ยันช้างเผือกลงน้ำสีไม่ตก
วันที่ 3 พ.ค. นายมณเฑียร ทองนิตย์ ผวจ.เพชรบุรี เป็นประธานการประชุมคณะทำงานบูรณาการอนุรักษ์ช้างป่า
อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ด้านอำนวยการ โดยมีม.ล.พิพัฒนฉัตร ดิศกุล หัวหน้าโรงช้างต้น สำนักพระราชวัง ในฐานะนายสัตวแพทย์ประจำสำนักพระราชวัง ร่วมประชุมด้วย โดยม.ล.พิพัฒนฉัตรกล่าวในที่ประชุมตอนหนึ่งว่า สำนักพระราชวังยังไม่มีการตรวจสอบช้างดังกล่าว ตนได้เห็นคลิปช้างกับภาพนิ่งที่ถ่ายภาพไว้ได้ก็รู้สึกแปลกใจ เพราะช้างเผือกสำคัญมาเวลาโดนน้ำก็ไม่กลายเป็นสีอื่นเหมือนที่แก่งกระจาน ตามปกติเมื่อพบช้างลักษณะพิเศษ ต้องแจ้งผวจ.ต่อไปยังกระทรวงมหาดไทย และสำนักพระราชวัง ซึ่งทางสำนักพระราชวังจะต้องดูว่าเข้ามาตราข่ายใน พ.ร.บ. 2464 หรือไม่ 7 ประการ ถ้าใช่ก็ส่งผู้ชำนาญทางคชลักษณ์มาตรวจ ใช้เวลา 3 เดือน 6 เดือน หรือถึง 2 ปีก็มี
ส่วนใหญ่ของช้างสำคัญจะไม่ค่อยรวมกลุ่มการกินน้ำจะกินน้ำจากต้นน้ำ ไม่กินน้ำปลาย จะไม่ลงเล่นน้ำกับกลุ่มช้างทั่วๆ ไป นั่นเป็นลักษณะสำคัญ และสิ่งสำคัญที่เคยศึกษาเรื่องลักษณะสำคัญของช้างพิเศษถ้าเป็นช้างสำคัญจริงๆ มีสัตว์ 2 ชนิด ที่อยู่คู่กันจะมีกาเผือกกับลิงเผือกปรากฏอยู่ ม.ล.พิพัฒนฉัตรกล่าว
วันเดียวกัน นางยุพิน ชูชาติ อายุ 52 ปี กะเหรี่ยงบ้านป่าเด็ง ม.6 ต.ป่าเด็ง อ.แก่งกระจาน กล่าวถึงกรณีมีข่าวการพบช้างเผือกบริเวณอ่างเก็บน้ำกะหร่าง 3 ว่า ตนอยู่ในพื้นที่มาตั้งแต่เกิดยังไม่เคยเห็นช้างเผือก และไม่เคยได้ยินด้วยว่ามีช้างเผือกอยู่ในพื้นที่ หลังมีข่าวการพบช้างเผือกตนได้สอบถามพ่อของตนที่อายุ 80 ปี ซึ่งเป็นผู้อาวุโสในหมู่บ้านก็ได้รับคำยืนยันว่าไม่เคยเห็นช้างเผือก และไม่เคยมีใครเล่าขานตำนานการพบช้างเผือกในพื้นที่มาก่อนเลย
ชาวบ้านป่าเด็ง กล่าวต่อว่า ตนไปตกปลาหาเลี้ยงชีพที่อ่างเก็บน้ำกะหร่าง 3 มากว่า 20 ปี แต่ก็ยังไม่เคยเห็นช้างในลักษณะที่ว่า แต่จะเห็นช้างที่มีลักษณะคล้ายสีขาว เหมือนสีคลุกฝุ่น ลงมากินน้ำเป็นฝูงอยู่ประจำเวลาช่วงเย็น โดยช้างที่มีสีคลุกฝุ่นเมื่อลงเล่นน้ำสีก็จะเปลี่ยนเป็นสีดำเหมือนลักษณะช้างโดยทั่วไป