ดันว่าวจุฬา-ปักเป้าตีตรายูเนสโก

งานแรก รมว.วัฒนธรรม ปธ.ถก 3 ฝ่ายสางปมศิลปะไทย วธ.แจงเขมรขึ้นทะเบียนรำ-หนังใหญ่ไม่กระทบสิทธิ์ไทย ย้ำมีหลักฐานสำคัญแสดงความเป็นเจ้าของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม "บัวแก้ว" เล็งหาข้อสรุปชง ครม.-สภา ล้อมคอก ขณะที่ "ซูเปอร์เป็ด" ปิ๊งไอเดียดัน "จุฬา-ปักเป้า" ตีตรายูเนสโก

ความพยายามในการปกป้องศิลปวัฒนธรรมประจำชาติของไทยไม่ให้ซ้ำรอยรำไทย ท่าจีบ และหนังใหญ่

ที่กัมพูชานำไปขึ้นทะเบียนกับองค์การการศึกษา วัฒนธรรม และวิทยาศาสตร์แห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม นายปริญญา สุขชิต หรือซูเปอร์เป็ด อุปนายกสมาคมกีฬาไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และประธานสภาวัฒนธรรมเขตดุสิต กล่าวว่า การขึ้นทะเบียนท่ารำและหนังใหญ่ของกัมพูชา ถือเป็นเรื่องยากที่จะกล่าวโทษใคร เนื่องจากศิลปะแขนงนี้มีความเกี่ยวโยงกันของคนทั้งภูมิภาค เราไม่น่าจะใส่ใจมากนัก แต่ควรจะให้ความสำคัญกับสิ่งที่เราเป็นต้นแบบอย่าง "ว่าว" ทั้งว่าวจุฬา และว่าวปักเป้า คนไทยทำและเล่นมาตั้งแต่สมัยพระร่วง มาถึงยุครัตนโกสินทร์ เราใช้สนามหลวงเป็นเวทีแข่งขันต่อเนื่องมายาวนาน

"ผมเตรียมแบบเอกสารภาษาอังกฤษเสนอยูเนสโกขึ้นทะเบียนมรกดทางวัฒนธรรม โดยไม่ต้องพึ่งหน่วยงานรัฐ ขืนปล่อยไว้เดี๋ยวคนอื่นเขาเอาไปขึ้นทะเบียนก่อน อีกด้านหนึ่งผมได้ส่งเสริมให้เด็กเยาวชนเรียนรู้การทำว่าวประเภทต่างๆ โดยสอนให้เด็กในโรงเรียนทั่วกรุงเทพฯ ประมาณ 3 แสนคน ทำว่าวจุฬาและปักเป้าจำนวน 1 หมื่นตัว เพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชนมพรรษา 84 พรรษา วันที่ 5 ธันวาคมนี้ เรามีหลักฐานสำคัญหลายอย่างที่จะแสดงต่อยูเนสโกทั้งบันทึกทางประวัติศาสตร์ ภาพถ่ายในอดีต อีกทั้งการจัดแข่งขันอย่างต่อเนื่อง ผมจึงมั่นใจว่าการผลักดันครั้งนี้ต้องสำเร็จแน่" นายปริญญากล่าว

           
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 15  สิงหาคมนี้ ที่กระทรวงวัฒนธรรม นางสุกุมล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม
จะเป็นประธานการประชุมแก้ไขปัญหาทางวัฒนธรรมกรณีเร่งด่วนในเรื่องต่างๆ เช่น ปัญหามรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ปัญหาเขาพระวิหาร และปัญหาน้ำท่วมโบราณสถาน เพื่อเร่งหาทางออกและข้อสรุปในการดำเนินการแก้ไขโดยเร็วที่สุด

          
น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงจุดยืนของรัฐบาลไทยต่อเรื่องที่กัมพูชาจะขึ้นทะเบียนรำไทยและหนังใหญ่ต่อยูเนสโกว่า "ขอไปสอบถามรายละเอียดก่อนนะคะ"

          
นายธานี ทองภักดี อธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ขององค์การระหว่างประเทศ กระทรวงต่างประเทศ จะเป็นผู้แทนเข้าร่วมประชุมกับกระทรวงวัฒนธรรม ยูเนสโกประเทศไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ป้องกันปัญหาซ้ำซ้อนท่ารำไทย และหนังใหญ่ ในวันที่ 15 สิงหาคม เพื่อเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) และนำเข้าที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้ความเห็นชอบต่อไป

          
"ขอยืนยันว่าการที่กัมพูชานำวรรณคดีไทย พยัญชนะ คำราชาศัพท์ และรำไทยขึ้นทะเบียนกับยูเนสโก ไม่ทำให้ไทยเสียสิทธิ์ในการขึ้นทะเบียนในอนาคต เพราะการขึ้นทะเบียนครั้งนี้ระบุชัดว่า รอยัลบัลเลต์ เป็นการรำของกัมพูชา ซึ่งต่างกันออกไป ทั้งนี้ ศิลปวัฒนธรรมไทยและกัมพูชามีความคล้ายคลึง และต่างก็ได้รับวัฒนธรรมซึ่งกันและกัน ดังนั้น หากมีการขึ้นทะเบียนจะต้องพิจารณาว่าศิลปะนั้นเป็นของไทยจริงๆ อย่างไรก็ตาม การขึ้นทะเบียนเป็นการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมเพื่อให้โลกรับรู้ว่ามีศิลปวัฒนธรรมแบบนี้ปรากฏอยู่" นายธานีกล่าว

          
เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม กลุ่มปกป้องคุ้มครองมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม สำนักวิจัยและพัฒนา กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ชี้แจงว่า
 
ตามที่กรมส่งเสริมวัฒนธรรมได้รับการประสานงานเกี่ยวกับการขึ้นทะเบียนมรดกทางวัฒนธรรมของกัมพูชานั้น กรมส่งเสริมวัฒนธรรมได้สืบค้นข้อมูลและขอรายงานข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับเรื่องผลกระทบของการขึ้นทะเบียนมรดกทางวัฒนธรรมจับต้องไม่ได้ของกัมพูชาต่อมรดกทางวัฒนธรรม ด้านศิลปะการแสดงของประเทศไทย ดังนี้

          
ข้อแรก การขึ้นทะเบียนมรดกทางวัฒนธรรมจับต้องไม่ได้ของกัมพูชา คือ ยูเนสโกได้ดำเนินโครงการงานชิ้นเอกในฐานะมรดกทางมุขปาฐะและที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ เมื่อปี 2544 และปี 2546 โดยประกาศมรดกวัฒนธรรมของประเทศกัมพูชาให้เป็นงานชิ้นเอกในฐานะมรดกทางมุขปาฐะและที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ 2 รายการ ได้แก่ "The Royal Ballet of Cambodia" ลักษณะคล้ายกับโขนและละครรำของไทย และ "Sbek Thom, Khmer Shadow Theater" ลักษณะคล้ายกับหนังใหญ่ของไทย


ในปี 2546 ยูเนสโกได้ประกาศใช้อนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้

โดยได้กำหนดบทเฉพาะกาล ข้อ 31 ให้งานชิ้นเอกในฐานะมรดกทางมุขปาฐะและที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติที่ได้รับการประกาศไว้แล้ว 90 รายการ รวมเป็นรายการตัวแทนของมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ในการนี้ The Royal Ballet of Cambodia และ Sbek Thom, Khmer Shadow Theater ของประเทศกัมพูชา จึงได้รับการประกาศเป็นรายการตัวแทนของมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ พร้อมกับรายการที่ได้รับการประกาศขึ้นอีก 76 รายการ ในปี 2551

           
อย่างไรก็ตาม ภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ประกาศรายการแบ่งออกเป็น 2 ประเภท
 
คือ รายการตัวแทนของมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ และรายการมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ซึ่งเป็นต้องได้รับการสงวนรักษาอย่างเร่งด่วน นอกจากนี้ ยูเนสโกได้ให้รัฐภาคีเสนอแผนงาน โครงการ และกิจกรรมเพื่อสงวนรักษามรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ที่สะท้อนให้เห็นหลักการและวัตถุประสงค์ของอนุสัญญาได้ดีที่สุด

          
ข้อสอง การดำเนินการของรัฐบาลไทยเกี่ยวกับการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของยูเนสโก
 
โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรมได้รับมอบหมายจากกระทรวงวัฒนธรรมให้พิจารณาการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของยูเนสโก สรุปการดำเนินงานดังนี้ กรมได้รับมอบหมายจากกระทรวงให้พิจารณาการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ และแต่งตั้งอนุกรรมการเฉพาะด้านของคณะกรรมการชุดต่างๆ ที่ปฏิบัติงานเกี่ยวกับยูเนสโกรวม 5 คณะ สรุปเสนอสำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ในฐานะฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการฝ่ายวัฒนธรรม เมื่อเดือนสิงหาคม 2550 โดยที่ประชุมส่วนใหญ่มีมติเห็นด้วยกับการเข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้

          
กรมได้ดำเนินการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากนักวิชาการวัฒนธรรมในระดับจังหวัด ประธานสภาวัฒนธรรม ผู้แทนองค์การบริหารส่วนจังหวัดและตำบล ผู้แทนศูนย์วัฒนธรรมในสถานศึกษา และผู้แทนจากสภาเด็กและเยาวชนเกี่ยวกับการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของยูเนสโก เมื่อปี 2553 โดยร้อยละ 99 มีความคิดเห็นว่าประเทศไทยควรเข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของยูเนสโกโดยเร่งด่วน เพื่อปกป้องมรดกวัฒนธรรมของไทย

          
ส่วนสำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรมและกรมส่งเสริมวัฒนธรรมได้จัดประชุมหารือเกี่ยวกับอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้และการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญา โดยมีความเห็นให้กรมส่งเสริมวัฒนธรรมพิจารณาดำเนินการเตรียมการเพื่ออนุวัตการตามอนุสัญญา เช่น การออกพระราชบัญญัติ กฎหมาย การกำหนดมาตรการดำเนินงาน และควรให้จัดการรับฟังความคิดเห็นในวงกว้างมากขึ้น

           
ข้อสาม การขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของประเทศไทยนั้น

กรมได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติให้ดำเนินการศึกษาและนิยามศัพท์คำว่า "Intangible Cultural Heritage" เป็นภาษาไทย และได้นำเสนอในการประชุมคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2552 โดยที่ประชุมได้มีมติให้ใช้คำว่า “มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม” กรมจึงดำเนินการตามมติคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ โดยได้ขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ ตั้งแต่ปี 2552 กระทั่งปี 2553 ได้ดำเนินการขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติแล้วจำนวน 50 รายการ

           
ทั้งนี้ โขน และหนังใหญ่ ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ปี 2552 ส่วนละครใน รำเพลงช้า-เพลงเร็ว แม่ท่ายักษ์-ลิง ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ ปี 2553 สาขาศิลปะการแสดง รวมถึงได้ส่งเสริมให้จังหวัดต่างๆ จัดทำทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของท้องถิ่น สนับสนุนการถ่ายทอดมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่ใกล้สูญหาย นอกจากนี้กรมได้จ้างมูลนิธิสถาบันวิจัยกฎหมาย ดำเนินโครงการศึกษาวิจัยและจัดทำกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม มีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมและคุ้มครอง รวมทั้งขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม

          
และข้อสี่ ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะของกรมส่งเสริมวัฒนธรรม คือ เรื่องการขึ้นทะเบียนมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของกัมพูชาที่มีลักษณะใกล้เคียงกับมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของไทยนั้น กรมพิจารณาแล้วเห็นว่าการประกาศเป็นรายการตัวแทนของมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ของ The Royal Ballet of Cambodia และ Sbek Thom, Khmer Shadow Theater หรือการประกาศรายการอื่นๆ ในอนาคตจะไม่ส่งผลกระทบต่อการอ้างความเป็นเจ้าของมรดกวัฒนธรรมดังกล่าวของไทย แม้ว่ามรดกทางวัฒนธรรมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในหลายประเทศมีลักษณะใกล้เคียงกัน เนื่องจากได้รับอิทธิพลและมีการแพร่กระจาย แลกเปลี่ยนกันในภูมิภาคนี้มาเป็นเวลาช้านาน

          
หากประเทศไทยเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของยูเนสโก ประเทศไทยสามารถนำเสนอ “โขน” และ”หนังใหญ่” ของไทย

เป็นรายการตัวแทนของมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติต่อยูเนสโกได้ เนื่องจากมรดกทางวัฒนธรรมของทั้ง 2 ประเทศ มีอัตลักษณ์เฉพาะตัวที่แตกต่างกัน รวมทั้งมีการยอมรับและปฏิบัติกันโดยชุมชนในประเทศไทยอย่างต่อเนื่องและชัดเจน สุดท้ายยืนยันว่าการประกาศขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของประเทศไทยที่ได้ดำเนินการตั้งแต่ปี 2552 สามารถใช้เป็นหลักฐานอ้างอิงสำคัญถึงการเป็นเจ้าของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของประเทศ รวมถึงเป็นเครื่องมือป้องกันกรณีพิพาททั้งในและต่างประเทศที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์