วันนี้ (17 พ.ย.) ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภามีนัดหมายลงมติใน วาระที่ 1 (ขั้นรับหลักการ) ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช .... ซึ่ง ตัวแทนกลุ่ม Re-solution และผู้ริเริ่มในการเสนอร่างรัฐธรรมนูญ พร้อมกับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 135,247 คน เป็นผู้เสนอ
กระทั่งเวลา 12.00 น. ประธานรัฐสภา ชวน หลีกภัย ได้แจ้งผลการนับคะแนน ที่ประชุมร่วมรัฐสภาลงมติ ดังนี้ รับหลักการ 206 เสียง (ส.ส. = 203 เสียง / ส.ว. = 3 เสียง) ไม่รับหลักการ 473 เสียง (ส.ส. = 249 เสียง / ส.ว. = 224 เสียง) งดออกเสียง 6 เสียง (ส.ส. = 3 เสียง / ส.ว. = 3 เสียง) เท่ากับว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนดังกล่าว ถูกตีตกลงไปโดยปริยาย ตั้งแต่วาระแรก
สำหรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับที่เสนอโดยภาคประชาชนเข้าสู่การพิจารณา มีอีกชื่อว่า"รื้อระบอบประยุทธ์" ที่มีข้อเสนอมุ่งหมายจะจัดการกับประเด็นปัญหาในรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2560 ที่ถูกมองว่าเป็นการ "สืบทอดอำนาจเผด็จการ โดยมีข้อเสนอดังนี้คร่าวๆ ดังนี้
1. เสนอให้มีการยกเลิก ส.ว. ที่มาจากการแต่งตั้ง และใช้ระบบรัฐสภาเดี่ยว มีแต่ ส.ส. 500 คน ที่มาจากการเลือกตั้งจากประชาชน
2. เสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญ-องค์กรอิสระ ที่มาจากระบบคัดเลือกของ คสช. พ้นตำแหน่ง และให้มีการคัดเลือกใหม่
3. เสนอให้ยกเลิกแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของ คสช. ยกเลิกหมวดการปฏิรูปประเทศ
4. เสนอให้นายกฯ ต้องเป็น ส.ส. ซึ่งมาจากการเลือกตั้งเท่านั้น
5. เสนอให้มีกลไกต่อต้านการยึดอำนาจ "การลบล้างผลพวงรัฐประหาร" รวมทั้งยกเลิกการนิรโทษกรรมตัวเองของคณะรัฐประหาร ในรัฐธรรมนูญอย่าง ม.279 ในรัฐธรรมนูญ 2560 6. เสนอเพิ่มอำนาจตรวจสอบให้ฝ่ายค้าน : ตั้งคณะผู้ตรวจการกองทัพ คณะผู้ตรวจการศาล และคณะผู้ตรวจการองค์กรอิสระ และ
7. เสนอเพิ่มอำนาจการเข้าชื่อของประชาชน เข้าชื่อไม่น้อยกว่า 20,000 คนขึ้นไป "ตรวจสอบตุลาการ" ที่ส่อทุจริตต่อการทำหน้าที่ หรือจงใจใช้อำนาจขัดต่อกฎหมายได้