หวั่น “อีโคไล” บุกไทย สั่งด่านสนามบินสุวรรณภูมิ ประสาน 13 สายการบินจากยุโรป แจกเอกสารแนะนำ
เมื่อช่วงบ่าย วันที่ 7 มิ.ย. นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รมว.สาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้ามาตรการป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรีย โอ 104 หรืออีโคไลชนิดรุนแรง ที่กำลังเกิดขึ้นและเป็นปัญหาในประเทศยุโรปว่า จากการประชุมประเมินสถานการณ์ พบว่ายังมีรายงานใน 12 ประเทศเท่าเดิม และนักระบาดวิทยาอยู่ระหว่างเร่งค้นหาสาเหตุการติดเชื้อที่แท้จริง โดยในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขไทย ในวันเดียวกันนี้ได้จัดทำเอกสารคำแนะนำเรื่องการติดเชื้อแบคทีเรียอี.โคไลชนิดรุนแรง โอ 104 (Enterohaemorrhagic E.coli O104) เพื่อแจกให้ผู้ที่เดินทางมาจาก 13 ประเทศในยุโรปทั้งคนไทยและต่างชาติ เป็นฉบับภาษาไทยและภาษาอังกฤษ
ทั้งนี้ ได้ให้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ประสานกับ 13 สายการบินที่มาจากยุโรป ได้แก่ ประเทศเยอรมัน ออสเตรีย สาธารณรัฐเช็ค เดนมาร์ก เนเธอร์แลนด์ นอร์เวย์ โปแลนด์ สเปน สวีเดน สวิสเซอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส และประเทศลักแซมเบิร์ก ที่มีเที่ยวบินเข้าไทยวันละ 15-20 เที่ยว ผู้โดยสาร 3,000-5,000 คน เพื่อให้การดูแลได้อย่างทันท่วงที หากมีผู้ป่วยเกิดขึ้น
สำหรับคำแนะนำดังกล่าวมี 2 ส่วน โดยส่วนแรกเป็นคำแนะนำให้ผู้ที่มีอาการผิดปกติดังต่อไปนี้ภายใน 7 วัน ได้แก่
ถ่ายอุจจาระเหลวเป็นน้ำ หรือมีเลือดปน หรือมีมูกเลือดปน หรือสงสัยภาวะไตวาย เช่น มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปริมาณปัสสาวะน้อยลงอย่างทันทีทันใด ให้รีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลทั้งรัฐและเอกชนด่วน หรือแจ้งเจ้าหน้าที่ประจำด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศที่สนามบินสุวรรณภูมิ ภูเก็ต กระบี่ แลเชียงใหม่ โดยต้องแจ้งประวัติเดินทางมาจากยุโรปให้เจ้าหน้าที่ทราบด้วย เพื่อที่แพทย์รักษาได้อย่างถูกต้อง
ส่วนที่ 2 คำแนะนำในการดูแลสุขภาพ ป้องกันการติดเชื้อโรคทางเดินอาหาร โดยให้รับประทานอาหารสุก สะอาด และล่างมือบ่อยๆ หลีกเลี่ยงการนำพืชผักผลไม้จากประเทศยุโรปติดตัวมาบริโภคในประเทศไทย หากจะรับประทานขอให้ปรุงสุก เนื่องจากเชื้อนี้จะตายเมื่อถูกความร้อน 70 องศาเซลเซียสขึ้นไป โดยกรมควบคุมโรคได้จัดส่งเอกสารคำแนะนำดังกล่าวไปให้ 13 สายการบินแล้วตั้งแต่ในช่วงบ่ายวันเดียวกันนี้แล้ว
ขณะเดียวกัน กรมควบคุมโรคได้เปิดสายด่วนสำหรับให้บริการประชาชนในเรื่องโรคอุจจาระร่วงที่เกิดจากการติดเชื้อแบคที่เรียชนิดรุนแรง
อี.โคไล สายพันธุ์ โอ 104 ตลอด 24 ชั่วโมงที่หมายเลข 0-2590-3333 และ 1422 นอกจากนี้ นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้สั่งการไปยังนายแพทย์สาธารณสุขทุกจังหวัด และขอความร่วมมือกรุงเทพมหานคร เพื่อเตรียมพร้อมรับมือการระบาดของโรคอีโคไล ดังนี้ 1.เฝ้าระวังผู้ป่วยโรคจากเชื้อแบคทีเรีย อีโคไลชนิดรุนแรง โดยเฉพาะผู้ที่มีประวัติเดินทางจากทวีปยุโรปหรือคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วย 2.เร่งรัดการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผู้ที่เดินทางไป-กลับยุโรป ประชาชนทั่วไป บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข 3.กำชับให้แพทย์ดูแลผู้ป่วยอย่างถูกต้อง รวดเร็ว และเหมาะสม
ส่วน นพ.สมยศ ดีรัศมี อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า กรมอนามัยจะจัดทำแผ่นพับ 1 แสนชุด เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับการล้างผักผลไม้ให้สะอาดปลอดภัยก่อนรับประทาน
แจกจ่ายให้กับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ รพ.ทุกระดับทั่วประเทศ โดยวิธีการเช่น การปลอกเปลือกผลไม้ก่อนรับประทาน การแช่ผักและผลไม้ในน้ำที่ใส่สารสำหรับล้างผักที่ปลอดภัย เช่น ด่างทับทิม ผงฟู น้ำส้มสายชู เกลือ โดยควรแช่ประมาณ 10-15 นาที หลังจากนั้นนำมาล้างน้ำสะอาดต่ออีก 2-3 นาที สำหรับร้านอาหารที่เป็นห่วงเรื่องความสะอาด เพราะมีการรับประทานผักสดอยู่เป็นประจำ ซึ่งอาจปนเปื้อนของเชื้อแบคทีเรียอีโคไล สารเคมี ยาฆ่าแมลง พยาธิ เช่น ร้านขายอาหารเวียดนาม ร้านขายส้มตำ ควรจะล้างผักให้สะอาดเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค นอกจากนี้คนที่ปรุงอาหารก็ควรล้างมือให้สะอาดทุกครั้งด้วยเช่นกัน