เมื่อ อำนาจทหาร อยู่ในมือ สมัคร นองเลือด-รัฐประหาร...ก็อยู่แค่เอื้อม!

เป็นปรากฏการณ์ที่ "ไม่ธรรมดา" เป็นอย่างยิ่ง

เมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นชอบประกาศให้อำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงที่บังคับใช้กฎหมาย 20 ฉบับ มาเป็นของ นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี เพื่อใช้ในการอนุมัติสั่งการในสถานการณ์ฉุกเฉิน
เครื่องมือที่น่าจับตาที่สุดในจำนวน 20 ฉบับ คือ ข้อบังคับกลาโหมว่าด้วยการใช้กำลังทหาร และการเคลื่อนย้ายกำลังทหาร เป็นการรวบอำนาจของ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ซึ่งนายสมัครเพิ่งแต่งตั้งให้เป็นผู้บัญชาการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ที่มอบอำนาจเต็มให้ ผบ.ทบ.บังคับบัญชาสั่งการ

เมื่อนายกฯ รวบอำนาจทหารกลับคืน บรรยากาศก็ตึงเครียดทันที


แม้รัฐบาลจะต้องการให้ทหารใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุม แต่ พล.อ.อนุพงษ์ ก็ยังยืนยันว่า จะไม่ใช้ความรุนแรง โดยจะใช้การเจรจา และกันไม่ให้ผู้ชุมนุม 2 ฝ่ายปะทะกันเท่านั้น
การตัดสินใจครั้งนี้ของนายสมัคร ถูกมองว่า กำลังใช้อำนาจ "หักดิบ" ทหารด้วยการบีบให้ใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุม และอาจทำให้ ท.ทหาร หมดความอดทน ถึงขั้นรัฐประหารอีกรอบก็เป็นได้ !!!


ประเด็นนี้ รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร อาจารย์ประจำภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะนักวิชาการด้านความมั่นคง มองว่า อำนาจตามประกาศฉบับนี้น่าจะครอบคลุมไปถึงอำนาจของ ผบ.ทบ.ด้วย


แต่เจตนาในการใช้อำนาจน่าจะเป็นไปเพื่อการคาน และถ่วงดุลอำนาจของฝ่ายบริหารต่อฝ่ายกองทัพมากกว่า และไม่น่าจะมีเจตนาเพื่อต้องการ "บีบ" ทหารแต่อย่างใด
"เจตนาการออกประกาศฉบับนี้น่าจะเป็นการถ่วงดุลอำนาจ และเพื่อป้องกันเอาไว้ก่อน เพราะในอดีตเวลาทหารเคลื่อนกำลังมักจะไม่แจ้งนายกฯ จึงทำให้นายกฯ เช่น ในสมัย พ.ต.ท.ทักษิณต้องเช็กกันให้วุ่น" รศ.ดร.ปณิธานแปลเจตนาของรัฐบาล


รศ.ดร.ปณิธานระบุด้วยว่า ปกติการออก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไม่ควรประกาศใช้นาน เพราะถ้าเหตุการณ์สงบก็ควรจะรีบยกเลิกโดยเร็ว ส่วนที่มีกระแสข่าวว่า นายกฯ จะยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในเร็วๆ นี้ ก็เป็นเรื่องที่ดี เพราะน่าจะทำให้สถานการณ์คลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น


ที่สำคัญ ไม่ได้ทำให้นายกฯ สมัคร "เสียหน้า" แต่อย่างใด เพราะสามารถอ้างได้ว่า เหตุการณ์ชุลมุนยุติไปแล้ว


ขณะที่ รศ.ดร.ทิวา เงินยวง โฆษกคณะกรรมาธิการศึกษาการบังคับใช้ในรัฐธรรมนูญปี 2550 สภาผู้แทนราษฎร วิเคราะห์แง่มุมทางกฎหมายก่อนว่า มติ ครม.ในครั้งนี้ไม่ได้เป็นการใช้อำนาจซ้อนอำนาจ หรือขัดกับการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่อย่างใด เพราะเป็นการประกาศไปตามขั้นตอนในมาตรา 7 ของ พ.ร.ก.ฉบับนี้ และรัฐบาลสามารถออกประกาศได้อีกเรื่อยๆ หากสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงขึ้น


แต่ รศ.ดร.ทิวาก็มองว่า การออกประกาศครั้งนี้เป็นอะไรที่ "พิสดาร" อยู่พอสมควร เพราะก่อนหน้านี้ก็ได้มอบอำนาจทั้งหมดให้ พล.อ.อนุพงษ์ไปแล้ว


แต่ ณ วันนี้ พล.อ.อนุพงษ์ก็ยังมีอำนาจอยู่ ยกเว้นอำนาจการใช้ และเคลื่อนกำลังทหาร ซึ่งนายกฯ รวบเอาไปจาก ผบ.เหล่าทัพ โดยแต่เดิมการใช้ และเคลื่อนกำลัง ผบ.เหล่าทัพ ต้องเป็นคนเสนอขึ้นมาให้นายกฯ พิจารณา
สรุปว่า...วันนี้นายกฯ สามารถสั่งการใช้ และเคลื่อนกำลังทหารได้เลย โดยที่ไม่ต้องให้ ผบ.เหล่าทัพ เสนอขึ้นมา ปัญหาก็คือ พล.อ.อนุพงษ์ยืนยันมาตลอดว่า จะไม่ใช้กำลังสลายการชุมนุม หากนายกฯ สั่งให้เคลื่อนกำลัง และ พล.อ.อนุพงษ์แข็งขืนขึ้นมาจะนำมาสู่การรัฐประหารอีกครั้งหรือไม่ !?


รศ.ดร.ทิวามองว่า นี่แหละคือสิ่งที่น่ากังวล เพราะการไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาเป็นเรื่องที่สำคัญมากสำหรับทหาร

และการที่รัฐสภาเริ่มกดดันนายสมัครว่า หลังจากประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไปแล้ว แต่ไม่มีอะไรดีขึ้น จะเป็นตัวเร่งให้นายสมัคร ตัดสินใจเร็วขึ้น
"ผมกังวลว่า ถ้าคุณสมัครใช้ความรุนแรงขึ้นมา บ้านเมืองจะลุกเป็นไฟแน่ และมีสิทธิที่จะเป็นไปได้สูง เพราะการที่คุณสมัครไม่สามารถเข้าทำงานในทำเนียบได้ถือเป็นเรื่องที่ทำให้คุณสมัครเสียหน้ายิ่งกว่าถูกฝ่ายต่างๆ กดดันให้ลาออกเสียอีก แต่ถ้าคุณสมัครสั่งไปแล้ว และผบ.ทบ.ไม่ยอมทำตามคำสั่ง ทางเลือกสุดท้ายที่เราไม่อยากให้เกิดขึ้น มันก็อาจจะเกิดขึ้นอีกครั้ง"


ทางออกในเรื่องนี้ รศ.ดร.ทิวาชี้ว่า จะต้องมี "เจ้าภาพ" เปิดให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

เช่น ทหาร ตำรวจ รัฐบาล ฝ่ายค้าน ส.ว. พันธมิตร นปช. และองค์กรทางวิชาการที่เป็นที่ยอมรับ มาเจรจากันเพื่อหาทางออกที่ทุกฝ่ายยอมรับได้ร่วมกัน
แต่ก็ขึ้นอยู่กับคนคนเดียว คือ สมัคร ว่าจะยอมหรือไม่...


ถ้าบอกปัด และแข็งกร้าวเช่นที่แล้วๆ มา ก็คงไม่แคล้วนองเลือด หรือรัฐประหาร แน่นอน !!


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์