คลังงัดเราไม่ทิ้งกัน2 เยียวยาโควิด 40 ล้านคน เดือนละ 4 พัน- ถก ธปท.อุ้มลูกหนี้รอบใหม่


คลังงัดเราไม่ทิ้งกัน2 เยียวยาโควิด 40 ล้านคน เดือนละ 4 พัน- ถก ธปท.อุ้มลูกหนี้รอบใหม่

รัฐบาลเตรียมแผนเยียวยา "โควิดระลอกใหม่" คลังชง "เราไม่ทิ้งกัน" เวอร์ชั่นใหม่ เสนอนายกฯเคาะหลักเกณฑ์และวงเงิน เผยจ่ายไม่เกินเดือนละ 4 พันบาท ช่วงเวลา 2 เดือนพร้อมเสนอเพิ่มสิทธิ "คนละครึ่ง-เราเที่ยวด้วยกัน" สำนักงบฯยันมีเงินหน้าตักเพียงพอรับมือ ขณะที่ รมว.คลังสายด่วนหารือผู้ว่าการ ธปท. มาตรการช่วยเหลือ "ลูกหนี้" หวั่นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทรุดหนัก พร้อมลุยยกร่างแก้ไข พ.ร.ก.ซอฟต์โลน ขณะที่ "แบงก์-น็อนแบงก์" รับมือขยายมาตรการ "พักหนี้" ให้เป็นรายกรณี

ถกเยียวยารอบ 2
แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างหารือแนวทางดูแลประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ร่วมกับสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ซึ่งจะมีแนวทางเยียวยาอีกครั้งสำหรับกลุ่มต่าง ๆ ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบ 2 รวมทั้งเตรียมสินเชื่อให้ระยะยาวขึ้น และมาตรการรักษาการจ้างงาน เป็นต้น โดยในหลักการกระทรวงการคลังได้เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) และได้รับการอนุมัติแล้ว แต่ในรายละเอียดกระทรวงการคลังต้องกลับมาสรุปอีกครั้ง เพื่อความชัดเจนและเสนอให้ ครม.พิจารณาเห็นชอบในสัปดาห์หน้าต่อไป

เพิ่มสิทธิ "คนละครึ่ง"
"ผลกระทบครั้งนี้ก็เป็นคนกลุ่มเดิมที่ได้รับความเดือดร้อนต่อเนื่องมา ซึ่งกำลังจะฟื้นตัวก็มาเจอโควิดรอบนี้อีก โดยมาตรการที่เตรียมดูแลจะไม่ต่างจากที่เคยออกมาก่อนหน้านี้ ซึ่งในรายละเอียดต้องสรุปตัวเลขเม็ดเงินว่าจะพอเยียวยาประชาชนได้กี่เดือน ทั้งเกษตรกร กลุ่มได้รับผลกระทบเดิมที่ตกหล่นจากรอบที่แล้วด้วย อย่างไรก็ดี เรายังมีวงเงินเหลือจาก พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาทอยู่ จะสามารถดูแลสถานการณ์ช่วงนี้ต่อไปได้ ตอนนี้คลัง สภาพัฒน์ และสำนักงบประมาณกำลังหารือเรื่องนี้อยู่" แหล่งข่าวกล่าวและว่า

ส่วนการปรับปรุงมาตรการเดิม เช่น โครงการเราเที่ยวด้วยกัน และโครงการคนละครึ่งนั้น สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) อยู่ระหว่างการพิจารณาเพื่อปรับเปลี่ยนรูปแบบให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยโครงการคนละครึ่งอาจจะมีการพิจารณาขยายฐานผู้ที่เข้าร่วมโครงการ หรือขยายระยะเวลาของโครงการออกไปอีก เป็นต้น ซึ่งจะเห็นรายละเอียดเร็ว ๆ นี้




คลังชง "เราไม่ทิ้งกัน"
แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังกล่าวว่า มาตรการที่กระทรวงการคลังเสนอให้รัฐบาลจ่ายเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบรอบใหม่ เหมือนกับโครงการ "เราไม่ทิ้งกัน" ที่ดำเนินการไปครั้งก่อน เนื่องจากปัจจุบันยังมีวงเงินกู้ภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 (พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท) เหลืออยู่ราว 2 แสนล้านบาท

"อย่างไรก็ดี เรื่องนี้ต้องเสนอให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตัดสินใจ ว่าจะทำหรือไม่ หากจ่ายจะจ่ายเท่าไหร่ รวมถึงเป็นระยะเวลาเท่าใด ทั้งนี้แม้ว่าจะมีเงินอยู่ก็จริง แต่เนื่องจากปัญหายังไม่สิ้นสุด ยังไม่รู้ว่าจะมีการขยายวงแค่ไหน ถ้าจ่าย 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือนเหมือนครั้งก่อนอาจจะไม่พอ แต่ถ้าจ่ายก็ไม่น่าเกิน 4,000 บาท ระยะเวลา 2 เดือน" แหล่งข่าวกล่าว

สำหรับมาตรการเยียวยาครั้งนี้จะมีความยาก เนื่องจากเป็นการแบ่งโซนประกาศพื้นที่ระบาด คลังจึงเสนอแนวทางให้จ่ายเงินเยียวยาเป็นตามพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากประกาศของรัฐบาล แบ่งเป็นพื้นที่สีแดง สีส้ม สีเหลือง โดยแต่ละสีอาจได้รับเงินเยียวยาไม่เท่ากัน ซึ่งยอมรับว่ามีความยากในการดำเนินการหลายด้าน ซึ่งต้องขอความร่วมมือกระทรวงมหาดไทยให้หน่วยงานท้องถิ่นช่วยตรวจสอบเช็กลิสต์ ประชาชนที่ได้รับผลกระทบเพื่อรับเงินเยียวยา

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากพื้นที่สีแดงยังเพิ่มต่อเนื่อง ทำให้การตัดสินใจใช้มาตรการต่าง ๆ ค่อนข้างยาก

รมว.คลังสายด่วนผู้ว่า ธปท.
แหล่งข่าวกล่าวว่า วันที่ 5 ม.ค. 2564 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้มีการโทรศัพท์หารือกับ นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ถึงมาตรการทางการเงินในการดูแลลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดในรอบใหม่ ว่าจะมีมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้อย่างไรบ้าง โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายย่อยและภาคครัวเรือน จะใช้วิธีการให้พักหนี้ตามจังหวัดที่มีคำสั่งล็อกดาวน์หรือไม่ อย่างไร เนื่องจากกังวลผลกระทบต่อกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ยังไม่สามารถกลับมาประกอบธุรกิจได้

นอกจากนี้ที่ผ่านมากระทรวงการคลังอยู่ระหว่างดำเนินการยกร่าง พ.ร.บ.เพื่อแก้ไข พ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 (พ.ร.ก.ซอฟต์โลน) เนื่องจากเงื่อนไขเดิมนั้นมีหลายประเด็นที่ทำให้ไม่สามารถปล่อยสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการได้ตามที่ควรจะเป็น ซึ่งจากสถานการณ์ระบาดในรอบใหม่ก็อาจทำให้การดำเนินการแก้ พ.ร.ก.ซอฟต์โลนเกิดขึ้นได้รวดเร็วขึ้น

"อย่างไรก็ตามขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะควบคุมสถานการณ์ได้เมื่อไหร่ ทำให้ภาครัฐต้องมีการทบทวนกลไกที่มีอยู่ในมือ ว่าเพียงพอหรือไม่ และจะต้องพิจารณาหากลไกใหม่ ๆ เข้ามาสนับสนุน"


คลังงัดเราไม่ทิ้งกัน2 เยียวยาโควิด 40 ล้านคน เดือนละ 4 พัน- ถก ธปท.อุ้มลูกหนี้รอบใหม่


สำนักงบฯยันมีเงินเพียงพอ
ด้าน นายเดชาภิวัฒน์ ณ สงขลา ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ กล่าวว่า รัฐบาลมีหน้าตักเพียงพอรับมือสถานการณ์โควิด-19 ที่ระบาดระลอกใหม่ เฉพาะที่เป็นงบประมาณรายจ่ายในปีงบประมาณ 2564 ที่อยู่ในความดูแลของสำนักงบประมาณก็มีราว 1.3-1.4 แสนล้านบาท แบ่งเป็น 1.งบประมาณรายจ่ายวงเงิน 4 หมื่นล้านบาท ที่มาจากก่อนหน้านี้ได้ให้ส่วนราชการปรับโครงการ โดยเฉพาะชะลอโครงการที่ไม่จำเป็นเร่งด่วนไปก่อน หรืออาจจัดซื้อจัดจ้างไม่ทันไปก่อน เช่น โครงการจัดซื้อเรือดำน้ำ เป็นต้น และ 2.งบกลางรายการสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นอีกกว่า 9 หมื่นล้านบาท

ขณะเดียวกันยังมีเงินกู้ภายใต้ พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ที่ยังเหลือวงเงินกว่า 4 แสนล้านบาท แบ่งเป็นหมวดที่ใช้จ่ายด้านสาธารณสุข 4.5 หมื่นล้านบาท ยังเหลือกว่า 4 หมื่นล้านบาท หมวดจ่ายเยียวยา 5.55 แสนล้านบาท เหลือวงเงินราว 1-2 แสนล้านบาท และ หมวดฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม 4 แสนล้านบาท ที่ยังเหลือวงเงินกว่า 2 แสนล้านบาท

นายเดชาภิวัฒน์กล่าวอีกว่า สำหรับมาตรการช่วยเหลือประชาชนและเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบคงต้องรอหารือในคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งจะต้องพิจารณาจากตัวเลขผู้ติดเชื้อในระยะข้างหน้านี้ หากตัวเลขไม่พุ่งมาก หรือมีผู้ติดเชื้อลดลง ก็แสดงว่าสามารถควบคุมได้

"การช่วยเหลือภาคธุรกิจก็มีเงินในส่วน 9 แสนล้านบาท ช่วยเสริมสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการ ซึ่งทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็ดูอยู่ ถ้ามีอุปสรรคอย่างไรก็อาจจะต้องผ่อนปรนเงื่อนไข" ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณกล่าว

ขณะที่ล่าสุด ครม.วันที่ 5 ม.ค.ได้อนุมัติงบกลางรายการฉุกเฉินเร่งด่วนปี 2564 สำหรับมาตรการบรรเทาการแพร่ระบาดของโควิด-19 อีก 4,661 ล้านบาท

แบงก์ขยาย "พักหนี้" เฉพาะราย
นางอภิพันธ์ เจริญอนุสรณ์ ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ตอนนี้ธนาคารมีการพูดคุยกับ ธปท.ถึงการให้ความช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดรอบใหม่ โดยเบื้องต้นมาตรการช่วยเหลือจะไม่เป็นการช่วยเหลือแบบเป็นการทั่วไปเหมือนรอบแรก แต่จะให้ลูกค้าที่ได้รับผลกระทบรอบใหม่สามารถเข้ามาลงทะเบียนขอความช่วยเหลือกับธนาคารผ่านช่องทางดิจิทัล หรือสาขาได้ทันที ซึ่งธนาคารจะพิจารณาให้ความช่วยเหลือตามผลกระทบของลูกค้า

"ธนาคารพร้อมช่วยเหลือทุกรายแต่จะพิจารณาเป็นรายกรณี เช่น พักชำระหนี้ ยืดระยะเวลาการชำระหนี้ หรือชำระหนี้ตามความสามารถและรายได้ เป็นต้น" นางอภิพันธ์กล่าว

นางสาวณญาณี เผือกขำ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านกรุงศรี คอนซูมเมอร์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า กรุงศรีฯได้เตรียมแผนการช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากโควิดรอบใหม่ไว้แล้ว เบื้องต้นจะใช้มาตรการลักษณะเดียวกับในรอบแรก คือพักชำระหนี้ เงินต้นและดอกเบี้ยให้ลูกค้าเป็นระยะเวลา 2 เดือน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแบบเร่งด่วน อย่างไรก็ดีจะเป็นการช่วยเหลือเฉพาะราย ไม่ได้เป็นการทั่วไปทุกรายแบบรอบแรก

ขณะที่กรณีเป็นลูกค้าเก่าที่ได้รับผลกระทบต่อเนื่อง บริษัทจะช่วยเหลือผ่านมาตรการแปลงหนี้ระยะสั้นเป็นระยะยาว (refinance) ให้กับลูกค้าอีกรอบ รวมถึงเข้าโครงการปรับโครงสร้างหนี้ตามแผนที่บริษัทจัดไว้ เป็นต้น โดยลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจะต้องลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชั่น UCHOOSE และผ่านคอลเซ็นเตอร์ โดยหากพิสูจน์ว่าได้รับผลกระทบจริงจะให้การช่วยเหลือทันที

"ในช่วงระหว่างรอประกาศจาก ธปท. เราก็เตรียมแผนการช่วยเหลือลูกค้าไว้เบื้องต้นก่อน และหาก ธปท.มีประกาศอะไรออกมาค่อยมาปรับการช่วยเหลือให้สอดคล้องกัน ซึ่งตอนนี้มาตรการช่วยเหลือต้องเร่งและเร็ว เราจึงคิดว่าพักหนี้ก่อน 2 เดือน และคอยติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด" นางสาวณญาณีกล่าว


คลังงัดเราไม่ทิ้งกัน2 เยียวยาโควิด 40 ล้านคน เดือนละ 4 พัน- ถก ธปท.อุ้มลูกหนี้รอบใหม่


ออมสิน-ธ.ก.ส.รับนโยบาย
นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า ขณะนี้รอดูนโยบายจากกระทรวงการคลังที่จะมีมาตรการด้านสินเชื่อออกมาช่วยเหลือประชาชน ซึ่งน่าจะยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของ สศค. สำหรับการดูแลลูกหนี้หลังการระบาดของโควิดระลอกใหม่กำลังพิจารณาว่า จะให้ลูกหนี้ที่ไม่มีความสามารถชำระหนี้เข้ามาแจ้งความประสงค์ขอรับความช่วยเหลือ ซึ่งเดิมจะทำเฉพาะในจังหวัดที่มีโควิดระบาดหนัก แต่ตอนนี้ผลกระทบเริ่มเป็นวงกว้าง จึงน่าจะประกาศเป็นภาพใหญ่ทีเดียว

ด้านแหล่งข่าวจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง ในฐานะประธาน ธ.ก.ส. มีการสั่งให้ธนาคารมาพิจารณามาตรการดูแลลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากโควิดระลอกใหม่ ทั้งเรื่องการเยียวยาและ ฟื้นฟู

ชง ศบศ.เยียวยา 40 ล้านคน
นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบมาตรการเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบ โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม สั่งการให้นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายเศรษฐกิจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงการคลัง สภาพัฒน์ และสำนักงบประมาณ ออกมาตรการเยียวยาประชาชนประมาณ 40 ล้านคน ที่ได้รับผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ในช่วง 2 เดือน

และปรับปรุงมาตรการเดิม เช่น การขยายระยะเวลาโครงการเราเที่ยวด้วยกัน แต่ละกระทรวงต้องไปพิจารณาปรับสอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาด รวมถึงการปรับปรุงงบประมาณร่ายจ่ายประจำปี 2565 ด้วย ซึ่งผ่านการพิจารณาของ ครม.ในวันนี้แล้ว และนำเงินกู้มาใช้ประโยชน์ให้ได้มากที่สุด

"ให้กระทรวงการคลังไปพิจารณาเพิ่มเติมในเรื่องของมาตรการที่ต้องมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง หรือเพิ่มเติม เช่น โครงการเราเที่ยวด้วยกัน โครงการคนละครึ่ง เพื่อให้ตรงกับสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เนื่องจากคนไม่สามารถเดินทางข้ามจังหวัดได้ หรือขอให้หลีกเลี่ยงการไปพักตามโรงแรมต่าง ๆ อาจจะมีข้อจำกัด โดยให้สมาคมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องไปหามาตรการที่จะช่วยเหลือประชาชนด้วย"

ทั้งนี้ จะมีการหารือกันในรายละเอียดในที่ประชุมศูนย์บริหารเศรษฐกิจโควิด-19 หรือ ศบศ.กันอีกครั้ง ส่วนตัวเลขเยียวยา 40 ล้านคนมีที่มาอย่างไรนั้น จะนำตัวเลขมาจากจำนวนประชาชนที่ได้รับมาตรการสวัสดิการแห่งรัฐอยู่ในขณะนี้


คลังงัดเราไม่ทิ้งกัน2 เยียวยาโควิด 40 ล้านคน เดือนละ 4 พัน- ถก ธปท.อุ้มลูกหนี้รอบใหม่


ลดส่งเงินสมทบประกันสังคม
นายอนุชากล่าวว่า อย่างไรก็ดีรัฐบาลได้ทยอยออกมาตรการ เช่น กระทรวงแรงงานออกประกาศลดอัตราเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม สำหรับผู้ประกันตนมาตรา 39 ทั้งในส่วนของนายจ้างและผู้ประกันตน รวมถึงเงินชดเชยว่างงานร้อยละ 50 ของค่าจ้างรายวันตลอดระยะเวลากักตัว แต่ไม่เกิน 90 วัน

สำหรับลูกจ้างผู้ประกันตนที่ส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมครบ 6 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือนที่ผ่านมา แต่ไม่ได้ทำงาน หรือนายจ้างไม่ให้ทำงานเนื่องจากต้องกักตัว หรือนายจ้างหยุดประกอบกิจการจนลูกจ้างไม่สามารถได้รับค่าจ้างนั้น ทั้งนี้ เป็นมาตรการที่ใช้ครอบคลุมทั่วประเทศ

ข้าราชการผวานายกฯด่า
แหล่งข่าวจากหน่วยงานของรัฐแห่งหนึ่งกล่าวว่า การแก้ปัญหาโควิด-19 ในขณะนี้ค่อนข้างมีอุปสรรค เนื่องจากทุกอย่างต้องรอให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้ตัดสินใจ แม้นายกฯจะให้อำนาจ เมื่อหน่วยงานตัดสินใจไปก่อน สุดท้ายนายกฯอาจจะไม่เห็นด้วย อย่างกรณีการมอบอำนาจให้ผู้ว่าราชการจังหวัดออกประกาศควบคุมสถานการณ์ต่าง ๆ แต่พอผู้ว่าฯ กทม.มีมาตรการออกมา ก็ถูกนายกฯด่าว่า ออกมาตรการรุนแรงเกินไป จะกระทบกับเศรษฐกิจ เป็นต้น

"ตอนนี้ทุกอย่างต้องรอนายกฯ ซึ่งหลายเรื่องนายกฯก็ไม่กล้าตัดสินใจ บางเรื่องก็มอบอำนาจให้คนอื่นตัดสินใจแทน แต่พอคนอื่นตัดสินใจไปแล้ว ก็ถูกด่า ทำให้ข้าราชการพากันเกียร์ว่าง"


คลังงัดเราไม่ทิ้งกัน2 เยียวยาโควิด 40 ล้านคน เดือนละ 4 พัน- ถก ธปท.อุ้มลูกหนี้รอบใหม่

เครดิตแหล่งข้อมูล : www.prachachat.net


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
คุณ : me
สถานะ : บุคคลทั่วไป
IP : 203.151.136.238

203.151.136.238,,238.136.151.203.sta.inet.co.th ความคิดเห็นที่ 1 [อ้างอิง]
wellcome


[ วันอาทิตย์ ที่ 26 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 10:14 น. ]
ตามข่าวteenee.com จาก LineToday เข้าไปคลิ๊กกดติดตามได้เลย
กระทู้เด็ดน่าแชร์