นายกฯ แถลงนโยบายสำคัญ10ข้อ เดินหน้าบริหารประเทศทันที
วันนี้ (12 ก.ย.67) การประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อแถลงนโยบายของรัฐบาลตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 162 มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม โดยนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้แถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภา โดยใช้เวลานานกว่า 1 ชั่วโมง ว่า คณะรัฐมนตรีขอแถลงนโยบายต่อรัฐสภาให้ทราบถึงเจตนารมณ์ ยุทธศาสตร์ และนโยบายของรัฐบาล ที่มุ่งมั่นจะสร้างความสามัคคี ปรองดองให้เกิดข้ึนในสังคมไทย และจะนำไปสู่ความร่วมมือกันในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองการปกครองของประเทศให้ก้าวหน้าเพื่อประโยชน์สุขของชาวไทยทุกคน
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่าประเด็น ความท้าทายที่ประเทศไทยต้องเผชิญว่า ประเทศไทยเผชิญความท้าทายอยู่หลายประการ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจที่โตน้อยกว่าศักยภาพจริง ปัญหาหนี้สินเรื้อรัง ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่รุนแรงขึ้น ปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาสังคมและการเมือง ทั้งหมดนี้รัฐบาลพร้อมจะประสานพลังกับทุกภาคส่วน เปลี่ยนความท้าทายให้กลายเป็น "ความหวัง โอกาส และความเสมอภาคทางเศรษฐกิจและสังคม" ของคนทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียม รัฐบาลพร้อมเสริมศักยภาพ สร้างโอกาสให้ประชาชนทั้งบทบาทและสิทธิเพื่อพลิกฟื้นประเทศจากปัญหาที่รุมเร้าและนำพาให้ประเทศไทยเดินไปข้างหน้าอย่างมั่นคง
นายกรัฐมนตรี ได้ยกความท้าทาย โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ ที่โตน้อยกว่าศักยภาพจริง ปัญหาหนี้สินเรื้อรัง ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่รุนแรงขึ้น ปัญหาสิ่งแวดล้อม และ สังคมและการเมือง ทั้งหมดนี้คือ "ความท้าทาย" ที่รัฐบาลพร้อมจะประสานพลังกับทุกภาคส่วน เปลี่ยนความท้าทายให้กลายเป็น "ความหวัง โอกาส และความเสมอภาค ทางเศรษฐกิจและสังคม" ของคนทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียม
จากนั้น นายกรัฐมนตรีได้แถลงนโยบายสำคัญเร่งด่วนเพื่อการเดินหน้าบริหารประเทศ 10 ข้อ ที่จะดําเนินการทันที ดังนี้
1) ผลักดันให้เกิดการปรับโครงสร้างหนี้ทั้งระบบ
2) ดูแลและส่งเสริมพร้อมกับปกป้องผลประโยชน์ ของผู้ประกอบการไทยโดยเฉพาะ SMEs
3) เร่งออกมาตรการเพื่อลดราคาค่าพลังงานและสาธารณูปโภค อัตราค่าโดยสารร่วมรองรับนโยบาย "ราคาเดียวตลอดสาย"
4) สร้างรายได้ใหม่ของรัฐด้วยการนําเศรษฐกิจนอกระบบภาษี (Informal Economy) และเศรษฐกิจใต้ดิน (Underground Economy) เข้าสู่ระบบภาษี และนำไปจัดสรรสวัสดิการด้านการศึกษา อุดหนุนค่าใช้จ่ายพื้นฐานของประชาชน ฯลฯ
5) เร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างความเชื่อมั่นและกระตุ้นให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย ควบคู่กับการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายและเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพ ให้ความสําคัญกับกลุ่มเปราะบางเป็นลำดับแรก ผลักดัน "ดิจิทัลวอลเล็ต" (Digital Wallet) ซึ่งเป็นการวางรากฐานเศรษฐกิจดิจิทัล และพัฒนาศูนย์ข้อมูลภาครัฐ
7) ส่งเสริมการท่องเที่ยว สานต่อการปรับโครงสร้างการตรวจลงตราท้ังหมดของประเทศเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ขอวีซ่า (วีซ่าฟรี) นำเทศกาลระดับโลกมาจัดในประเทศ ดึงดูดนักท่องเที่ยว กระจายรายได้
8) แก้ปัญหายาเสพติดอย่างเด็ดขาดและครบวงจร
9) เร่งแก้ปัญหา อาชญากรรม อาชญากรรมออนไลน์ มิจฉาชีพ และอาชญากรรมข้ามชาติเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน เพิ่มประสิทธิภาพการปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์
และ 10) รัฐบาลจะส่งเสริมพัฒนาศักยภาพ และจัดสวัสดิการสังคมให้สอดคล้องกับสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป สร้างความเท่าเทียมทางโอกาสและเศรษฐกิจให้แก่คนทุกกลุ่ม เป็นต้น
นายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่านโยบายรัฐบาลซึ่งเป็นแผนระยะยาวเพื่อการวางรากฐานและฟื้นโอกาสให้กับประเทศ อาทิ ยานยนต์แห่งอนาคต ดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศให้มาตั้งฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศอย่างต่อเนื่อง, ส่งเสริมวัฒนธรรมสร้างสรรค์และส่งออก ซอฟท์พาวเวอร์, เศรษฐกิจอุตสาหกรรมดิจิทัล ดึงดูดต่างชาติเพื่อตั้งดาต้าเซนตอร์, โรงงานผลิตเซมิคอนดัคเตอร์ และวางรากฐานการใช้ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI, การสนับสนุนระบบเศรษฐกิจสีเขียว, ศูนย์กลางการเงินระดับโลก, ขยายเศรษฐกิจสุขภาพและการแพทย์, ระบบสาธารณูปโภคคุณภาพ, พัฒนาด้านวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ, การสร้างศูนย์กลางและระบบคมนาคม (Logistics Hub) ผ่านโครงสร้างคมนาคมขนาดใหญ่ และขับเคลื่อนโครงการแลนด์บริดจ์, การแก้ปัญหาที่ดินทำกินด้วย One Map, จัดการคลื่นความถี่และสิทธิในวงโคจรดาวเทียม เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และปรับโครงสร้างภาษีครั้งใหญ่ เพื่อนำไปสู่การทำ Negative Income Tax ที่ผู้มีรายได้น้อยจะได้รับ "เงินภาษีคืนเป็นขั้นบันได" ตามเกณฑ์ที่กำหนด
นอกจากนี้ ยังมีแผนนโยบายเพื่อฟื้นโอกาสประเทศ อาทิ ส่งเสริมการเกิดและเติบโตของเด็กอย่างมีคุณภาพ, OFOS ยกระดับทักษะ ปลดล็อกศักยภาพไทย, 30 บาทรักษาทุกที่ และการฉีดวัคซีนปากมดลูก, ส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศ, การเร่งทำรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนให้เป็นประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้น, การพื้นฟูหลักนิติธรรมและความโปร่งใส, การปฏิรูประบบราชการและกองทัพ ลดขนาด เพิ่มประสิทธิภาพ เปลี่ยนผ่านราชการไทย สู่ Digital Government, การยกระดับการบริการภาครัฐให้ตอบสนองความต้องการของประชาชน เปลี่ยนรัฐปกครองเป็นรัฐสนับสนุน ลดกฎหมายและขั้นตอนที่ไม่จำเป็น
ในด้านสิ่งแวดล้อม มุ่งแก้ PM2.5 ฟื้นฟูธรรมชาติ อนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ และรักษาสมดุลของระบบนิเวศท้องถิ่น, ฟื้นบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ แก้น้ำท่วม น้ำแล้ง รวมถึงนำประเทศไทยไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) เพื่อให้ประเทศไทยเป็นผู้นำของอาเซียนในด้านการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ
ส่วนด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จะไม่เป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้ง รวมถึงสานต่อการฑูตพาณิชย์เชิงรุก แก้ไขปัญหาที่ต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างประเทศท้ังระบบทวิภาคี (Bilateral) และพหุภาคี (Multilateral) และเร่งเจรจาเขตการค้าเสรี หรือเอฟทีเอกับประเทศคู่ค้าสำคัญ และเตรียมเข้าเป็นสมาชิก OECD เป็นต้น
นายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า รัฐบาลจะพิทักษ์รักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ สร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการปฏิบัติพระราชกรณียกิจ และดำเนินงานตามแนวพระราชดำริ รวมทั้งส่งเสริมสถาบันศาสนาให้เป็นกลไกในการสร้างคุณธรรมและจริยธรรมในการดำเนินชีวิต ตลอดจนดูแลให้มีการปฏิบัติตามและบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดและจริงจัง โดยเฉพาะกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สิน รวมถึงการป้องกันและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
"ในนามนายกรัฐมนตรีของคนไทยทุกคน ในนามรัฐบาล ดิฉันขอให้ความมั่นใจ กับรัฐสภาแห่งนี้ว่า จะตั้งใจบริหารราชการแผ่นดินด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และยึดประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง พร้อมท้ังประสานพลังจากทุกภาคส่วน จากทุกช่วงวัย จากทุกความเชี่ยวชาญ ขับเคลื่อนนโยบายที่อยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริงเพื่อตอบสนองสถานการณ์ปัจจุบันให้สำเร็จ พัฒนาเศรษฐกิจ สังคม การเมืองของประเทศชาติให้เจริญก้าวหน้า เพื่อสร้างโอกาสอย่างเท่าเทียม ทำให้คนไทย มีกิน มีใช้ มีเกียรติ มีศักด์ศรี เพื่อนำพาความภาคภูมิใจกลับมาสู่คนไทย และประเทศไทย เพื่อสร้างความหวังและอนาคตที่ดีกว่าให้ประเทศไทย จากวันนี้ไปถึงอนาคต"
และสุดท้ายนายกรัฐมนตรีได้ย้ำคำเดิมที่เคยหาเสียงไว้ ว่า "จะทำให้คนไทย มีกิน มีใช้ มีเกียรติมีศักดิ์ศรี" แม้คำนี้จะเป็นคำที่โลกโซเชียลมีเดียหยิบมาล้อเลียนเสมอก็ตาม