4จว.อันตราย-ยอดเด็กตายอื้อ

เมื่อวันที่ 6 ต.ค. รศ.น.พ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้จัดการแผนงานความปลอดภัยในเด็ก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

กล่าวในงานเสวนา "ทศวรรษความปลอดภัยในเด็ก เพื่อบรรลุนโยบายโลกสร้างพื้นที่เหมาะสมแก่เด็กเยาวชน" ว่า จากการสำรวจอัตราการบาดเจ็บในเด็ก 3 กลุ่มอายุ ได้แก่ อายุ 1-4 ปี 5-9 ปี และ 10-14 ปีในรอบ 10 ปี พบว่า มี 25 จังหวัดที่มีอัตราการตายในเด็กสูงขึ้นต่อเนื่องโดยมี 4 จังหวัดได้แก่ กาญจนบุรี สระบุรี ลพบุรี และระยอง ที่มีอัตราการตายของเด็กสูงสุด ลักษณะการเสียชีวิตจมน้ำตายมากที่สุด มีฐานะยากจน ผลวิเคราะห์ข้อมูลการตายของเด็กในพื้นที่กทม. 123 รายพบว่า ในปี 2550-2551 คิดเป็นร้อยละ 62.29 และปี 2552-2553 คิดเป็นร้อยละ 75.80 ลักษณะบ้านพักอาศัยของเด็กที่เสียชีวิตส่วนใหญ่ ไม่มีบ้านพักอาศัยในที่ดินของตัวเอง อยู่ในเขตชุมชนแออัด สลัมในเมือง และปริมณฑล พบว่ากลุ่มที่อยู่ในเมืองจะแอบปลูกที่พักอาศัยริมคลองสาธารณะ ที่รถไฟ ทำให้กลุ่มเด็กเล็กจะเสียชีวิตจากการจมน้ำจากแหล่งน้ำรอบบ้านพักอาศัย ส่วนเด็กโตจะเสียชีวิตจากการชักชวนกันไปเล่นน้ำ และมักจะมาจากครอบครัวที่หย่าร้างร้อยละ 44 และยังพบว่า แม้จะมีการนำชุดความรู้เกี่ยวกับความปลอดภัยในเด็กไปให้ ครอบครัวเหล่านี้ก็ไม่มีศักยภาพปฏิบัติตามได้

"การขยายตัวของชุมชนแออัดที่เกิดจากการเติบโตทางเศรษฐกิจเร็วจนเกินไป มีผลต่อการตายของเด็ก โดยเฉพาะเด็กที่อยู่ในชุมชนแออัดเสี่ยงตายสูงสุด หากไม่แก้ปัญหา ชุมชนจะเริ่มมีสภาพ "ความ เป็นเมือง" ที่ไร้คุณภาพ ก่อให้เกิด "คนจนเมือง" เหมือนคนกรุงเทพฯสมัยก่อน ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการตายสูงสุด เช่น จมน้ำ ถูกรถชน และอุบัติเหตุอื่นๆ" รศ.น.พ.อดิศักดิ์ กล่าวและว่า สิทธิความปลอดภัยของเด็กถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่องค์การอนามัยโลก กำหนดไว้ โดยสหประชาชาติ กำหนดให้เด็กเยาวชนเติบโตอย่างมีคุณภาพภายในปี 2559 (A World Fit For Children) โดยมีเป้าหมายว่า ต้องลดอัตราการตายของเด็ก ซึ่งหากประมวลจากการตายของเด็ก 10 ปีที่ผ่านมา คาดว่าการบรรลุข้อตกลงนี้คงเป็นไปได้ยาก เนื่องจากยังไม่มีการออกมาตรการที่เหมาะสม เช่น มาตรการออกกฎหมายการสวมหมวกกันน็อกสำหรับเด็ก เช่น ห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบ สวมหมวกกันน็อก ส่วนเด็กโตต้องสวมหมวกกันน็อกที่ได้มาตรฐานทุกครั้ง เป็นต้น

ด้านนางสุกัญญา เวชศิลป์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเด็ก กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวว่า

เกณฑ์สิทธิความปลอดภัยขั้นต่ำของเด็กนั้น จำเป็นต้องมีปัจจัย 3 ประการคือ 1.มาตรการเฝ้าระวังเตือนภัยในเด็กที่มีประสิทธิภาพ 2.พัฒนาและสร้างองค์ความรู้ ส่งเสริมการวิจัย และสถิติความเสี่ยงที่ชัดเจน และ 3. สร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย จึงจะนำไปสู่การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์พัฒนาโลกที่ดี

เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์ข่าวสด


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์