หนูน้อยต้องไม่ตายเปล่า เกาหลีใต้จี้ยกเครื่อง-เพิ่มโทษคนทารุณเด็ก
กรณีดังกล่าวสะเทือนใจผู้คนในเกาหลีใต้มาก บรรดาคนดังรวมถึงวงการบันเทิงต่างโพสต์ข้อความ "ขอโทษด้วยนะจุงอิน" เพื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้เด็กน้อยที่ตกเป็นเหยื่อ เนื่องจากคดีนี้เผยถึงจุดบกพร่องของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ดูดาย ทั้งที่ได้รับการร้องเรียนหลายรอบแล้วว่าเด็กกำลังถูกกระทำ
เด็กหญิงจุงอินวัยเพียง 1 ขวบ 4 เดือน ได้รับการอุปถัมภ์จากสามีภรรยาในกรุงโซลที่มีลูกของตนเองอยู่แล้ว อายุ 4 ขวบ เด็กมาอยุ่กับพ่อแม่คู่นี้ได้เพียง 271 วัน ก็เสียชีวิตเมื่อเดือนตุลาคม 2563 หลังจากถูกส่งมาโรงพยาบาลฝั่งตะวันตกของกรุงโซลในสภาพบอบช้ำไปทั้งตัว มีรอยช้ำ กระดูกแตก และอวัยวะภายในเสียหาย
ผลการชันสูตรที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 2 ม.ค. ระบุว่า เด็กตายเพราะเลือดตกใน สาเหตุมาจากถูกใช้กำลังรุนแรง มีบาดแผลร้ายแรงที่ดับอ่อน และเยื่อยึดลำไส้เล็กฉีกขาด ขณะนี้พ่อแม่เด็กถูกดำเนินคดีหลายข้อหา รวมถึงทารุณกรรมเด็กทำร้ายและเพิกเฉยไม่ดูแล เป็นสาเหตุให้เด็กถึงแก่ความตาย
กรณีดังกล่าว ประธานาธิบดี มุน แจอิน ผู้นำเกาหลีใต้ กล่าวกระตุ้นให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตรวจสอบขั้นตอนการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมให้เข้มงวดขึ้น ยึดหลักสิทธิเด็กเป็นสำคัญ
ส่วนนายชุง ซเย-คยุน นายกรัฐมนตรี กล่าวแสดงความเสียใจต่อชะตากรรมของเด็กหญิงจุงอินและเด็กคนอื่นๆ ที่ตกเป็นเหยื่อ พร้อมรับปากว่า รัฐบาลจะผลักดันบทลงโทษต่อผู้ทำร้ายเด็กให้หนักขึ้น และรัฐบาลต้องเข้าไปมีบทบาทสำคัญในกระบวนการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมมากขึ้น
ขณะเดียวกัน สมาชิกพรรคการเมืองทั้งพรรครัฐบาลและพรรคฝ่ายค้านต่างประกาศทบทวนกฎหมายคุ้มครองเด็กให้ดีกว่าเดิม มีบทลงโทษผู้กระทำผิดที่หนักกว่าเดิม
จากการเก็บสถิติของรัฐบาล มีเด็กถูกทารุณจนเสียชีวิตช่วงปี 2557-2561 จำนวน 132 ราย จากคดีที่อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงสวัสดิการสังคม 24,604 คดี เมื่อปี 2561 สูงกว่าเมื่อสิบปีก่อนถึง 4 เท่า
อี แบกึน ประธานสมาคมคุ้มครองเด็กจากการถูกทารุณและทอดทิ้ง กล่าวว่า การแก้ไขกฎหมายเพิ่งเริ่มต้น จำเป็นต้องมีคนมากกว่านี้ที่เคยเป็นหูเป็นตาให้คดีทำร้ายเด็ก รวมถึงงบประมาณก็ต้องได้รับการสนับสนุนมากกว่านี้
"ที่สำคัญประชาชนต้องตระหนักว่า การใช้ความรุนแรงต่อเด็กเป็นเรื่องรับไม่ได้ และต้องเต็มใจที่จะแจ้งกรณีต้องสงสัยทุกเวลา การที่พ่อแม่เคยใช้ความรุนแรงกับเด็กและไม่คิดว่าเป็นอะไร ทำให้คนนิ่งเฉยคิดว่าธุระไม่ใช่ ควรจะตัองเปลี่ยนแปลงได้แล้ว" ประธานสมาคมคุ้มครองเด็กกล่าว