ปปง. ยืนยันข่าวลือเรื่องนี้ของ บิ๊กโจ๊ก ไม่เป็นความจริง!!


ปปง. ยืนยันข่าวลือเรื่องนี้ของ บิ๊กโจ๊ก ไม่เป็นความจริง!!



สืบเนื่องจากกรณีที่นายษิทรา เบี้ยบังเกิด หรือทนายตั้ม เลขาธิการมูลนิธิทีมงานทนายประชาชนฯ ได้ออกมาเปิดเผยกระแสข่าว ว่า "ปปง. พยายามจะยึดทรัพย์บิ๊กโจ๊ก แต่คดีที่ผมไปร้องบิ๊กต่อที่ ปปง. เงียบมาก" นั้น

เกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 13 ก.ค. ผู้สื่อข่าวเดลินิวส์ ได้รับรายงานจากแหล่งข่าวภายในสำนักงาน ปปง. ว่า กรณีดังกล่าวยังไม่เกิดขึ้นแต่อย่างใด ปปง. ยังไม่มีการออกคำสั่งยึดและอายัดทรัพย์สินของ พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. เนื่องจากในรายคดีที่ พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ ถูกร้องเรียนว่ามีเส้นทางการเงินเชื่อมโยงเกี่ยวข้องกับเว็บพนันออนไลน์ BNK Master นั้น ทางสำนักงาน ปปง. ยังอยู่ระหว่างกระบวนการตรวจสอบ รวบรวมพยานหลักฐาน และแสวงหาข้อเท็จจริง เนื่องจากเจ้าหน้าที่จะต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายตรวจสอบอย่างรอบคอบว่า บุคคลที่ถูกร้องเรียนมีความเกี่ยวข้องทำธุรกรรมทางการเงินเชื่อมโยงกับเว็บไซต์พนันออนไลน์จริงหรือไม่



แหล่งข่าวเผยต่อว่า สำหรับคดีมูลฐานเว็บไซต์พนันออนไลน์ BNK Master เดิมที ปปง. ได้มีการยึดและอายัดทรัพย์สินของผู้ต้องหาหลักในคดีมูลฐานก่อนหน้านี้แล้ว แต่เนื่องด้วยพบว่ามีเส้นทางการเงินของเว็บพนันออนไลน์ดังกล่าว ได้เชื่อมโยงกับหลายบุคคล ดังนั้น ปปง. จึงยังคงอยู่ระหว่างการตรวจสอบให้ครบถ้วน และให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย โดยเจ้าหน้าที่จะต้องนำรายละเอียดพยานหลักฐานต่างๆ มาพิจารณาเปรียบเทียบข้อเท็จจริง และนำเสนอเรื่องต่อคณะกรรมการธุรกรรมให้มีมติในทางใดทางหนึ่งต่อไป

นอกจากนี้แหล่งข่าวยังอธิบายหลักการตรวจสอบพิสูจน์เส้นทางการเงินของบุคคลที่เชื่อมโยงกับความผิดในคดีมูลฐาน โดยเฉพาะในกรณีเว็บไซต์พนันออนไลน์ ว่า ยกตัวอย่างเช่น หากมีเว็บไซต์พนันออนไลน์แห่งหนึ่งได้มีการโอนเงินไปยังบัญชีธนาคารของ น.ส.เอ (นามสมมุติ) แต่ปรากฏว่าในบัญชีธนาคารของผู้รับปลายทางก็มีความเคลื่อนไหวทางการเงินที่ได้รับจากการประกอบอาชีพอื่น หรือค่าใช้จ่ายอื่นๆ ปะปนอยู่ด้วย สิ่งที่เป็นหลักในการพิจารณาว่าจะยึดและอายัดทรัพย์สินนั้น ปปง. ต้องตรวจสอบอย่างถี่ถ้วนว่าเงินจำนวนนั้น เป็นเงินที่ได้รับโอนมาจากกันการกระทำความผิดมูลฐานจริง




"ความผิดมูลฐานตามกฏหมายของ ปปง. ทรัพย์สินที่ได้มาจากความผิดมูลฐาน หากมีการโอนย้ายไปยังบุคคลใด ปปง. ก็จะต้องติดตามตรวจสอบและพิจารณาสั่งยึดและอายัดกลับมา เว้นแต่คนรับโอนสุจริตเสียค่าตอบแทน ซึ่งส่วนใหญ่ข้อยกเว้นดังกล่าวจะเป็นเรื่องของการซื้อขายสินค้าอุปโภคบริโภค เช่น นายเอ (นามสมมุติ) นำเงินที่ได้มาจากการกระทำความผิดในคดียาเสพติดแล้วนำไปชำระซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคตามร้านขายสินค้า หรือห้างสรรพสินค้า หากพูดกันตามตรงเงินที่ร้านค้ารับไปจากผู้ซื้อก็ถือเป็นเงินที่มาจากการกระทำความผิดที่ ปปง. จะต้องยึดกลับมา 


แต่หากพิจารณาจากพฤติการณ์ จะพบว่าการรับโอนเงินดังกล่าวของร้านค้าเป็นการซื้อขายสินค้า ซึ่งหมายความว่า ผู้ขายที่รับโอนเงินไม่รู้ว่าเป็นเงินที่มาจากการกระทำความผิด ในขณะที่หากผู้กระทำความผิดในคดียาเสพติดได้มีการโอนเงินไปยังบัญชีธนาคารของนายซี (นามสมมุติ) โดยที่นายซี ไม่มีการประกอบอาชีพใด ลักษณะเช่นนี้ ปปง. จะต้องตามไปยึดและอายัด ซึ่งก็ต้องไปตรวจสอบอีกขั้นตอนด้วยว่าเงินก้อนดังกล่าวมีการถูกนำไปใช้ทำธุรกรรมแล้วหรือยัง หรือเงินยังคงค้างในบัญชีหรือไม่" แหล่งข่าวอธิบาย



แหล่งข่าวกล่าวด้วยว่า การยึดทรัพย์ กับ ความผิดทางอาญาฐานฟอกเงินนั้นเป็นคนละส่วนกัน การที่บุคคลใดถูกยึดหรืออายัดทรัพย์สินตามกฎหมาย ปปง. ไม่ได้หมายความว่าต้องผิดอาญาฟอกเงินไปด้วยในทุกกรณี การจะมีความผิดอาญาฐานฟอกเงินนั้น 1.บุคคลนั้นต้องรับโอนเงินจากผู้กระทำความผิดในคดีมูลฐาน และ 2.ผู้รับโอนเงินจะต้องรู้ว่าเป็นเงินที่ได้มาจากการกระทำความผิดมูลฐาน ซึ่งหากเข้าเข้าข่ายดังกล่าวก็จะถูกดำเนินคดีฐานฟอกเงิน ซึ่งเป็นความผิดอาญา และอยู่ในอำนาจของพนักงานสอบสวนที่จะต้องดำเนินการต่อไป


เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์