เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 18 ต.ค. นายเทพประสิทธิ์ วงษ์ท่าเรือ นายอำเภอห้วยกระเจา ได้เดินทางมาที่เทศบาลต.สระลงเรือ อ.ห้วยกระเจา จ.กาญจนบุรี
เพื่อร่วมประชุมหารือเกี่ยวกับการช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากน้ำท่วมในพื้นที่ต.สระลงเรือ หลังจากสถานการณ์การไหลหลากของน้ำป่าจากพื้นที่สูงของอ.เลาขวัญเข้าท่วมบ้านเรือนราษฎรและที่ทำกินของเกษตรกรครอบคลุมพื้นที่ 17 หมู่บ้าน โดยมี 1 หมู่บ้านระดับน้ำสูง 3 เมตร ชาวบ้านจำนวน 34 ครัวเรือนถูกตัดขาดจากโลกภายนอก ไม่สามารถสัญจรไปมาได้ ซึ่งนายอำเภอห้วยกระเจาเร่งทำหนังสือถึงกองพลทหารราบที่ 9 เพื่อขอสนับสนุนเรือท้องแบนและอุปกรณ์ในการช่วยเหลือชาวบ้านในพื้นที่ต่างๆ อย่างเร่งด่วน
นายเทพประสิทธิ์ เปิดเผยว่า เหตุการณ์น้ำท่วมตำบลสระลงเรือครั้งนี้ ถือว่ารุนแรงที่สุดในรอบหลายปี แต่เพิ่มความรุนแรงมากขึ้น
เมื่อน้ำป่าจากอ.เลาขวัญ ไหลหลากมาสมทบทำให้ระดับน้ำสูงขึ้น บางพื้นที่สูงถึง 3 เมตร ชาวบ้านเดือดร้อนมาก ตนจึงรีบรายงานจังหวัดกาญจนบุรีเพื่อขอความช่วยเหลือให้แก่ผู้ประสบภัยอย่างเร่งด่วน
ส่วนนายอนุชา สุขเชิงชาย นายกเทศมนตรีตำบลสระลงเรือ อ.ห้วยกระเจา จ.กาญจนบุรี กล่าวว่า จากการที่เกิดน้ำท่วมที่ตำบลสระลงเรือ น้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่กว่า 1 หมื่นไร่
พื้นที่เกษตรได้รับความเสียหายกว่า 5 พันไร่ ระลอกแรกเมื่อ 12 ต.ค.นั้น ทราบว่าเกิดปัญหาน้ำจากอ่างเก็บน้ำห้วยรวก ห้วยเทียน ในพื้นที่อ.เลาขวัญ ที่เป็นที่สูงเกิดไหลหลากลงมาสมทบกับน้ำฝนที่ตกหนักติดต่อกันใน 2 วันที่ผ่านมา ทำให้เป็นการสร้างปัญหาระดับน้ำไหลหลากท่วมเข้ามาอีกเป็นระลอกสอง เป็นการซ้ำเติมชาวบ้านได้รับทุกข์จากภัยพิบัติน้ำป่าไหลหลากมากขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่หมู่ 8 บ้านพุบอน ระดับน้ำสูงขึ้นถึง 3 เมตร ชาวบ้าน 34 ครัวเรือนกำลังเดือดร้อนมาก ตนจึงเร่งทำการติดต่อขอการสนับสนุนจากกองพลทหารราบที่ 9 เพื่อขอเรือท้องแบนขนถุงยังชีพและเครื่องอุปโภคบริโภคไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยในครั้งนี้ ส่วนพื้นที่อำเภอเลาขวัญ ที่เป็นเขตติดต่อน้ำเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนได้รับความเสียหายมาก พื้นที่เกษตรเสียหายกว่า 30,000 ถึง 40,000 ไร่ น้ำท่วมครอบคลุมทั้งสิ้น 17 หมู่บ้าน"
ด้านนายชัยวัฒน์ ลิมป์วรรณธะ รอง ผวจ.กาญจนบุรี ได้สั่งการไปยังสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดกาญจนบุรี
และได้ประสานขอกำลังเจ้าหน้าที่ทหารจากกองพลทหารราบที่ 9 ค่ายสุรสีห์ และตชด.13 เพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนโดยด่วน เบื้องต้นให้เจ้าหน้าที่อพยพเด็กและคนชราออกมาจากพื้นที่ล่อแหลม ซึ่งเป็นจุดเสี่ยงภัยมากที่สุด ให้มาอาศัยอยู่ตามสถานที่ที่ปลอดภัย เช่น ตามโรงเรียน และที่วัด โดยป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้นำเต็นท์ไปติดตั้งเพื่อเป็นสถานที่พักชั่วคราว ส่วนผู้ชายที่อยู่ในวัยหนุ่มให้นอนเฝ้าทรัพย์สินที่บ้าน และให้ผู้ชายเหล่านั้นฝึกซ้อมการช่วยเหลือเผื่อมีเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันเกิดขึ้น สำหรับจุดที่ล่อแหลมที่อาจเกิดน้ำท่วมมากที่สุดมีทั้งสิ้น 4 ตำบล คือ ต.หนองนกแก้ว ต.หนองประดู่ อ.เลาขวัญ ต.หลุมรัง อ.บ่อพลอย และต.สระลงเรือ อ.ห้วยกระเจา