ห้ามดาราดังโฆษณาเหล้า! เกาหลีใต้สกัดภาพดื่มแล้วมีเสน่ห์ โซจูก็ไม่ได้
กระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิการเกาหลีใต้รณรงค์ไม่ให้คนดังทั้งหลายโฆษณาสินค้าเครื่องดื่มมึนเมาโดยจะเริ่มมาตรการดังกล่าวในต้นปีหน้าและจะเริ่มห้ามเซเลบโฆษณาเหล้าโซจู ตั้งแต่สิ้นเดือนนี้
คิม อุก ผู้บริหารฝ่ายนโยบายสุขภาพจิตกล่าวว่าเริ่มมีการหารือถึงมาตรการห้ามคนดังโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มาตั้งแต่เดือน ธ.ค. ที่ผ่านมา เพื่อลดการดื่มเหล้าในกลุ่มคนอายุน้อย หลังจากจำนวนวัยรุ่นดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 15 ในปี 2559 มาเป็น ร้อยละ 16.9 เมื่อปี 2561 ขณะที่กฎหมายเกาหลีใต้อนุญาตให้ผู้ดื่มแอลกอฮอล์ได้จะต้องมีอายุ 19 ปีขึ้นไป
อี แฮ-กุก นักรณรงค์ไม่ดื่มเหล้าและอาจารย์ด้านจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยคาธอลิกของเกาหลีใต้กล่าวว่าเซเลบดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในโฆษณาได้ แต่บริษัทผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่ได้ระบุอายุของนักแสดง ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์มาแล้ว
เมื่อปี 2557 ไอยู นักร้องสาวที่เป็นพรีเซนเตอร์ให้กับโซจู ยี่ห้อ ชัมอีซึล ขณะที่มีอายุ 21 ปี ทั้งที่มีการแก้ไขกฎหมายส่งเสริมสุขภาพแห่งชาติซึ่งได้รับการเสนอในสภาปี 2555 ห้ามเซเลบที่อายุน้อยกว่า 24 ปีเป็นพรีเซนเตอร์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่ไม่ได้บังคับใช้กฎหมายอย่างเต็มที่
ส่วนจำนวนผู้ชายเกาหลีใต้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่ค่อยเปลี่ยนไปมากนักในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเพราะเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 0.5 เท่านั้น โดยเมื่อปี 2550 มีร้อยละ 73.5 และอีกเพิ่มเป็นร้อยละ 74 ในปี 2560
อี แฮ-กุก ชี้ว่าสาเหตุที่ทำให้ผู้หญิงดื่มเหล้ามากขึ้น เนื่องจากอิทธิพลของโฆษณาที่นำนักร้องสาวมาเป็นพรีเซนเตอร์ เริ่มบุกเบิกโดย อี ฮโยรี "ราชินีแห่งความเซ็กซี่" รับโฆษณาให้สุราของล็อตเตยี่ห้อชอมชูลอม ปี 2550
คนดังในเกาหลีใต้รับเป็นพรีเซนเตอร์โฆษณาหลากหลายชนิด ไม่เพียงแต่เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เท่านั้นสถาบันซีเอ็ม บริษัทวิจัยโฆษณาภาคเอกชน เปิดเผยว่าเซเลบดังๆ ในเกาหลีใต้ 10 คน อาจเป็นพรีเซ็นเตอร์ให้กับสินค้ารวมกันกว่า 200 ชิ้นต่อปี ส่วนงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งเมื่อปี 2557 เปิดเผยให้เห็นว่าโฆษณาทางโทรทัศน์กว่าครึ่งหนึ่งจะต้องมีคนดังเป็นพรีเซ็นเตอร์อย่างน้อย 1 คน
ยู ซึง-ชุล อาจารย์ด้านสื่อสารมวลชนมหาวิทยาลัยสตรีอีฮวา วิเคราะห์ว่าคนดังโน้มน้าวใจผู้บริโภคได้ผลในเกาหลีใต้ จีนและญี่ปุ่น แม้บริษัทสินค้าต้องจ่ายค่าตัวแพงมาก แต่ก็ได้ผลตรงเป้าหมาย
แต่การที่คนดังโฆษณาสินค้ามากเกินไป จนคนเห็นชินตาตั้งแต่โฆษณาในโทรทัศน์ไปจนถึงโฆษณาในสถานีรถไฟใต้ดินเป็นการตอกย้ำภาพมากเกินไปและใช้สตรีเป็นแรงดึงดูดทางเพศเหมือนกับภาพโฆษณาที่ติดอยู่ข้างขวดโซจู
ด้านกระทรวงสาธารณสุขเกาหลีใต้ทุ่มงบประมาณเพื่อรณรงค์ให้ลด ละ เลิก การดื่มของมึนเมา แต่เมื่อเทียบกับงบประมาณการรณรงค์ลดการสูบบุหรี่ จะเห็นว่างบการส่งเสริมให้ลดดื่มของมึนเมายังไม่เพียงพอ แม้องค์การอนามัยโลกจัดให้ทั้งบุหรี่และเหล้าอยู่ในกลุ่มสารก่อมะเร็งกลุ่มที่ 1 เหมือนกัน
เฉพาะปีนี้ปีเดียว งบประมาณสำหรับการรณรงค์ป้องกันการสูบบุหรี่มีมากถึง 138,800 ล้านวอน หรือประมาณ 3,498 ล้านบาท มากกว่างบประมาณรณรงค์ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็น 100 เท่า เพราะเจียดงบประมาณให้เพียง 1,300 ล้านวอนเท่านั้น เนื่องจากงบโฆษณาต่อต้านสูบบุหรี่ได้รับการสนับสนุนจากบริษัทผลิตบุหรี่ด้วย ขณะที่งบรณรงค์ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้มาจากรัฐบาลเท่านั้น
อี แฮ-กุก จากมหาวิทยาลัยคาธอลิกของเกาหลีใต้แนะทางแก้ไขว่าต้องปรับทัศนติและวัฒนธรรมการดื่มของชาวเกาหลีใต้ให้ได้ จึงจะเป็นผลดีที่สุด