โฆษกก้าวไกลแถลง หลังศาลมีมติเอกฉันท์ไม่รับคำร้อง เสนอชื่อพิธาซ้ำ


โฆษกก้าวไกลแถลง หลังศาลมีมติเอกฉันท์ไม่รับคำร้อง เสนอชื่อพิธาซ้ำ


เมื่อวันที่ 16 ส.ค.2566 ที่รัฐสภา นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะโฆษกพรรคก้าวไกล แถลงภายหลังศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ไม่รับคำร้องผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้วินิจฉัยมติที่ประชุมรัฐสภาห้ามเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีซ้ำในสมัยประชุมเดียวกันว่า ศาลไม่ได้พิจารณาในเนื้อหาสาระข้อเท็จจริง แต่เป็นการพิจารณาเกี่ยวกับเทคนิคและกระบวนการ ทั้งยังชี้ด้วยว่าผู้ร้องเรียนไม่ใช่ผู้ถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพโดยตรง

ทั้งนี้ พรรคก้าวไกลยืนยันว่า กรณีเช่นนี้รัฐสภาควรจะว่ากันเองได้ ไม่จำเป็นต้องให้องค์กรภายนอก เช่น ศาลรัฐธรรมนูญเข้ามา จึงเป็นที่มาเมื่อวันที่ 4 ส.ค. พรรคก้าวไกลเสนอญัตติให้ทบทวนมติที่ประชุมรัฐสภาเมื่อวันที่ 19 ก.ค. ซึ่งญัตตินั้นมีผู้รับรองถูกต้อง ดังนั้น โอกาสที่จะมีการเลือกนายกฯครั้งต่อไป พรรคก้าวไกลยืนยันที่จะเสนอญัตติดังกล่าว

"การเป็นแคนดิเดตนายกฯ เป็นสถานะตามรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่ว่าเสนอแล้วรอบแรกไม่ผ่าน แล้วจะมาบอกว่าไม่มีสถานะนั้นแล้ว การพิจารณากันแบบนี้ เป็นการเล่นการเมืองโดยไม่พิจารณาบนข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย" นายรังสิมันต์ กล่าว



เมื่อถามว่าหลังจากนี้นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะผู้ได้รับความเสียหายโดยตรงจะยื่นร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ นายรังสิมันต์ กล่าวว่า เราไม่ยื่นแน่นอน เพราะยืนยันมาตลอดว่าเรื่องนี้เป็นกิจการของสภา ศาลรัฐธรรมนูญไม่ควรเข้ามา จึงเป็นที่มาที่เราอยากใช้กลไกสภาอย่างถูกต้อง

เมื่อถามว่าเสียงจะพอหรือไม่ เนื่องจากพันธมิตรร่วมรัฐบาลได้แยกวงไปแล้ว นายรังสิมันต์ กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องหลักการ และไม่ได้เสนอเพื่อตัวเอง หรือเพื่อให้นายพิธา กลับมาเป็นแคนดิเดตนายกฯอีกด้วยซ้ำ เพราะวันนี้นายพิธา ไม่ได้อยู่ในจุดนั้นแล้ว

แต่การเสนอของเราเป็นไปตามหลักการที่ถูกต้อง แคนดิเดตนายกฯจะเป็นใคร ล้วนได้ประโยชน์จากข้อเสนอของพรรคก้าวไกล ยกเว้นบางฝ่ายจะวางหมากให้การเสนอแคนดิเดตเกิดขึ้นได้เพียงครั้งเดียว เช่น พรรคก้าวไกลไม่ผ่าน และอีกบางพรรคไม่ผ่าน แล้วหวังว่าตัวเองจะได้ประโยชน์จากตรงนี้ หรือเป็นการปูทางไปสู่นายกฯคนนอก แต่นาทีนี้ต้องยอมรับว่าไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องอาศัยเสียง 2 ใน 3 ของสมาชิกทั้งสองสภาเท่าที่มีอยู่



เมื่อถามถึงญัตติที่พรรคก้าวไกลยืนยันจะเสนอต่อจากการประชุมรัฐสภาคราวที่แล้ว แต่นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ได้ใช้อำนาจประธานวินิจฉัยให้ตกไปแล้ว นายรังสิมันต์ กล่าวว่า ยอมรับว่าตอนนี้มีปัญหาสถานะญัตติคืออะไร เพราะโดยกระบวนการมีผู้รับรองถูกต้อง รวมถึงญัตติของนายสมชาย แสวงการ สว.ด้วย โดยหลักก็ต้องพิจารณาต่อไป ไม่มีอำนาจในข้อบังคับการประชุมรัฐสภาที่จะให้นายวันมูหะมัดนอร์ วินิจฉัย

ในวันประชุมครั้งนั้น นายวันมูหะมัดนอร์ ไม่ได้อ้างข้อกฎหมาย แต่ชี้แจงเพียงว่าขอให้รอความชัดเจนจากศาลรัฐธรรมนูญก่อน เข้าใจว่าเป็นเจตนาดีของนายวันมูหะมัดนอร์ ว่าให้กระบวนการมีความชัดเจนก่อน จึงค่อยพิจารณา

เมื่อถามว่าผลจากการที่ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้อง ต่อจากนี้จะทำให้แคนดิเดตนายกฯแต่ละคน มีสิทธิ์เสนอได้เพียงครั้งเดียว นายรังสิมันต์ กล่าวว่า กังวลว่าจะไปสู่จุดนั้น จึงเป็นที่มาในการเสนอให้ทบทวนมติ เพราะอาจกลายเป็นบรรทัดฐาน เรื่องการเสนอชื่อบุคคลในรัฐสภาไม่ใช่มีเฉพาะนายกฯเท่านั้น แต่มีอีกหลายกรณีที่มีความสำคัญ จึงไม่อยากให้สร้างบรรทัดฐานที่ผิดเช่นนี้ รัฐสภาของเรายังทบทวนได้

"รอคุยกับประธานรัฐสภา ตามปกติจะต้องนัดพรรคการเมืองคุยกันแล้วหารือ เบื้องต้นถ้าพิจารณาจากการประชุมครั้งที่แล้ว ผมเองเสนอ และโดยหลักต้องพิจารณาญัตติของผมก่อน แต่มันก็มีประเด็นที่จะต้องพิจารณาว่าคำวินิจฉัยของประธาน ที่ตกลงแล้วมีการถกเถียงกันแล้วนำสู่การปิดประชุม มีสถานะอย่างไร ซึ่งพวกเราเชื่อว่ามีผู้รับรองถูกต้อง เป็นญัตติแล้ว" นายรังสิมันต์ กล่าว



เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์ข่าวสด


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์