มติชน
นับแต่เริ่มมีกระบวนการ "ไม่เอาทักษิณ"
บุคคลที่ถูกพาดพิงถึง และบางครั้งถึงขนาด "ถูกกระทำ" มากที่สุดคนหนึ่งก็คงไม่พ้น พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี
ที่เป็นเช่นนั้น อาจเนื่องจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ครองอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในรัฐบาลชุดก่อน จนใครๆ พากันรู้สึกว่า ไม่มีใครที่อาจจะต้านทาน พ.ต.ท.ทักษิณได้อีกแล้ว
จะมีคณะบุคคลที่จะเหนืออยู่บ้างก็คือ องคมนตรี โดยเฉพาะ พล.อ.เปรมซึ่งเคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาถึง 8 ปี น่าจะท้วงติงหรือให้คำแนะนำรัฐบาลได้บ้าง
และเมื่อ พ.ต.ท.ทักษิณถูกวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องการใช้อำนาจ การแสวงหาประโยชน์ จนนำไปสู่กระแส "ทักษิณ ออกไป"
สังคมจึงพากันจับตาว่าผู้ใหญ่ของบ้านเมืองอย่าง พล.อ.เปรมจะมีท่าทีอย่างไร
ด้วยเหตุนี้ ยามใดที่ พล.อ.เปรมมีวาระที่จะต้องพูดกับสาธารณะ ความสนใจของสังคมที่มีต่อคำพูดนั้นจะมีอย่างสูงและถูกตีความหมายไปต่างๆ นานา แม้ พล.อ.เปรมจะระมัดระวัง และพยายามพูดในเชิงหลักการตลอด ก็ตาม
หากจำได้ เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2548 พล.อ.เปรมได้กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง "จริยธรรมของการบริหารภาครัฐ" ที่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ในงานครบรอบ 50 ปี คณะรัฐประศาสนศาสตร์
โดยได้กล่าวเน้นถึงความซื่อสัตย์ การเรียกร้องมาตรฐานทางจริยธรรม คือ ต้องมีความเป็นธรรม ไม่ลุแก่อำนาจ ไม่ใช้อำนาจเบียดเบียนผู้อื่น ซื่อสัตย์ มีความโปร่งใส
นอกจากนี้ ยังได้กระตุ้นเตือนเรื่องค่านิยม ที่คนไทยไม่ควรนิยมยกย่องคนร่ำรวยว่าเป็นคนดี น่าเคารพนับถือ โดยไม่ใส่ใจว่าเขาเหล่านั้นร่ำรวยมาด้วยวิธีใด และดูหมิ่นคนจนต่างๆ นานา
คำพูดดังกล่าวมีการมองว่า น่าจะเป็นการ "เตือน" ใครบางคน ซึ่งแน่นอนว่าสำหรับฝ่าย พ.ต.ท.ทักษิณคงจะประเมินว่าไม่น่าจะเป็นผลดีแก่ตนเองนัก
และต่อมา เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2549 พล.อ.เปรมได้กล่าวเน้นย้ำเรื่อง จริยธรรม คุณธรรม อีกครั้งในงานสัมมนาทางวิชาการเรื่อง "การบริหารจัดการภาครัฐตามแนวทางพระราชดำริเพื่อประเทศไทยในอนาคต" ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต
คำพูดที่ว่า "ความเก่ง ความฉลาดเป็นเรื่องที่ดี แต่ความเก่ง ความฉลาด ที่ไม่มีคุณธรรม ไม่มีจริยธรรม ไม่น่าจะดี"
ถูกนำไปวิเคราะห์อย่างกว้างขวาง
ทั้งที่ พล.อ.เปรมได้กล่าวในเชิงออกตัว โดยยืนยันว่าไม่มีเจตนาที่จะตำหนิใคร ไม่มีเจตนาตำหนิองค์กรใด เมื่อใครฟังแล้วไม่ชอบใจก็ต้องขออภัย
ซึ่งสะท้อนถึงความระมัดระวังของ พล.อ.เปรมอย่างสูง
แต่แล้ว นายสมัคร สุนทรเวช และ นายดุสิต ศิริวรรณ ได้สวมวิญญาณร่างทรงรัฐบาลวิพากษ์ พล.อ.เปรมว่าจงใจ "เลือกข้าง" ผ่านรายการทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 5
ซึ่งได้ก่อให้เกิดปฏิกิริยา "ไม่พอใจ" ต่อ 2 พิธีกรดังกล่าวอย่างรุนแรง จากทั้งเหล่าทัพ ประชาชนทั้งภาคอีสาน และภาคใต้
จนบุคคลทั้งสองต้องยุติรายการทางสถานีโทรทัศน์ในไม่กี่วัน
เหตุการณ์ดังกล่าวแม้จะจบลงโดยเร็วแต่ก็สะท้อนให้เห็นว่า มีบางฝ่ายที่รู้สึกว่าได้รับผลกระทบจากคำพูดของ พล.อ.เปรม และพร้อมจะแสดงปฏิกิริยาตอบโต้
ทั้งที่ว่าไปแล้ว สิ่งที่ พล.อ.เปรมพูดเป็น "หลัก" และเป็นแนวทางที่คนส่วนใหญ่อยากจะให้เป็น
ซึ่งหาก "ใคร" ตระหนักรู้แล้วนำไปใช้ ตอนนั้นอาจไม่ต้องเผชิญ "วิกฤต" อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบันก็ได้
การไม่นำพาต่อคำแนะนำดีๆ ดังกล่าวได้นำไปสู่ "การเมืองที่แบ่งเป็นฝักเป็นฝ่าย" อย่างชัดเจนในเวลาต่อมา
เมื่อเป็นฝักเป็นฝ่าย ก็ย่อมมีความพยายามของคู่ขัดแย้ง ที่จะเข้าไปพึ่งบารมีของผู้หลักผู้ใหญ่
พล.อ.เปรมก็เป็นหนึ่งในผู้ใหญ่นั้น
ซึ่งแน่นอนย่อมสร้างความลำบากใจให้อย่างมาก เพราะไม่อาจตอบรับหรือปฏิเสธฝ่ายใดได้ นอกจากต้องนิ่งเฉย แต่การนิ่งเฉยดังกล่าวก็ไม่วายถูกนำไปตีความให้เป็นประโยชน์กับตัวเองอยู่ดี
อย่างในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนต่อเนื่องถึงต้นเดือนธันวาคม 2548 ที่ทั้งฝ่ายรัฐบาลไทยรักไทย และฝ่ายของ นายสนธิ ลิ้มทองกุล ต่างใช้เรื่อง "สถาบันชั้นสูง" มาเป็นประเด็นในการเคลื่อนไหวทางการเมือง
พล.อ.เปรมก็ได้เข้ามามีส่วนคลี่คลายโดยบอกผ่านมายัง พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี ให้บอกกับทุกฝ่ายว่า "สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสถาบันสูงสุดที่ไม่ควรอ้างอิงและเกี่ยวข้องกับเรื่องทางการเมือง การเมืองก็ควรจะแก้ด้วยการเมือง"
คำว่า การเมืองต้องแก้ด้วยการเมือง นั้น ดูจะชัดเจนว่า พล.อ.เปรมต้องการให้แก้ไขปัญหาในระบอบประชาธิปไตย
ซึ่งตรงนี้หากได้กลับไปทบทวนก็จะได้ตระหนักว่า พล.อ.เปรมพยายามยืนยันในเรื่อง "ระบบ" ของประชาธิปไตยอย่างชัดแจ้ง
แม้กระทั่งเมื่อมีการชุมนุมใหญ่ในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2549 ที่นำโดยกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย นายสนธิ ลิ้มทองกุล ได้ประกาศจะถวายฎีกาผ่าน พล.อ.เปรม
เพื่อให้ พ.ต.ท.ทักษิณพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
ก็ชัดเจนว่าในฐานะ พล.อ.เปรมเป็นผู้ใหญ่ ซึ่งจะปฏิเสธก็ไม่ได้ จะรับก็ไม่ได้ เลยพยายามให้ออกเป็นกลางๆ ด้วยการยืนยันผ่านไปยังสาธารณะว่า "ไม่ได้แบ่งฝ่ายคือ ไม่ใช่ฝ่ายของ พ.ต.ท.ทักษิณ และไม่ใช่ฝ่ายนายสนธิ"
ขณะเดียวกัน ยังเตือนสติให้นำเหตุการณ์เดือนพฤษภาทมิฬมาเป็นบทเรียนด้วยว่าการที่ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ขัดแย้งกับ พล.อ.สุจินดา คราประยูร ขัดแย้งกันนั้น "เราจะทำอย่างนั้นอีกไหม"
อันทำให้การชุมนุมวันที่ 4 กุมภาพันธ์ผ่านพ้นไปได้ด้วยดี ไม่มีการนองเลือด
แต่กระนั้นการที่ พล.อ.เปรมกลายเป็นความคาดหวังของสังคมว่าจะเป็นทางออกให้กับวิกฤตการเมือง
ทำให้ พล.อ.เปรมลงมาตกอยู่ในภาวะกดดันอย่างหนัก
เสียงระเบิดที่กัมปนาทขึ้นที่บ้านสี่เสาฯ
รวมถึงข่าวลือต่างๆ นานาที่ออกมา ล้วนสะท้อนให้เห็นแรงกดดันนั้น
แต่ พล.อ.เปรมคงไม่อาจแสดงออกอะไรได้มากนัก เนื่องจากเป็นบุคคลที่พระมหากษัตริย์ "ทรงเลือก" และ "ทรงแต่งตั้ง" ให้เป็นประธานองคมนตรี
ขณะเดียวกัน รัฐธรรมนูญยังระบุชัดเจนว่าต้อง "ไม่แสดงการฝักใฝ่ในพรรคการเมืองใดๆ"
นี่จึงเป็นภาวะที่ "วางตัว" ได้ลำบากยิ่ง
ลำบากที่จะต้องไม่เป็นพวกของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
แต่ดูเหมือนว่า "ความขัดแย้งทางการเมือง" ที่ขับเคลื่อนไปสู่จุดที่ "วิกฤตที่สุดในโลก" กลับทำให้ พล.อ.เปรมไม่เพียงจะถูกมองว่าอยู่ข้างใดข้างหนึ่งเท่านั้น
ณ วันนี้ ได้ถูกหาว่ากลายเป็นผู้ "ก่อการ" ที่จะโค่นล้มผู้หนึ่งผู้ใดเสียเอง
นี่ย่อมถือเป็นภาวะ "บานปลาย" ของสถานการณ์ที่น่าห่วงใยยิ่ง
คํากล่าวของ พ.ต.ท.ทักษิณต่อที่ประชุมข้าราชการระดับสูงเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2549 ที่ระบุถึงวิกฤตการณ์การเมืองที่เกิดขึ้นว่ามีสาเหตุมาจาก
"องค์กรนอกรัฐธรรมนูญไม่ใช่ในรัฐธรรมนูญ คือบุคคลซึ่งดูเหมือนมีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ เข้ามาวุ่นวายองค์กรที่มีในระบบรัฐธรรมนูญมากไป มีการไม่เคารพกติกา"
"มีคนอยากเป็นนายกรัฐมนตรีมาตรา 7 ทั้งๆ ที่มีพระราชดำรัสรับสั่งออกมาแล้วว่ามาตรา 7 นั้นไม่เป็นประชาธิปไตย เลยทำให้วุ่นวายกัน"
แม้ พ.ต.ท.ทักษิณจะไม่ได้มีการระบุถึงใครโดยตรง
แต่เมื่อกล่าวถึง ความเป็น "ผู้มีบารมี" ในบ้านเมืองเรานี้ ดูจะนับนิ้วได้ว่าหมายถึงใคร
การพูดเช่นนี้นี่ย่อมเป็นเหมือนการประกาศศึกกับผู้มีบารมีอย่างไม่ต้องสงสัย
ประกาศศึกว่า ผู้มีบารมีต้องการแย่งชิงอำนาจไปจากตนเอง
คำว่า ผู้มีบารมีนั้นก็ดูสังคมจะ "เข้าใจ" ได้ไม่ยากว่า พ.ต.ท.ทักษิณหมายถึงใคร
และความเข้าใจนั้นย่อมสร้างความรู้สึกเหมือนอย่างที่ พล.ร.ท.พะจุณณ์ ตามประทีป หัวหน้าสำนักงานประธานองคมนตรี และเลขานุการส่วนตัวรู้สึกนั่นแหละ ว่าถ้า พ.ต.ท.ทักษิณหมายถึง พล.อ.เปรม ก็แย่มาก ถือว่าไม่มีความจริงใจ เพราะเจอกันก็ทักทายดี แล้วมาพูดแบบนี้เหมือนไม่ใช่ลูกผู้ชาย ไม่เหมาะสมเพราะเป็นถึงนายกรัฐมนตรี ถ้านายกรัฐมนตรีพูดหมายถึง พล.อ.เปรมก็แสดงว่าไม่มีวุฒิภาวะ พล.อ.เปรมท่านจะไม่เคยว่าใคร ท่านเป็นผู้ใหญ่เสมอ ซึ่งความเป็นผู้ใหญ่ไม่ใช่อยู่ที่อายุ แต่อยู่ที่ตำแหน่งหน้าที่ที่บ่งบอกให้เห็นว่าเป็นอย่างไร ถ้าเผื่อนายกรัฐมนตรีหมายถึง พล.อ.เปรมก็น่าเสียใจ เพราะ พ.ต.ท.ทักษิณก็พึ่งพาอาศัย พล.อ.เปรมมาเยอะแยะ
และจะน่าเสียใจยิ่งขึ้นไปอีก หากเราได้พิจารณาบทบาทของ พล.อ.เปรมที่มีต่อสังคมไทย
ตั้งแต่อดีต พล.อ.เปรมเป็นตัวจักรสำคัญแห่งการชูแนวทาง "การเมืองนำการทหาร" อันทำให้ได้ชัยชนะต่อพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย
และเมื่อ พล.อ.เปรมก้าวขึ้นมาสู่อำนาจในฐานะ "นายกรัฐมนตรี" ก็สามารถรักษาสมดุลในช่วงภาวะของการเปลี่ยนผ่านอำนาจจากเผด็จการทหารไปสู่ประชาธิปไตย
พล.อ.เปรมพยายามประคับประคองภาวะ "ประชาธิปไตยครึ่งใบ" ให้ดำเนินไปสู่ภาวะ "เต็มใบ" อย่างอดทน
ต้องเผชิญการกดดันอย่างหนักหน่วงจากกองทัพ และจากพรรคการเมือง
ถูกทำรัฐประหารหลายครั้ง
เผชิญมรสุมการเมืองจนต้องยุบสภาหลายหน
เผชิญวิกฤตเศรษฐกิจที่หนักหน่วงรุนแรงแต่นำพาประเทศชาติผ่านมาได้
และเมื่อครองอำนาจอยู่ 8 ปี แม้จะมีกองทัพเคียงข้างอย่างอบอุ่น ขณะเดียวกัน พรรคการเมืองต่างๆ ก็ล้วนให้การสนับสนุนเต็มที่
แต่ที่สุด พล.อ.เปรมก็ได้ลั่นวาจา "ผมพอแล้ว" พร้อมเปลี่ยนผ่านอำนาจไปสู่นายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง
จากวันนั้นการเมืองไทยก้าวไปสู่การเป็นประชาธิปไตยอย่างเต็มใบ
คุณูปการดังกล่าวทำให้ พล.อ.เปรมกลายเป็น รัฐบุรุษของชาติ อย่างสมภาคภูมิ
และเป็นเกียรติยศอย่างยิ่งเมื่อดำรงตำแหน่ง "ประธานองคมนตรี" ในปัจจุบัน
ซึ่งเมื่อเทียบกับ "นักการเมือง" ปัจจุบัน ยังห่างชั้นกันมาก
จึงเป็นการ "เหิมหาญ" เกินตัวไปมากทีเดียว สำหรับผู้ที่กล้าไปทำให้ "ป๋าเจ็บ"
Love Attack เทศกาลความรักแบบนี้ บอกอ้อมๆให้เขารู้กัน
Chocolate Dreams สาวชั่งฝันและช็อคโกแลต กับหนุ่มหล่อ ไม่แน่คุณอาจจะได้เจอแบบนี้ก็ได้
Love You Like Crazy เพลงเพราะๆ ที่ถ้าส่งให้คนที่เรารัก โลกนี้ก็สีชมพูกันทีเดียว