรณรงค์ อุตสาหกุล ป้องกันภัยจังหวัดอ่างทอง นางสุมารี อิสรานุรักษ์ อุตสาหกรรมจังหวัดอ่างทอง พ.ต.อ.โชค วีระเดชคำแหง รองผบก.ภ.จว.อ่างทอง พร้อมด้วยนายสุเทพ กาแก้ว นายกอบต.บางเสด็จ นายสุชิน เจริญจิตร แกนนำชาวบ้าน และตัวแทนชาวบ้านอีก 14 คน เดินทางเข้าไปยังโรงงานผงชูรสดังกล่าวเพื่อดำเนินการตามข้อเรียกร้องของกลุ่มชาวบ้านที่สงสัยว่าท่อน้ำภายในโรงงานดังกล่าวระบายลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา โดยนายวิชัย สุทธิ์เลิศวรกุล ผู้จัดการโรงงานนำวิศวกรโรงงานมาชี้จุดการวางท่อ ก่อนจะติดต่อขอรถแบ๊คโฮจากอบต.อ่างทอง มาขุดหาท่อน้ำเสียที่ชาวบ้านอ้างว่าโรงงานแอบปล่อยน้ำเสียลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา

จากนั้นนายสุเมธให้รถแบ๊คโฮขุดตามที่ชาวบ้านอ้างว่าเป็นจุดที่ฝังท่อระบายน้ำ ซึ่งขุดไปประมาณ 2 เมตร พบท่อขนาดใหญ่มีน้ำเสียพุ่งออกมาใต้ท่อ ซึ่งแกนนำชาวบ้านต่างบอกว่าน้ำดังกล่าวเป็นน้ำเสียที่ปล่อยลงสู่แม่น้ำ แต่นายวิชัยอ้างว่าน้ำดังกล่าวเป็นน้ำค้างท่อซึ่งท่อดังกล่าวไม่ได้ใช้งานมานานแล้ว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากพบรอยรั่วของน้ำจากท่อ นายจุมพล ขุนอ่อน นักวิชาการสิ่งแวดล้อม 7ว. ฝ่ายตรวจและบังคับการควบคุมมลพิษจึงเข้าดำเนินการเก็บตัวอย่างน้ำทันที โดยการขุดครั้งนี้ ชาวบ้านต้องการให้ขุดไปจนถึงชายแม่น้ำซึ่งเป็นระยะทางประมาณ 2 ก.ม.

-แฉระดับน้ำต่ำต้นเหตุเรือล่ม

วันเดียวกัน ผู้สื่อข่าวเดินทางไปยัง บริษัท ไทยรวมทุนคลังสินค้า (อ่างทอง) เพื่อสอบถามถึงที่มาของน้ำตาลจำนวนมากในเรือลำที่ล่มลงแม่น้ำเจ้าพระยา ทราบว่า น้ำตาลทรายดิบดังกล่าวเป็นของ บ.สยามส่งออก ซึ่งจ้าง บ.ไทยรวมทุนคลังสินค้า(อ่างทอง) เป็นจุดพักสินค้าเพื่อส่งออกไปยังต่างประเทศ โดยเรือลำที่เกิดเหตุ บ.ไทยรวมทุนคลังสินค้า(อ่างทอง) จ้าง บ.จ้าวเพชรสมุทรขนส่ง ให้บรรทุกน้ำตาลทรายดิบไปส่งยังเรือใหญ่ในอ่าวไทย รวม 4 ลำ โดย 3 ลำแรกออกล่วงหน้าไปก่อน ส่วนลำสุดท้ายต้องนำไปรอพ่วงกับเรือบรรทุกน้ำตาลของ บ.มิตรผลคลังสินค้า เพื่อให้ครบจำนวน 4 ลำต่อการลากจูง 1 เที่ยว สอบถามจากกัปตันเรือลาก พบว่าสาเหตุที่เรือล่มมาจากวันดังกล่าวระดับน้ำต่ำมาก ทำให้ท้องเรือครูดกับก้นแม่น้ำจนรั่ว และน้ำเข้าเรือจนล่มลงบริเวณท่าเรือ บ.มิตรผลคลังสินค้า ในที่สุด

ด้านพ.ต.อ.ธวัชชัย ยิ่งเจริญสุข ผกก.สภ.อ.เมือง จ.อ่างทอง กล่าวว่า ขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนรวบรวมข้อมูลทั้งหมดเพื่อนำมาประมวลว่าผิดพ.ร.บ.ฉบับใดบ้าง ซึ่งยังไม่ได้แจ้งข้อหาแก่ใคร ส่วนข่าวที่ออกมาว่าสาเหตุของน้ำเสียมาจากเรือบรรทุกน้ำตาลนั้นยังไม่สามารถดำเนินการอะไรได้ ต้องรอให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ เข้ามาแจ้งความร้องทุกข์ก่อน ส่วนความเสียหาย ในส่วนอ.เมืองไม่มี ส่วนใหญ่อยู่ในท้องที่ สภ.อ.ป่าโมก

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์