ช่วงนี้พรรคประชาธิปัตย์ พระศุกร์เข้า พระเสาร์แทรก
จะด้วย "ดวงเมือง" หรือ "ดวงนายกรัฐมนตรี" หรือไม่...ไม่ทราบ
รู้แต่ว่า "หลายเรื่อง" ที่ประเดประดังเข้ามา หนักหนาสาหัส
เป็นความสาหัสที่มาพร้อมกัน
เริ่มจากการ "หักดิบ" ของ "นิพนธ์ พร้อมพันธุ์" ที่ยื่นใบลาออกจากตำแหน่งเลขาธิการนายกรัฐมนตรี
ชัดเจนว่ามาจากความไม่พอใจในการแต่งตั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.)
ปรากฏการณ์ "นิพนธ์" สร้างความปั่นป่วนในพรรคประชาธิปัตย์ไม่น้อย เพราะคนในพรรครู้ดีว่า "นิพนธ์" เป็นหัวใจสำคัญในการก้าวขึ้นมาสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ"
เป็น "หัวใจอันบริสุทธิ์" ที่ไม่ต้องการอะไรมากไปกว่าทำเพื่อพรรค ทำเพื่อคนของพรรค
ครั้งนี้ก็เช่นกัน การที่ "นิพนธ์" พยายามผลักดัน พล.ต.อ.จุมพล มั่นหมาย รอง ผบ.ตร. ให้ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่ง ผบ.ตร. ก็เพื่อพรรค และเพื่อเส้นทางทางการเมืองของชายที่ชื่อ "อภิสิทธิ์"
แต่ผลกลับออกมาในทางตรงกันข้าม
นั่นคือ "มรสุมลูกแรก" ของพรรคประชาธิปัตย์
มรสุมลูกต่อมาคือ การทุจริตคอร์รัปชั่น ที่โผลออกมาราวดอกเห็ด
แถมตีตรา "พระแม่ธรณีบีบมวยผม" หราอยู่บนดอกเห็ด
ทั้งโครงการชุมชนพอเพียง ที่ "กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ" รองนายกรัฐมนตรี โดนไปแบบเต็มๆ หลังตรวจสอบพบว่ามีการนำสินค้าถูกไปเสนอขายให้กับชุมชนในราคาแพง แถมบางชุมชนยังได้สินค้าไม่ตรงกับความต้องการของชุมชน
เช่นเดียวกับโครงการไทยเข้มแข็ง ที่ถูกปูดออกมาจากกระทรวงสาธารณสุข ที่มีรัฐมนตรีของพรรคประชาธิปัตย์อย่าง "วิทยา แก้วภราดัย" นั่งกุมบังเหียนอยู่
ทั้งสองโครงการถูกตั้งข้อสังเกตว่ามีการ "ทุจริต"
เป็นการทุจริตที่คล้ายๆ กัน คือ ซื้อถูก ขายแพง และซื้อของไม่ตรงกับความต้องการของชุมชนหรือหน่วยงาน
ตรงนี้กลายเป็น "จุดอ่อน" ของพรรคประชาธิปัตย์ ที่ถูกมองว่า "พวกคุณก็ไม่ต่างจากรัฐบาลชุดอื่นๆ เมื่อมีโอกาสก็เอา"
เพราะเป็นคนสายพันธุ์เดียวกัน
ยิ่งดูจากโพลสำรวจความนิยมของ "สวนดุสิตโพล" ล่าสุดพบว่าประชาชนร้อยละ 50.17 ห่วงความโปร่งใส กลัวการทุจริตของผู้ที่เกี่ยวข้องในโครงการไทยเข้มแข็ง ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข
จากจุดเริ่มต้นของปรากฏการณ์ "นิพนธ์" จนถึงข้อกล่าวหาการทุจริตคอร์รัปชั่นที่ลามเลียเข้าใส่พรรคประชาธิปัตย์
ทำให้ "ภายใน" พรรคประชาธิปัตย์ เกิดความเคลื่อนไหว
เป็นความเคลื่อนไหวที่ต้องการทำให้มีการปรับเปลี่ยนคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในสัดส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ โดยอาศัยสถานการณ์ดังกล่าวเป็น "ตัวเร่ง" โดยให้เหตุผลว่า เพื่อคลี่คลายสถานการณ์
นอกจากตำแหน่งของ "นิพนธ์" แล้ว ตำแหน่งของ วิทยา แก้วภราดัย รมว.สาธารณสุข ตำแหน่งของ อลงกรณ์ พลบุตร รมช.พาณิชย์ ตำแหน่งของ ธีระ สลักเพชร รมว.วัฒนธรรม ก็มีการทวงถามกันเกิดขึ้น
ต้องไม่ลืมว่า ผู้จัดการรัฐบาล "สุเทพ เทือกสุบรรณ" เคยสัญญากับบรรดาแกนนำพรรคประชาธิปัตย์ที่เคยอกหักในการจัดตั้ง ครม.ครั้งที่แล้วว่า เมื่อถึงเวลาเหมาะสม หรือประมาณ 6 เดือน จะมีการปรับเปลี่ยน
แต่การเคลื่อนไหวภายในประชาธิปัตย์ ถูกสกัดด้วยข่าวที่ปล่อยออกมาว่า เพื่อไม่ให้เกิดแรงกระเพื่อมจะไม่มีปรับ ครม.
พร้อมเสนอให้เอา "อภิรักษ์ โกษะโยธิน" ที่ปรึกษานายกฯ หรือ "คนนอก" เข้ามาทำหน้าที่เลขาธิการนายกรัฐมนตรี แทน "นิพนธ์"
ตรงจุดนี้นายกฯอภิสิทธิ์ต้องคิดให้ตก ตีโจทย์ให้แตก
หากยังปล่อยให้ภาพลักษณ์ในทางลบที่เกิดจากการกระทำของตัวเองถูก "เกาะกิน-กัดกร่อน" ไปเรื่อยๆ ก็จะทำให้ "มรสุมลูกที่สาม" จากพรรคเพื่อไทย มีพลานุภาพมากยิ่งขึ้น
โดยเฉพาะการฝากผลงานในการเกาะติดการทุจริตในโครงการชุมชนพอเพียงและโครงการไทยเข้มแข็ง อย่างเอาจริงเอาจัง
การเริ่มเคลื่อนทัพด้วยการดึง พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เข้ามาร่วมทำงานกับพรรค
ทำให้มรสุมลูกนี้ ไม่น่าจะใช่มรสุมธรรมดาๆ ของพรรคประชาธิปัตย์ โดยเฉพาะในภาคอีสาน ที่เชื่อว่าพรรคประชาธิปัตย์จะถูก "ตีกัน" จนแทบหมดโอกาส แม้จะพยายาม "ฝากท้อง" ไว้กับพรรคภูมิใจไทยก็ตาม
แม้ว่า "มรสุมลูกที่สาม" จะอยู่นอกเหนือการควบคุมของพรรคประชาธิปัตย์ แต่ก็สามารถสยบพลานุภาพของมรสุมลูกนี้ได้ หากเร่งมือ ตั้งใจในการทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศอย่างแท้จริง โดยไม่มี "จิตทุจริต" แอบแฝง
หากแต่ "มรสุมสองลูกแรก" ในพรรคประชาธิปัตย์ หากไม่สามารถควบคุมหรือกำหนดทิศทางได้
ระวัง อาจจะทำให้พรรคประชาธิปัตย์พังพาบ
มรสุมในปชป. กระหน่ำคนกันเอง สัญญาณถึงมาร์ค
หน้าแรกTeeNee ที่นี่ข่าววันนี้, ข่าวหน้าหนึ่ง ข่าวการเมือง มรสุมในปชป. กระหน่ำคนกันเอง สัญญาณถึงมาร์ค