อย่าทำป๋าเจ็บ / บทความพิเศษมติชน

มติชน

นับแต่เริ่มมีกระบวนการ "ไม่เอาทักษิณ"

บุคคลที่ถูกพาดพิงถึง และบางครั้งถึงขนาด "ถูกกระทำ" มากที่สุดคนหนึ่งก็คงไม่พ้น พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี


ที่เป็นเช่นนั้น อาจเนื่องจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ครองอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในรัฐบาลชุดก่อน จนใครๆ พากันรู้สึกว่า ไม่มีใครที่อาจจะต้านทาน พ.ต.ท.ทักษิณได้อีกแล้ว

จะมีคณะบุคคลที่จะเหนืออยู่บ้างก็คือ องคมนตรี โดยเฉพาะ พล.อ.เปรมซึ่งเคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาถึง 8 ปี น่าจะท้วงติงหรือให้คำแนะนำรัฐบาลได้บ้าง

และเมื่อ พ.ต.ท.ทักษิณถูกวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องการใช้อำนาจ การแสวงหาประโยชน์ จนนำไปสู่กระแส "ทักษิณ ออกไป"

สังคมจึงพากันจับตาว่าผู้ใหญ่ของบ้านเมืองอย่าง พล.อ.เปรมจะมีท่าทีอย่างไร

ด้วยเหตุนี้ ยามใดที่ พล.อ.เปรมมีวาระที่จะต้องพูดกับสาธารณะ ความสนใจของสังคมที่มีต่อคำพูดนั้นจะมีอย่างสูงและถูกตีความหมายไปต่างๆ นานา แม้ พล.อ.เปรมจะระมัดระวัง และพยายามพูดในเชิงหลักการตลอด ก็ตาม

หากจำได้ เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2548 พล.อ.เปรมได้กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง "จริยธรรมของการบริหารภาครัฐ" ที่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ในงานครบรอบ 50 ปี คณะรัฐประศาสนศาสตร์

โดยได้กล่าวเน้นถึงความซื่อสัตย์ การเรียกร้องมาตรฐานทางจริยธรรม คือ ต้องมีความเป็นธรรม ไม่ลุแก่อำนาจ ไม่ใช้อำนาจเบียดเบียนผู้อื่น ซื่อสัตย์ มีความโปร่งใส

นอกจากนี้ ยังได้กระตุ้นเตือนเรื่องค่านิยม ที่คนไทยไม่ควรนิยมยกย่องคนร่ำรวยว่าเป็นคนดี น่าเคารพนับถือ โดยไม่ใส่ใจว่าเขาเหล่านั้นร่ำรวยมาด้วยวิธีใด และดูหมิ่นคนจนต่างๆ นานา


คำพูดดังกล่าวมีการมองว่า น่าจะเป็นการ "เตือน" ใครบางคน ซึ่งแน่นอนว่าสำหรับฝ่าย พ.ต.ท.ทักษิณคงจะประเมินว่าไม่น่าจะเป็นผลดีแก่ตนเองนัก

และต่อมา เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2549 พล.อ.เปรมได้กล่าวเน้นย้ำเรื่อง จริยธรรม คุณธรรม อีกครั้งในงานสัมมนาทางวิชาการเรื่อง "การบริหารจัดการภาครัฐตามแนวทางพระราชดำริเพื่อประเทศไทยในอนาคต" ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต

คำพูดที่ว่า "ความเก่ง ความฉลาดเป็นเรื่องที่ดี แต่ความเก่ง ความฉลาด ที่ไม่มีคุณธรรม ไม่มีจริยธรรม ไม่น่าจะดี"

ถูกนำไปวิเคราะห์อย่างกว้างขวาง

ทั้งที่ พล.อ.เปรมได้กล่าวในเชิงออกตัว โดยยืนยันว่าไม่มีเจตนาที่จะตำหนิใคร ไม่มีเจตนาตำหนิองค์กรใด เมื่อใครฟังแล้วไม่ชอบใจก็ต้องขออภัย

ซึ่งสะท้อนถึงความระมัดระวังของ พล.อ.เปรมอย่างสูง

แต่แล้ว นายสมัคร สุนทรเวช และ นายดุสิต ศิริวรรณ ได้สวมวิญญาณร่างทรงรัฐบาลวิพากษ์ พล.อ.เปรมว่าจงใจ "เลือกข้าง" ผ่านรายการทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 5

ซึ่งได้ก่อให้เกิดปฏิกิริยา "ไม่พอใจ" ต่อ 2 พิธีกรดังกล่าวอย่างรุนแรง จากทั้งเหล่าทัพ ประชาชนทั้งภาคอีสาน และภาคใต้

จนบุคคลทั้งสองต้องยุติรายการทางสถานีโทรทัศน์ในไม่กี่วัน

เหตุการณ์ดังกล่าวแม้จะจบลงโดยเร็วแต่ก็สะท้อนให้เห็นว่า มีบางฝ่ายที่รู้สึกว่าได้รับผลกระทบจากคำพูดของ พล.อ.เปรม และพร้อมจะแสดงปฏิกิริยาตอบโต้

ทั้งที่ว่าไปแล้ว สิ่งที่ พล.อ.เปรมพูดเป็น "หลัก" และเป็นแนวทางที่คนส่วนใหญ่อยากจะให้เป็น

ซึ่งหาก "ใคร" ตระหนักรู้แล้วนำไปใช้ ตอนนั้นอาจไม่ต้องเผชิญ "วิกฤต" อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบันก็ได้

การไม่นำพาต่อคำแนะนำดีๆ ดังกล่าวได้นำไปสู่ "การเมืองที่แบ่งเป็นฝักเป็นฝ่าย" อย่างชัดเจนในเวลาต่อมา

เมื่อเป็นฝักเป็นฝ่าย ก็ย่อมมีความพยายามของคู่ขัดแย้ง ที่จะเข้าไปพึ่งบารมีของผู้หลักผู้ใหญ่

พล.อ.เปรมก็เป็นหนึ่งในผู้ใหญ่นั้น


ซึ่งแน่นอนย่อมสร้างความลำบากใจให้อย่างมาก เพราะไม่อาจตอบรับหรือปฏิเสธฝ่ายใดได้ นอกจากต้องนิ่งเฉย แต่การนิ่งเฉยดังกล่าวก็ไม่วายถูกนำไปตีความให้เป็นประโยชน์กับตัวเองอยู่ดี

อย่างในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนต่อเนื่องถึงต้นเดือนธันวาคม 2548 ที่ทั้งฝ่ายรัฐบาลไทยรักไทย และฝ่ายของ นายสนธิ ลิ้มทองกุล ต่างใช้เรื่อง "สถาบันชั้นสูง" มาเป็นประเด็นในการเคลื่อนไหวทางการเมือง

พล.อ.เปรมก็ได้เข้ามามีส่วนคลี่คลายโดยบอกผ่านมายัง พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี ให้บอกกับทุกฝ่ายว่า "สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสถาบันสูงสุดที่ไม่ควรอ้างอิงและเกี่ยวข้องกับเรื่องทางการเมือง การเมืองก็ควรจะแก้ด้วยการเมือง"

คำว่า การเมืองต้องแก้ด้วยการเมือง นั้น ดูจะชัดเจนว่า พล.อ.เปรมต้องการให้แก้ไขปัญหาในระบอบประชาธิปไตย

ซึ่งตรงนี้หากได้กลับไปทบทวนก็จะได้ตระหนักว่า พล.อ.เปรมพยายามยืนยันในเรื่อง "ระบบ" ของประชาธิปไตยอย่างชัดแจ้ง

แม้กระทั่งเมื่อมีการชุมนุมใหญ่ในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2549 ที่นำโดยกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย นายสนธิ ลิ้มทองกุล ได้ประกาศจะถวายฎีกาผ่าน พล.อ.เปรม

เพื่อให้ พ.ต.ท.ทักษิณพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี


ก็ชัดเจนว่าในฐานะ พล.อ.เปรมเป็นผู้ใหญ่ ซึ่งจะปฏิเสธก็ไม่ได้ จะรับก็ไม่ได้ เลยพยายามให้ออกเป็นกลางๆ ด้วยการยืนยันผ่านไปยังสาธารณะว่า "ไม่ได้แบ่งฝ่ายคือ ไม่ใช่ฝ่ายของ พ.ต.ท.ทักษิณ และไม่ใช่ฝ่ายนายสนธิ"

ขณะเดียวกัน ยังเตือนสติให้นำเหตุการณ์เดือนพฤษภาทมิฬมาเป็นบทเรียนด้วยว่าการที่ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ขัดแย้งกับ พล.อ.สุจินดา คราประยูร ขัดแย้งกันนั้น "เราจะทำอย่างนั้นอีกไหม"

อันทำให้การชุมนุมวันที่ 4 กุมภาพันธ์ผ่านพ้นไปได้ด้วยดี ไม่มีการนองเลือด

แต่กระนั้นการที่ พล.อ.เปรมกลายเป็นความคาดหวังของสังคมว่าจะเป็นทางออกให้กับวิกฤตการเมือง

ทำให้ พล.อ.เปรมลงมาตกอยู่ในภาวะกดดันอย่างหนัก

เสียงระเบิดที่กัมปนาทขึ้นที่บ้านสี่เสาฯ

รวมถึงข่าวลือต่างๆ นานาที่ออกมา ล้วนสะท้อนให้เห็นแรงกดดันนั้น

แต่ พล.อ.เปรมคงไม่อาจแสดงออกอะไรได้มากนัก เนื่องจากเป็นบุคคลที่พระมหากษัตริย์ "ทรงเลือก" และ "ทรงแต่งตั้ง" ให้เป็นประธานองคมนตรี

ขณะเดียวกัน รัฐธรรมนูญยังระบุชัดเจนว่าต้อง "ไม่แสดงการฝักใฝ่ในพรรคการเมืองใดๆ"

นี่จึงเป็นภาวะที่ "วางตัว" ได้ลำบากยิ่ง


ลำบากที่จะต้องไม่เป็นพวกของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

แต่ดูเหมือนว่า "ความขัดแย้งทางการเมือง" ที่ขับเคลื่อนไปสู่จุดที่ "วิกฤตที่สุดในโลก" กลับทำให้ พล.อ.เปรมไม่เพียงจะถูกมองว่าอยู่ข้างใดข้างหนึ่งเท่านั้น

ณ วันนี้ ได้ถูกหาว่ากลายเป็นผู้ "ก่อการ" ที่จะโค่นล้มผู้หนึ่งผู้ใดเสียเอง

นี่ย่อมถือเป็นภาวะ "บานปลาย" ของสถานการณ์ที่น่าห่วงใยยิ่ง

คํากล่าวของ พ.ต.ท.ทักษิณต่อที่ประชุมข้าราชการระดับสูงเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2549 ที่ระบุถึงวิกฤตการณ์การเมืองที่เกิดขึ้นว่ามีสาเหตุมาจาก

"องค์กรนอกรัฐธรรมนูญไม่ใช่ในรัฐธรรมนูญ คือบุคคลซึ่งดูเหมือนมีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ เข้ามาวุ่นวายองค์กรที่มีในระบบรัฐธรรมนูญมากไป มีการไม่เคารพกติกา"

"มีคนอยากเป็นนายกรัฐมนตรีมาตรา 7 ทั้งๆ ที่มีพระราชดำรัสรับสั่งออกมาแล้วว่ามาตรา 7 นั้นไม่เป็นประชาธิปไตย เลยทำให้วุ่นวายกัน"

แม้ พ.ต.ท.ทักษิณจะไม่ได้มีการระบุถึงใครโดยตรง

แต่เมื่อกล่าวถึง ความเป็น "ผู้มีบารมี" ในบ้านเมืองเรานี้ ดูจะนับนิ้วได้ว่าหมายถึงใคร

การพูดเช่นนี้นี่ย่อมเป็นเหมือนการประกาศศึกกับผู้มีบารมีอย่างไม่ต้องสงสัย

ประกาศศึกว่า ผู้มีบารมีต้องการแย่งชิงอำนาจไปจากตนเอง

คำว่า ผู้มีบารมีนั้นก็ดูสังคมจะ "เข้าใจ" ได้ไม่ยากว่า พ.ต.ท.ทักษิณหมายถึงใคร

และความเข้าใจนั้นย่อมสร้างความรู้สึกเหมือนอย่างที่ พล.ร.ท.พะจุณณ์ ตามประทีป หัวหน้าสำนักงานประธานองคมนตรี และเลขานุการส่วนตัวรู้สึกนั่นแหละ ว่าถ้า พ.ต.ท.ทักษิณหมายถึง พล.อ.เปรม ก็แย่มาก ถือว่าไม่มีความจริงใจ เพราะเจอกันก็ทักทายดี แล้วมาพูดแบบนี้เหมือนไม่ใช่ลูกผู้ชาย ไม่เหมาะสมเพราะเป็นถึงนายกรัฐมนตรี ถ้านายกรัฐมนตรีพูดหมายถึง พล.อ.เปรมก็แสดงว่าไม่มีวุฒิภาวะ พล.อ.เปรมท่านจะไม่เคยว่าใคร ท่านเป็นผู้ใหญ่เสมอ ซึ่งความเป็นผู้ใหญ่ไม่ใช่อยู่ที่อายุ แต่อยู่ที่ตำแหน่งหน้าที่ที่บ่งบอกให้เห็นว่าเป็นอย่างไร ถ้าเผื่อนายกรัฐมนตรีหมายถึง พล.อ.เปรมก็น่าเสียใจ เพราะ พ.ต.ท.ทักษิณก็พึ่งพาอาศัย พล.อ.เปรมมาเยอะแยะ

และจะน่าเสียใจยิ่งขึ้นไปอีก หากเราได้พิจารณาบทบาทของ พล.อ.เปรมที่มีต่อสังคมไทย

ตั้งแต่อดีต พล.อ.เปรมเป็นตัวจักรสำคัญแห่งการชูแนวทาง "การเมืองนำการทหาร" อันทำให้ได้ชัยชนะต่อพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย

และเมื่อ พล.อ.เปรมก้าวขึ้นมาสู่อำนาจในฐานะ "นายกรัฐมนตรี" ก็สามารถรักษาสมดุลในช่วงภาวะของการเปลี่ยนผ่านอำนาจจากเผด็จการทหารไปสู่ประชาธิปไตย

พล.อ.เปรมพยายามประคับประคองภาวะ "ประชาธิปไตยครึ่งใบ" ให้ดำเนินไปสู่ภาวะ "เต็มใบ" อย่างอดทน

ต้องเผชิญการกดดันอย่างหนักหน่วงจากกองทัพ และจากพรรคการเมือง

ถูกทำรัฐประหารหลายครั้ง

เผชิญมรสุมการเมืองจนต้องยุบสภาหลายหน

เผชิญวิกฤตเศรษฐกิจที่หนักหน่วงรุนแรงแต่นำพาประเทศชาติผ่านมาได้


และเมื่อครองอำนาจอยู่ 8 ปี แม้จะมีกองทัพเคียงข้างอย่างอบอุ่น ขณะเดียวกัน พรรคการเมืองต่างๆ ก็ล้วนให้การสนับสนุนเต็มที่

แต่ที่สุด พล.อ.เปรมก็ได้ลั่นวาจา "ผมพอแล้ว" พร้อมเปลี่ยนผ่านอำนาจไปสู่นายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง

จากวันนั้นการเมืองไทยก้าวไปสู่การเป็นประชาธิปไตยอย่างเต็มใบ

คุณูปการดังกล่าวทำให้ พล.อ.เปรมกลายเป็น รัฐบุรุษของชาติ อย่างสมภาคภูมิ

และเป็นเกียรติยศอย่างยิ่งเมื่อดำรงตำแหน่ง "ประธานองคมนตรี" ในปัจจุบัน

ซึ่งเมื่อเทียบกับ "นักการเมือง" ปัจจุบัน ยังห่างชั้นกันมาก


จึงเป็นการ "เหิมหาญ" เกินตัวไปมากทีเดียว สำหรับผู้ที่กล้าไปทำให้ "ป๋าเจ็บ"

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์