หมายเหตุ"มติชนออนไลน์" เป็นรายงานหน่วยข่าวของรัฐที่ประเมินสถานการณ์การชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต่านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.)หรือกลุ่มเสื้อแดงระหว่างวันที่ 12-14 มีนาคม 2553 โดยประเมินว่า จากการเตรียมการของบรรดาแกนนำ นปช.ในส่วนกลางและต่างจังหวัด รวมทั้งท่าทีของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีแล้วน่าจะต้องการให้แตกหักหรือเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองภายใน 7-8 วัน และคาดว่า สถานการณ์จะตึงเครียดที่สุดในช่วงระหว่าง 14-17 มีนาคม 2553
รายงานข่าวดังกล่าวยังวิเคราะห์ว่า ช่วงเวลาดังกล่าวกลุ่มมือที่สามซึ่งมีอยู่ 5 กลุ่ม เป็นอดีตนายหทาร อาจสร้างสถานการณ์ เพื่อนำไปสู่การก่อเหตุจลาจล
***************************************************
ประเมินสถานการณ์การชุมนุมกลุ่ม นปช.ตั้งแต่ 12 มีนาคม 2553
1.การชุมนุมใหญ่ของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ตั้งแต่ 12 มี.ค. 53 เป็นต้นไป เมื่อประเมินจากการเตรียมการของบรรดาแกนนำ นปช.ในส่วนกลางและต่างจังหวัด รวมทั้งท่าทีของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แล้วน่าจะเป็นการชุมนุมให้แตกหักภายในช่วงเวลาสั้นๆ ไม่ยืดเยื้อ หวังผลจะกดดันให้รัฐบาลต้องยุบสภาหรือเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองภายใน 7-8 วัน คาดว่าสถานการณ์จะตึงเครียดที่สุดในช่วงระหว่าง 14-17 มี.ค.53
2.ลักษณะการชุมนุมแม้จะเป็นการรุกเพื่อกดดันรัฐบาลพร้อมกันของ นปช.ทั้งในต่างจังหวัด และ กทม. แต่กลุ่มที่จะมีผลต่อการแพ้-ชนะน่าจะเป็นมวลชนในเขต กทม. ปริมณฑล และภาคกลาง ส่วน นปช.จากต่างจังหวัดที่เคลื่อนกำลังเข้าสู่พื้นที่ กทม. นอกจากเป็นกำลังเสริมแล้ว ยังอาจหวังให้เกิดจุดอ่อนต่อฝ่ายความมั่นคงที่จะต้องแบ่งกำลังไปสกัดกั้นจนทำให้พื้นที่ กทม.มีปัญหา รวมทั้งขัดขวางการส่งกำลังทหาร และตำรวจจากต่างจังหวัดมาเสริมพื้นที่ กทม.
3.ผลกระทบจากการชุมนุม ประเมินตามห้วงเวลา
3.1 ช่วงการรวมพล ใน 12 มี.ค. 53 สถานการณ์ไม่น่าจะรุนแรง เนื่องจากเป็นการนัดหมายรวมตัวตามจุดนัดพบในแต่ละจังหวัดทั่วประเทศในเวลา 12.12 น. การเคลื่อนมวลชนไปยังจุดรวมพลจะเริ่มที่ภาคเหนือ และตะวันออกเฉียงเหนือก่อน โดยจุดรวมพลของภาคเหนืออยู่ที่ จ.นครสวรรค์ และ ภาคตะวันออกเฉียงเหนืออยู่ที่ จ.นครราชสีมา
ส่วนในพื้นที่ กทม.จะเริ่มการชุมนุมกลุ่มย่อยตามจุดต่างๆ ซึ่งใช้เป็นจุดรวมพลรวม 6 จุดได้แก่ พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช, อนุสาวรีย์หลักสี่, พระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 6 หน้าสวนลุมพินี สน.ทุ่งสองห้อง ถ.กำแพงเพชร 7. สี่แยกบางนา, สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง ถนนมิตรไมตรี ปริมณฑล ได้แก่ศาลากลางจังหวัดนนทบุรี ศาลากลางจังหวัดสมุทรปราการ รังสิตคลอง 4 และลำลูกกาคลอง 4
3.2 ช่วงการเคลื่อนมวลชนเข้า กทม.ใน 13 มี.ค. 53 นปช.ทุกภาคจะเคลื่อนมวลชนมา กทม.โดยใช้ถนนสายหลักของทุกจังหวัด สถานการณ์ช่วงนี้จะมีผลกระทบต่อสภาพการจราจรอย่างมาก เนื่องจากเป็นวันเสาร์ที่สภาพการจราจรมีความหนาแน่นอยู่แล้วเป็นปกติและมีความเป็นไปได้สูงที่จะเกิดการกระทบกระทั่งกันระหว่างประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากการใช้รถใช้ถนนกับกลุ่ม นปช.
3.3 การชุมนุมใหญ่ที่ กทม.ตั้งแต่ 14 มี.ค.53 มวลชน นปช.จากต่างจังหวัดทุกกลุ่มจะเดินทางถึง กทม. ขณะที่กลุ่ม นปช.ในพื้นที่ กทม.และปริมณฑลจะเคลื่อนมวลชนจากจุดรวมพล 10 จุดรอบ กทม.เดินทางเข้าสู่พื้นที่ชุมนุมใหญ่ ซึ่งกำหนดไว้ที่บริเวณแยกผ่านฟ้าอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย สนามหลวง ลานพระราชวังดุสิต และพื้นที่ใกล้เคียง (ขึ้นอยู่กับจำนวนผู้ชุมนุม)
สถานการณ์ในห้วงดังกล่าวจะเกิดปัญหาด้านการจราจรอย่างมาก และหากการเคลื่อนขบวนของ นปช.มีการกระตุ้นให้เกิดความฮึกเหิม หรือมีการสร้างสถานการณ์จากมือที่สาม อาจเกิดความรุนแรงได้ง่าย
3.4 ช่วงที่มีความเปราะบางน่าจะเริ่มตั้งแต่เย็นวันที่ 13-14 มี.ค. 53 เป็นต้นไปเนื่องจากจะมีมวลชนรวมตัวเข้ามาอย่างต่อเนื่อง การควบคุมมวลชนจะมีปัญหามากที่สุด และหากมีการปลุกเร้ามวลชนมากขึ้นจนขาดสติ มีความเสี่ยงสูงที่มวลชนจะกลายสภาพเป็นม็อบที่ขาดการควบคุม จนอาจมีการเผาทำลายทรัพย์สินของทางราชการ และเอกชนได้