เปิดประวัติ รุ้ง ปนัสยา นักเคลื่อนไหวหญิง ผู้ทำลายเพดานทางการเมือง
1.ยกเลิกมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญ ที่ว่าผู้ใดจะกล่าวฟ้องร้องกษัตริย์มิได้ และเพิ่มบทบัญญัติให้สภาผู้แทนราษฎรสามารถพิจารณาความผิดของกษัตริย์ได้ เช่นเดียวกับที่เคยบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับคณะราษฎร
2.ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 รวมถึงเปิดให้ประชาชนได้ใช้เสรีภาพแสดงความคิดเห็นต่อสถาบันกษัตริย์ได้ และนิรโทษกรรมผู้ถูกดำเนินคดีเพราะวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ทุกคน
3.ยกเลิก พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2561 และให้แบ่งทรัพย์สินออกเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของกระทรวงการคลัง และทรัพย์สินส่วนพระองค์ที่เป็นของส่วนตัวของกษัตริย์อย่างชัดเจน
4.ปรับลดงบประมาณแผ่นดินที่จัดสรรให้กับสถาบันกษัตริย์ ให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจของประเทศ
5.ยกเลิกส่วนราชการในพระองค์ หน่วยงานที่มีหน้าที่ชัดเจน เช่น หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ให้ย้ายไปสังกัดหน่วยงานอื่น และหน่วยงานที่ไม่มีความจำเป็น เช่น คณะองคมนตรีนั้น ให้ยกเลิกเสีย
6.ยกเลิกการบริจาคและรับบริจาคโดยเสด็จพระราชกุศลทั้งหมด เพื่อกำกับให้การเงินของสถาบันกษัตริย์อยู่ภายใต้การตรวจสอบทั้งหมด
7.ยกเลิกพระราชอำนาจในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองในที่สาธารณะ
8.ยกเลิกการประชาสัมพันธ์และการให้การศึกษาที่เชิดชูสถาบันกษัตริย์แต่เพียงด้านเดียวจนเกินงามทั้งหมด
9.สืบหาความจริงเกี่ยวกับการสังหารเข่นฆ่าราษฎรที่วิพากษ์วิจารณ์หรือมีความข้องเกี่ยวใดๆ กับสถาบันกษัตริย์
10.ห้ามมิให้ลงพระปรมาภิไธยรับรองการรัฐประหารครั้งใดอีก
รุ้ง ปนัสยา เกิดวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2541 ที่จังหวัดนนทบุรี เป็นบุตรคนสุดท้องของครอบครัวชนชั้นกลางที่ประกอบอาชีพค้าขาย มีพี่น้องร่วมบิดามารดา 2 คน ตอนเด็กเธอเป็นคนขี้อายและเก็บตัวเงียบ สมัยที่เธอเรียนอยู่ชั้นประถมศึกษาเธอมักจะถูกกลั่นแกล้งจากเพื่อนเสมอ จนกระทั่งเธอได้เป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนที่สหรัฐ ทำให้เธอกล้าแสดงออกมากขึ้นและปรับตัวเข้ากับสังคมได้มากขึ้น
เธอสนใจการเมืองมาตั้งแต่ยังเยาว์วัยโดยได้รับการสนับสนุนจากพ่อของเธอ เธอเริ่มค้นคว้าและศึกษาเกี่ยวกับรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2557 และเธอเริ่มสนใจการเมืองมากกว่าเดิมเมื่อตอนติวสอบเข้ามหาวิทยาลัย เธอมักจะสนทนากับเพื่อนเกี่ยวกับเรื่องการเมืองสมัยที่เธอกำลังศึกษาอยู่ชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ปัจจุบันเธอเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 4 อยู่ที่คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
รุ้งเริ่มสนใจทางการเมืองแบบเต็มตัวหลังศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เธอเริ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองตั้งแต่เธอศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 3 ทั้งนี้ยังเข้าร่วมกับพรรคโดมปฏิวัติ และในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 เธอเป็นหนึ่งในผู้ประท้วงในการคัดค้านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในการยุบพรรคอนาคตใหม่
ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2563 เธอถูกเจ้าหน้าที่รัฐจับกุมเนื่องจากฝ่าฝืนพระราชกำหนดในมาตรการสถานการณ์ฉุกเฉิน ในการระบาดทั่วของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ในประเทศไทย พ.ศ. 2563 จากการที่เธอเข้าร่วมกิจกรรมการชุมนุมของสหภาพนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย จากกรณีการบังคับให้สูญหายซึ่งวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์
ในวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2563 เธอได้ขึ้นปราศรัยจากการชุมนุม ธรรมศาสตร์จะไม่ทน และได้ปราศรัยเกี่ยวกับ 10 ข้อเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ไทย เป็นสาเหตุที่ทำให้เธอถูกทางการจับกุมในภายหลัง ด้วยการปราศรัยที่กล้าหาญและตรงไปตรงมาของเธอทำให้เธอถูกนำไปเปรียบว่าเหมือนแอกเนส โจว นักเคลื่อนไหวชาวฮ่องกง ทั้งนี้เธอได้รับการระบุว่าเป็นหนึ่งในแกนนำของการประท้วงในประเทศไทย พ.ศ. 2563
ในวันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2563 รุ้งได้ขึ้นปราสรัยอีกครั้งในการชุมนุม 19 กันยา ทวงอำนาจคืนราษฎร ด้วยประเด็นเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างตรงไปตรงมา และเป็นตัวแทนยื่นหนังสือข้อเสนอปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ถึงพระมหากษัตริย์ ต่อ ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ตัวแทนองคมนตรี ทำให้รุ้งกลายเป็นนักเคลื่อนไหวหญิง ผู้เรียกร้องให้การพูดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์นั้นสามารถพูดถึงได้อย่างเป็นเรื่องสามัญ
เครดิตแหล่งข้อมูล : brighttv.co.th