งานแรก รมว.วัฒนธรรม ปธ.ถก 3 ฝ่ายสางปมศิลปะไทย วธ.แจงเขมรขึ้นทะเบียนรำ-หนังใหญ่ไม่กระทบสิทธิ์ไทย ย้ำมีหลักฐานสำคัญแสดงความเป็นเจ้าของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม "บัวแก้ว" เล็งหาข้อสรุปชง ครม.-สภา ล้อมคอก ขณะที่ "ซูเปอร์เป็ด" ปิ๊งไอเดียดัน "จุฬา-ปักเป้า" ตีตรายูเนสโก
ความพยายามในการปกป้องศิลปวัฒนธรรมประจำชาติของไทยไม่ให้ซ้ำรอยรำไทย ท่าจีบ และหนังใหญ่
ที่กัมพูชานำไปขึ้นทะเบียนกับองค์การการศึกษา วัฒนธรรม และวิทยาศาสตร์แห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม นายปริญญา สุขชิต หรือซูเปอร์เป็ด อุปนายกสมาคมกีฬาไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และประธานสภาวัฒนธรรมเขตดุสิต กล่าวว่า การขึ้นทะเบียนท่ารำและหนังใหญ่ของกัมพูชา ถือเป็นเรื่องยากที่จะกล่าวโทษใคร เนื่องจากศิลปะแขนงนี้มีความเกี่ยวโยงกันของคนทั้งภูมิภาค เราไม่น่าจะใส่ใจมากนัก แต่ควรจะให้ความสำคัญกับสิ่งที่เราเป็นต้นแบบอย่าง "ว่าว" ทั้งว่าวจุฬา และว่าวปักเป้า คนไทยทำและเล่นมาตั้งแต่สมัยพระร่วง มาถึงยุครัตนโกสินทร์ เราใช้สนามหลวงเป็นเวทีแข่งขันต่อเนื่องมายาวนาน
"ผมเตรียมแบบเอกสารภาษาอังกฤษเสนอยูเนสโกขึ้นทะเบียนมรกดทางวัฒนธรรม โดยไม่ต้องพึ่งหน่วยงานรัฐ ขืนปล่อยไว้เดี๋ยวคนอื่นเขาเอาไปขึ้นทะเบียนก่อน อีกด้านหนึ่งผมได้ส่งเสริมให้เด็กเยาวชนเรียนรู้การทำว่าวประเภทต่างๆ โดยสอนให้เด็กในโรงเรียนทั่วกรุงเทพฯ ประมาณ 3 แสนคน ทำว่าวจุฬาและปักเป้าจำนวน 1 หมื่นตัว เพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชนมพรรษา 84 พรรษา วันที่ 5 ธันวาคมนี้ เรามีหลักฐานสำคัญหลายอย่างที่จะแสดงต่อยูเนสโกทั้งบันทึกทางประวัติศาสตร์ ภาพถ่ายในอดีต อีกทั้งการจัดแข่งขันอย่างต่อเนื่อง ผมจึงมั่นใจว่าการผลักดันครั้งนี้ต้องสำเร็จแน่" นายปริญญากล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 15 สิงหาคมนี้ ที่กระทรวงวัฒนธรรม นางสุกุมล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม จะเป็นประธานการประชุมแก้ไขปัญหาทางวัฒนธรรมกรณีเร่งด่วนในเรื่องต่างๆ เช่น ปัญหามรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ปัญหาเขาพระวิหาร และปัญหาน้ำท่วมโบราณสถาน เพื่อเร่งหาทางออกและข้อสรุปในการดำเนินการแก้ไขโดยเร็วที่สุด
น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงจุดยืนของรัฐบาลไทยต่อเรื่องที่กัมพูชาจะขึ้นทะเบียนรำไทยและหนังใหญ่ต่อยูเนสโกว่า "ขอไปสอบถามรายละเอียดก่อนนะคะ"
นายธานี ทองภักดี อธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ขององค์การระหว่างประเทศ กระทรวงต่างประเทศ จะเป็นผู้แทนเข้าร่วมประชุมกับกระทรวงวัฒนธรรม ยูเนสโกประเทศไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ป้องกันปัญหาซ้ำซ้อนท่ารำไทย และหนังใหญ่ ในวันที่ 15 สิงหาคม เพื่อเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) และนำเข้าที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้ความเห็นชอบต่อไป
"ขอยืนยันว่าการที่กัมพูชานำวรรณคดีไทย พยัญชนะ คำราชาศัพท์ และรำไทยขึ้นทะเบียนกับยูเนสโก ไม่ทำให้ไทยเสียสิทธิ์ในการขึ้นทะเบียนในอนาคต เพราะการขึ้นทะเบียนครั้งนี้ระบุชัดว่า รอยัลบัลเลต์ เป็นการรำของกัมพูชา ซึ่งต่างกันออกไป ทั้งนี้ ศิลปวัฒนธรรมไทยและกัมพูชามีความคล้ายคลึง และต่างก็ได้รับวัฒนธรรมซึ่งกันและกัน ดังนั้น หากมีการขึ้นทะเบียนจะต้องพิจารณาว่าศิลปะนั้นเป็นของไทยจริงๆ อย่างไรก็ตาม การขึ้นทะเบียนเป็นการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมเพื่อให้โลกรับรู้ว่ามีศิลปวัฒนธรรมแบบนี้ปรากฏอยู่" นายธานีกล่าว
เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม กลุ่มปกป้องคุ้มครองมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม สำนักวิจัยและพัฒนา กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ชี้แจงว่า
ตามที่กรมส่งเสริมวัฒนธรรมได้รับการประสานงานเกี่ยวกับการขึ้นทะเบียนมรดกทางวัฒนธรรมของกัมพูชานั้น กรมส่งเสริมวัฒนธรรมได้สืบค้นข้อมูลและขอรายงานข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับเรื่องผลกระทบของการขึ้นทะเบียนมรดกทางวัฒนธรรมจับต้องไม่ได้ของกัมพูชาต่อมรดกทางวัฒนธรรม ด้านศิลปะการแสดงของประเทศไทย ดังนี้
ข้อแรก การขึ้นทะเบียนมรดกทางวัฒนธรรมจับต้องไม่ได้ของกัมพูชา คือ ยูเนสโกได้ดำเนินโครงการงานชิ้นเอกในฐานะมรดกทางมุขปาฐะและที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ เมื่อปี 2544 และปี 2546 โดยประกาศมรดกวัฒนธรรมของประเทศกัมพูชาให้เป็นงานชิ้นเอกในฐานะมรดกทางมุขปาฐะและที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ 2 รายการ ได้แก่ "The Royal Ballet of Cambodia" ลักษณะคล้ายกับโขนและละครรำของไทย และ "Sbek Thom, Khmer Shadow Theater" ลักษณะคล้ายกับหนังใหญ่ของไทย