ทธ.รับรอยเลื่อน“แม่จัน”ทำดินไหว4 ริกเตอร์ สั่งจับตาเป็นพิเศษ ยันรอยเลื่อน“นครนายก” ไร้พลังยังไม่เพิ่มเฝ้าระวัง
เมื่อวันที่ 30มี.ค. ที่กรมทรัพยากรธรณี (ทธ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) นายสุวิทย์ คุณกิตติ รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) นายพรทิพย์ ปั่นเจริญ อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี ร่วมกันแถลงกรณี “คนไทยจะอยู่กับธรณีพิบัติภัยอย่างเป็นสุขได้อย่างไร” โดยนายสุวิทย์ กล่าวว่า จากเหตุการณ์ทางธรณีพิบัติภัยทั้งน้ำท่วม แผ่นดินไหวในช่วงสัปดาห์นี้ พบว่าคนไทยยังขาดการเตรียมความพร้อมที่ดี แม้แต่หน่วยราชการที่เกี่ยวข้องเองก็ยังขาดแผนรับมือ ไม่มีการจัดมาตรการและวางระบบการให้ความช่วยเหลือได้อย่างทันที ทำให้บางจุดจึงกลายเป็นลักษณะการเข้าไปมะรุมมะตุ้มกันมากกว่า ดังนั้นในที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 28 มี.ค. ตนจึงขอให้มีการตรวจสอบความแข็งแรงโครงสร้างอาคาร พร้อมทั้งเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดให้ความรู้ความเข้าใจสาธารณชน และสถานศึกษา เพื่อสร้างความเข้าใจให้กับประ ชาชน เหมือนกับที่ญี่ปุ่นที่เตรียมความพร้อมคนในประเทศตั้งแต่ในสถานศึกษา
“ นอกจากนี้ยังเสนอให้พื้นที่เสี่ยงภัยได้ซักซ้อมรับมือสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น เพราะที่ผ่านมาการซ้อมรับมือสึนามิ เหมือนกับการแสดงโชว์ คนส่วนใหญ่ไม่ได้มีส่วนร่วมด้วยเลย สถานประกอบการโรงแรมต่างๆ ก็ต้องมีความพร้อมในการรับมือด้วย ระบบเตือนภัยต้องเป็นระบบ และให้เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นเป็นผู้มีส่วนรับผิดชอบในกรณีการเกิดปัญหาธรณีพิบัติภัย โดยต้องมีการจัดทำคู่มือเพื่อเตรียมความพร้อมด้วย ไม่ได้ต้องการให้ประชาชนตื่นเต้นตกใจ แต่ขอให้มีการเตรียมความพร้อมรับมือไว้ด้วย” นายสุวิทย์ กล่าว
รมว.ทรัพยากรฯ กล่าวอีกว่า หลังจากเกิดแผ่นดินไหวและสึนามิเมื่อวันที่ 26 ธ.ค.2547 ในทะเลอันดามัน
ตนได้ติดตามมาข้อมูลมาโดยตลอด เพราะคิดว่ามันต้องเกิดขึ้นอีก ซึ่งก็เกิดขึ้นที่ญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 11 มี.ค.นี้ และเชื่อว่าในวงแหวนไฟมีโอกาสเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ได้อีกในอนาคต ซึ่งในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาเกิดแผ่นดินไหวรอบๆ ประเทศไทยมีความถี่มากขึ้นเรื่อยๆ และยังขยับเข้าใกล้ประเทศไทยอีกเช่นกัน ทั้งนี้ตั้งแต่ปี 2518-2554 พบมีแผ่นดินไหวขนาด 5-5.9 ริกเตอร์ เกิดขึ้น 303 ครั้ง และเกิดถี่มากตั้งแต่ปี 52 เป็นต้นมา โดยรอยเลื่อนที่น่าเป็นห่วงจากประเทศพม่าคือรอยเลื่อนสะแกง ที่พาดผ่านมาทางด้านตะวันตกและลงไปในทะเลอันดามัน ซึ่งห่างจาก กทม.เพียง 530 กม. จึงน่าเป็นห่วงมาก เพราะหากด้านบนขยับเมื่อไร กทม. ก็จะได้รับผลกระทบด้วย ส่วนจากเกาะสุมาตราจะมีระยะทางประมาณ 1000 กม. ดังนั้นจึงต้องเร่งเตรียมความพร้อมประชาชนให้สามารถอยู่ได้กับภัยพิบัติที่มีมากขึ้นเพื่อลดความสูญเสีย
ด้านนายเลิศสิน รักษาสกุลวงศ์ ผอ.กองธรณีพิบัติภัยและสิ่งแวดล้อม ทธ. กล่าวว่า
กรณีที่กรมอุตุนิยมวิทยาระบุว่าพบแผ่นดินไหวที่รอยเลื่อนปัว จ.น่าน ขนาด 4 ริกเตอร์ 2 ครั้ง เมื่อวันที่ 24 มี.ค. ที่ผ่านมานั้น จากการตรวจสอบของ ทธ. ยอมรับว่าเป็นแผ่นดินไหวที่มีศูนย์กลางที่เกิดจากรอยเลื่อนแม่จันของไทยเอง โดยอยู่ระหว่างรอยต่อของอ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ กับ อ.แม่ฟ้าหลวง เชียงราย และเป็นพื้นที่ภูเขาสูง ไม่ใช่อาฟเตอร์ช็อกจากการไหวของรอยเลื่อนน้ำมาขนาด 6.7 ริกเตอร์ ที่เกิดขึ้นในพม่าเมื่อวันที่ 24 มี.ค. ซึ่งขณะนี้ทาง ทธ. ได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงตรวจสอบข้อมูลทางธรณีวิทยาบริเวณรอยเลื่อนที่มีการขยับในครั้งนี้แล้วโดยจับตาเป็นพิเศษ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่อยากให้ประชาชนตื่นตระหนก เนื่องจากรอยเลื่อนดังกล่าวในอดีตเคยเกิดแผ่นดินไหวขนาด 5 ริกเตอร์มาแล้ว ดังนั้นโอกาสที่จะไหวระดับรุนแรงขึ้นไม่น่าจะเป็นไปได้ ส่วนที่ระบุว่ามีการไหวอีกจุดที่เกิดจากรอยเลื่อนปัว จ.น่านนั้น กรมทรัพยากรธรณีได้ทำการตรวจสอบข้อมูลแล้ว ยังไม่ตรวจพบการสั่นไหวในรอยเลื่อนนี้