อาหารแพงทำเงินเฟ้อพุ่งสูงสุดรอบ 33 เดือน

อาหารแพงทำเงินเฟ้อพุ่งสูงสุดรอบ 33 เดือน

นายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์(พณ.) เปิดเผยว่า

ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อ) เดือนตุลาคม 2554 เท่ากับ 113.07 สูงขึ้น 0.19% จากเดือนกันยายน 2554 และสูงขึ้น 4.19% เทียบเดือนตุลาคม 2553 (ขยับขึ้นมาเท่าเดือนพฤษภาคม 2554) เฉลี่ย 10 เดือน สูงขึ้น 3.79% ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (หักกลุ่มอาหารสดและพลังงาน) เท่ากับ 108.83 สูงขึ้น 0.07% จากเดือนกันยายน 2553 และสูงขึ้น 2.89% เทียบเดือนตุลาคม 2553 เฉลี่ย 10 เดือน สูงขึ้น 2.28%

 ทั้งนี้ เงินเฟ้อเดือนตุลาคมที่สูงขึ้นมาก เนื่องจากดัชนีราคาหมวดอาหารและเครื่องดื่มสูงขึ้น 9.86% (ขยายตัวสูงสุดในรอบ 33 เดือน นับจากเดือนมกราคม 2552)
 
โดยราคาหมวดข้าว แป้ง สูงขึ้น 1.72% เนื้อสัตว์ เป็ด ไก่และสัตว์น้ำ สูงขึ้น 11.40% ไข่ สูงขึ้น 20.13% ผลิตภัณฑ์นม สูงขึ้น 7.14% ผักและผลไม้ สูงขึ้น 15.49% เครื่องประกอบอาหาร สูงขึ้น 15.13% เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์สูงขึ้น 1.92% อาหารสำเร็จรูป สูงขึ้น 17.48% ซึ่งราคาอาหารแพงขึ้นเพราะแหล่งผลิตถูกกระทบจากน้ำท่วม วัตถุดิบและภาชนะบรรจุสินค้าหายาก และการขนส่งยากขึ้น
   
 ขณะที่ดัชนีหมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มสูงขึ้นในอัตราลดลงเพียง 0.75%
 
ซึ่งสูงจากหมวดเคหสถาน สูงขึ้น 1.70% หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล สูงขึ้น 1.01% หมวดบันเทิงการอ่าน การศึกษาและการศาสนา สูงขึ้น 0.29% เครื่องนุ่มห่มและรองเท้า สูงขึ้น 0.91% สินค้าของใช้ทั่วไปสูงขึ้น 1.31%

 "เงินเฟ้อขยายตัวในระดับ 4% ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 และภาวะน้ำท่วมที่กระทบต่อเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นอีก 0.1% ทำให้กระทรวงพาณิชย์ปรับเพิ่มคาดการณ์เงินเฟ้อทั้งปีจาก 3.7% เป็น 3.8% เฉพาะไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ เงินเฟ้อเฉลี่ยปรับจาก 3.6% เป็น 3.9% โดยเดือนพฤศจิกายนแนวโน้มเงินเฟ้อยังน่าจะยังสูงขึ้น 4% ส่วนเงินเฟ้อปี 2555 กำลังอยู่ระหว่างการประเมินสถานการณ์ผลกระทบจากน้ำท่วมและระยะเวลาการฟื้นตัวหลังน้ำลด รวมถึงมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อและเศรษฐกิจในประเทศของรัฐบาล หากการฟื้นตัวของกำลังซื้อเร็วก็จะมีผลดีต่อเงินเฟ้อ ไม่เกิน 2 สัปดาห์น่าจะได้ข้อสรุป" นายยรรยงกล่าว

นายยรรยงกล่าวว่า ปัจจัยเสี่ยงต่อเงินเฟ้อ ประกอบด้วย 1.อุทกภัยกินเวลานาน ทำให้กระทบต่อแหล่งผลิต
 
โดยเฉพาะกระทบมากต่อการผลิตในภาคเกษตรและสินค้าจำเป็นต่อชีวิตประจำวันขาดแคลน การขนส่งยากขึ้น ทำให้ต้นทุนและราคาสินค้าสูงขึ้น 2. ความผันผวนของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจในสหรัฐและยุโรป กระทบต่อราคาน้ำมันโลกที่ขณะนี้อ่อนไหวค่อนข้างมาก 3.รายได้ประชาชนลดลงจากความสูญเสียในภาวะน้ำท่วม กระทบต่อการบริโภคและกำลังซื้อชะลอตัว แต่อย่างไรก็ตาม การขยายตัวของเงินเฟ้อไทยยังอยู่ในระดับมีเสถียรภาพและขยายตัวใกล้เคียงเป้าหมาย เช่นเดียวกับมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ขณะที่สิงคโปร์ จีน อินเดีย และเวียดนาม เงินเฟ้อขยายตัวสูงกว่าคาดการณ์มาก


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์