บิ๊กป้อมซีด!ศาลปกครองสูงสุดตีตกคำร้อง ปปช.สั่งเปิดเอกสารนาฬิกาเพื่อน-แหวนแม่
หน้าแรกTeeNee ที่นี่ข่าววันนี้, ข่าวหน้าหนึ่ง ข่าวการเมือง บิ๊กป้อมซีด!ศาลปกครองสูงสุดตีตกคำร้อง ปปช.สั่งเปิดเอกสารนาฬิกาเพื่อน-แหวนแม่
ศาลปกครองกลางนัดอ่านคำสั่งศาลปกครองสูงสุด ในคดีที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ยื่นคำขอให้ศาลพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งชี้ขาดคดีปกครองใหม่ ในคดีที่มีผู้ยื่นฟ้องคณะกรรมการ ป.ป.ช. กรณีไม่เปิดเผยข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับคดีนาฬิกาหรูของพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ
โดยคดีสืบเนื่องมาจากศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขดำที่ อ. 769/2564 หมายเลขแดงที่ อ. 326/2566 พิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสาม (สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เลขาธิการ ป.ป.ช. และคณะกรรมการ ป.ป.ช.) เปิดเผยข้อมูลข่าวสาร จำนวน 2 รายการ ตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร สาขาสังคม การบริหารราชการแผ่นดินและการบังคับใช้กฎหมาย ที่ สค 334/2562 แก่นายพงศ์พิพัฒน์ บัญชานนท์ สื่อมวลชน (ผู้ฟ้องคดี) ประกอบด้วย
1. รายงานสรุปผลการแสวงหาข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐานซึ่งคณะทำงานรวบรวมข้อเท็จจริงเสนอต่อที่ประชุมผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ในวันที่ 27 ธ.ค. 2661 และเอกสารอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องและ
2. คำชี้แจงของพล.อ.ประวิตร ในคดีนี้ทั้ง 4 ครั้ง ที่ยื่นต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ต่อมา ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามยื่นคำขอให้พิจารณาคดีใหม่อ้างว่า
1. คำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้นและคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด มีสาระสำคัญไม่ครบถ้วนตามมาตรา 69 แห่ง พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 กล่าวคือ ผู้ฟ้องคดีมิใช่ผู้เสียหายตามมาตรา 42 แห่ง พ.ร.บ. ดังกล่าว แต่ศาลมิได้พิจารณาวินิจฉัยสถานะความเป็นผู้เสียหาย และผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามอ้างคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด 2 คดี คือ คดีหมายเลขแดงที่ อ. 681/2560 กับคดีหมายเลขแดงที่ อร. 74/2564 แต่ศาลปกครองสูงสุดมิได้หยิบยกคำพิพากษาทั้งสองเรื่องดังกล่าวขึ้นวินิจฉัย
2. คำพิพากษาคลาดเคลื่อนในการวินิจฉัยหลักกฎหมาย กล่าวคือ พ.ร.ป. ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 36 วรรคสาม ห้ามมิให้เปิดเผยหรือเผยแพร่ข้อมูลรายงานและสำนวนการตรวจสอบ การสอบสวน การไต่สวน หรือการไต่สวนเบื้องต้น รวมทั้งบรรดาเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบ สอบสวน ไต่สวน หรือไต่สวนเบื้องต้นที่อยู่ระหว่างการดำเนินการจนกว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช. จะได้พิจารณาและมีมติในเรื่องดังกล่าวแล้ว เว้นแต่จะเป็นการเปิดเผย เพื่อประโยชน์ในการไต่สวนหรือไต่สวนเบื้องต้น ทั้งนี้ ให้ถือเป็นความลับของทางราชการ ตามที่กฎหมายบัญญัติ จึงไม่อาจนำบทบัญญัติของ พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 ซึ่งเป็นกฎหมายทั่วไปในการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารมายกเว้นมาตรา 36 แห่ง พ.ร.ป. ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561
และ 3. การไต่สวนของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 เป็นการใช้อำนาจตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยกำหนดไว้เป็นการเฉพาะ และเป็นการดำเนินงานตามกระบวนการยุติธรรมทางอาญา จึงไม่เป็นคำสั่งทางปกครองตามคำวินิจฉัยของศาล
ศาลปกครองกลางมีคำสั่งไม่รับคำขอดังกล่าวไว้พิจารณา เนื่องจากไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่จะขอพิจารณาคดีใหม่ได้ตามมาตรา 75 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2540 ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามยื่นอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อศาลปกครองสูงสุด
ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งที่ 1939/2566 ยืนตามคำสั่งของศาลปกครองกลาง โดยวินิจฉัยว่า ความเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนเสียหายฯ ตามมาตรา 42 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ถือเป็นเงื่อนไขหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า ผู้นั้นเป็นผู้มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาล ซึ่งศาลปกครองชั้นต้นได้ดำเนินกระบวนพิจารณาในเรื่องดังกล่าวในชั้นตรวจคำฟ้องก่อนที่จะมีคำสั่งรับคำฟ้องไว้พิจารณาแล้ว แม้ประเด็นการเป็นผู้มีสิทธิฟ้องคดีหรือไม่ เป็นเงื่อนไขการฟ้องคดีปกครอง จะเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน และแม้คู่กรณีไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวในชั้นอุทธรณ์ ศาลปกครองสูงสุดย่อมมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตามข้อ 92 ประกอบข้อ 116 แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 แต่เมื่อคดีนี้ไม่มีประเด็นปัญหาเกี่ยวกับการเป็นผู้มีสิทธิฟ้องคดีของผู้ฟ้องคดี และผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามเองก็มิได้ยกขึ้นโต้แย้งทั้งในกระบวนพิจารณาของศาลปกครองชั้นต้นและศาลปกครองสูงสุด ประกอบกับมาตรา 69 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ. ดังกล่าว มิได้บัญญัติให้คำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดคดีของศาลจะต้องระบุถึงความเป็นผู้เดือดร้อนหรือเสียหายหรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้ที่จะมีสิทธิฟ้องคดีของผู้ฟ้องคดีแต่อย่างใด เมื่อคดีนี้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามไม่ได้โต้แย้งการเป็นผู้มีสิทธิฟ้องคดีของผู้ฟ้องคดีตามที่กล่าวมา ศาลจึงไม่จำต้องยกขึ้นวินิจฉัยและระบุไว้ในคำพิพากษา กรณีดังกล่าวจึงไม่อาจถือได้ว่า คำพิพากษาของศาลมีสาระสำคัญไม่ครบถ้วนตามมาตรา 69 แห่ง พ.ร.บ. เดียวกัน ตามที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามกล่าวอ้างซึ่งจะทำให้ศาลฟังข้อเท็จจริงผิดพลาดหรือมีพยานหลักฐานใหม่ อันอาจทำให้ข้อเท็จจริงที่ฟังเป็นยุติแล้วนั้นเปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญ หรือมีข้อบกพร่องสำคัญในกระบวนพิจารณาพิพากษาที่ทำให้ผลของคดีไม่มีความยุติธรรม ตามมาตรา 75 วรรคหนึ่ง (1) และ (3) แห่ง พ.ร.บ. ข้างต้น
ส่วนกรณีที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามอ้างว่า เอกสารที่ผู้ฟ้องคดีมีคำขอให้เปิดเผยเป็นข้อมูลข่าวสารที่ห้ามมิให้เปิดเผย ตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.ป. ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 และตามมาตรา 15 (2) และ (4) แห่ง พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540 อีกทั้ง ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามได้อ้างพยานหลักฐานคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขแดงที่ อ. 681/2560 และคดีหมายเลขแดงที่ อร. 74/2564 แต่ศาลปกครองสูงสุดมิได้หยิบยกขึ้นมาวินิจฉัย และการไต่สวนของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 เป็นการใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่กำหนดไว้เป็นการเฉพาะ และเป็นการดำเนินงานตามกระบวนการยุติธรรมทางอาญานั้น เห็นว่า ข้อกล่าวอ้างในการขอพิจารณาคดีใหม่ของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามดังกล่าว ศาลปกครองสูงสุดในคดีหมายเลขแดงที่ อ. 326/2566 ได้วินิจฉัยไว้แล้ว กรณีจึงเป็นการโต้แย้งการใช้ดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐาน การพิจารณาข้อเท็จจริง และข้อกฎหมายในการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลเท่านั้น จึงไม่อาจถือได้ว่ามีข้อบกพร่องสำคัญในกระบวนการพิจารณาพิพากษาที่ทำให้ผลของคดีไม่มีความยุติธรรม ตามมาตรา 75 วรรคหนึ่ง (3) แห่งพ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ตามที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามกล่าวอ้าง ดังนั้น คำขอให้พิจารณาคดีใหม่ของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามจึงไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่ศาลจะรับไว้พิจารณาได้
เครดิต :
ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!