ครม.ใช้เงินกองทุนผู้ประสบภัย 10 ล้านบาท ช่วยเยียวยาผู้เลี้ยงปลากระชัง ขณะที่ กรมเจ้าท่าใช้บอลลูนยักษ์กู้ซากเรือน้ำตาลจมเจ้าพระยา
จากเหตุเรือบรรทุกน้ำตาลทรายแดง 2,400 ตัน มูลค่า 200 กว่าล้านบาท พุ่งชนตอม่อสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณ หมู่ 2 ต.ภูเขาทอง จ.พระนครศรีอยุธยา ทำให้ปลาเน่าตายและประชาชนได้รับความเดือดร้อนต่อเนื่องจำนวนมากนั้น
ความคืบหน้าเมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 7 มิ.ย. ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่า ที่ท่าเรือท่าช้าง ประชาชนแตกตื่นจากกลิ่นเน่าเหม็นคละคลุ้งของปลากระเบนยักษ์ที่มาตายเกยตื้น คาดว่าเกิดจากคุณภาพน้ำที่ถูกปนเปื้อนทำให้ปลาตาย ล่าสุดเจ้าหน้าที่นำเรือมาลากซากปลากระเบนไปกำจัดแล้ว
ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์หลังประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ว่า ที่ประชุมได้กำหนดแนวทางชัดเจนเพื่อบูรณาการแก้ไขปัญหาดังกล่าว
โดยผู้ประกอบการต้องรับผิดชอบผลกระทบที่เกิดขึ้นทั้งหมด ทั้งนี้เมื่อปี 2550 เคยเกิดกรณีดังกล่าวและคดียังยืดเยื้อ แต่มีแนวทางเยียวยาผู้เลี้ยงปลากระชังเพื่อใช้เงินตามระเบียบกระทรวงการคลังไปชดเชยร้อยละ 60 ของต้นทุน แต่ถ้าเป็นงบกลาง ต้องขออนุญาตคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) เพราะอยู่ในช่วงการเลือกตั้ง ดังนั้นจะใช้เงินกองทุนผู้ประสบภัย ซึ่งปลัดสำนักนายกฯพิจารณาได้ทันที คาดว่าใช้งบไม่เกิน 10 ล้านบาทแต่ต้องสำรวจความเสียหายที่ชัดเจนก่อน
ขณะที่ นายเกื้อกูล ด่านชัยวิจิตร รมช.คมนาคม กล่าวว่า กรมเจ้าท่าและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะร่วมกับ จ.พระนครศรีอยุธยา เร่งกู้ซากเรือ
โดยใช้โป๊ะทำบอลลูนยกเรือขึ้น จากเดิมจะใช้แนวทางในการลดปริมาณน้ำลงเพื่อกู้โดยวิธีปกติ แต่กระแสน้ำแรงจากฝนที่ตกต่อเนื่อง อีกทั้งพื้นที่คับแคบใช้เครื่องมือทางบกเข้าไปไม่ได้ ด้านผู้ประกอบการเรือจะสร้างบ้านใหม่ให้ผู้เสียหายพร้อมสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งพัง และรัฐบาลจะเยียวยาผู้เลี้ยงปลากระชังให้ก่อน เพราะการฟ้องร้องทางคดีใช้เวลานานเมื่อได้เงินจากการฟ้องร้องจึงนำมาใช้คืนกองทุน ส่วนปลาธรรมชาติที่ตายไปกรมประมงจะแก้ไขโดยปล่อยพันธุ์ปลาเพิ่ม
วันเดียวกัน พล.ท.จิระเดช โมกขะสมิต รองเสนาธิการทหารบก นายวิทยา ผิวผ่อง ผวจ.พระนครศรีอยุธยา กรมเจ้าท่า และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง นำทหารช่าง จ.ราชบุรี และกองโรงงานวัตถุระเบิด นำไม้มากั้นริมตลิ่งเพื่อป้องกันดินแนวตลิ่งทรุด นอกจากนี้ พล.ท.จิระเดช ได้ร่วมประชุมกับนายวิทยา ผวจ. พระนครศรีอยุธยา และหน่วยงานเกี่ยวข้องเพื่อสนับสนุนกำลังพลและเครื่องจักรกู้ซากเรือ
นายวิทยา กล่าวว่า เรือที่จมหนัก 500 ตัน ต้องใช้บอลลูนขนาดใหญ่ 4 ลูก แต่ละลูกยกน้ำหนักได้ 150 ตัน
พร้อมนำเรือเครนขนาดใหญ่ของกรมเจ้าท่าและเรือโป๊ะกองทัพเรือ มาช่วยกู้ โดยนำบอลลูนยักษ์ผูกติดท้องเรือ 4 ด้าน จากนั้นอัดอากาศเพื่อยกเรือขึ้น จะเริ่มกู้เรือวันที่ 11 มิ.ย. และใช้เวลา 2 วันแล้วเสร็จ ส่วนการป้องกันน้ำกัดเซาะตลิ่งจะใช้กำลังพล เครื่องมือจากทหารช่างราชบุรี แ ละกองโรงงานวัตถุระเบิดพระนครศรีอยุธยา ดำเนินการ
ล่าสุด บริษัท อัลฟ่า มารีน ซัฟพลาย จำกัด เจ้าของเรือและรับจ้างขนน้ำตาล ติดต่อจะให้การช่วยเหลือ
แต่อ้างว่า บริษัทฯไม่มีความผิด เป็นเพียงผู้รับจ้าง โดยกล่าวโทษ บริษัท JNP จำกัด ถือว่าทั้ง 2 บริษัทโยนความผิดต่อกันไม่มีเจตนารับผิดชอบต่อเหตุการณ์ ทางกรมเจ้าท่าจะเรียกทั้ง 2 บริษัทมาชี้แจงและหาข้อสรุปการทำสัญญาเงื่อนไขและรายละเอียดการช่วยเหลือ