ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภาเมื่อวันที่ 30 ก.ย. ว่า
ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีนายสามารถ แก้วมีชัย รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 เป็นประธานการประชุม วาระพิจารณากระทู้ถามสดเรื่อง ปัจจัยการผลิตด้านการเกษตรมีราคาแพง ของนายสถาพร มณีรัตน์ ส.ส.ลำพูน พรรคเพื่อไทย ถามนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี โดยนายกฯมอบหมายให้นางพรทิวา นาคาศัย รมว.พาณิชย์ มาชี้แจงแทน
นายสถาพร กล่าวว่า เมื่อค่าเง็นบาทแข็งตัวขึ้นจนอยู่ที่ 30 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ แต่ราคาปุ๋ย ยาฆ่าแมลง และเมล็ดพันธุ์ กลับไม่ลดลง ทำไมพ่อค้านายทุนถึงไม่ยอมลดราคา ทำให้ประชาชนไม่ได้รับความเป็นธรรม นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องปุ๋ยปลอมปนและยาฆ่าแมลงปลอมปนวางขายในท้องตลาด รวมถึงการขาดแคลนเมล็ดพันธุ์ข้าว รัฐบาลได้เข้าไปกับดูแลหรือไม่ อย่างไร
นางพรทิวา ชี้แจงว่า ราคาปุ๋ยที่เป็นปัจจัยการผลิตหลัก ได้มีการปรับลดราคาลงมาแล้ว
หากเทียบกับช่วงปี 51 -53 เฉลี่ยนอยู่ที่ 788 เหรียญสหรัฐต่อตัน ขณะที่เดือนสิงหาคมปีนี้ อยู่ที่ 291 เหรียญสหรัฐต่อตัน และเดือนกันยายน 2553 อยู่ที่ 331 เหรียญสหรัฐต่อตัน ซึ่งองค์การค้าภายในก็ไม่ได้นิ่งนอนใจดูแลเรื่องของต้นทุนและเชิญผู้ประกอบการหารือว่า เมื่อค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นก็ต้องมีการปรับลดราคาปุ๋ยลงมา ซึ่งวันที่ 1 ตุลาคม จะมีการลดราคาปุ๋ยลงมา อาทิ ปุ๋ยสูตร 46-0-0 จากเดิม 12,000 บาทต่อตันเหลือ 10,000 บาทต่อตัน ส่วนปุ๋ยสูตร 15-15-15 จากราคา 15,000 บาทต่อตันเหลือ 14,000 บาทต่อตัน ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะติดตามความเคลื่อนไหวเรื่อย และพิจารณาปรับราคาตามค่าเงินบาท
นายศุภชัย โพธิ์สุ รมช.เกษตรและสหกรณ์ ชี้แจงว่า ในระยะ 2 ปีที่ผ่านมามีการจับการปลอมปนทั้งปุ๋ยและยาฆ่าแมลงเป็นจำนวนมาก
ซึ่งปีที่ผ่านมาสารวัตรเกษตรฯของกรมวิชาการเกษตรฯได้ไปลงไปตรวจสอบโรงงานที่ผลิต ร้านค้าปลีกรายย่อย ซึ่งสามารถจับกุมผู้ที่ปลอมปนได้กว่าร้อยรายและได้มีการส่งฟ้องดำเนินคดี จับติดคุก และปรับไปหลายรายแล้ว ยืนยันว่า กระทรวงเกษตรฯไม่ได้นิ่งนอนใจและดำเนินการเข้าไปตรวจสอบอย่างเต็มที่ เพราะเป็นการซ้ำเติมเกษตรกร ส่วนเรื่องเมล็ดพันธุ์ข้าวที่มีการขาดแคลนในท้องตลาด ยอมรับว่า ในปีหนึ่งๆมีเกษตรที่ต้องการเมล็ดพันธุ์ข้าวปีละ 571,000 ตัน ในขณะที่กระทรวงเกษตรฯมีกำลังผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวปีละ 100,000 ตัน ซึ่งกระทรวงเกษตรฯได้แก้ปัญหาด้วยการของบจากรัฐบาลด้วยการก่อนสร้างศูนย์ส่งเสริมเมล็ดพันธุ์ข้าวและชุมชน โดยมีจำนวน 4,000 แห่ง โดยในปี 2554 จะเพิ่มให้เป็น 7,000 แห่ง จึงมั่นใจว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาการขาดแคลนเมล็ดพันธุ์ข้าวได้