นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม เวลา 08.30 น.
กรณีสั่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) หลังถูกร้องเรียนความไม่โปร่งใสในการว่าจ้างบริษัทเอกชนทำประชาสัมพันธ์ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) วงเงิน 18 ล้านบาท ในสมัย พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ เป็น ผบ.ตร.ว่า กรณีดังกล่าวเนื่องจากมีผู้ร้องเรียนกล่าวโทษ พล.ต.อ.พัชรวาทในสมัยรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช เนื่องจากมีการว่าจ้างเอกชนทำประชาสัมพันธ์ไม่เป็นไปตามกติกา พอมาถึงรัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ มีการสั่งการให้ตั้งกรรมการสอบสวนเรื่องนี้ค้างไว้ จนกระทั่งมาถึงสมัยตนเป็นรองนายกฯกำกับดูแล สตช. จึงได้หารือกับคณะกรรมการกฤษฎีกา และได้รับคำแนะนำสองแนวทางคือ 1.ตั้งกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง ตามมาตรา 84 ของ พ.ร.บ.ตำรวจ 2.ให้เป็นอำนาจของตนสั่งยุติเรื่องได้ จึงได้นำเรื่องเสนอนายกรัฐมนตรี (นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ) ขอให้มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง ซึ่งนายกฯให้ความเห็นชอบ ขณะนี้อยู่ระหว่างให้ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรียกร่างคำสั่ง เพื่อตั้งกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง โดยคนที่จะเป็นกรรมการสอบสวน ผบ.ตร.จะต้องมีอาวุโสสูงกว่า อาทิ เป็นปลัดกระทรวง 2-3 คน รวมทั้งมีข้าราชการตำรวจด้วย
ผู้สื่อข่าวถามว่า ระหว่างการตั้งกรรมการสอบสวน ผบ.ตร.จำเป็นต้องย้าย พล.ต.อ.พัชรวาทมาช่วยราชการหรือไม่ นายสุเทพตอบว่า ขอดูกฎหมายก่อน
เพราะไม่แน่ใจว่าหากมีการย้าย ผบ.ตร.มาช่วยราชการ อาจถูก พล.ต.อ.พัชรวาทฟ้องได้ จึงต้องให้ความเป็นธรรม เมื่อถามว่า โดยปกติของการตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง หาก ผบ.ตร.ยังอยูในตำแหน่งอาจเป็นปัญหาอุปสรรคต่อการสอบสวนข้อเท็จจริงได้ นายสุเทพตอบว่า ไม่ใช่ เป็นเรื่องที่เข้าใจกันไปเอง ปกติไม่ได้ทำเช่นนั้น สิ่งสำคัญคือ คนที่มาสอบสวนข้อเท็จจริงต้องไม่ใช่ผู้ใต้บังคับบัญชา ต้องให้ผู้ที่ใหญ่กว่ามาสอบ
เมื่อถามว่า แสดงว่าการตั้งกรรมการสอบสวนดังกล่าวไม่เกี่ยวกับกระแสข่าวที่นายกรัฐมนตรีพยายามให้ พล.ต.อ.พัชรวาทย้ายมาช่วยราชการที่ทำเนียบรัฐบาล นายสุเทพตอบว่า ไม่มี นายกฯเป็นนักกฎหมาย มีความรอบรู้เรื่องกฎหมายดี จึงทำอะไรอยู่ในกติกา
นายสุเทพกล่าวว่า ส่วนการพิจารณาโผการแต่งตั้งโยกย้ายนายตำรวจนั้น เป็นหน้าที่ของ ผบ.ตร.
เนื่องจากการโยกย้ายแต่งตั้งตามโครงสร้างใหม่ ควรเสร็จสิ้นตั้งแต่วันที่ 16 สิงหาคมที่ผ่านมา แต่มีปัญหาอุปสรรค ซึ่งการโยกย้ายมีสองระดับคือ 1.ระดับนายพล ที่จะมีระดับ พ.ต.อ.เลื่อนขึ้นเป็น พล.ต.ต.10 นาย ส่วนที่เหลือเป็นการเกลี่ยตำแหน่งจากที่เคยประจำอยู่ตามสำนักผู้บัญชาการตำรวจไปอยู่ตามโครงสร้างที่จัดขึ้นมาใหม่ รวมแล้วมีประมาณ 142 คน ซึ่งผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ที่ตนเป็นประธานเรียบร้อยแล้ว ไม่มีอะไรต้องเปลี่ยนแปลง 2.ระดับรองผู้บังคับการถึงสารวัตร ซึ่ง ก.ตร.มีมติให้ ผบ.ตร. รอง ผบ.ตร. และจเรตำรวจร่วมกันเป็นกรรมการพิจารณา
"แต่การแต่งตั้งโยกย้ายตามโครงสร้างใหม่ครั้งนี้ อาจมีนายตำรวจบางคนที่ได้รับการแต่งตั้งไปบรรจุตามโครงสร้างใหม่ โดยไม่เป็นไปตามกฎของ ก.ตร.ที่กำหนดไว้ เช่น ไม่ได้อยู่ในหน่วยงานนั้น มาเป็นเวลาที่กำหนด ดังนั้น ก.ตร.จึงมีมติว่าเพื่อให้เกิดความรอบคอบ เป็นธรรม ผู้ที่อยู่ในข่ายยกเว้นเหล่านี้ ต้องนำมาขออนุมัติ ก.ตร.เป็นรายๆ ไป ถือเป็นเรื่องปกติ ไม่น่าตื่นเต้น ทั้งนี้ ก.ตร.ได้ประสานงานมาว่าจะให้ประกาศการแต่งตั้งโยกย้ายเหล่านี้ลงในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 7 กันยายนนี้ ดังนั้น บัญชีแต่งตั้งโยกย้ายเหล่านี้ควรเสนอขึ้นมาก่อน เพื่อให้ทันการบรรจุแต่งตั้งในวันดังกล่าว เพราะภายในเดือนกันยายนจะต้องทำบัญชีแต่งตั้งโยกย้ายนายตำรวจที่เกษียณอายุราชการต่อไป" นายสุเทพกล่าว