
ชัดเจนว่า ในวันพฤหัสบดีที่ 23 กุมภาพันธ์ นี้ นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานรัฐสภา จะเรียกประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291
ถึงตอนนี้ “แน่นอน” แล้วว่า จะมีให้พิจารณา 3 ร่างเท่านั้น ประกอบด้วย ร่างของรัฐบาล ร่างของ ส.ส.พรรคเพื่อไทย และร่างของพรรคชาติไทยพัฒนา ขณะที่ร่างภาคประชาชนอย่างร่างของ นายสงวน พงษ์มณี ส.ส.ลำพูน พรรคเพื่อไทยกับร่างของ นปช. ที่ นางธิดา ถาวรเศรษฐ์ ประธาน นปช. นำทีมมายื่นนั้น ต้องใช้เวลาในการตรวจสอบ ’ความถูกต้อง“ ตามกระบวนการ ทำให้ไม่ทันที่จะนำเข้าสู่การพิจารณา
พลันที่ความชัดเจนในกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญเริ่มขึ้น ก็ปรากฏความเคลื่อนไหวอย่างมาก จากผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ทั้งฝ่ายสนับสนุนให้มีการแก้ไข ทั้งฝ่ายคัดค้านให้มีการแก้ไข
เกิดวงเสวนา เกิดเวทีสัมมนาเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญขึ้นมาอย่างกว้างขวาง เกิด ’ประเด็น“ ถกเถียงตั้งแต่เจตนาของการแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ กระบวนการแก้ไขเพื่อให้ได้มาซึ่งสภาร่างรัฐธรรมนูญหรือ ส.ส.ร. เรื่อยไปจนถึง ’เนื้อหา“ ของการแก้ไข
แม้จะมีการ ’อธิบาย“ ว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้เป็นการแก้ไขเพียงแค่ 1 มาตราเท่านั้น แต่หากดูกันอย่าง ’ผู้เข้าใจ“ จะพบว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้คือ การล้มรัฐธรรมนูญฉบับที่ใช้อยู่ในปัจจุบันทั้งฉบับและร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นมาใช้บังคับแทน
การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ถูกแบ่งเป็น 2 ขยัก ขยักแรกคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้ได้มาซึ่งผู้ร่างรัฐธรรมนูญหรือ ส.ส.ร. ขณะที่ขยักต่อมา คือ การแก้ไข ในส่วนของเนื้อหาสาระ
การประชุมร่วมรัฐสภาวันที่ 23 ก.พ. จึงเป็นการแก้ไขมาตรา 291 เพื่อให้ได้มาซึ่ง ส.ส.ร. เท่านั้น โดยจะมีการพิจารณา 3 วาระตามกระบวนการที่รัฐธรรมนูญกำหนด
ตามขั้นตอน การจะผ่านวาระไปได้นั้น ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งแน่นอนว่า จะต้องยึดตามร่างของรัฐบาลเป็นหลักจะต้องมีเสียงสนับสนุนเกินกึ่งหนึ่งหรือมากกว่า 325 เสียงจากจำนวนสมาชิกทั้งหมดคือ 650 เสียง
ในแง่ของ ’จำนวนเสียง“ ถือว่าไม่ยากสำหรับรัฐบาล แต่ในแง่ของการอธิบายเหตุผลของการแก้ไข ตลอดจนข้อกล่าวหา ไม่ว่าจะเป็นการล็อกสเปก ส.ส.ร. หรือการมี ’พิมพ์เขียว“ รัฐธรรมนูญ ตรงนี้จะนำมาซึ่งแรงกระเพื่อมทางการเมืองให้เกิดขึ้น
เหมือนทั้งฝ่ายสนับสนุนกับฝ่ายคัดค้านจะรู้ จึงได้เห็นความเคลื่อนไหวในลักษณะเข้าหา “มวลชน” เกิดขึ้น
การประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรที่ จ.อุดรธานี ระหว่างวันที่ 21-22 ก.พ. นอกจากจะเป็นเรื่องของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในแง่ฝ่ายบริหารแล้ว ยังแฝง “นัย” ทางการเมืองไว้ไม่น้อย โดยเฉพาะจะมีการชุมนุมแสดงพลังมวลชนจากคนเสื้อแดง ใน 2 ส่วน คือ จากส่วนที่เรียกว่า สหพันธ์หมู่บ้านเสื้อแดงแห่งประเทศไทย ซึ่งแน่นอนว่า เนื้อหาคงไม่พ้นการปกป้องรัฐบาล การต่อต้านรัฐประหารและการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ขณะที่อีกกลุ่มซึ่งเรียกตัวเองว่า ชมรมคนรักภาคอีสาน 20 จังหวัด ที่นำโดย นายขวัญชัย ไพรพนา ก็คงพูดถึงเนื้อหาที่ไม่ต่างกันนั่นคือการสนับสนุนให้รัฐบาลแก้ปัญหาปากท้อง สร้างประชาธิปไตย และพา พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร “กลับบ้าน” ให้ได้ รวมไปถึงเวที คอนเสิร์ตการเมืองของกลุ่ม นปช. ที่ใช้ชื่อว่างาน ’หยุดรัฐประหาร เปลี่ยนผ่านรัฐธรรมนูญ“ ในวันที่ 25 ก.พ. ด้วย ทั้งหมดจึงถือเป็นการแสดงออกทางการเมืองแบบ ’รวมมวลชน“ เพื่อสร้างกระแสให้เกิดขึ้นกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ ขณะที่อีกฝ่ายอย่างพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งประกาศ ’คัดค้าน“ การแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ก็เดินหน้ารณรงค์ขึ้นป้าย แจกแผ่นพับ ชี้แจงแสดงเหตุผล ของการคัดค้าน เรื่อยไปจนถึงการจัดสัมมนาในหลายพื้นที่
ยังไม่นับกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญ ทั้งกลุ่มนักวิชาการอย่างกลุ่ม นิติราษฎร์ ที่เสนอความเห็นเกี่ยวกับการแก้ไขอย่างเผ็ดร้อนมาก่อนหน้านี้ กลุ่มสยามประชาภิวัฒน์ ที่ประกาศต่อต้าน ทุนนิยมผูกขาดพรรคการเมือง ที่แฝงมาในเสื้อคุมประชาธิปไตย เรื่อยไปจนถึงกลุ่มสยามสามัคคี กลุ่มกรีน ชมรม ส.ส.ร. ปี 50 จนถึงการเกิดขึ้นของกลุ่มการเมืองอีกหลากหลายเพื่อแสดงความเห็นต่อการแก้ไข ’กติกา“ สูงสุดของประเทศในครั้งนี้
มูลเหตุสำคัญที่ทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ ถูกเร่งเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาในครั้งนี้ถูกมองว่า ประการแรก หากพรรคเพื่อไทยทอดระยะเวลาการแก้ไขให้ ’ยาวนาน“ ออกไปโอกาสที่จะเกิดประวัติศาสตร์ซ้ำรอยเช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลพรรคพลังประชาชน อาจจะมีขึ้น ประการต่อมา เมื่อเป็นรัฐบาลเสียงเกินกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีความได้เปรียบทางการเมืองนั้นเป็นโอกาสที่หาไม่ได้ง่ายๆ อีกประการ สามารถทำควบคู่ไปกับการบริหารบ้านเมืองได้เพราะการแก้ไขในครั้งนี้เป็น 1 ใน 16 นโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล และการแก้ไขครั้งนี้ ไม่มีการพูดถึงเนื้อหา พูดถึงแต่ ’ที่มา“ ของผู้ที่จะมาแก้ไข ซึ่งเท่ากับว่าจะทำให้พรรคเพื่อไทยในฐานะผู้ผลักดัน ลดข้อครหาและอธิบายกับสังคมได้ว่า ไม่ได้ชี้นำเนื้อหาของรัฐธรรมนูญ
การประชุมสภาผู้แทนราษฎร จะ “ปิดสมัย” ลงในวันที่ 18 เม.ย. ซึ่งเท่ากับว่า รัฐบาลพรรคเพื่อไทย จะมีเวลาเพื่อผลักดันในการแก้ไขรัฐธรรมนูญผ่านการพิจารณาในวาระที่ 1 ไปสู่วาระที่ 2 หรือการตั้งกรรมาธิการ 6-7 สัปดาห์เท่านั้น
การปล่อยเวลาให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ’เนิ่นนาน“ ออกไปจึง ’ทาง“ ที่รัฐบาลเสียงข้างมากพึงกระทำ
แม้จะมีการประเมิน จากกรรมการยุทธศาสตร์และประชาสัมพันธ์พรรคเพื่อไทย ซึ่งประกอบด้วยแกนนำและสมาชิกพรรค สรุปว่า จะไม่เร่งรัดแก้ไข แต่จะทอดระยะเวลาในการแก้ไข เพื่อ ’ขจัด“ เงื่อนไขที่ฝ่ายตรงข้ามจะนำไปใช้เป็นประเด็นว่าเป็นการแก้ไขเพื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ก็ตาม แต่หากดูจาก ’ทาง“ ที่เดินมาจนถึงวันนี้ก็ไม่น่าจะใช่ ด้วยเพราะพรรคเพื่อไทย เดินเร็วและจัด ’ปฏิทิน“ การเมืองไว้แล้วว่า ช่วงเวลานี้เป็น ’จังหวะ“ ที่เหมาะของการแก้ไขมาตรา 291
อย่าลืมว่าการปล่อยให้ผ่านไปถึงสมัยประชุมหน้าซึ่งเป็นสมัยสามัญทั่วไป จะมี ’งานใหญ่“ อย่างการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ’รออยู่“
การแก้ไขรัฐธรรมนูญจึงเป็นนโยบายที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยต้องเร่ง ไม่ต่างอะไรกับการเร่งนโยบายประชานิยมทางการเมืองทั้งหลายให้ปรากฏออกมา ตามที่ได้สัญญาไว้ในช่วงของการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง
ดังนั้น สัปดาห์ที่ 3 ของเดือนกุมภาพันธ์ จึงมีความหมายในทางการเมืองอย่างยิ่ง
เป็นสัปดาห์ของการ ’ปะทะ“ กันทางความคิดทางการเมือง โดยฝ่ายหนึ่ง ’ชูธง“ แก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อให้เกิดความเป็นประชาธิปไตย ล้างคราบไคล ’เผด็จการ“ ที่ผ่านมา ขณะที่อีกฝ่าย ’ตั้งป้อง” ว่าการแก้ไขซึ่งนำไปสู่การล้มรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันในครั้งนี้ ’จ้อง“ ที่จะให้ ’ใคร“ คนใดคนหนึ่งได้ประโยชน์ทางการเมือง
การแก้ไขรัฐธรรมนูญ จึงเป็น ’ชนวน“ ความขัดแย้งทางการเมือง ที่ยังไงเสียก็ต้องเกิด เพียงแต่ว่า จะ ’มาช้า“ หรือ ’มาเร็ว“ เท่านั้นเอง.
Love Attack เทศกาลความรักแบบนี้ บอกอ้อมๆให้เขารู้กัน
Chocolate Dreams สาวชั่งฝันและช็อคโกแลต กับหนุ่มหล่อ ไม่แน่คุณอาจจะได้เจอแบบนี้ก็ได้
Love You Like Crazy เพลงเพราะๆ ที่ถ้าส่งให้คนที่เรารัก โลกนี้ก็สีชมพูกันทีเดียว