“สุวิทย์”เตือนไทยรับมือภัยพิบัติครั้งใหญ่

ทธ.รับรอยเลื่อน“แม่จัน”ทำดินไหว4 ริกเตอร์ สั่งจับตาเป็นพิเศษ ยันรอยเลื่อน“นครนายก” ไร้พลังยังไม่เพิ่มเฝ้าระวัง

เมื่อวันที่ 30มี.ค. ที่กรมทรัพยากรธรณี (ทธ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.)  นายสุวิทย์ คุณกิตติ รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) นายพรทิพย์ ปั่นเจริญ อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี ร่วมกันแถลงกรณี “คนไทยจะอยู่กับธรณีพิบัติภัยอย่างเป็นสุขได้อย่างไร” โดยนายสุวิทย์ กล่าวว่า จากเหตุการณ์ทางธรณีพิบัติภัยทั้งน้ำท่วม แผ่นดินไหวในช่วงสัปดาห์นี้ พบว่าคนไทยยังขาดการเตรียมความพร้อมที่ดี แม้แต่หน่วยราชการที่เกี่ยวข้องเองก็ยังขาดแผนรับมือ ไม่มีการจัดมาตรการและวางระบบการให้ความช่วยเหลือได้อย่างทันที ทำให้บางจุดจึงกลายเป็นลักษณะการเข้าไปมะรุมมะตุ้มกันมากกว่า  ดังนั้นในที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 28 มี.ค.  ตนจึงขอให้มีการตรวจสอบความแข็งแรงโครงสร้างอาคาร พร้อมทั้งเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดให้ความรู้ความเข้าใจสาธารณชน และสถานศึกษา เพื่อสร้างความเข้าใจให้กับประ ชาชน เหมือนกับที่ญี่ปุ่นที่เตรียมความพร้อมคนในประเทศตั้งแต่ในสถานศึกษา 

“ นอกจากนี้ยังเสนอให้พื้นที่เสี่ยงภัยได้ซักซ้อมรับมือสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น เพราะที่ผ่านมาการซ้อมรับมือสึนามิ เหมือนกับการแสดงโชว์ คนส่วนใหญ่ไม่ได้มีส่วนร่วมด้วยเลย สถานประกอบการโรงแรมต่างๆ ก็ต้องมีความพร้อมในการรับมือด้วย ระบบเตือนภัยต้องเป็นระบบ และให้เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นเป็นผู้มีส่วนรับผิดชอบในกรณีการเกิดปัญหาธรณีพิบัติภัย โดยต้องมีการจัดทำคู่มือเพื่อเตรียมความพร้อมด้วย  ไม่ได้ต้องการให้ประชาชนตื่นเต้นตกใจ แต่ขอให้มีการเตรียมความพร้อมรับมือไว้ด้วย” นายสุวิทย์ กล่าว

รมว.ทรัพยากรฯ กล่าวอีกว่า หลังจากเกิดแผ่นดินไหวและสึนามิเมื่อวันที่ 26 ธ.ค.2547 ในทะเลอันดามัน  

ตนได้ติดตามมาข้อมูลมาโดยตลอด เพราะคิดว่ามันต้องเกิดขึ้นอีก ซึ่งก็เกิดขึ้นที่ญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 11 มี.ค.นี้   และเชื่อว่าในวงแหวนไฟมีโอกาสเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ได้อีกในอนาคต ซึ่งในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาเกิดแผ่นดินไหวรอบๆ  ประเทศไทยมีความถี่มากขึ้นเรื่อยๆ และยังขยับเข้าใกล้ประเทศไทยอีกเช่นกัน  ทั้งนี้ตั้งแต่ปี 2518-2554 พบมีแผ่นดินไหวขนาด 5-5.9 ริกเตอร์ เกิดขึ้น 303 ครั้ง และเกิดถี่มากตั้งแต่ปี 52 เป็นต้นมา โดยรอยเลื่อนที่น่าเป็นห่วงจากประเทศพม่าคือรอยเลื่อนสะแกง ที่พาดผ่านมาทางด้านตะวันตกและลงไปในทะเลอันดามัน ซึ่งห่างจาก กทม.เพียง 530 กม. จึงน่าเป็นห่วงมาก เพราะหากด้านบนขยับเมื่อไร กทม. ก็จะได้รับผลกระทบด้วย ส่วนจากเกาะสุมาตราจะมีระยะทางประมาณ 1000 กม. ดังนั้นจึงต้องเร่งเตรียมความพร้อมประชาชนให้สามารถอยู่ได้กับภัยพิบัติที่มีมากขึ้นเพื่อลดความสูญเสีย  
               

ด้านนายเลิศสิน รักษาสกุลวงศ์ ผอ.กองธรณีพิบัติภัยและสิ่งแวดล้อม ทธ. กล่าวว่า
 
กรณีที่กรมอุตุนิยมวิทยาระบุว่าพบแผ่นดินไหวที่รอยเลื่อนปัว จ.น่าน ขนาด 4 ริกเตอร์ 2 ครั้ง เมื่อวันที่ 24 มี.ค. ที่ผ่านมานั้น จากการตรวจสอบของ ทธ. ยอมรับว่าเป็นแผ่นดินไหวที่มีศูนย์กลางที่เกิดจากรอยเลื่อนแม่จันของไทยเอง  โดยอยู่ระหว่างรอยต่อของอ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ กับ อ.แม่ฟ้าหลวง เชียงราย และเป็นพื้นที่ภูเขาสูง ไม่ใช่อาฟเตอร์ช็อกจากการไหวของรอยเลื่อนน้ำมาขนาด 6.7 ริกเตอร์ ที่เกิดขึ้นในพม่าเมื่อวันที่ 24 มี.ค.   ซึ่งขณะนี้ทาง ทธ. ได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงตรวจสอบข้อมูลทางธรณีวิทยาบริเวณรอยเลื่อนที่มีการขยับในครั้งนี้แล้วโดยจับตาเป็นพิเศษ  อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่อยากให้ประชาชนตื่นตระหนก เนื่องจากรอยเลื่อนดังกล่าวในอดีตเคยเกิดแผ่นดินไหวขนาด 5 ริกเตอร์มาแล้ว ดังนั้นโอกาสที่จะไหวระดับรุนแรงขึ้นไม่น่าจะเป็นไปได้ ส่วนที่ระบุว่ามีการไหวอีกจุดที่เกิดจากรอยเลื่อนปัว จ.น่านนั้น  กรมทรัพยากรธรณีได้ทำการตรวจสอบข้อมูลแล้ว ยังไม่ตรวจพบการสั่นไหวในรอยเลื่อนนี้ 



นายเลิศสิน ยังกล่าวถึงกรณีที่นักวิชาการระบุว่าพบรอยเลื่อนนครนายกเป็นรอยเลื่อนใหม่ ว่า รอยเลื่อนดังกล่าวเป็นหนึ่งในหลายๆ รอยเลื่อนที่มีในประเทศไทย

  แต่ขณะนี้ไม่มีพลังแล้ว และไม่จำเป็นต้องอยู่ในบัญชี 13 รอยเลื่อน ที่กรมเคยประกาศไว้ในช่วงปี 2549 เนื่องจากการจะประกาศรอยเลื่อนมีพลังนั้น ต้องใช้หลักการอย่างน้อย 5 ข้อ คือ 1. ในช่วง 1 หมื่นปีที่ผ่านมา ต้องเคยมีแผ่นดินไหวเกิดขึ้น ซึ่งสามารถตรวจสอบจากตะกอนดิน 2.เคยเป็นจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวขนาดเล็กหรือไม่ 3. ต้องเห็นรูปร่างลักษณะที่ทำให้ภูมิประเทศเปลี่ยนแปลง 4.สัมพันธ์กับรอยเลื่อนที่มีพลังอื่นๆ และ 5.เกิดลักษณะของทางน้ำไหลหรือร่องน้ำ เช่น กรณีแม่น้ำโขง ที่มีลักษณะคดโค้งเพื่อหลีกเลี่ยงรอยเลื่อนตามเส้นทาง

“ ในอนาคตถ้ามีการศึกษาพฤติกรรมของรอยเลื่อนในประเทศไทย แล้วพบว่ามีรอยเลื่อนที่มีพลังและมีหลักฐานทางวิชาการเพียงพอก็อาจจะมีการประกาศเพิ่มเป็นรอยเลื่อนที่ 14 หรือ 15 จากเดิมที่มีอยู่ 13 รอยเลื่อนก็ได้ ซึ่งขณะนี้กำลังมีการทบทวนและวิจัยพฤติกรรมของรอยเลื่อนอื่นๆเพิ่มเติมอาทิ แถว จ.ตรัง ซึ่งพบร่องรอยของหินที่ร่วงหล่นลงมาแปลกและมีน้ำพุร้อนอยู่ในพื้นที่ด้วย รวมทั้งรอยเลื่อนท่าอุเทน จ.อุตรดิตถ์ ส่วนรอยเลื่อนนครนายกนั้น ผลการตรวจสอบยืนยันว่ายังไม่สามารถจับความสั่นไหวได้เลย แต่ก็ยังไม่อาจชี้ชัดได้อย่างชัดเจนว่าเป็นรอยเลื่อนที่ตายแล้วหรือไม่ สำหรับข้อเป็นห่วงของนักวิชาการทาง ทธ. จะเชิญนักวิชาการที่มีข้อมูลมาหารือกันในเรื่องนี้ต่อไป  ” นายเลิศสินกล่าว

เมื่อถามว่าก่อนหน้านี้ทางกรมธรณียืนยันว่ารอยเลื่อนน้ำมา ในพม่าและลาว กับรอยเลื่อนแม่จัน เป็นรอยเลื่อนขนานกันและมีระยะห่างราว 70 กม.
 
ในทางทฤษฎีจะไม่ส่งผลกระทบให้เกิดการไหวได้นั้น นายอดิชาติ สุรินทร์คำ โฆษกกรมทรัพยากรธรณี ชี้แจงว่าในทางผลกระทบโดยตรงจากรอยเลื่อนน้ำมาจะทำให้เกิดอาฟเตอร์ช็อกในรอยเลื่อนแขนงต่างๆ แต่กรณีที่รอยเลื่อนแม่จัน มีการไหวระดับ 4 ริกเตอร์ได้นั้นเป็นผลกระทบทางอ้อม

นายสุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า  จากงานวิจัยของ  ม.เกษตร ร่วมกับกรมทรัพยากรธรณี

ข้อมูลความลึกของชั้นดินเหนียวอ่อน กทม.ยิ่งใกล้ปากแม่น้ำยิ่งมีความเสี่ยงต่อการรับคลื่นแผ่นดินไหว โดยเฉพาะบริเวณ สนามบินสุวรรณภูมิเป็นบริเวณที่มีคุณภาพดินแย่ที่สุด เพราะอ่อนไหวและรับคลื่นแผ่นดินไหวมากที่สุด นอกจากนี้ในส่วนของเขื่อนที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวในภาพรวมข้อมูลจากทุกประเทศมีข้อมูลที่ตรงกันว่า สาเหตุที่ทำให้เขื่อนพังนั้น  มาจากการใช้งานปกติอันดับแรก ตามมาด้วยการรั่วซึม  สำหรับเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่จะทำให้เขื่อนพังมีแค่ 1% เท่านั้น ยืนยันว่าไม่เคยเกิดขึ้นในโลกถ้าเขื่อนนั้นถูกออกแบบโดยวิศวกร  

นายสุทธิศักดิ์ กล่าวอีกว่า สิ่งที่ต้องระวังมากที่สุดหลังเกิดแผ่นดินไหวที่พม่า

คือเขื่อนขนาดเล็กของกรมชลประทานที่ถ่ายโอนให้กับองค์การบริหารปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งเขื่อนทั้งประเทศมีทั้งหมด 5000 แห่ง และ80% ที่อยู่กับท้องถิ่นน่าเป็นห่วง  เพราะไม่ทราบว่าฝ่ายท้องถิ่นได้มีการตรวจสอบโครงสร้างหรือไม่   ทั้งนี้เขื่อนยิ่งขนาดใหญ่การก่อสร้างก็ยิ่งมีการออกแบบอย่างถูกหลักวิศวกรและมีมาตรฐานมาก 

ขณะที่นายวีรชัย ไชยสระแก้ว ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ฝ่ายบำรุงรักษาโยธา การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)

ได้ชี้แจงต่อนายสุวิทย์ ว่า กฟผ.ได้มีการดำเนินการทบทวนการออกแบบเขื่อนศรีนครินทร์ต่อแรงกระทำแผ่นดินไหวเมื่อปี 2549 โดยใช้วิธี  Dynamic Response Analysis  พบว่าสามารถทนแรงจากคลื่นแผ่นดินไหวได้ 7 ริกเตอร์ โดยใช้ค่าอัตราเร่งสูงสุดจากการสั่นไหวมาคำนวณ  กรณีเกิดคลื่นแผ่นดินไหวในอ่างเก็บน้ำ ได้มีการคำนวณว่าเกิดคลื่นน้ำและได้กำหนดความสูงของสันเขื่อนกับระดับน้ำที่กักเก็บ 5 เมตร ซึ่งพอเพียงกันน้ำไหลออกจากเขื่อน ส่วนรอยเลื่อนสะแกง ที่มีเขื่อนวชิลาลงกรณ์ห่างจากรอยเลื่อน 350 กิโลเมตรและเขื่อนศรีนครินทร์ ห่าง 400 กิโลเมตร หากเกิดแผ่นดินไหว 7.5 ริกเตอร์จะส่งผลกระทบกับเขื่อนทั้งสองน้อยมาก เนื่องจากอยู่ห่างจากศูนย์กลางแผ่นดินไหว ยืนยันว่า กฟผ.มีมาตรการเฝ้าระวังและแผ่นดินไหว พฤติกรรมของเขื่อน มีการตรวจสอบด้วยเครื่องมือและสายตาทุกสัปดาห์ หากเกิดสิ่งผิดปกติจะทราบได้ทันที


เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์