แก้รัฐธรรมนูญสถานการณ์ มาตามนัด ต้านเผด็จการ ปะทะ ค้านระบอบทักษิณ

แก้รัฐธรรมนูญสถานการณ์ มาตามนัด ต้านเผด็จการ ปะทะ ค้านระบอบทักษิณ


ชัดเจนว่า ในวันพฤหัสบดีที่ 23 กุมภาพันธ์ นี้ นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานรัฐสภา จะเรียกประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291

ถึงตอนนี้ “แน่นอน” แล้วว่า จะมีให้พิจารณา 3 ร่างเท่านั้น ประกอบด้วย ร่างของรัฐบาล ร่างของ ส.ส.พรรคเพื่อไทย และร่างของพรรคชาติไทยพัฒนา ขณะที่ร่างภาคประชาชนอย่างร่างของ นายสงวน พงษ์มณี ส.ส.ลำพูน พรรคเพื่อไทยกับร่างของ นปช. ที่ นางธิดา ถาวรเศรษฐ์ ประธาน นปช. นำทีมมายื่นนั้น ต้องใช้เวลาในการตรวจสอบ ’ความถูกต้อง“ ตามกระบวนการ ทำให้ไม่ทันที่จะนำเข้าสู่การพิจารณา

พลันที่ความชัดเจนในกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญเริ่มขึ้น ก็ปรากฏความเคลื่อนไหวอย่างมาก จากผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ทั้งฝ่ายสนับสนุนให้มีการแก้ไข ทั้งฝ่ายคัดค้านให้มีการแก้ไข

เกิดวงเสวนา เกิดเวทีสัมมนาเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญขึ้นมาอย่างกว้างขวาง เกิด ’ประเด็น“ ถกเถียงตั้งแต่เจตนาของการแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ กระบวนการแก้ไขเพื่อให้ได้มาซึ่งสภาร่างรัฐธรรมนูญหรือ ส.ส.ร. เรื่อยไปจนถึง ’เนื้อหา“ ของการแก้ไข

แม้จะมีการ ’อธิบาย“ ว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้เป็นการแก้ไขเพียงแค่ 1 มาตราเท่านั้น แต่หากดูกันอย่าง ’ผู้เข้าใจ“ จะพบว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้คือ การล้มรัฐธรรมนูญฉบับที่ใช้อยู่ในปัจจุบันทั้งฉบับและร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นมาใช้บังคับแทน

การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ถูกแบ่งเป็น 2 ขยัก ขยักแรกคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้ได้มาซึ่งผู้ร่างรัฐธรรมนูญหรือ ส.ส.ร. ขณะที่ขยักต่อมา คือ การแก้ไข ในส่วนของเนื้อหาสาระ

การประชุมร่วมรัฐสภาวันที่ 23 ก.พ. จึงเป็นการแก้ไขมาตรา 291 เพื่อให้ได้มาซึ่ง ส.ส.ร. เท่านั้น โดยจะมีการพิจารณา 3 วาระตามกระบวนการที่รัฐธรรมนูญกำหนด

ตามขั้นตอน การจะผ่านวาระไปได้นั้น ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งแน่นอนว่า จะต้องยึดตามร่างของรัฐบาลเป็นหลักจะต้องมีเสียงสนับสนุนเกินกึ่งหนึ่งหรือมากกว่า 325 เสียงจากจำนวนสมาชิกทั้งหมดคือ 650 เสียง

ในแง่ของ ’จำนวนเสียง“ ถือว่าไม่ยากสำหรับรัฐบาล  แต่ในแง่ของการอธิบายเหตุผลของการแก้ไข ตลอดจนข้อกล่าวหา ไม่ว่าจะเป็นการล็อกสเปก ส.ส.ร. หรือการมี ’พิมพ์เขียว“ รัฐธรรมนูญ ตรงนี้จะนำมาซึ่งแรงกระเพื่อมทางการเมืองให้เกิดขึ้น

เหมือนทั้งฝ่ายสนับสนุนกับฝ่ายคัดค้านจะรู้ จึงได้เห็นความเคลื่อนไหวในลักษณะเข้าหา “มวลชน” เกิดขึ้น
 
การประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรที่ จ.อุดรธานี ระหว่างวันที่ 21-22 ก.พ. นอกจากจะเป็นเรื่องของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในแง่ฝ่ายบริหารแล้ว ยังแฝง “นัย” ทางการเมืองไว้ไม่น้อย โดยเฉพาะจะมีการชุมนุมแสดงพลังมวลชนจากคนเสื้อแดง ใน 2 ส่วน คือ จากส่วนที่เรียกว่า สหพันธ์หมู่บ้านเสื้อแดงแห่งประเทศไทย ซึ่งแน่นอนว่า เนื้อหาคงไม่พ้นการปกป้องรัฐบาล การต่อต้านรัฐประหารและการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ขณะที่อีกกลุ่มซึ่งเรียกตัวเองว่า ชมรมคนรักภาคอีสาน 20 จังหวัด ที่นำโดย นายขวัญชัย ไพรพนา ก็คงพูดถึงเนื้อหาที่ไม่ต่างกันนั่นคือการสนับสนุนให้รัฐบาลแก้ปัญหาปากท้อง สร้างประชาธิปไตย และพา พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร “กลับบ้าน” ให้ได้ รวมไปถึงเวที คอนเสิร์ตการเมืองของกลุ่ม นปช. ที่ใช้ชื่อว่างาน ’หยุดรัฐประหาร เปลี่ยนผ่านรัฐธรรมนูญ“ ในวันที่ 25 ก.พ. ด้วย ทั้งหมดจึงถือเป็นการแสดงออกทางการเมืองแบบ ’รวมมวลชน“ เพื่อสร้างกระแสให้เกิดขึ้นกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ ขณะที่อีกฝ่ายอย่างพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งประกาศ ’คัดค้าน“ การแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ก็เดินหน้ารณรงค์ขึ้นป้าย แจกแผ่นพับ ชี้แจงแสดงเหตุผล ของการคัดค้าน เรื่อยไปจนถึงการจัดสัมมนาในหลายพื้นที่

ยังไม่นับกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญ ทั้งกลุ่มนักวิชาการอย่างกลุ่ม นิติราษฎร์ ที่เสนอความเห็นเกี่ยวกับการแก้ไขอย่างเผ็ดร้อนมาก่อนหน้านี้ กลุ่มสยามประชาภิวัฒน์ ที่ประกาศต่อต้าน ทุนนิยมผูกขาดพรรคการเมือง ที่แฝงมาในเสื้อคุมประชาธิปไตย เรื่อยไปจนถึงกลุ่มสยามสามัคคี กลุ่มกรีน ชมรม ส.ส.ร. ปี 50 จนถึงการเกิดขึ้นของกลุ่มการเมืองอีกหลากหลายเพื่อแสดงความเห็นต่อการแก้ไข ’กติกา“ สูงสุดของประเทศในครั้งนี้

มูลเหตุสำคัญที่ทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ ถูกเร่งเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาในครั้งนี้ถูกมองว่า ประการแรก หากพรรคเพื่อไทยทอดระยะเวลาการแก้ไขให้ ’ยาวนาน“ ออกไปโอกาสที่จะเกิดประวัติศาสตร์ซ้ำรอยเช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลพรรคพลังประชาชน อาจจะมีขึ้น ประการต่อมา เมื่อเป็นรัฐบาลเสียงเกินกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีความได้เปรียบทางการเมืองนั้นเป็นโอกาสที่หาไม่ได้ง่ายๆ อีกประการ สามารถทำควบคู่ไปกับการบริหารบ้านเมืองได้เพราะการแก้ไขในครั้งนี้เป็น 1 ใน 16 นโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล และการแก้ไขครั้งนี้ ไม่มีการพูดถึงเนื้อหา พูดถึงแต่ ’ที่มา“ ของผู้ที่จะมาแก้ไข ซึ่งเท่ากับว่าจะทำให้พรรคเพื่อไทยในฐานะผู้ผลักดัน ลดข้อครหาและอธิบายกับสังคมได้ว่า ไม่ได้ชี้นำเนื้อหาของรัฐธรรมนูญ

การประชุมสภาผู้แทนราษฎร จะ “ปิดสมัย” ลงในวันที่  18 เม.ย. ซึ่งเท่ากับว่า รัฐบาลพรรคเพื่อไทย จะมีเวลาเพื่อผลักดันในการแก้ไขรัฐธรรมนูญผ่านการพิจารณาในวาระที่ 1 ไปสู่วาระที่ 2 หรือการตั้งกรรมาธิการ 6-7 สัปดาห์เท่านั้น

การปล่อยเวลาให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ’เนิ่นนาน“ ออกไปจึง ’ทาง“ ที่รัฐบาลเสียงข้างมากพึงกระทำ

แม้จะมีการประเมิน จากกรรมการยุทธศาสตร์และประชาสัมพันธ์พรรคเพื่อไทย ซึ่งประกอบด้วยแกนนำและสมาชิกพรรค สรุปว่า จะไม่เร่งรัดแก้ไข แต่จะทอดระยะเวลาในการแก้ไข เพื่อ ’ขจัด“ เงื่อนไขที่ฝ่ายตรงข้ามจะนำไปใช้เป็นประเด็นว่าเป็นการแก้ไขเพื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ก็ตาม แต่หากดูจาก ’ทาง“ ที่เดินมาจนถึงวันนี้ก็ไม่น่าจะใช่ ด้วยเพราะพรรคเพื่อไทย เดินเร็วและจัด ’ปฏิทิน“ การเมืองไว้แล้วว่า ช่วงเวลานี้เป็น ’จังหวะ“ ที่เหมาะของการแก้ไขมาตรา 291

อย่าลืมว่าการปล่อยให้ผ่านไปถึงสมัยประชุมหน้าซึ่งเป็นสมัยสามัญทั่วไป จะมี ’งานใหญ่“ อย่างการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ’รออยู่“

การแก้ไขรัฐธรรมนูญจึงเป็นนโยบายที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยต้องเร่ง ไม่ต่างอะไรกับการเร่งนโยบายประชานิยมทางการเมืองทั้งหลายให้ปรากฏออกมา ตามที่ได้สัญญาไว้ในช่วงของการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง

ดังนั้น สัปดาห์ที่ 3 ของเดือนกุมภาพันธ์ จึงมีความหมายในทางการเมืองอย่างยิ่ง

เป็นสัปดาห์ของการ ’ปะทะ“ กันทางความคิดทางการเมือง โดยฝ่ายหนึ่ง ’ชูธง“ แก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อให้เกิดความเป็นประชาธิปไตย ล้างคราบไคล ’เผด็จการ“ ที่ผ่านมา ขณะที่อีกฝ่าย ’ตั้งป้อง” ว่าการแก้ไขซึ่งนำไปสู่การล้มรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันในครั้งนี้ ’จ้อง“ ที่จะให้ ’ใคร“ คนใดคนหนึ่งได้ประโยชน์ทางการเมือง

การแก้ไขรัฐธรรมนูญ จึงเป็น ’ชนวน“ ความขัดแย้งทางการเมือง ที่ยังไงเสียก็ต้องเกิด เพียงแต่ว่า จะ ’มาช้า“  หรือ ’มาเร็ว“ เท่านั้นเอง.


เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์