เป็นปรากฏการณ์ที่ "ไม่ธรรมดา" เป็นอย่างยิ่ง
เมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นชอบประกาศให้อำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงที่บังคับใช้กฎหมาย 20 ฉบับ มาเป็นของ นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี เพื่อใช้ในการอนุมัติสั่งการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เครื่องมือที่น่าจับตาที่สุดในจำนวน 20 ฉบับ คือ ข้อบังคับกลาโหมว่าด้วยการใช้กำลังทหาร และการเคลื่อนย้ายกำลังทหาร เป็นการรวบอำนาจของ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ซึ่งนายสมัครเพิ่งแต่งตั้งให้เป็นผู้บัญชาการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ที่มอบอำนาจเต็มให้ ผบ.ทบ.บังคับบัญชาสั่งการ
เมื่อนายกฯ รวบอำนาจทหารกลับคืน บรรยากาศก็ตึงเครียดทันที
แม้รัฐบาลจะต้องการให้ทหารใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุม แต่ พล.อ.อนุพงษ์ ก็ยังยืนยันว่า จะไม่ใช้ความรุนแรง โดยจะใช้การเจรจา และกันไม่ให้ผู้ชุมนุม 2 ฝ่ายปะทะกันเท่านั้น การตัดสินใจครั้งนี้ของนายสมัคร ถูกมองว่า กำลังใช้อำนาจ "หักดิบ" ทหารด้วยการบีบให้ใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุม และอาจทำให้ ท.ทหาร หมดความอดทน ถึงขั้นรัฐประหารอีกรอบก็เป็นได้ !!!
ประเด็นนี้ รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร อาจารย์ประจำภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะนักวิชาการด้านความมั่นคง มองว่า อำนาจตามประกาศฉบับนี้น่าจะครอบคลุมไปถึงอำนาจของ ผบ.ทบ.ด้วย
แต่เจตนาในการใช้อำนาจน่าจะเป็นไปเพื่อการคาน และถ่วงดุลอำนาจของฝ่ายบริหารต่อฝ่ายกองทัพมากกว่า และไม่น่าจะมีเจตนาเพื่อต้องการ "บีบ" ทหารแต่อย่างใด "เจตนาการออกประกาศฉบับนี้น่าจะเป็นการถ่วงดุลอำนาจ และเพื่อป้องกันเอาไว้ก่อน เพราะในอดีตเวลาทหารเคลื่อนกำลังมักจะไม่แจ้งนายกฯ จึงทำให้นายกฯ เช่น ในสมัย พ.ต.ท.ทักษิณต้องเช็กกันให้วุ่น" รศ.ดร.ปณิธานแปลเจตนาของรัฐบาล
รศ.ดร.ปณิธานระบุด้วยว่า ปกติการออก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไม่ควรประกาศใช้นาน เพราะถ้าเหตุการณ์สงบก็ควรจะรีบยกเลิกโดยเร็ว ส่วนที่มีกระแสข่าวว่า นายกฯ จะยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในเร็วๆ นี้ ก็เป็นเรื่องที่ดี เพราะน่าจะทำให้สถานการณ์คลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น